ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

สั่งให้เป็น


คอลัมน์ Etiquette ใน Gourmet & CUISINE
          เคยเข้าไปนั่งในร้านอาหาร  อ่านเมนูแล้ว  ไม่รู้ว่าจะสั่งอะไรบ้างหรือเปล่าคะ?
          เหตุผลมีได้หลายประการค่ะ   
          “ไม่รู้จะกินอะไร”   “ไอ้นี่อยากกินแต่หมอห้าม”   “นี่เคยกินหลายครั้งแล้ว   เบื่อ!”  “อะไรหว่า  ชื่อพิลึก”  “ทำไมแพงจังวะ”   “ราคาขนาดนี้  จานต้องใหญ่แหง๋ๆ  จะกินหมดเรอะ   สั่งหลายอย่างก็ไม่ได้สิ”  “อันนี้จะอร่อยหรือเปล่า”  ไม่รู้จะสั่งอะไร (โว๊ย)”   ฯลฯ
 
          เวลาต้องทำหน้าที่เจ้าภาพสั่งอาหารให้เพื่อนรับประทานนั้น   จะว่าเป็นเรื่องง่ายก็ง่าย  จะว่ายากก็ยากนะคะ
          หลายครั้งที่ไปเลี้ยงกันในหมู่เพื่อนฝูง   เราจะใช้วิธีบอกว่าให้สั่งกันคนละอย่าง   เพื่อเลี่ยงการเป็นผู้รับผิดชอบในการสั่งอาหารแต่เพียงผู้เดียว    เพราะถ้าอาหารที่สั่งมาไม่ถูกใจถูกปากเพื่อนๆ   งานครั้งนั้นก็กร่อยสิคะ  เพื่อนๆ จะรุมอัดเอาได้
          เพื่อนคนหนึ่งของฉัน  จะเป็นคนสั่งคนแรกทุกครั้ง  และสั่งอย่างเดิมซ้ำกันโดยตลอด คือคอหมูย่าง   จนเพื่อนๆ ต้องตั้งข้อสังเกตให้เธอชี้แจง  ซึ่งเธอตอบหน้าตาเฉยว่า  “ผมไม่รู้จะสั่งอะไร  สั่งเป็นอยู่อย่างเดียว  ถ้าไม่รีบบอก  เดี๋ยวมีคนสั่งไปก่อน  ผมไม่รู้สั่งอะไร”   แม้จะเห็นใจเพื่อน   แต่ก็เป็นเรื่องที่ได้เฮกันค่ะ   
          การเคารพสิทธิของแต่ละคนในการสั่งอาหารด้วยวิธีนี้  เคยทำให้อาหารที่วางอยู่ตรงหน้า   เป็นอาหารประเภทเดียวกันหรือรสชาติใกล้เคียงกันหลายจานมาแล้ว!  ซึ่งก็มักจะจบลงตรงที่กินไม่หมด  หรือสรุปกันเองว่าร้านนี้ไม่อร่อย

 

          การสั่งอาหารจึงเป็นปัญหาสำหรับหลายๆ คน    ยิ่งชื่ออาหารของบางร้านอ่านแล้วเดาไม่ถูกว่าเป็นอะไร   ยิ่งก่อความสับสนแก่คนสั่ง  
          ถ้าเป็นเมนูที่มีรูปก็ค่อยยังชั่วหน่อย  เพราะมองเห็นว่าสิ่งที่ชื่ออย่างนี้  หน้าตาอย่างนี้นะ   ส่วนรสชาติค่อยว่ากันอีกที   ร้านอาหารหลายแห่งทำเมนูเป็นแบบรูปภาพ  เช่น อาหารญี่ปุ่น พิซซ่า ไอศกรีม  แฮมเบอร์เกอร์ ฯลฯ
          การทำเมนูแบบรูปภาพนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้น  นับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนที่สั่งอาหารไม่เก่ง
          คนที่สั่งเก่งก็จะเห็นว่าการสั่งอาหารเป็นเรื่องง่าย   สั่งอะไรมา  เพื่อนก็ชอบและชมว่าอร่อย   นั่งยิ้มหน้าบานไป   คนที่สั่งมาแล้วเพื่อนตักคำเดียวเลิก   ก็หน้าจ๋อยไปตามระเบียบ  เพราะเพื่อนอีกนั่นแหละ  ที่มักจะแหย่กันด้วยคำพูดทีเล่นทีจริงว่า “ใครสั่ง  คนนั้นรับผิดชอบ”  หมายถึงต้องกินให้หมด  จะสั่งมากินทิ้งกินขว้างไม่ได้  เสียนิสัย เสียเงิน
          บางคนมีคำพูดเสริมท้ายด้วยว่า “ถ้าไม่หมดจะยีหัว!”  และทำท่าเหมือนกับว่าพูดจริงซะอีก   การสั่งอาหารจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยนะคะ   หลายคนสมัครใจเป็นผู้รอกินเท่านั้น!

 

          เมื่อคนไทยเข้าไปในร้านอาหารหลายคน  ต่างคนต่างเปิดเมนู  ต่างคนต่างสั่ง  สั่งหลายอย่าง  สั่งแล้วมากินด้วยกัน   ตอนสุดท้ายก็มักจะมีผู้จ่ายเพียงคนเดียว
          แนวปฏิบัติง่ายๆ  เวลาสั่งอาหารไทยคือ  สั่งให้มีอาหารหลายประเภท  โดยพยายามไม่ให้ซ้ำกันในระหว่างกลุ่มอาหารประเภทยำ ลาบ พล่า   กลุ่มผัดผัก  ผัดเนื้อสัตว์    กลุ่มแกงเผ็ด แกงจืด    กลุ่มทอด  นึ่ง ต้ม  ย่าง ฯลฯ  และให้มีรสชาติที่หลากหลาย  รวมๆกันแล้วมีครบทุกรส    ไม่ใช่เผ็ดไปซะทุกอย่าง   หรือมีแต่แกงล้วนๆ สามสี่อย่าง  เป็นต้น
          ร้านอาหารส่วนใหญ่จะจัดอาหารเป็นกลุ่มๆ ไว้ให้แล้วในเมนู  เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการเลือกสั่ง

 

          เมื่อฝรั่งหลายคนพากันเข้าไปร้านอาหาร  ต่างคนต่างเปิดเมนู  ต่างคนต่างสั่ง และต่างคนต่างกิน  ไม่รุมกันกินแบบคนไทย   ฉะนั้นใครสั่งอะไรมา  ก็รับผิดชอบไปแต่เพียงผู้เดียว  เพราะตอนสุดท้ายก็ต่างคนต่างจ่าย
          แนวปฏิบัติในการสั่งอาหารฝรั่งคือ  สั่งอาหารที่เป็นชุดพิเศษประจำวันของทางร้านในครั้งแรก  ต่อเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจึงค่อยสั่งอะไรๆที่พิสดาร
          เมนูของฝรั่งจะจัดอาหารเป็นกลุ่มตามลำดับของชุดในการกิน   แค่สั่งอย่างละ 1 รายการจากแต่ละกลุ่มก็อิ่มเกินพอ    ซึ่งการจัดกลุ่มจะแตกต่างจากอาหารไทย   คือมีกลุ่มอาหารเรียกน้ำย่อย  ซึ่งใช้คำว่าออเดริฟ (hor d’oeuvres)  หรือ แอปปิไทเซอร์  (appetizer)    กลุ่มซุป (soup)  กลุ่มสลัด (salad)  กลุ่มอาหารจานหลัก (entrée หรือ main dish)  กลุ่มเครื่องเคียง หรือ ของกินเล่น (side order)  กลุ่มของหวาน (dessert)  กลุ่มเครื่องดื่ม (beverage)
          อาหารจานหลักของหลายภัตตาคารจะเสริฟโดยมี ขนมปัง เนย ซุป และสลัดมาด้วย  พร้อมทั้งเครื่องเคียง อาทิ มันฝรั่ง ผักต้มนานาชนิด ข้าว    ดังนั้น ถ้าไม่มีคำอธิบายรายละเอียดในเมนู  ควรถามบริกรให้ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง   เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะลงเอยด้วยจานอาหารมากมายตรงหน้า  กินคนเดียวไม่หมด

 

          จริงอยู่ที่ว่าเงินก็ของเรา  ท้องก็ของเรา  จะกินอะไรก็เป็นเรื่องของเรา 
          ใช่ค่ะ   แต่การสั่งอาหารที่ทำให้ผู้สั่งดูเป็นผู้มีรสนิยมที่ดีในการกิน  ไม่ใช่ดีแต่กินอย่างเดียว ก็เป็นเรื่องที่ดีงามและเพิ่มเครดิตให้กับตัวเองไม่ใช่หรือคะ  
          และที่สำคัญคือ  คนที่สั่งเป็น  เมื่อสั่งมาแล้วต้องกินพอดีหมด   ไม่ใช่เหลือแบบที่เรียกว่ากินทิ้งกินขว้าง!    

       

หมายเลขบันทึก: 316399เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2009 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท