คลังยื้อโอนงบฯ อปท.-ยันรัฐไม่จ่ายเต็ม 35%


ภาษีโรงเรือน-ที่ดิน
       นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จาก พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้ภายในปี 2549  อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่า 35% แต่ปัจจุบันได้รับเพียง 24.05% หรือประมาณ 327,113 ล้านบาท จากรายได้รัฐบาล 1.36 ล้านล้านบาท      เป็นเหตุผลหลักที่ยังไม่สามารถโอนงบประมาณได้ตามกฎหมาย เนื่องจากติดขัดปัญหาการโอนย้ายภารกิจยังไม่ได้กระจายตามไปด้วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนควรกระทำไปพร้อมกัน    ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันถึงการโอนงบฯ ให้ อปท. ครบ 35% ภายในปี 2549 จะใช้เกณฑ์ปีงบประมาณหรือปีปฏิทิน จากการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีการะบุชัดว่าเป็นปีปฏิทิน   ดังนั้น เมื่อถึงสิ้นปีนี้จึงครบกำหนด รวมถึงปัญหารายได้ของ อปท. เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 35% ของรายได้รัฐบาล ขอยืนยันว่ารายได้ของ อปท. ต้องมาจาก 6 ส่วน คือ รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเอง รัฐบาลจัดเก็บเพิ่มเติมให้ รัฐบาลจัดเก็บแล้วแบ่งให้ อปท. รัฐบาลจัดเก็บแล้วมอบให้ท้องถิ่น รายได้อื่น ๆ และที่สำคัญคือเงินอุดหนุนรัฐบาล ดังนั้น 35% จึงไม่ใช่เฉพาะเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเท่านั้น
       รายงานข่าวจาก สศค. กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. อยู่ระหว่างพิจารณาขอขยายเวลาการโอนงบประมาณออกไปเป็นปี 2553 คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในปีนี้ โดยสรุปออกมาอย่างไรจะส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณปี 2550 สำหรับกระทรวงการคลังเน้นจุดยืนการถ่ายโอนงบประมาณควรไปพร้อมกับภารกิจ ซึ่งปัจจุบันทั้งกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขแทบจะไม่ได้ดำเนินการใด ๆ และจนบัดนี้ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นได้ในปีใด แต่สิ่งที่น่ากังวลคือปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ อปท. มาจากเงินอุดหนุนรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นทุกปี ขณะที่รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเองกลับมีสัดส่วน     ที่น้อยลง    "รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองมีเพียง 10% ขณะที่รัฐบาลอุดหนุนให้ถึง 40% หากเป็นเช่นนี้ต่อไปท้องถิ่นจะขี้เกียจหารายได้ของตัวเอง และไม่มีความสามารถพึ่งตัวเองอีก รายได้ก็มาจากรัฐจัดให้ จึงเห็นควรแก้กฎหมายยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่หันมาหารายได้จากฐานภาษีทรัพย์สิน โดยเก็บจากมูลค่าทรัพย์สินที่แต่ละคนถือครอง" รายงานข่าวระบุ
       รายงานข่าวระบุอีกว่า การดำเนินนโยบายการคลังท้องถิ่น หากมีการบริหารจัดการที่ดีพอสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้ แต่พบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองไทย ไม่สามารถเกิดจากท้องถิ่นได้ เห็นได้จากการจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของท้องถิ่นโดยรวมแล้วเป็นแบบสมดุล แต่ในทางปฏิบัติมักจะเป็นแบบเกินดุล คือ มีเงินงบประมาณเหลือจ่ายเสมอ ที่เป็นปัญหาคือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล อปท. กลับสั่งการให้นำเงินส่วนดังกล่าว หักและนำส่งเงินสะสมในอัตรา 10%    จากเงิน
ที่เหลือ เข้ากองทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัดและกองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล ซึ่งคาดว่า
       ปัจจุบันเงินดังกล่าวมีกว่า 1
หมื่นล้าน แต่ตัวเลขที่แน่นอนไม่สามารถยืนยันได้ การสั่งจ่ายงบประมาณท้องถิ่นกระทั่งการเกิดขึ้นของโครงการหลายอย่างเกิดจากการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างนี้จะเรียกว่าการกระจายอำนาจหรือรวมศูนย์อำนาจ

ข่าวสด  27  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31684เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 08:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท