ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

ดื่มน้ำให้ถูกวิธี


มีประโยชน์

วิธีดื่มน้ำ..คุณเคยรู้รึเปล่า!!

     ก่อนอื่นขอบอกว่า ที่เอามาให้อ่านกันนี้ก็เพราะคนที่เพาะกายต้องการน้ำมากกว่าคนทั่วไปหลายลิตรนัก ผมเองดื่มน้ำอุ่นประจำ ปริมาณ 2 - 3 ลิตร ต่อวัน ซึ่งนึกว่าดีแล้ว แต่ที่ไหนได้ครับ มีวิธีดื่มด้วยครับ เลยเอามาผากให้เพื่อนๆ กัน

 ดื่มน้ำเพื่อสุขภาพที่ดี

     มาดื่มน้ำเพื่อสุขภาพที่ดีกันเถอะ ร่างกายของคนเรา ต้องดูแลรักษาทำความสะอาดอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไม้สอย รถยนต์ ฯลฯ เพื่อให้อยู่ในสภาพที่ดี สามารถใช้งานไปได้นานๆ การอาบน้ำเป็นการทำความสะอาดร่างกายภายนอก การดื่มน้ำที่ถูกต้องเป็นหลัก ก็คือ การทำความสะอาดชำระล้างอวัยวะภายในของร่างกาย

 น้ำที่มีอยู่ในร่างกาย

     ในส่วนประกอบทั้งหมดของร่างกาย มีส่วนที่เป็นของเหลวถึง ๓ ใน ๔ ส่วน หรือคิดเป็น ๗๕ % ของน้ำหนักในตัวคน น้ำอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย ได้แก่ ในโลหิต ในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด แม้แต่ส่วนที่ เป็นของแข็ง เช่น กระดูก เล็บ ฟัน เส้นผม น้ำยังรวมอยู่ในของเสียที่ร่างกายขับถ่ายออกมา เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อน้ำมูก น้ำลาย นั่นก็คือ ร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญแม้แต่ในส่วนที่เล็กที่สุด

     ชีวิตของคนเราอาจขาดอาหารได้นานนับเป็นเดือนแต่จะขาดน้ำได้เพียง ๓ - ๗ วันเท่านั้น ฉะนั้นน้ำจึงมีความสำคัญยิ่งต่อร่างกายและการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง

     ร่างกายของคนปกติธรรมดา ต้องการน้ำในชีวิตประจำวันประมาณ ๑๐ แก้ว ใน ๑ วัน (ประมาณ ๔,๐๐ ซี.ซี. หรือ ๔ ลิตร เป็นอย่างน้อย) ส่วนผู้ที่ต้องสูญเสียน้ำในร่างกายมากในวันหนึ่งๆ เช่น นักกีฬา,ผู้ที่ต้องทำงานกลางแดด, กรรมกรงานหนักต้องเสียเหงื่อจำนวนมาก ย่อมต้องการน้ำมากกว่าคนธรรมดา

     ผู้คนเป็นจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญของการดื่มน้ำ มักดื่มน้ำในเวลาที่คอแห้งและกระหายน้ำมากๆเท่านั้น บางท่านดื่มน้ำอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพมาก การดื่มน้ำไม่เพียงพอ เกิดผลเสียต่อร่างกาย

ผลเสียจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ

  - โลหิตข้น การไหลเวียนของโลหิตลำบาก หัวใจต้องทำงานหนักในการสูบฉีด

  - ทำให้เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เมื่อยล้าหัวใจเต้นไม่ปกติ บางครั้งหน้ามืด เพราะโลหิตสูบฉีดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ลมหายใจร้อน ไม่สดชื่น

  - นัยน์ตาแห้งขาดน้ำหล่อเลี้ยง

  - ใบหน้าร้อนผ่าวมักเกิดอาการร้อนในบ่อยๆ เยื่อบุผนังภายในปากอักเสบ

  - น้ำลายมีรสเปรี้ยว มีกลิ่นแรง เจ็บลิ้น ลิ้นเป็นฝ้าสีเหลืองหนา ริมฝีปากแห้งแตก

  - ผิวหนังหยาบไม่ชุ่มชื่นสดใส การขับถ่ายของเสียไม่สะดวก เช่น ท้องผูก ถ่ายลำบาก

  - ปัสสาวะติดขัด มีสีเหลืองเข้ม เป็นเหตุให้ไตพิการ ไตวาย

  - เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

  - อุณหภูมิในร่างกายสูงเหงื่อน้อย ตัวเหนียวมีกลิ่นตัวแรงอาการดังกล่าว บ่งบอกถึงการที่ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ

ผลดีจากการดื่มน้ำที่เพียงพอและถูกหลัก

  - โลหิตเหลวไม่ข้น การไหลเวียนเป็นไปได้ง่าย สูบฉีดดีหัวใจไม่ทำงานหนัก

  - ไม่เมื่อยล้า ไม่เหนื่อยง่าย หัวใจเป็นปรกติมีประสิทธิภาพดีแข็งแรง

  - ลมหายใจสดชื่น หายโล่งเย็นนัยน์ตาสดใสเป็นประกายมีน้ำหล่อ เลี้ยงแวววาวตลอด

  - ไม่มีเส้นเลือดแดงกล่ำ ไม่แสบตา

  - ไม่ร้อนในปากและลิ้นสะอาดผิวกายใบหน้าชุ่มชื่นเต่งตึง เป็นสีชมพูของเลือดดี

  - การขับถ่ายของเสียสะดวกไม่ท้องผูก ปัสสาวะใสสะอาด

  - ไม่ปวดหลังและบั้นเอว สุขภาพไตดี

  - น้ำจะช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกายให้ปรกติ รูขุมขนมีเหงื่อชุ่มเย็นเสมอ ลักษณะดังกล่าวเป็นผลดีที่เกิดจากการดื่มน้ำให้เพียงพอและถูกต้อง

การดื่มน้ำให้ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดี

    มีหลักปฏิบัติที่จดจำง่าย ดังนี้ :-

  1. น้ำที่ดื่ม เป็นน้ำธรรมดาไม่เป็นน้ำที่ร้อนมากหรือที่เย็นจัด ถ้าเป็นน้ำอุ่นๆ เล็กน้อยก็จะดี ดื่มในตอนเช้าจะให้การขับถ่ายดีขึ้น ลำไส้สะอาด

  2. ระยะเวลาที่ดื่มน้ำ ในวันหนึ่ง (อาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยตามความสะดวก)

     - ตื่นนอนตอนเช้า ดื่มน้ำ ๑ แก้ว (แก้วบรรจุ ๔๐๐ ซี.ซี.)

     - ตอนสาย ดื่มน้ำ ๒ แก้ว (เวลาประมาณ ๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น)

     - ตอนบ่าย ดื่มน้ำ ๓ แก้ว (เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ - ๑๔.๐๐ น)

     - ตอนเย็น ดื่มน้ำ ๓ แก้ว (เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น)

     - ก่อนเข้านอน ดื่มน้ำ ๑ แก้ว

    เพื่อให้น้ำที่ดื่มไหลเวียนชะล้างสิ่งตกค้างในลำไส้และกระเพาะอาหาร ถ้าเป็นน้ำอุ่นจะช่วยให้หลับสบายดีขึ้น รวมแล้วให้สามารถดื่มน้ำเปล่าได้วันละ ๑๐ แก้ว นอกเหนือจากนั้น ท่านสามารถดื่มน้ำผลไม้, น้ำนม ฯลฯ ได้อีกไม่จำกัด

3. ข้อควรจำ

     ๓.๑ ไม่จำเป็นต้องดื่มครั้งละ ๒ - ๓ แก้วติดต่อกันทันที ดื่มตามปรกติสบายๆ ผู้ที่ดื่มครั้งแรกๆ จะรู้สึกคลื่นไส้นิดหน่อยเป็นอาการปรกติธรรมดา ทั้งนี้เพราะผนังลำไส้และกระเพาะอาหารขยายตัวขึ้น ต่อไปจะไม่มีอาการอีกสามารถดื่มได้ง่ายและเกิดความชื่นชอบ รู้สึกสดชื่นสบายที่ได้ดื่มน้ำมากๆ

     ๓.๒ เมื่อดื่มน้ำไปสักครู่หนึ่ง จะปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะครั้งแรกๆ จะมีสีเหลืองข้นขุ่นกลิ่นฉุน

เนื่องจากน้ำที่ดื่มไปชะล้างไตให้สะอาด ไตเป็นเสมือนเครื่องกรองน้ำของร่างกาย

     ๓.๓ อย่าดื่มน้ำมากก่อนหน้าที่จะรับประทานอาหาร (ควรงดดื่มน้ำมากสักครึ่งชั่วโมงก่อนรับประทานอาหาร) และหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ก็ไม่ควรดื่มน้ำมากๆ ทันที

     ๓.๔ การรับประทานอาหารพร้อมกับดื่มน้ำตลอดเวลาเป็นนิสัยที่ควรเลิก หากรู้สึกฝืดคอในระหว่างรับประทานอาหารให้ซดน้ำซุบแกงจืดแทน การดื่มน้ำมากในระหว่างรับประทานอาหารทั้งก่อนหน้าและหลังอาหารทันที่จะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารเจือจาง การย่อยเป็นไปได้ไม่ดี

     ๓.๕ ไม่ควรรับประทานอาหารในแต่ละมื้อจนอิ่มแน่นท้องเกินไป ควรให้อิ่มพอดี แล้วจิบน้ำตามนิดหน่อยท่านจะรู้สึกสบายท้องหลังจากนั้นสักครึ่งชั่วโมงจึงดื่มน้ำตามปรกติ

    หากท่านได้ดื่มน้ำให้ถูกหลักเช่นนี้เป็นประจำจะเป็นผู้มีสุขภาพอานามัยดี ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แข็งแรง สามารถที่จะประกอบภาระกิจการงานได้ดียิ่งๆ ขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #น้ำสำคัญ
หมายเลขบันทึก: 318546เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2009 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มารับความรู้ค่ะ ได้สาระมากเลย ขอบคุณค่ะ

  • ขอบคุณครับ คุณPHATCHARINTR
  • ที่แวะมาเยี่ยม ทักทาย
  • มารับรู้เรื่องใกล้ตัว ด้วยกัน
  • รักษาสุขภาพนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท