เบื้องหลังการจัดงานวันเบาหวานโลก (๑)


บรรยากาศการทำงานเช่นนี้ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นจริงๆ

การจัดงานวันเบาหวานโลกเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากบุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อ่านที่นี่) เป็นที่น่าประทับใจยิ่งนัก บรรยากาศการทำงานเช่นนี้ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นจริงๆ

การที่เราเลือกจัดงานในวันที่ ๗ พฤศจิกายนนั้น เนื่องจากคาดว่าในช่วงที่ใกล้ๆ กับวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน โรงพยาบาลหลายแห่งน่าจะจัดกิจกรรมกันอยู่แล้ว ส่วนที่ต้องจัดงานในวันเสาร์ก็เพราะเรายังไม่มีอาคารสำหรับจัดการประชุมโดยเฉพาะ อาคารที่เราจะใช้ได้สะดวกหน่อยก็คืออาคารเรียนรวม ซึ่งในระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ ไม่มีห้องว่างให้ใช้งานได้ เราเลือกอาคารเรียนรวม ๕ เพราะคนจากภายนอกหาไม่ยาก และมีที่จอดรถในบริเวณใกล้เคียงเพียงพอ

พอตกลงใจเรื่องวันและสถานที่เรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถประสานกับวิทยากรได้ง่ายขึ้น ศ.เกียรติคุณ นพ.เทพ หิมะทองคำ ได้กรุณาตอบรับมาเป็นวิทยากรให้ และท่านยังถามด้วยว่าเอาเงินที่ไหนมาจัด ดิฉันจึงได้โอกาสขอการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน ในการนำนิทรรศการเคลื่อนที่ มหานครปลอดเบาหวานมาร่วมกิจกรรมด้วย อาจารย์เทพยินดีให้การสนับสนุนและให้คุณธัญญา (หิมะทองคำ) วรรณพฤกษ์ กรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้ดูแล

พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล หรือหมอฝนจะนำทีมครบุรีคือน้องกวาง ภญ. กอบกาญจน์ ไวถนอมสัตว์ และป้าอรุณ แอบครบุรี มาช่วยด้วย กว่าจะหาตัวแทนผู้ป่วยมาได้ก็ใช้เวลาหลายวันอยู่ เพราะหลายคนติดภารกิจในท้องไร่ท้องนา คุยงานกันเรียบร้อยหมอฝนก็บินไปเนปาล กลับเมืองไทยในวันที่ ๔ พฤศจิกายน

เดิมเราคาดว่าจะมีผู้เข้าฟังการบรรยายพิเศษซึ่งประกอบด้วยทีมเบาหวานจากโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมแล้วคงจะเกือบๆ ๓๐๐ คน ห้องเรียน ๓๐๑ ที่ชั้น ๓ สามารถรองรับได้เพียงพอ ส่วนพื้นที่ชั้น ๒ ของอาคารก็สามารถใช้จัดนิทรรศการและใช้เป็นที่รับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวัน

พอราวๆ กลางเดือนตุลาคมปรากฏว่ามีทีมเบาหวานจากภายนอกแจ้งความจำนงจะเข้าร่วมงานมามากกว่าที่คาดไว้ แม้เจ้าหน้าที่ของเราจะแจ้งปิดรับสมัครแล้วแต่ก็ยังมีผู้ติดต่อเข้ามาทุกวัน ดิฉันจึงให้เปิดรับได้ โดยติดต่อศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาขอต่อวงจรปิดไปยังห้องเรียน ๑๕๐ ที่นั่ง ที่อยู่ชั้น ๒ ของอาคาร

เราสั่งอาหารกล่องจากวิทยาลัยอาชีวะฯ เป็นอาหารกลางวันสำหรับผู้เข้าประชุม เดิมก็จะสั่งอาหารว่างด้วย แต่ปรากฏว่าอาหารว่างของที่นี่มีราคาสูง เกรงว่างบประมาณที่มีอยู่จะไม่เพียงพอ ประกอบกับเมื่อรวมผู้ที่แจ้งชื่อเข้าร่วมกิจกรรมและทีมทำงานแล้วมีจำนวนมากถึงประมาณ ๔๕๐ คน เราจึงติดต่อร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย โชคดีที่มีร้านคนกันเองรับจัดอาหารว่างให้ตามที่เราออกแบบและมีราคาที่ยอมรับได้

อาหารว่างมื้อเช้าเป็นประเภทติ่มซำ พร้อมชา-กาแฟ จัดใส่กล่องกระดาษ ส่วนอาหารว่างตอนบ่ายจัดใส่ถุงพร้อมน้ำดื่มขวดเล็ก เผื่อผู้เข้าประชุมนำติดตัวไปรับประทานขณะเดินทางกลับ

อาหารว่างสำหรับประชาชนและผู้สนใจที่มาร่วมกิจกรรมในนิทรรศการนั้น ดิฉันนึกขึ้นมาได้ถึงงานวันลอยกระทงที่มีอาจารย์ของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งและครอบครัวมาออกร้านทำแซนวิชร้อนๆ ขายชิ้นละ ๑๐ บาท ดูท่าจะดี เมื่อผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ ครบแล้วก็มารับแซนวิชพร้อมน้ำดื่มขวดเล็ก (ร้านที่จัดอาหารว่างช่วยซื้อน้ำให้)  เมื่อติดต่อไปอาจารย์เขาก็รับปากจัดให้ เราสั่งไป ๑๐๐ ชิ้น

นอกจากนี้เรายังสั่งอาหารพื้นบ้านจากชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เป็นแกงเลียงยอดลำเพ็งและยำส้มมุด มาเพิ่มเติมให้ผู้เข้าประชุมได้ลองชิมกัน ให้ทำมาเป็นหม้อใหญ่ แล้วเราจัดจานกระดาษและถ้วยไว้ให้ (ร้านที่จัดอาหารว่างช่วยซื้อให้อีก) 

เราเตรียมหนังสือมหัศจรรย์ KM เบาหวาน และขอหนังสือ TCEN เบาหวาน จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เอาไว้แจกผู้เข้าประชุม เดิมกะจะซื้อกระเป๋าด้วย แต่โชคดีที่เช้าวันหนึ่งเจอ ผศ.ดร.สุพิศ ฤทธิ์แก้ว ผอ.ศูนย์บริการการศึกษา ของเราที่สนามบินดอนเมือง คุยกันไปคุยกันมาเรื่องการจัดงาน จำนวนคนที่จะมาและความห่วงใยเรื่องงบประมาณที่มี อาจารย์สุพิศจึงเอ่ยปากมอบกระเป๋าให้ ๔๐๐ ใบ ช่วยทุ่นงบประมาณไปได้นับหมื่นบาททีเดียว

แม้จะจัดงานวันเสาร์ แต่ทีมน้องๆ เจ้าหน้าที่ของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็เตรียมตัวมาช่วยงานกันทุกคน นอกจากนี้ยังมีคุณปิยวัชน์ คงอินทร์ หัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษามาช่วยทำหน้าที่เป็นพิธีกร คุณจินตนา ศิริวัฒนโชค หัวหน้าส่วนพัสดุ มาช่วยดูแลความเรียบร้อยของงาน

คุณสุขุม ศรีสมบัติ จากศูนย์บริการวิชาการติดต่อมาบอกว่าจะถ่ายทำ VDO ไว้ตลอดงานและขอสัมภาษณ์อาจารย์เทพและดิฉันบันทึกเทปไว้ออกรายการทีวีของมหาวิทยาลัยด้วย คุณจิตตนา หนูณะหัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์มอบหมายเจ้าหน้าที่ทำข่าวเรื่องงานและคุณจิตตนาจะเป็นพิธีกรในการบันทึกเทปให้ด้วย

เดิม ศ.ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ บอกว่าจะมาเปิดงานและอยู่ร่วมงานด้วย ท่านรองฯ รู้จักกับอาจารย์เทพมาก่อน แต่พอใกล้วันงานปรากฏว่าท่านมีภารกิจ ดิฉันเลยขอความกรุณาจาก รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดี ซึ่งท่านก็รับปากจะมาเปิดงานให้

ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่นเป็นที่น่าพอใจ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 315380เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2009 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เบื้องหลังคือความสำเร็จของเบื้องหน้า
  • ขอแสดงความชื่นชมคนเบื้องหลังและคนเบื้องหน้าทุกคนครับ เป็นกำลังใจให้คนทำงาน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท