เพลี้ยมาอีกแล้ว


          เมื่อวานได้ร่วมประชุมประจำเดือนเกษตรอำเภอ   ช่วงสุดท้ายของการประชุมมีการเสนอปัญหาที่พบในแต่ละอำเภอ  พบว่าทุกอำเภอล้วนกำลังมีปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว  รวมๆ ทั้งจังหวัดแล้วก็หลายแสนไร่

          ในระยะนี้ช่วงกลางคืน  เวลาเดินทางไปไหนก็จะพบเห็นเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเล็กๆ นับแสนนับล้านตัวบินมาตอมแสงไฟตามท้องถนน หรือไปแสงสว่างทั่วๆ ไป  หากพบเห็นเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาตอมไฟเช่นนี้  พยากรณ์ได้เลยว่าในแปลงข้าวของเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงคงมีการระบาดไปเรียบร้อยแล้ว...

 

 

 

 

 

         เมื่อวานช่วงการเดินทางไปต่างอำเภอ ก็จะพบเห็นนาข้าวจำนวนมากถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายเป็นลักษณะเหมือนภาพด้านล่างนี้อยู่ทั่วไป

 

 
   ภาพจาก http://www.brrd.in.th/rkb/data_005/rice_xx2-05_bug02.html

         ผมมองว่าเป็นธรรมชาติของการทำการเกษตร/ทำนาของบ้านเรานะครับ  ที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องแมลงศัตรูข้าวระบาดอย่างรุนแรงเป็นบางช่วงเพราะ

  • การเกษตรบ้านเราเน้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยว

  • การทำนาก็ทำนากันตลอดปี

  • การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นวิธีการหลัก

  • การหว่านข้าวก็ใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่สูง ( 30- 40  กก./ไร่) ทำให้ต้นข้าวแน่นเกินไป

  • ใส่ปุ๋ยยูเรีย (ปุ๋ยสูตร  46-0-0 ) เป็นหลัก ทำให้ต้นอวบแมลงชอบ

  • ฯลฯ

           แนวทางในการป้องกันนั้นมีหลายทาง เช่น พันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล , การเลือกวิธีการปลูกข้าว  นาหว่านจะระบาดรุนแรงกว่านาดำ เพราะต้นหนาแน่นกว่า , อย่าใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไป , การใช้สารเคมีฆ่าแมลงจะไปทำลายศัตรูทางธรรมชาติของเพลี้ยฯ  แนวทางที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นการผสมผสานหลายๆ วิธีเข้าด้วยกัน  และที่สำคัญการจัดระบบการปลูก-เว้นช่วงการทำนาเสียบ้างเพื่อช่วยตัดวงจรของแมลงก็น่าจะปฏิบัติ 

          แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวเกษตรกรเอง(รวมไปถึงทิศทางการผลิตของประเทศ)  เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรจะรู้วิธีการ  แต่ไม่ยอมนำไปปฏิบัติเพราะเท่าที่เคยสอบถามส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า

  • จำเป็นต้องทำนาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการรายได้/ก็แปลงข้างเคียงเขาทำก็ทำตาม

  • การใช้สารเคมีมันง่ายและสะดวกดีกว่าวิธีการอื่นๆ

  • ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์มากเข้าไว้เผื่อหอย เผื่อแมลงมันกิน

  • การเดินสำรวจแปลงนาสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมการป้องกันโรคแมลงมันยุ่งยาก

  • ฯลฯ

          ไม่อยากจะสรุปว่าแล้วจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร  ผมมองว่าปัญหาอยู่ที่สังคมและวิถีการเกษตรกรของการเกษตรบ้านเรายังไม่ได้ใช้ความรู้ในการทำการเกษตรกันอย่างเต็มกำลัง    ส่วนใหญ่ยังทำกันตามความเชื่อและความเคยชิน 

           ความรู้ในเรื่องเหล่านี้นั้นมีอยู่แล้ว และเกษตรกรก็รู้ทั้งรู้   แต่การนำความรู้ไปสู่การปฏิบัตินั้นมักไม่ค่อยมี    หลายท่านอาจสังสัยว่าแล้วนักส่งเสริมการเกษตรจะทำอย่างไร.... ผมคิดว่าหลายๆ พื้นที่ นักส่งเสริมฯ ต่างก็ได้ทำหน้าที่กันไปตามกำลังความสามารถบ้างแล้ว    แต่การนำความรู้ที่มีอยู่หรือรู้แล้วไปใช้   ขึ้นอยู่กับตัวเกษตรกรเป็นส่วนสำคัญ  เพราะเราไม่สามารถที่จะไปบังคับเขาได้   บางครั้งก็ยอมให้คนเข้าใจผิดว่าเราอาจไม่ได้ทำอะไร...

            ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อเกิดปัญหา  เกิดวิกฤติหลายๆ ภาคส่วนน่าจะได้หันหน้ามาทบทวน  และกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในอนาคตข้างหน้าแต่วิธีการที่ได้ควรจะเหมาะสมและถูกต้อง  เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน  ไม่ใช่แก้ปัญหานี้แล้วเป็นการไปสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก....

            ท่านมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ...

สิงห์ป่าสัก

4  ธันวาคม  2552

หมายเลขบันทึก: 318065เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2009 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ปัญหาบางอย่างก็เกิดซ้ำซากไม่รู้จะพึ่งใครดี

คงต้องช่วยชาวนาหาทางออก

ทำนาเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้วไม่รู้จักปุ๋ยยาฆ่าแมลงเลย

แม้แต่รถเกี่ยวข้าวก็ยังไม่มีไม่เห็นได้ใช้กันเกี่ยวกันเอง

ในฐานะชาวนาเก่ารู้สึกใจหายเลยได้ยินเรื่องนี้

ระบบการผลิต แนวคิดความเชื่อเปลี่ยนไปเยอะแล้ว

แต่ปัญหาเดิมก็ยังอยู่ ใครสร้างความเชื่อให้ชาวบ้านไว้เรื่องเทคโนโลยี่

ระบบคิด ชาวบ้านพึ่งผู้อื่น(เทคโนฯ)

เทคโนฯจะออกจากทางตันนี้ได้อย่างไร

  • นึกว่าคุณสิงห์จะบอกวิธีการฆ่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่มาบุกบ้านป้าเหมียว..แต่ตอนเนี่ยดีขึ้นแล้วก่อนหน้านี้ต้องปิดไฟอยู่กันเลย.. หน้าบ้านหลังบ้านเป็นเสาไฟฟ้า..เต็มไปด้วยเพลี้ย

สวัสดีค่ะ

จากประสบการณ์ที่เคยปฏิบัติมา เกษตรกรหว่านข้าวหนามากอย่างที่อาจารย์บอกค่ะ

แต่ก็จะมีหนึ่งแปลงที่หว่านข้าวบาง แล้วเกษตรกรได้ประสบการณ์ตรงด้วยการโฉบแมลงมาเพื่อเรียนรู้

แปลงที่มีข้าวหนาแมลงจะเยอะ แปลงที่มีข้าวบางเกือบจะไม่มีแมลงเลยค่ะ

ทำให้เกษตรกรเรียนรู้ด้วยตัวเอง และบอกต่อ แต่ก็ทำได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้นค่ะ

เพราะความเชื่อเดิมๆ ความคิดแบบเดิมๆ ยังมีอยู่ ก็ต้องชวนเขามาทดลองกับเราเรื่อยๆ ไปแหละค่ะอาจารย์

ชวนคนที่เขาสนใจเผื่อวันข้างหน้าจะได้ขยายผลต่อไปค่ะ

ถ้ามีโอกาสจะเรียนเชิญอาจารย์มาบรรยายพิเศษบ้างนะคะ หรือไม่ก็จะไปดูงานของอาจารย์นะคะ

เข้ามาที่บล๊อกของอาจารย์ ได้แต่ความรู้ดีๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ

อากาศเปลี่ยนแปลงรักษาสุขภาพด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะ สิงห์ป่าสัก

*** เคยอ่านเรื่องราวความอัตคัต ของชาวนา พรานกระต่าย ป่านนี้คงแย่ไปตามๆกัน สงสารจังค่ะ

*** ขอส่งกำลังใจไปให้ชาวนาชาวไร่ทุกคนนะคะ สุ้ๆค่ะ

ชาวนาสุพรรณบุรี โดนเพลั้ยกระโดด

กัดกินถึงหัวใจ  กินน้ำตาต่างข้าวกันแล้ว

ข้าวที่เคยทำได้ เหลือเพียงครึ่งเดียว

แ่ต่การลงทุน..เต็ม 100 เท่าเดิม

ศักดา บุญสังวาลย์

คุณสิงห์ป่าสักพูดได้ถูกต้องครับ เกษตรกรก็พอมีความรู้ครับแต่ผมว่าเขาไม่ฉุกคิดและนำวิชาการมาใช้พวกเราก็ออกส่งเสริมอบรมด้านการนใช้เมล็ดพันธุ์การใช้ปุ๋ย รวมถึงการการลดต้นทุนด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ชนิดต่างๆก็มีบางคนที่สนใจนำไปปฏิบัติก็ได้ผลดีแต่ชาวนาข้างเคียงกลับไม่เชื่อ รวมถึงการอบรมวิธีการไปผลิตและนำไปใช้ในชุมชนแต่เมื่ออบรมไปแล้วก็เงียบไม่มีการนำไปทำต่อพอเกิดปัญหาก็โวยวายว่ารัฐ ข้าราชการไม่ช่วยเหลือ ในเมื่อเกษตรกรไม่ช่วยเหลือตัวเองก่อนงบประมาณเท่าไรก็ไม่อาจช่วยได้ราชการซื้อสารเคมีแจกบางที่แบ่งกันได้ครึ่งขวดเพราะงบมีน้อย ในฐานะนักส่งเสริมการเกษตรช่วยคิดแก้ปัญหาให้เกษตรกรของเรานำสิ่งที่ได้ไปปฏิบัติอย่างจริงจังหน่อยเชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

  • กราบนมัสการพระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ที่จริงก็พอจะมีทางออกอยู่นะครับ
  • แต่ก็ต้องปรับแนวคิดและแนวทางกันยาว
  • และต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างชาวนาด้วยกัน
  • เพราะมันเชื่อมโยงกันหลายเรื่อง
  • ...
  • สวัสดีครับป้าเหมียว
  • กำจัดเพลี้ยเดี๋ยวนี้ไม่ง่ายแล้วครับ
  • เพราะที่ไหนไม่เหมาะเขาก็อพยพไปหาที่ใหม่
  • ที่สำคัญมีอาหารอยู่ทั่วไป
  • ...
  • สวัสดีครับ อ.บังอร
  • ต้องทำหลายๆ อย่างควบคู่กํนนะครับ
  • และที่สำคัญชาวนาต้องร่วมมือกัน
  • ทั้งการวางแผนการปลูก-ร่วมกันป้องกัน/กำจัด
  • ...
  • สวัสดีครับ อ.กิติยา เตชะวรรณวุฒิ
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • ....
  • สวัสดีครับครู ป.1
  • ที่สุพรรณยิ่งเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ็ของเพลี้ยฯ
  • เพราะแถบนั้นทำนาต่อเนื่อง
  • และม่ไม่กี่พืชครับ
  • ....
  • สวัสดีครับท่าน ผอ.ประจักษ์ ปานอินทร์
  • สบายดีนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • ...
  • สวัสดีครับพี่เล็ก..ศักดา บุญสังวาลย์
  • ก็อย่างที่เรารู้นั่นแหละครับ
  • ความรู้นั้นพอมีอยู่
  • แต่ทุกฝ่ายก็ต้องร่วมมือกัน
  • โดยเฉพาะชาวนาต้องคุยกัน วางแผนร่วมกัน
  • ขอบพระคุณมากครับ


ขอชมแนวคิด เรา นวส ตัวเล็กๆ แต่ศัตรุพืชเล็กยิ่งกว่า แต่ร้ายมาก ทัน กับไม่ทัน ต่อเหตุการณ์ นี่สิ รอบแล้วผ่านไป รอบใหม่อีกแล้ว จะทำอย่างไร นี่แหละ สำคัญยิ่ง นวส กับ เกษตรกร ต้องพบกันแยกกันไม่ออกหรอกครับ ต้องทำ ต้องสู้อย่างชาญ และชำนาญครับ ขอบคุณ

  • สวัสดีครับพี่เสนาะ
  • เกษตรกรที่ ต.เทพนคร เคยโทรมาคุยปรับทุกข์กับผม
  • เขาก็ยอมรับว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบปลูกที่สร้างแหล่งอาหารให้เพลี้ยอย่างอุดมสมบูรณ์
  • และต่างคนต่างเชื่อในวิธีการของตน
  • แม้จะพอรู้ว่าให้ผสมผสานวิธีการ แต่ก็ไม่เชื่อมั่น ใจร้อนว่าไม่ทันเหตุการณ์
  • บางรายแม้แต่เซลขายยาฆ่าแมลงยังไม่กล้าแนะนำชื่อยาว่าอะไรจะปราบเพลี้ยได้
  • เพราะยาเคมีทุกชนิดไม่สามารถกำจัดเพลี้ยกระโดดได้อย่างสิ้นเชิง เหมือนอย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้ว
  • ฆ่าแล้วก็มาใหม่อีก  ชาวนามีแต่เพิ่มทุน  ฯลฯ
  • คงจะต้องทิ้งระยะการปลูกบ้างเพื่อตัดวงจรของเพลี้ยนะครับ
  • ขอให้กำลังใจนักส่งเสริมฯ และชาวนาให้สู้ๆ ต่อไปนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท