83.คารวะแม่น้ำคงคาที่รีชีเกช (Rishikesh) อินเดีย (2)


 

            อาหารเช้าจากห้องอาหารของ guest house วันนี้คือปาระทา (Paratha) คือโรตีที่ยัดไส้มันฝร่งที่ต้มปอกเปลือกบดผสมกับหอมหัวใหญ่หั่นฝอยทอดในกะทะแบน (ขนาดเท่าแผ่นโรตี) ที่มีน้ำมันทาไม่ให้แผ่นแป้งติดกะทะเท่านั้น 2 แผ่น ชานมร้อนและโยเกิร์ต ดิฉันทานไม่หมดเพราะปาระทาแผ่นใหญ่มาก จึงบอกพ่อครัวว่าอร่อยมาก แต่ให้มากเกินไป ขอหนึ่งแผ่นสำหรับพรุ่งนี้

            ช่วงสายๆ ไปกรอกแบบฟอร์มการเข้าพักให้เรียบร้อยที่สำนักงานก่อน ตอนเที่ยงเพื่อนไปเช่ารถให้เป็นรถ Ambassador รุ่นเก่าหางปลาพร้อมคนขับส.ว. (สูงวัย) รถไม่มีแอร์ และวิ่งได้ไม่เร็วมาก  ดิฉันชอบรถรุ่นนี้แม้ที่นั่งจะแข็งๆ แต่ทุกอย่างดูแข็งแรงมาก อยู่ทนอยู่นานทีเดียว ตอนนี้คนรุ่นใหม่ไม่นิยมแล้วเพราะบริษัทผู้ผลิตรถอินเดียปรับปรุงรูปแบบรถเก๋งคันเล็กๆ ให้มีรูปลักษณ์ทันสมัยแบบรถญี่ปุ่น เหมาะกับราคาน้ำมันที่แพงมากขึ้น หรือปรับใช้ได้สองระบบ ขนาดเล็กกระทัดรัดแต่นั่งได้สบายๆ สำหรับ 4-5 คน เป็นรถครอบครัวที่เหมาะกับสภาพการจราจรในเมืองใหญ่ๆ

            วันนี้ มีการเลือกตั้งผู้แทนนักศึกษา และอาจารย์ซึ่งสังกัดพรรคการเมือง ยกเว้นบางคนเท่านั้นที่ไม่เข้าพรรค มีการหาเสียงเหมือนนักการเมือง เช่น ที่เดห์ราดูน เมื่อวานนี้มีกลุ่มนักศึกษาขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั่วเมืองติดป้ายชื่อพรรคไว้ที่ท้ายรถ หรือหน้ารถยนต์ อาจมองได้สองด้าน

1) เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยให้กับเยาวชน

2) หากการเมืองเข้าไปชี้นำหรือมีบทบาทมากเกินไปในวงวิชาการอาจทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น หรือถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองมากขึ้น

        วันนี้เพื่อนจะพาไป Rishikesh หรือ Hrishikesh อยู่ห่างจากต้นน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย 25 กิโลเมตร นั่งรถออกไปจากที่พักนานพอควร สองข้างทางจากที่พักออกมามีอาศรมของศาสนาต่างๆ ไปตั้งอยู่ ซึ่งสร้างอย่างสวยงามเพื่อสอนและปฏิบัติศาสนกิจ และใช้เป็นที่พักของศาสนิก รวมถึงผู้ที่ศรัทธาทั่วไป เมืองนี้มีโรงแรมมากอีกเช่นกัน

      เมืองฮริดวารเป็นหนึ่งในเจ็ดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย มีการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ และมีผู้มาบูชาแม่คงคาทั้งจากแดนใกล้และไกลมากมายทุกวัน นอกจากนี้ ทุกๆ สามปีที่เมืองศักดิ์สิทธิ์นี้จะมีพิธี "กุมภเมลา" และทุกสิบสองปีมีพิธี "มหากุมภเมลา" มีผู้ร่วมพิธีนับล้านๆ เคยมีจำนวนถึง 60 ล้านคน เพื่อมาทำพิธีทางศาสนา ทำทานและมีสาธุจำนวนมหาศาลทั้งชาย หญิงมาอาบน้ำคงคา

    

      เราเดินทางผ่านทั้งที่ราบ เห็นแม่น้ำคงคาผ่านเมืองเป็นระยะ และขึ้นเขาไป เมืองนี้ตั้งอยู่เนินเขา มีรถราผู้คนมากมายสวนทางไปมาจนรถติดบนเขา ต้องมีตำรวจจราจรมาจัดการเดินรถให้ มีคนจำนวนหนึ่งเดินขึ้นเขาไปแทนการนั่งรถ

       ริชีเกช (ฤษีเกศ) ถือว่าเป็นประตูที่แม่น้ำคงคาไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยและตกลงพื้นพิภพแห่งแรกที่เมืองนี้ ริชีเกชเป็นชื่อหนึ่งของพระวิษณุ มีวัดฮินดูทั้งเก่าและใหม่ตลอดสองฝั่ง   แม่น้ำคงคา

            พอเราไปถึง คนขับรถบอกให้พวกเราลงเดินเพื่อไปข้ามสะพานไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วเขาจะไปรอรับอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่มาที่นี่ต้องทำเช่นนี้กันทุกคน มีผู้คนมากพอควรแต่ไม่แออัดนัก แดดร้อนมาก สองข้างทางด้านหนึ่งเป็นเพิงขายของ อีกด้านหนึ่งเป็นร้านค้าชั้นเดียวหรืออาคารสองชั้นบ้าง ขายสินค้าคล้ายๆ กัน เช่น ของที่ระลึก เสื้อผ้า สินค้าที่เกี่ยวกับการบูชา  ภาพหรือรูปปั้นเทพเจ้าต่างๆ  หนังสือศาสนา ปรัชญา เป็นต้น มีรถเข็นขายผลไม้ต่างๆ เช่น แอปเปิล น้ำมะพร้างอ่อน  ข้าวโพดปิ้ง  ส้มโอ ข้าวโพดคั่ว เป็นต้น ถนนคนเดินนี้มีชีวิตชีวามากจริงๆ วัวก็เดินเล็มเปลือกข้าวโพดบ้าง ถ่ายไปตามทางเป็นระยะๆ มีคนแต่งกายและแต่งหน้าเป็นเทพเจ้าต่างๆ เช่น หนุมาน เดินไปมา เป็นต้น สองข้างทางที่เดินไปมีวัดเล็กวัดน้อย วัดใหญ่บ้างสำหรับบูชาเทพเจ้าต่างๆ

            พวกเราข้ามสะพานลักษมัณฌูลาเป็นสะพานแขวนข้ามแม่น้ำคงคา คนเดินสวนไปมาแน่นพอควรเป็นสะพานที่สร้างและใช้งานในปี 1930 แทนสะพานเก่าที่ถูกน้ำพัดพาไปในปี 1924 สองฝั่งแม่น้ำคงคามีอาคารสูงหลายชั้นตั้งอยู่ เป็นโรงแรมบ้าง วัดบ้าง สถานสอนโยคะบ้าง  ข้ามไปอีกฝั่งก็เดินเท้าต่อ สองข้างทางก็เหมือนฝั่งที่เพิ่งข้ามมา เราเดินไปถึงที่จอดรถจี๊ปประจำทาง พวกเรานั่งไปพร้อมกับผู้โดยสารอื่นๆ เส้นทางรถนี้มีแต่รถโดยสารนี้เท่านั้นที่แล่นไปมา เพื่อช่วยลดระยะทางการเดินไกลๆ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เดินไปเรื่อยๆ คล้ายชมบ้านชมเมืองไป ไปถึงที่ของเขาๆ ก็จอด เราชำระเงินก็เดินเท้าต่อ มีคนนั่งขายของกินเล่นอยู่ทั่วไป รวมถึงแถวขอทานที่นั่งกันเป็นระเบียบ มีขันวางยู่ข้างหน้า

            เพื่อนพาเดินมาพร้อมท้องที่ร้องจ๊อกๆ เพื่อไปทานอาหารร้านที่มีชื่อว่า โชติวาลา (Chotiwala) ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี เป็นร้านใหญ่ ที่สะดุดตาคือมีผู้ชายที่แต่งหน้าและแต่งตัวนั่งอยู่หน้าร้านคล้ายเป็น presenter และนายกวักเรียกลูกค้า (แต่ไม่ได้ทำมือกวักเรียก) ซึ่งแต่งตัวคือนุ่งผ้าโจงกระเบนสีเหลืองส้ม คล้องผ้าพันคอสีเดียวกัน ไม่ใส่เสื้อ คล้องพวงมาลัย แต่งหน้า ทาปากแดง โกนหัวโล้นแต่มีจุกสูงโด่งแข็งตั้งอยู่บนศีรษะโล้น วาดลวดลายบนศีรษะโล้น และตกแต่งลวดลายที่ต้นแขนทั้งสองข้างที่เกี่ยวกับศาสนาฮินดูนั่งอยู่บนตั่งหน้าร้านเพื่อเป็นจุดเด่นดึงดูดความสนใจคนที่เดินผ่านไปมาให้เข้าไปทานอาหารในร้าน –นี่เป็นวิธีทำการตลาดที่ดีและลูกค้าจะจดจำไปได้อีกนาน-

ร้านอาหารมีสองชั้น คนเข้ามาทานเยอะมาก ในร้านมีตู้กระจกที่มีหุ่นเจ้าของร้านที่แต่งกายเหมือนกับชายที่นั่งหน้าร้าน เราขึ้นไปนั่งชั้นบน สั่งอาหารอินเดียที่เป็นชุดใส่ถาดมาทานกัน พวกเราเวียนกันไปเข้าห้องน้ำ ล้างมือ แม้ว่าเกือบบ่ายสองโมงแล้ว ผู้คนยังแวะวียนเข้ามาทานร้านโชติวาลาถึงขนาดรอคิวทีเดียว อาหารมา เราสั่งน้ำมะนาวโซดายี่ห้องลิมกา (Limca) มาทาน ดิฉันชอบมันซ่าเปรี้ยวหวานชื่นใจเวลาเหนื่อยๆ แต่ฝาขวดเปิดมาสนิมจับปากขวดเขลอะเชียว ต้องเช็ดให้สะอาดก่อน เราดูดจากหลอด

            ทานเสร็จ ล้างมือ ชำระเงินแล้วออกมาถ่ายรูปกับ presenter หน้าร้าน แล้วเดินต่อเลียบฝั่งน้ำคงคาไปเรื่อยๆ เห็นวิถีผู้คนที่หลากหลายตลอดทางเดิน เพื่อนพาไปร้านขายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากผ้าซึ่งเป็นร้านที่ไม่ค้ากำไร ร้านนี้มีอายุกว่าร้อยปีเช่นกัน เขาขายของทุกชิ้นเอากำไรเพียงชิ้นละ 1 รูปี แบ่ง .50 รูปีให้การกุศล และอีก .50 รูปีสำหรับการบริหารจัดการ ดิฉันไปซื้อผ้าคลุมไหล่ และเสื้อแบบปัญจาบีราคาไม่แพง ต่อราคาไม่ได้เพราะเขาบอกไม่ได้เอากำไรแล้ว เพื่อนๆ ซื้อผ้าต่างๆ กลับไปฝากครอบครัวกัน ทุกคนบอกว่าถูกกว่าซื้อในเมืองใหญ่ นำสินค้าไปให้แคชเชียร์คิดเงิน เสร็จแล้วเขาโยนสินค้าลงไปที่พื้นปูปาร์เก้สะอาดที่มีคนนั่งห่อสินค้าให้ เราต้องเอาใบเสร็จไปรับสินค้านั้น

            เสร็จแล้วไปชมโรงพยาบาลอายุรเวชที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคงคา บริเวณกว้างมาก เป็นทั้งสถานพยาบาล และสถานปฏิบัติกิจทางศาสนาด้วย มีบัณฑิตนั่งสั่งสอนคนอยู่ เราเดินดูภายนอกรอบๆ ไม่ได้เข้าไปชมตามห้องแต่อย่างใด ในบริเวณนั้นมีต้นโพธิ์ใหญ่หลายต้น มีคนนำเส้นฝ้ายไปผูกล้อมรอบที่โคนต้นมากมาย แสดงความเคารพ แต่ไม่ได้ขอหวยเหมือนคนไทยนะคะ บริเวณด้านในสงบ สะอาด ในอาคารต่างๆ มีรูปผู้บริจาคติดไว้ พร้อมรูปเคารพเทพเจ้า หรือรูปปั้นบุคคลสำคัญเช่น มหาตมา คานธี สวามีวิเวกานันท์ เป็นต้น ประดิษฐานอยู่ด้านนอกอาคาร

            พวกเราออกจากโรงพยาบาลมาที่ท่าน้ำซึ่งทำเป็นเขื่อน และขั้นบันไดด้วยหินแข็งแรง สะอาด มีหลายคนนั่งไหว้เพื่อบูชาและอาบน้ำคงคา พวกเราไปเลียบๆ เคียงๆ เท่านั้น วักน้ำลูบหน้าเฉยๆ ท่าน้ำแถวนั้นบางท่าระบุไว้เฉพาะสำหรับผู้ชาย บางท่าสำหรับผู้หญิงเท่านั้น บางท่าลงได้ทั้งสองเพศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสม มิดชิดก็เป็นได้

            พวกเราเดินข้ามสะพานแขวนรามฌูลากลับมาอีกฝั่งหนึ่ง มีหนุมาน (ลิง) มากมายเพื่อนเตือนให้ระวังกระเป๋า แว่นตา หมวกด้วย ดิฉันรีบเดินแทรกๆ คนไปเร็วๆ เห็นหนุมานกระโดดมาหาผู้หญิงคนหนึ่งที่ถือถุงอาหาร หนุมานน้อยคงหิวและได้กลิ่น มีเสียงร้องของผู้หญิงให้ตื่นเต้นเล็กน้อย พ้นสะพานพวกเราเดินไปตามทางก็มีร้านขายของมากมาย แต่ไม่มีเวลาแล้ว เรามานั่งรอที่ท่ารถเพื่อรอรถมารับ

            รถพาเรากลับเข้ามาในเมือง ดิฉันเหนื่อยจึงหลับๆ ตื่นๆมาตลอดทาง มาถึงท่าน้ำในเมืองที่เรียกว่า “หรกีเปารี” ซึ่งเป็นท่าน้ำที่ประกอบพิธีอารตีทุกวัน รถจอดที่ลานจอดให้เราเดินต่อ พวกเราเดินข้ามสะพานไปฝั่งที่ประกอบพิธี ทั้งสองฝั่งทำเป็นท่าน้ำที่มีสภาพคล้ายอัฒจรรย์ มีบันไดหินเรียบลดหลั่นลงไป ริมตลิ่งมีเสาเหล็กให้เกาะได้ พร้อมโซ่ที่ให้จับเมื่อเดินออกไปที่แม่น้ำ เห็นพ่อค้า แม่ค้าเดินขายพลาสติกปูนั่ง ขายขวดน้ำเพื่อบรรจุน้ำคงคา กระทงใส่ดอกไม้สีสันสวยงาม เพื่อนไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา น้ำที่เมืองนี้เป็นต้นน้ำ ใสสะอาดและไหลแรงมาก น้ำเย็นทีเดียว ส่วนใหญ่ผู้ชายจะนุ่งขาสั้น หรือสวมชั้นในลงอาบน้ำ เล่นน้ำกันสนุกสนาน ผู้หญิงก็ลงทั้งชุดเลยแต่มีผู้หญิงไม่มาก ดิฉันลงไปวักน้ำลูบหน้าเท่านั้นไม่ได้อาบเพราะไม่สะดวก

            เห็นผู้ชายหลายคนโกนศีรษะมากกว่าปกติ ในช่วงสองสัปดาห์นี้เป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป ลูกหลานจะโกนศีรษะกัน (ไม่บังคับ) หลายคนเดินทางมาจากแดนไกลเพื่อมาร่วมบูชาแม่คงคารำลึกถึงบรรพบุรุษ เป็นการแสดงความกตัญญูและความผูกพันที่ยังมีต่อกันตลอดไป

    กลุ่มผู้ชายจับมือลอยคอไหลไปตามกระแสน้ำด้วยความสนุกสนานเหมือนมาเล่นสวนสนุก ส่วนผู้หญิงไม่ค่อยกล้าไปไกล ต้องมีสามีหรือลูกชายช่วยจับมือเดินออกไปไกลๆ เพื่อนอาบน้ำเสร็จ เปลี่ยนเสื้อผ้าพวกเราเดินกลับไปที่    สะพานเพื่อฝากรองเท้า ผู้คนนั่งเต็มอัฒจรรย์ เพื่อนโทร. หาคนรู้จักซึ่งเป็นผู้จัดการอยู่แถวนั้น เขามาหาเพื่อนดิฉัน แนะนำให้รู้จักกัน แล้วเขาพาพวกเราไปนั่งในที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ด้านล่างมีซุ้มของพราหมณ์ผู้ทำพิธีมากมาย ใครจะเข้าไปทำพิธีซุ้มไหนก็ได้ 

เวลา 19.15 น. พระอาทิตย์ลับฟ้ามือสนิท พิธีบูชาใหญ่เริ่มขึ้น คนที่พาเราไปนั่งพาพวกเราไปยืนริมแม่น้ำคงคาติดกับพราหมณ์ที่ถือเชิงเทียนเป็นชั้นๆ สูง 5 ชั้นลดหลั่นขนาดขึ้นไป ยืนทำพิธีริมฝั่งเป็นระยะๆ เชิงเทียนแต่ละชั้นบรรจุเส้นด้ายจุ่มน้ำมันแล้วจุดไฟ พวกเราร่วมจับด้ามเชิงเทียนพร้อมกับพราหมณ์ จนเสร็จพิธี พราหมณ์ก็นำเชิงเทียนกลับมาตั้งที่โต๊ะเพื่อให้คนมาบูชา พวกเราซื้อกระทงคนละใบให้พราหมณ์ประกอบพิธีก่อนแล้วจึงนำไปลอย ท่านผูกข้อมือให้ด้วย เรามอบเงินทำบุญให้ท่าน เพื่อนไปซื้อขวดพลาสติกเล็กๆ มาเพื่อให้เรานำน้ำคงคากลับไปบูชา ดิฉันนำใส่ขวดกลับมาเมืองไทยขวดเล็กๆ  ที่เหลือให้เพื่อนไป--"ไฟ" ให้ความรู้สึกถึง "พลัง" และความศรัทธาที่ศาสนิกชาวฮินดูปฏิบัติต่อแม่คงคา

            เราเดินกลับไปรับรองเท้าคืน จ่ายเงินด้วย เสร็จแล้วไปเดินดูของ ซื้อของที่ระลึกฝากเพื่อนเล็กน้อย แล้วเดินกลับมาที่ลานจอดรถ เพื่อขึ้นรถกลับที่พัก แวะซื้อน้ำขวด และผลไม้กลับไปไว้ทานที่พัก อากาศร้อน อบอ้าวมาก ดิฉันอาบน้ำและหลับสนิทเพราะเหนื่อยมาก ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

 -----------------

บอกกล่าว ข่าวแจ้ง

ท่านที่สนใจจะบุกเบิกสร้างองค์ความรู้ด้านอินเดียศึกษา ขอเชิญท่านสมัครได้ในหลักสูตรปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา เอกอินเดียศึกษา   สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 หรือเข้าชม www.lc.mahidol.ac.th โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3309        

หมายเลขบันทึก: 321806เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2009 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อจ.โสภนา

ตามมาอ่านครับ

ช่วงนี้รับคณะจากเมืองไทยหลายคณะเลยไม่ได้เข้าเน็ต

ยังอ่านสนุกเสมอครับ

เลาได้เก่งมาก เสียดายที่ภาพไม่ขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท