ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

อาหารในงานสัมมนา


คอลัมน์ Etiquette ใน Gourmet & CUISINE

        ไปประชุมสัมมนากลับมาทีไรน้ำหนักเพิ่มทุกที ! 

        ไม่ใช่เพราะอาหารอร่อยหรอกค่ะ  แต่เพราะกินมากมื้อ คือ 3 แถมอีก 2 หรือ 3

        สามแรกเป็นการกินตามมื้อปกติ  เช้า กลางวัน เย็น    ส่วนสามหลังนั้นแถมมาระหว่างมื้อ คือช่วงหลังอาหารมื้อหลัก   ซึ่งในตารางสัมมนามักจะระบุไว้ว่า  เครื่องดื่มและอาหารว่าง

        มื้อที่แถมในช่วงหลังอาหารเย็นนั้น  จะจัดให้ในการประชุมสัมมนาที่มีตารางกิจกรรมตอนค่ำด้วย

        ไม่รู้ว่าใครนะตั้งชื่อว่าอาหารว่าง  เพราะเท่าที่เจอะเจอมามันไม่ว่างเลยสักนิด   บางครั้งมีทั้งของคาว ของหวานและผลไม้อย่างครบถ้วน   เพียงแต่จัดทำแบบกระร่อยกระหริบ  มีขนาดเล็กลง  และมีปริมาณน้อยลงเท่านั้น

        ธรรมเนียมปฏิบัติของการกินอาหารในงานสัมมนาแบบนี้   ถือเป็นสากลค่ะ  เพราะในการประชุมสัมมนาในประเทศไทยหรือต่างประเทศ  ก็กินหลายมื้ออย่างนี้เหมือนๆกัน   ต่างกันที่รายการอาหาร

        ความจริงแล้ว  เราไม่จำเป็นต้องกินให้ครบทุกมื้อก็ได้ค่ะ  แต่เวลามีเพื่อนอยู่ด้วยกันหลายๆ คน   ก็มักจะถ้อยทีถ้อยกินกันไปคุยกันไป    ซึ่งเป็นบทบาทในสังคมที่เป็นธรรมชาติ 

        แต่ถ้าเราเลือกที่จะไม่กิน  จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก   เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายกันยาว ต่อบรรดาเพื่อนผู้หวังดี  ถึงเหตุผลความจำเป็น  ถ้าไม่กินก็ต้องหลบไป   พอหลบก็มีคนช่างสังเกตถามอีกว่า  ตอนพักเบรคหายไปไหน  ทำไมไม่มากิน   เฮ้อ!

         รายการอาหารในงานสัมมนาที่จัดให้โดยโรงแรม  ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมในการจัดประชุมสัมมนา  มีให้เลือกกินหลายอย่าง  และมักจะจัดแบบบุฟเฟ่ต์ถ้ามีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

        อาหารที่จัดไว้นั้น  ก็ไม่จำเป็นต้องกินทุกอย่างอีกเช่นกัน  แต่ก็พบว่าแทบทุกคนจะตักอาหารทุกอย่างที่จัดให้  นัยว่า “ชิมดู” หรือบางคนบอกว่า “รักษาสิทธิ์”

       การทำเช่นนี้ทำให้รูปแบบการกินแตกต่างไปจากวัตรปฏิบัติตามปกติในชีวิตประจำวัน  บางคนเกิดอาการอาหารไม่ย่อย  ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือท้องเสียเป็นของแถม  อย่างเช่น  ตามปกติไม่เคยดื่มน้ำผลไม้ตอนอาหารเช้าเลยสักครั้ง  แต่มื้อเช้าที่โรงแรมจัดให้มีน้ำผลไม้ด้วย  จึงดื่มเข้าไปหลายแก้ว  ผลคือ ท้องออกอาการโครกคราก  นั่งประชุมไม่เป็นปกติสุข  อย่างนี้เป็นต้น 

        การกินแต่พอดีเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในงานสัมมนา  เพราะอาหารที่โรงแรมจัดนั้น  ดูหน้าตาหน้ากินไปซะหมด   คนที่ทำได้ต้องใจแข็งและมีวินัยในตัวเองอย่างมากจึงจะทำสิ่งที่ฝืนใจแบบนี้ได้  หรือไม่ก็เป็นคนที่อยู่ในขั้น “ตายแน่” ถ้ากิน เพราะหมอกำชับมาพร้อมกับยาถุงใหญ่

        ฉะนั้น  ถ้าอยากสบายตัวสบายท้องระหว่างการสัมมนา  ก็ต้องกินแต่พอเหมาะ

        คนที่จัดสัมมนาจึงควรอย่างยิ่งที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้ร่วมสัมมนากินดี  คือกินอาหารที่ไม่แปลกแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันมากนัก  และเหมาะสมกับวัย!

        งานสัมมนาที่มีสมาชิกอายุใกล้เคียงกัน  จะจัดรายการอาหารให้เหมาะสมได้ง่ายกว่างานที่มีสมาชิกหลากหลายวัย  เรื่องของอายุจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบในการเลือกรายการอาหาร

        เคยไปร่วมสัมมนาครั้งหนึ่ง  คนมาสัมมนาเป็นผู้ที่ค่อนข้างสูงอายุ  อาหารที่จัดให้เป็นเนื้อสัตว์แทบทุกอย่าง หมูผัดพริก  ไก่ทอด  ปลาหมึกผัดเผ็ด  ฯลฯ  กับข้าวเหลือมากจนเห็นใจคนทำ  ทั้งนี้เพราะคนสูงอายุจะหันหน้าเข้าหาอาหารผักมากกว่า

        ระหว่างกินจึงได้ยินเสียงบ่นทางโน้นทีทางนี้ที  โดยมีข้อสรุปร่วมกันคือ ไม่มีอาหารประเภทผักมากพอ  โดยเฉพาะน่าจะมีน้ำพริกกับผักนานาชนิด หรือสลัดซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าผู้สูงอายุที่ต้องระวังเรื่องความสูงของไขมัน  น้ำตาล  ความดัน ฯลฯ

        การสัมมนาแต่ละครั้ง   ผู้เข้าสัมมนาจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวงการเดียวกัน และมักจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน   เพราะการสัมมนาเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อการเก็บเกี่ยวความรู้ความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่ต้องการคำตอบหรือแนวทางแก้ไข

        ดังนั้น  การคาดการณ์หรือวางแผนรายการอาหารที่จะเลี้ยงผู้เข้าร่วมสัมมนาก็สามารถจำกัดวงให้แคบลงได้  หากผู้จัดทำการบ้านซะหน่อยหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าสัมมนา 

        การจัดอาหารในงานสัมมนา  ควรเอาใจใส่ในเรื่องความนิยมหรือความชอบ  เพราะอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการวัดความพึงพอใจ   ยิ่งสมาชิกชอบมาก  การจัดก็ยิ่งประสบความสำเร็จ

        กินอร่อย  ที่พักสบาย  การสัมมนาก็ราบรื่นยิ่งขึ้น   เพราะสมาชิกเมื่อมีความสุขก็ย่อมสามารถสร้างสรรค์งานให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ผู้จัดมุ่งหมายไว้ได้ดียิ่งขึ้น

        อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ  ระเบียบวิธีกิน

        เคยไปงานสัมมนาที่มีคนไปร่วมกว่า 500 คน พบว่าการจัดอาหารซึ่งทางโรงแรมวางแผนไว้มีเพียง 2 จุด   แถวก็ยาวซิคะ  คนที่มาเข้าคิวเร็วซึ่งตักได้ก่อน  กินเสร็จไปแล้ว คนอื่นๆ ยังเข้าคิวรออยู่เป็นร้อย    ถ้าเจอเหตุการณ์คิวยาวเกินเหตุเมื่อไหร่   วิธีที่ฉันทำคือเลี่ยงไปตักผลไม้และของหวานมานั่งรับประทานไปก่อน  และถ้าอิ่มแล้วก็ไม่ต้องยุ่งกับอาหารคาว  สบายท้องดีเหมือนกัน..

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #มารยาท#วิถีกิน
หมายเลขบันทึก: 316396เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2009 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท