วิธีการเรียนรู้แก้ไขปัญหาของเกษตรกรยุคใหม่


....เกษตรกรกลุ่มนี้ได้พยายามหาความรู้ต่อไปอีกว่ามีองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใดบ้างที่เกษตรกรไม่ต้องสร้างโรงเรือนและใช้แรงงานมากในการพลิกกลับกองปุ๋ยบ่อยๆ และในที่สุดเมื่อได้อ่านวารสาร ท่องอินเติร์เน็ต ก็พบว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีระพงศ์ สว่างปัญญางกูร แห่งภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการศึกษาวิจัย ค้นพบการทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ และต้องการเผยแพร่องค์ความรู้...คุณธีรพล ระฆังทอง แกนนำกลุ่มเกษตรกรจึงติดต่อขอรับการสนับสนุนข้อมูล.....

เก็บมาคุยคุ้ยมาเล่า วันนี้จะเก็บเกล็ดเล็กเกล็ดน้อย หรือจะเรียกว่าควันหลง จากการประชุมเสวนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 พ.ค.49 มาคุยมาเล่า ก็ว่าได้

เพราะมันมีวิธีทำงานและวิธีการเรียนรู้ของเกษตรกร ผู้เรียน หรือคุณกิจที่น่าสนใจยิ่ง (สำหรับทัศนะของผมนะครับ)

เกษตรกร ผู้เรียน หรือคุณกิจที่ว่านี้คือกลุ่มเกษตรกรชุมชนมะขามเรียง หมู่ที่ 1 ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เกษตรกรชุมชนมะขามเรียงกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมี  ดินและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ต้นทุนด้านการผลิตสูง อันตรายต่อสุขภาพ (....เยอะมากจดไม่ไหว...... ไม่คุ้มทุน ...มีหนี้สินด้วย .....)

เกษตรกรกลุ่มนี้จึงหาหนทางแก้ไขปัญหาโดยลงมือรวมตัวเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีแกนนำ คือ คุณ ธีรพล ระฆังทอง และ คุณสมวิศว์ จู้พันธ์ และเกษตรกรรายอื่น เริ่มต้นด้วยการไปศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาจัดทำโครงการผลิตน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก และโครงงานอาชีพต่างๆสำหรับชุมชน โดยมีเป้าหมายลดต้นทุนการผลิต สร้างงานสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม ระดับครัวเรือนให้มีความยั่งยืน (....ตรงกับเป้าหมายของโครงการจัดการความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเมืองนครฯ เลยครับ) แต่จากการศึกษาดูงานกลุ่มปุ๋ยหมักในเขตพื้นที่ พบว่าปัจจัยในการดำเนินงานที่เป็นข้อจำกัดของกลุ่มต่างๆ คือ ต้องสร้างโรงเรือน และใช้แรงงานมากในการพลิกกลับกองปุ๋ยบ่อยมาก

เกษตรกรกลุ่มนี้ได้พยายามหาความรู้ต่อไปอีกว่ามีองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใดบ้างที่เกษตรกรไม่ต้องสร้างโรงเรือนและใช้แรงงานมากในการพลิกกลับกองปุ๋ยบ่อยๆ และในที่สุดเมื่อได้อ่านวารสาร ท่องอินเตอร์เน็ต ก็พบว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีระพงศ์ สว่างปัญญางกูล แห่งภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการศึกษาวิจัย ค้นพบการทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ และต้องการเผยแพร่องค์ความรู้

คุณ ธีรพล ระฆังทอง แกนนำกลุ่มเกษตรกร จึงติดต่อขอรับการสนับสนุนข้อมูลจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีระพงศ์ สว่างปัญญางกูล แห่งภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อ สิงหาคม 2548 เมื่อได้ข้อมูลสนับสนุนมา คุณ ธีรพล ระฆังทอง ก็นำข้อมูลมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชของเรา เพราะพื้นที่ภาคใต้ ของเราทั้งสภาพวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสม ฤดูกาล บริบททั่วไปต่างจากภาคเหนือ  ภาคเหนือทำได้ผลมาแล้ว แต่ที่ภาคใต้เราต้องคิดปรับให้เหมาะสมเสียก่อน คุณธีรพล ระฆังทอง กับคณะจึงทำโครงงานทดลองทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศขึ้น กศน.อำเภอเมืองนครศรีฯก็ให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่ม รวมทั้งวัสดุฝึกบางอย่างด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคุณประเสริฐ ศรีเจริญ  สนับสนุนวิชาการด้านการบัญชีและการเงิน  เครื่องคอมพิวเตอร์ / เครื่องยนต์เล็ก คุณสมวิศว์ จู้พันธ์ ให้กลุ่มยืมใช้ในการดำเนินการ ที่ทำการกลุ่มและที่เก็บปุ๋ย ได้รับการเอื้อเฟื้อจาก คุณโสภณ จิตต์สุคนธ์ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม กลุ่มนี้จัดตั้งเมื่อ 1 กันยายน 2548

ในช่วงของการทดลองทำ ก็มีอาจารย์ แสนวสันต์ ยอดคำ จากคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาตรวจเยี่ยม ( บังเอิญกันพอดี อาจารย์ท่านมาในกิจกรรมกีฬามหาวิทยาลัย  ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้โอกาสดี คุณ ธีรพล ระฆังทอง จึงเชิญให้ท่านไปดู  )   ปรากฏว่าท่านชอบใจ ที่ทางกลุ่มรู้จักคิดประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ ทำได้ในปริมาณที่มากกว่า (คราวละหลายกอง) กลุ่มจึงมีความภูมิใจมาก

ทำปุ๋ยระบบกองเติมอากาศทำอย่างไร มีข้อดีอย่างไร ติดต่อได้ คุณ ธีรพล ระฆังทอง บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 1 ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ( เบอร์โทรศัพท์ผมบันทึกไว้ในสมุดอีกเล่มหนึ่ง ให้ไม่ได้ในวันนี้)

คุณ ธีรพล ระฆังทอง แกนนำกลุ่มไม่หยุดความคิดแค่นี้ ท่านยังคิดโครงงานอาชีพให้เกษตรที่เป็นสมาชิกกลุ่มได้นำปุ๋ยไปใช้ อีกด้วย โดยให้ศึกษาผลว่าใส่พืช ต้นไม้แต่ละอย่างแล้ว ผลเป็นอย่างไร แล้วบันทึกความรู้ เอาข้อมูลที่สังเกตได้มาแชร์กันในกลุ่ม ซึ่งมีการประชุมกันทุกวันที่ 20 ของเดือน พร้อมๆกับสมัครเข้าเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อผลักดันเรื่องนี้ ให้เป็นทางเลือกหนึ่งของกลุ่มสมาชิกเครือข่าย

สำหรับเอกสารรายงานผลการดำเนินงานของกลุ่ม 1 ชุด และเอกสารวิชาการทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีระพงศ์ สว่างปัญญางกูล แห่งภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ที่คุณ ธีรพล ระฆังทอง ให้ผมไว้ ผมได้สำเนาเรียนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านวิชม ทองสงค์ แล้ว ตั้งแต่ 4 พฤษภาคม 2549


ผมคิดว่าแกนนำกลุ่มเกษตรกรชุมชนมะขามเรียง ก็เป็นอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่ กลุ่มได้นำ KM มาใช้ในทุกขั้นตอนกิจกรรม เนียนหรือกลมกลืนกันเป็นอย่างดี ควรที่เราจะได้ไปศึกษาเรียนรู้ ดึงศักยภาพของเขาออกมาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กว้างขึ้น



ความเห็น

น่าสนใจมากครับ

ทางแม่ฮ่องสอนเราเองก็มีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ ทางกลุ่มชาวบ้านแถบนี้สนใจ เทคนิควิธีการบางอย่างใหม่ เราเองก็ไม่ค่อยได้เรียนรู้

ขอบคุณองค์ความรู้ที่นำมาเขียนบันทึกครับ มีความคิดอยากจะพาชุมชนที่นี่ไปดูงานแถบทางโน้นบ้างครับ

***อีกอย่างครับ "เกล็ดเล็กเกล็ดน้อย" น่าจะป็น "เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย" ครับผม

แลกเปลี่ยนกันได้ที่บันทึกของผมที่เขียนเกี่ยวกับ เกษตรอินทรีย์

ขอบคุณ สำหรับ คำว่า "เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย" ครับ และขอบคุณในความคิดเห็นที่ว่าน่าสนใจและยินดีมากถ้าจะได้มา ลปรร กัน ที่นครศรีธรรมราชบ้าง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท