วันหนึ่งในในชั่วโมงคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 มีนักเรียนจำนวน 27 คน ดิฉันได้ทำการสอนเรื่องค่าประจำหลักและการเขียนจำนวนในรุปการกระจายการบวกและการคุณ ในกิจกรรมการจัดการเรียนรู้กำหนดให้นักเรียนตีตารางแผนภูมิค่าประจำหลักตามตัวอย่างบนกระดาน
ดิฉันให้เวลานักเรียนได้วาดตามตัวอย่าง ขณะนั้นก็เดินตรวจและสังเกตการทำงานของนักเรียนไปด้วย พบว่านักเรียนส่วนมากจะใช้เวลาในการตีตารางนานและผลงานที่ได้คือ บางคนวาดตารางแบบลบแล้วลบอีก เป็นรอยสกปรก รูปทรงบิดเบี้ยว ทำให้ช่องว่างที่ได้กับข้อความที่ใส่ไม่พอดี ในขณะเดี่ยวกันได้เห็นผลงานของนักเรียน 3 คน คือ เด็กชายอัครเดช เด็กหญิงวิลดา และเด็กชายวิทยา ที่สามารถตีตารางได้ขนาดพอเหมาะ ไม่สกปรก และทำได้อย่างรวดเร็วเสร็จตามเวลาที่กำหนดให้
จากนั้นดิฉันใช้วิธีการให้เด็กนักเรียนทั้ง 3 คน มากเล่าวิธีการหรือสิ่งที่เป็นเทคนิคพิเศษที่พวกเขาใช้ในการตีตาราง จากการเล่าหน้าชั้นเรียนทำให้ทั้งชั้นได้รับทราบ ว่า จากเพื่อนนักเรียน 3 คนของพวกเขามีวิธีการพิเศษทั้งหมด 5 วิธีการ ดิฉันบันทึกสิ่งที่เด็กทั้ง 3 คนบอกไว้บนกระดานดำ แล้วทดลองให้เด็ก ๆ อีก 24 คน ที่เหลือได้ลองวาดตารางใหม่ โดยบอกกับพวกเขาว่า "ลูกลองเลือกวิธีของเพื่อนที่ลูกสนใจเอามาทำดู"
ดิฉันทดลองให้เด็ก ๆ วาดตารางใหม่และจับเวลาอีกครั้ง ปรากฏว่าเด็กนักเรียน 20 คน สามารถวาดตารางเสร็จในเวลาที่กำหนด ผลงานออกมาดีไม่สกปรกเพราะรอยลบ ตารางไม่เบี้ยว ส่วนนักเรียนอีก 4 คน สามารถทำได้เช่นกัน แต่ใช้เวลามากกว่าที่ครูกำหนดให้ และมีรอยลบอยู่บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จากสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ป.4/2 ทำให้ดิฉันตระหนักว่ามิได้มีแต่เฉพาะตัวครูเท่านั้นที่เป็นผู้ถ่ายทอดให้ แม้กระทั้งลูกศิษย์ทั้งหลายของเราต่างก็มีวิธีการอยู่ในตัวของพวกเขา ซึ่งสามารถถ่ายทอดบอกต่อให้เพื่อนคนอื่นในชั้นเรียน มิใช่แต่ในชั้นเรียนของพวกเขา ดิฉันยังได้นำเทคนิควิธีเหล่านี้ไปใช้สอนในชั้นเรียน ป.4/1 และนำไปเผยแพร่ให้กับเพื่อนครูผู้สอนที่สนใจต่อไปด้วย ซึ่งวิธีการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนครั้งนี้เองที่ดิฉันบังเกิดแนวทางในการทำงานสอนที่ว่าเด็กต่างมีคลังความรู้อยู่ในตัว ดังนั้นในชั่วโมงถัด ๆ ไป ดิฉันก็ได้ใช้แนวทางการเรียนการสอนแบบดึงความรู้จากเด็กนักเรียนมาช่วยสอนด้วย
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาง เพ็ญศรี สุภาวสิทธิ์ ใน KM ในชั้นเรียน
สวัสดีค่ะพี่หนิง โอเองนะคะ โออ่านบันทึกพี่หนิงแล้วเป็นเรื่องที่ดีเลยค่ะ สมกับที่อ.เทียมจันทร์พูดไว้ให้ฟังเลยค่ะว่า พวกพี่ ๆ ครูประจำการต้องมีอะไรดี ๆ มา ลปรร. กันแน่ ๆ
โออยากแนะนำนิดนึงน่ะค่ะ พี่หนิง เรื่องชื่อบันทึกค่ะ พี่หนิงใช้ชื่อ blog (หรือชื่อไดอารี่ของพี่หนิงเอง) ว่า คณิตศาสตร์ แล้วใช่มั้ยคะ ส่วนบนทึกแต่ละเรื่องที่พี่หนิงเขียน พี่หนิงอาจจะเขียนให้สื่อในเรื่องนั้นๆ ไปเลยก็ได้ค่ะ ไม่ต้องใช้ชื่อว่า คณิตศาสตร์ เหมือนชื่อ blog ก็ได้ อย่างบันทึกนี้ พี่หนิงอาจจะตั้งชื่อว่า "KM กับเด็ก ป.4 ในการเรียนคณิต" หรืออะไรก็ได้ที่สื่อในบันทึกนั้นแบบง่าย ๆ น่ะค่ะ แบบว่าพออ่านคนอื่นอ่านชื่อเรื่องปุ๊บ ก็ดึงดูดให้เข้ามาอ่านในเนื้อหาที่เขียนอีกทีน่ะค่ะพี่หนิง
เรื่องเราตีพิมพ์ไปแล้ว เราสามารถแก้ไขได้นะคะพี่หนิง ไปที่แผงควบคุม เลือกจัดการบันทึกที่มีอยู่ แล้วเลือกแก้ไขในเรื่องนั้น ๆ ได้เลย แก้ได้ตั้งแต่ชื่อบันทึก ประโยคเด่น เนื้อหา แล้วก็คำหลักเลยค่ะ
ด้วยความเคารพค่ะ