ชีวิตที่พอเพียง : ๙๐๔. ชีวิตกับการประเมิน


อย่ากลัวหรือรังเกียจการประเมิน ให้พลิกสถานการณ์กลับเป็นนายของการประเมิน ใช้การประเมินเป็นกระจกส่องเพื่อให้ “รู้เรา รู้เขา” เป็นสารสนเทศประกอบการพัฒนางาน พัฒนาผลงาน ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมยิ่งขึ้น

          ผมแปลกใจเสมอมา เมื่อมีคนแสดงความทุกข์ความอึดอัดต่อการประเมินต่างๆ   เพราะผมเองเป็นนักใช้การประเมิน/ผลการประเมินเป็นเครื่องบอกความสำเร็จที่ไม่ค่อยมีคนเห็นหรือรับรู้  

          เมื่อราวๆ ปี ๒๕๒๗ ผมสร้างเกณฑ์และระบบการประเมินของหน่วยงานเล็กๆ ของตนเอง    คือหน่วยพันธุศาสตร์ ที่มีคนทำงานอยู่เพียง ๕ – ๖ คน สังกัดภาควิชาพยาธิวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    เพื่อใช้สื่อสารเป้าหมายภายในหน่วยงาน   สื่อสารความต้องการทรัพยากร คือคน และเครื่องมือ กับหัวหน้าภาควิชา และคณบดี    ที่เป็นความต้องการที่อยู่บนฐานของผลงานที่น่าชื่นชม หรือความสำเร็จที่ทำชื่อเสียงให้แก่องค์กร 

          ระบบประเมินที่ดี ต้องมีข้อมูลที่แม่นยำ และมีความหมาย    รวมทั้งจัดทำได้ไม่ยากเกินไป   รวมทั้งคนเก็บข้อมูลเองนั่นแหละ ต้องเป็นผู้หาความหมายจากข้อมูล   ซึ่งตอนนั้นเราก็พบความสำเร็จที่น่าภูมิใจเป็นระยะๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสารสนเทศที่เราต้องการทราบ   เราก็รายงานให้หัวหน้าในระดับถัดๆ ไปได้รับรู้    เพื่อเอาไปเขียนรายงานประจำปี   และเราเองก็ไปเลี้ยงฉลองกัน   เป็นการฉลองความสำเร้จเล็กๆ ที่เราถือว่ายิ่งใหญ่   เพราะมันจะเป็นบันไดไปสู่ความสำเร้จขั้นต่อไป

          หลังจากนั้นอีกกว่า ๓๐ ปี   ผมมีโอกาสได้ไปเป็นกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์    ได้มีโอกาสรับรู้ยุทธศาสตร์การใช้การประเมินเป็นเครื่องมือในการทำงาน    เพื่อปรับปรุงงานให้เป็นที่พึงพอใจทั้งของลูกค้า และของพนักงาน    เขาก็ใช้การประเมินที่มีเป้าหมายชัดเจนแน่นอน    และมีวิธีการประเมินที่ไม่ยาก แต่ทำอย่างต่อเนื่อง และเอาผลมาใช้ปรับปรุงงานอยู่ตลอดเวลา    มีผลให้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็น Bank of Choice ทั้งของลูกค้า    และของคนเก่งๆ ที่ต้องการทำงานธนาคาร

          ผมจึงเข้าใจ ว่าเรื่องการประเมิน จะสร้างสุขหรือสร้างทุกข์ ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง    ว่าเราจัดความสัมพันธ์กับมันอย่างไร    ถ้าเราจัดให้มันเป็นนายเรา มันก็บีบคั้นเรา ทำให้เราทุกข์   แต่ถ้าเราจัดให้มันเป็นทาสหรือเครื่องมือของเรา มันก็รับใช้เรา ทำให้เราบรรลุผลที่เราต้องการ และเกิดความสุข 

          ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๒ ผมมาทำหน้าที่ประธาน กกอ.   ดูแลอุดมศึกษาของประเทศเชิงระบบทั้งระบบ   โชคดีที่มีกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว ๑๕ ปี (๒๕๕๑ – ๒๕๖๕) ที่ ดร. กฤษณพงศ์ ทำไว้    ผมจึงได้ความคิดว่า ใช้ยุทธศาสตร์การประเมินนี่แหละในการทำหน้าที่ Higher Education Systems Governance

          ชีวิตยามปัจฉิมวัยของผมตั้งใจไว้ว่า ไม่ทำงานบริหารอีกแล้ว    ตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้านกำกับดูแลอย่างเดียว   ผมก็ต้องศึกษาหาความรู้วิธีทำหน้าที่กำกับดูแลที่ดี   วันที่ ๒๓ พ.ย. ๕๒ ไปฟังเรื่องราวการกำกับดูแลอุดมศึกษา ทั้งของไทยและของฝรั่งเศส   แล้วเกิดความรู้สึกว่า    สังคมไทยเรายังมีความเข้าใจผิดกันอยู่มาก   ว่าการกำกับดูแลเป็นการดูแลให้ทำตามกฎระเบียบ   ซึ่งที่จริงก็เข้าใจไม่ผิด แต่เข้าใจไม่ครบ   ไม่คิดถึงหน้าที่ที่สำคัญยิ่งกว่าการดูแลให้เป็นไปตามระเบียบ   คือการดูแลให้เจริญก้าวหน้า ฟันฝ่าความยากลำบากได้ แข่งขันได้ และเผชิญอนาคตที่ไม่แน่นอนได้   ที่สำคัญยิ่งคือทำหน้าที่เกิดคุณค่าต่อสังคม   เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าเบียดเบียนสังคม

          การกำกับดูแลส่วนหลังนี้แหละที่ท้าทาย    เพราะมันมีความซับซ้อนสูง ต้องการ “สารสนเทศเพื่อการกำหนดนโยบาย” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารสนเทศเชิงระบบ   จึงต้องการการวิจัยเชิงระบบ (Systems Research)    และเนื่องจากเป็นการกำกับดูแลเชิงพัฒนา    จึงต้องการทราบผลการดำเนินการเอาไว้ตรวจสอบ   การตรวจสอบประเมินติดตามผลจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานกำกับดูแล    ชีวิตของผมในบั้นปลายจึงกลับมาเกี่ยวข้องกับการประเมิน และการวิจัยอีกแล้ว

          ไปๆ มาๆ ทุกย่างก้าวของชีวิตมันเป็นการเรียนรู้ทั้งหมด   และการเรียนรู้ช่วงก่อนๆ ของชีวิต มันเป็นพื้นฐานให้เราทำหน้าที่ปัจจุบันได้ดี

           บทเรียนของบันทึกนี้คือ อย่ากลัวหรือรังเกียจการประเมิน    ให้พลิกสถานการณ์กลับเป็นนายของการประเมิน   ใช้การประเมินเป็นกระจกส่องเพื่อให้ “รู้เรา รู้เขา”   เป็นสารสนเทศประกอบการพัฒนางาน พัฒนาผลงาน ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมยิ่งขึ้น
 
 
วิจารณ์ พานิช
๒๔ พ.ย. ๕๒
           
                   
หมายเลขบันทึก: 320909เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิจารณ์

หนูคยติดตามการเขียนและคอลัมภ์

การจัดการความรู้ของอาจารย์จนกระทั่งเรียนจบปริญญาโทค่ะ

หนูจะคอยอ่านบล็อกที่อาจารย์สรรค์สร้างขึ้นมานะคะ

เพื่อเป็นวิทยาทานต่อหนูเองและต่อเพื่อนร่วมเวป

ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

วชิราพร (ลูกศิษย์ ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์)

  • เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ....การดูแลให้เจริญก้าวหน้า ฟันฝ่าความยากลำบากได้ แข่งขันได้ และเผชิญอนาคตที่ไม่แน่นอนได้   ที่สำคัญยิ่งคือทำหน้าที่เกิดคุณค่าต่อสังคม   เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าเบียดเบียนสังคม...
  • การประเมินจะน่ากลัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ถูกประเมินด้วยเช่นกัน เหมือนบางคนกลัวการตรวจสุขภาพนักหนา เพราะกลัวจะพบโรคแล้วหมดความสุขในการบริโภค แต่บางคนไม่กลัว เพราะจะได้รู้เท่าทันโรค อ่านข้อมูลของร่างกายแล้วจะได้ดูแลร่างกายให้อยู่นานๆ โดยไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ที่จะเปลี่ยนทัศนคติได้ก็คือผู้ประเมินและผู้ได้รับประโยชน์จากการประเมิน

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์วิจารณ์ ดิฉันเข้ามาอ่านเสมอค่ะ

แต่อย่างไรก็ยังกลัวการประเมินอยู่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท