ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ภาษาเมนู


คอลัมน์ Etiquette ใน Gourmet & CUISINE
        ไม่ใช่ภาษาเมนูในคอมพิวเตอร์ เป็นเมนูอาหารค่ะ.. 
 
        เมนู (Menu)  แปลว่ารายชื่ออาหารหรือรายการอาหาร  เป็นคำภาษาอังกฤษที่คนไทยนำมาใช้ทับศัพท์จนเป็นที่เข้าใจกันดี  และหลายคนคิดว่าเป็นคำภาษาไทยด้วยซ้ำไป    เหมือนกับคำทับศัพท์อีกหลายคำ    อย่างคำว่า “สลัด”  ก็มีเด็กรุ่นใหม่ถามว่าไปพ้องกับคำว่า “Salad” ได้อย่างไร
        ความที่ใช้กันจนติดปาก  ก็เจอดีเข้าจนได้
        เมื่อไปกินอาหารกับเพื่อนผู้อนุรักษ์ภาษาไทย  และเธอบอกกับบริกรอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า  “ขอรายการอาหารหน่อย”   
        สาวน้อยทำท่าประหนึ่งฉงน   แล้วพูดสวนกลับมาว่า  “เมนูหรือคะ?”   เหมือนกับจะบอกว่าเค้าเรียกว่าเมนูจ๊ะแม่คุณ   ก่อนที่จะเดินไปหยิบมาให้
        คุณนายอนุรักษ์ภาษาไทยเจอแบบนี้เข้า  ก็นะจังงังไปได้เหมือนกัน

 

        เมื่อพาตัวเองเข้าไปนั่งในร้านอาหารแล้ว   เมนูคือก้าวแรกของเส้นทางการกิน   ซึ่งถ้าก้าวผิดจะเป็นเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่งทีเดียว
        จะไม่เศร้าได้ยังไงคะ  ตั้งใจจะกินอาหารอย่างหนึ่ง  แต่กลับกลายเป็นอีกอย่าง
        เจอมาแล้วกับตัวเองค่ะ    ไปสัมมนาที่โรงแรมใหญ่ริมหาดพัทยาที่ออกแบบสวยงามเป็นรูปเรือลำเบ้อเริ่ม    แต่ไปถึงช้ากว่าคนอื่นๆ    พรรคพวกกินอาหารกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ก็เลยต้องไปที่ห้องอาหารและสั่งกินเอง  
        อ่านรายการอาหารในเมนูไปเรื่อยๆ จนเจอชื่อ “ผักพริกขิงกุ้งสด”  นึกอยากกินขึ้นมาทันที  ไม่รีรอที่จะสั่ง   สักพักหนึ่งก็มีกุ้งผัดพริกชี้ฟ้าและขิงหั่นเป็นแว่นๆมาวางตรงหน้า  รีบบอกว่าไม่ได้สั่งอันนี้   สั่งผัดพริกขิงค่ะ
        บริกรยืนยันว่าที่โรงแรมนี้  ผัดพริกขิงคือ จานที่วางอยู่นี่แหละ  เป็นอันว่าผัดพริกขิงแบบไทยแท้แต่โบราณที่เคยกินมาแต่เล็กแต่น้อยได้กลายสภาพไปซะแล้ว   จะไม่ให้เศร้าได้ยังไง

 

        อีกเรื่องก็จริงเหมือนกัน   แต่ต่างกรรมต่างวาระ   ร้านนี้อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวๆที่มีฝรั่งซำเหมาพักอยู่เยอะ   โต๊ะข้างๆ มีชาวต่างชาติคนหนึ่งนั่งกินข้าวผัด  และมีซุปหน่อไม้วางอยู่ด้วย  แอบซุบซิบกับเพื่อนว่า    ฝรั่งกินอาหารลาวด้วยแฮะ   แต่เหลือบมองไปทีไร  ก็ไม่เห็นพร่องเลย   แล้วสั่งมาทำไมหว่า   ต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่ๆ
        ความสงสัยทำให้พลิกดูเมนู   ก็พบรายการซุปหน่อไม้ ที่มีภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า  Bamboo Shoot Soup   ฝรั่งคงอยากกินข้าวผัดโดยมีน้ำซุบร้อนๆ ซดคล่องคอ   พอเจอซุปคนไทยเข้าก็เลยได้แต่มองตาปริบๆ 

 

        การใช้ภาษาในเมนูจึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการควรให้ความเอาใจใส่และพิถีพิถันในการเลือกใช้คำ   หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะก่อให้เกิดการสื่อความหมายในทางที่ผิด   ทำให้ลูกค้าสั่งอาหารผิด
        ไหนๆ อาหารไทยก็ติดอันดับโลกไปแล้ว  จะเขียนภาษาอังกฤษทับศัพท์ไทยไปเลยก็น่าจะได้   อย่างผัดไทยกับต้มยำกุ้งไงคะ   ไม่ต้องแปล
        บางครั้ง  รายการอาหารก็มีชื่อพิศดารจนไม่เหลือรากเหง้าหรือร่องรอยให้เดาว่า ถ้าสั่งมาแล้วจะได้กินอะไร    บางคนรู้เพราะเคยสั่ง   แต่มือใหม่มืดแปดด้านค่ะ
        ยำผัวเผลอ   ผัดสยบจอมยุทธ์   ขงเบ้งดูดาว  เอ็มสิบหก  ฯลฯ  ชื่อแบบนี้ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที   ถ้ามีเวลาต่อล้อต่อเถียงกับสาวเสริฟหน้าตาจิ้มลิ้มก็โอเค   แต่ถ้ากำลังหิวๆ  อ่านเมนูแล้วไม่รู้เรื่อง  เลยพาลย้ายร้านซะเลย
 
        ร้านที่มีความเข้าใจในการจัดรายการอาหารให้ปรากฏในเมนูอย่างเป็นระบบ  จะช่วยให้คนกินสะดวกในการสั่ง   ยิ่งถ้ามีชื่อเฉพาะ แล้วแถมข้อความอธิบายให้ด้วย   แบบนี้ทำธุรกิจได้นาน
        อาหารไทยที่มีกรรมวิธีในการประกอบอาหารต่างไปจากอาหารชาติอื่นๆ   บางอย่างจะไม่มีคำใดในภาษาอังกฤษอธิบายได้    ใช้ทับศัพท์ไปจะดีกว่า
        อาหารญี่ปุ่นทำให้พจนานุกรมภาษาอังกฤษต้องเพิ่มคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาญี่ปุ่นไม่น้อยกว่า 400 คำแล้วตอนนี้    ต่อไปจะเป็นคำไทยบ้างไม่ได้เชียวหรือ  
        เมนูอาหารไทยมีการจัดหลากหลาย   จัดกลุ่มตามประเภทของเครื่องปรุงหลักบ้าง วิธีทำบ้าง ประเภทของการปรุงบ้าง   แล้วแต่ร้านไหนสะดวก 
        คนไทยเวลาสั่งอาหารจะเลือกสั่งจากแต่ละกลุ่ม  คือให้มีทั้ง ทอด  ยำ  แกงเผ็ด  แกงจืด ผัด  นึ่ง  เรียกว่าต้องมีครบ  หรืออาจเป็นปลา ไก่ หมู กุ้ง ผัก  แบบว่าไม่ให้ซ้ำกัน

 

        แต่ทุกวันนี้  ภาษาเมนูยังเป็นสิ่งที่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานใดๆ   มีแต่ต่างคนต่างพยายามสร้างเอกลักษณ์ให้กับร้านของตนเองจนบางครั้งลืมที่จะให้ความสะดวกแก่คนที่จะกิน
        ชื่อเดียวกันอาจจะไม่ใช่อาหารชนิดเดียวกันก็ได้  
        ดังนั้น  เพื่อให้เกิดความราบรื่นในเส้นทางการกิน    ก็ต้องพึ่งตัวเองด้วย   เวลาหยิบเมนูขึ้นมาเมื่อไหร่   เห็นรายการชื่อแปลกๆ หรือไม่แปลก    หากไม่เคยสั่งมาก่อน    ก็อย่าได้เขินอายที่จะถามให้แน่ใจเสียก่อนว่า  อาหารที่เราจะสั่งนั้น    มีหน้าตาอย่างไร  
        จะได้แน่ใจว่า  ได้กินสิ่งที่อยากกินไงคะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 316390เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2009 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท