คนดีที่จากไป


อรุณ ปัญญา นักพัฒนา.......ผู้อุทิศเพื่อแผ่นดินเกิด สุข ชนะชัย คนสู้ชีวิต..........ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ สมปอง คงประดิษฐ์ ผู้อุทิศตนเพื่อการเรียนรู้ของชุมชน นายบุญมี ได้ฤกษ์ (พ่อเม่า) นักอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่ ตำราเล่มใหญ่สมุนไพรและพืชพันธุ์

อรุณ ปัญญา
นักพัฒนา.......ผู้อุทิศเพื่อแผ่นดินเกิด


นักพัฒนาผู้มีวิสัยทัศกว้างไกล..........รักการค้นคว้า และแสวงหาความรู้ทุกรูปแบบ ไม่ว่า จากการอ่าน อบรม สัมมนา แลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิดกับผู้คนและองค์กรต่างๆโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ และ พระสงฆ์
เป็นคนที่มีอุดมการณ์ในงานพัฒนา รักแผ่นดินและภาคภูมิใจในชาติกำเนิด
มีแนวงานพัฒนาที่หลากหลาย คือ
ด้านการเกษตร มุ่งการเป็นเกษตรยั่งยืนทำอยู่ทำกินบนพื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า รวมทั้งแหล่งต้นน้ำ
ด้านพัฒนาบุคคล ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดกลุ่ม เกิดพลังในทุกระดับ ตั้งแต่ เยาวชนจนถึงผู้สูงอายุ เพื่อให้มีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีงามหรือสืบทอดวัฒนธรรม อันเป็นประโยชน์แก่ชุมชน
ด้านสาธารณสุข สามารถผสมผสานงานสาธารณสุข เข้ากับงานพัฒนาชุมชนได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขมูลฐาน การแพทย์แผนไทยต้านภัยเอดส์ รวมถึงยาเสพติดที่มุ่งป้องกันบำบัดและฟื้นฟู
แนวคิดงานพัฒนา เน้นการพัฒนาคนให้มีความรู้ทช่วยเหลือตนเองและให้ยืนหยัดด้วยตนเอง โดยมุ่งสร้างพลังด้วยการตั้งกลุ่มหรือส่งเสริมสนับสนุน ให้มีการรวมกลุ่มที่ริเริ่มผลักดันและบ้างก็เข้าร่วมได้แก่ กลุ่มเกษตรยั่งยืน กลุ่มออมทรัพย์ป่าแลว บ้านน่านมั่งคง บ้านกิ่วม่วง
กลุ่มฮักเมืองน่าน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านป่าแลว กลุ่มรักษ์สันติสุข ศูนย์การแพทย์แผนไทยแบบครบวงจรในโรงพยาบาลสันติสุข ชมรมเยาวชนต้านเอดส์ ชมรมผู้สูงอายุอำเภอสันติสุข โดยเฉพาะกลุ่มฮักเมืองน่า นอกจากมีส่วนร่วมในโครงการก่อตั้ง ร่วมคิด ร่วมทำแล้ว ยังเป็นผู้เสนอชื่อกลุ่มฮักเมืองน่าน ซึ่งได้ใช้สืบต่อมาจนถึง ณ วันนี้
คำร้อยคำ พันคำ นั้นจากจิต
ถึงมิ่งมิตร เพื่อนแท้มิแปรผัน
แม้ร่างจะมอด กายจะไหม้ไปนิรันดร์
แต่สิ่งที่เหลือนั้น คือ อนุสาวรีย์ ความดีงาม

สุข ชนะชัย
คนสู้ชีวิต..........ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้


พ่อสุข เกิดเมื่อปี พ.ศ.2473 ที่ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ทำการเกษตรหลายอย่าง เช่น เพาะพันธุ์และการเลี้ยงปลา เกษตรผสมผสาน
เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ริเริ่มเลี้ยงกบเมื่อ อายุ 7 ขวบ จากนั้นพัฒนามาเลี้ยงแพะและกระต่าย ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต ชอบทดลอง ศึกษาเรียนรู้ ด้วยตนเอง จนสามารถ เก็บน้ำไว้บนดินได้ตลอดปี ในดินแดนที่เรียกว่าแห้งแล้งที่สุด .... ด้วยวิธีการทำบ่ออัดดินเหนียว ซึ่งไดแนวคิดมาจากปลักควายที่เห็น
เพาะพันธุ์ปลาต่างๆได้ ทั้งๆที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ง่ายๆราคาถูกที่ชาวบ้านทั่วไป สามารถทำได้ นับเป็นการประกาศศักดิ์ศรีของชาวบ้าน เท้าติดดินคนหนึ่ง
เป็นนักวางแผนและมีการจัดการที่ดี เป็นตัวของตัวเอง พัฒนางานตามความพร้อมและความสามารถ ไม่ท้อถอยแม้พบกับปัญหา เห็นว่าความผิดพลาดเป็นครู สอนให้คิดแก้ไข เข้าใจปัญหาของเกษตรกร เห็นว่าต้องสร้างพื้นฐานการกินอยู่ของครอบครัวให้มั่นคงก่อน ต้องรู้จักตนเอง ไม่ตามอย่างโดยไม่คิดพิจารณา
มีความคิดกว้างไกล เข้าใจในวงจรธรรมชาติ จึงสามารถพัฒนาระบบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ให้พึ่งพาอาศัยกัน
เข้าใจระบบนิเวศอย่างลึกซึ้ง จึงรักษาที่ดินให้มีสภาพป่าเป็นแหล่งความชุ่มชื้น ให้ชาวบ้านพึ่งพาได้
มีการปรับใช้วิธีการผลิตหรือเทคนิคใหม่ๆรวมถึงการเปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชใหม่ๆให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
เป็นคนสรุปบทเรียนในการผลิตได้อย่างรวดเร็วและนำมาใช้ประโยชน์ในครั้งต่อๆไปได้
ประสบการณ์ที่เห็นได้ชัด คือ การใช้ความคิด ปรับใช้วิธีการต่างๆอยู่ตลอดเวลา และอย่างชาญฉลาด
ความสำเร็จจากพื้นฐานชีวิตที่กรากกรำทำงาน ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ช่างคิด ช่างมีไหวพริบในการค้าและต่อสู้
เป็นคนที่มีวิญญาณครู ผู้ไม้รู้เบื่อที่จะถ่ายทอดแบ่งปันความรู้ ทั้งในแง่ประสบการณ์ชีวิตและ การประกอบอาชีพทางการเกษตร

สมปอง คงประดิษฐ์
ผู้อุทิศตนเพื่อการเรียนรู้ของชุมชน
ครูสมปอง เกิดเมื่อ พ.ศ.2481 ที่บ้านแหลมเคียน ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา เติบโตและเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมจากครอบครัวซึ่งเป็นเกษตรกรเรียนรู้ชีวิตจากการเป็นเด็กรถ และ ชกมวย ควบคู่กับการเรียนวิชาชีพครู
เป็นครูทั้งร่างการและจิตใจ คือ นอกเหนือจากการเอาใจใส่สอนนักเรียนตามหลักสูตรแล้ว ยังให้ความสำคัญในการปลูกฝังให้เป็น”คน”ที่สมบูรณ์ ด้วยการให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้โลกกว้างผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน นับเป็นครูรุ่นแรกๆ ที่ให้ความสำคัญต่อหลักสูตรท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน
เป็นนักพัฒนาที่มีอุดมการณ์ ต้องการแก้ไขปัญหาให้สังคมเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในโรงเรียนวัดสามกอ เมื่อปี พ.ศ.2524 เพื่อให้นักเรียน ครู และชาวบ้านได้เรียนรู้จากชีวิตจริง และร่วมกิจกรรมกัน เป็นการเปิดประเด็นการเรียนรู้ให้กับชุมชน และเป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับชีวิตจริง
จากกลุ่มออมทรัพย์โรงเรียนวัดสามกอ สู่การก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้านขุมพอ และกลุ่มออมทรัพย์บ้านแหลมเคียน โดยใช้กิจกรรมเป็นการวางรากฐานและพัฒนาการเรียนรู้ของชุมชนจากเล็กสู่ใหญ่และท้ายสุดได้พัฒนาเครือข่าย เชื่อมกันด้วยวิธีง่ายๆคือให้ ทั้ง 3 กลุ่มสมัครเป็นสมาชิกซึ่งกันและกัน มีสิทธิกู้ยืมเงินระหว่างกัน มีกิจกรรมระหว่างกัน เช่น โรงน้ำปลา โรงงานน้ำดื่ม และ โรงงานน้ำผลไม้
เป็นคนที่มีวิธีการในการจัดการปัญหาได้อย่างแยบยล เช่น กรณี ตั้งกลุ่มเลี้ยงโค ต.เกาะแต้ว ในที่สาธารณะ จำนวน 300 ไร่เศษ เพื่อปกป้องที่ดินให้รอดพ้นจากการบุกรุกของคนนอก
ครูสมปอง จากไปอย่างกระทันหันด้วยโรคหัวใจ ขณะที่ไปดูงานที่ จ.นครราชสีมา โดยหวังว่าจะนำมาใช้ประโยชน์แก่ชุมชน ที่กำลังได้รับผลกระทบจาก ขยะ กลิ่นเหม็น น้ำเน่าเสียและแมลงวันชุกชุม
นับเป็นหนึ่งใน..คนดีที่จากไป ..ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่






นายบุญมี ได้ฤกษ์ (พ่อเม่า)
นักอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่ ตำราเล่มใหญ่สมุนไพรและพืชพันธุ์
พ่อเม่าเกิด เมื่อ พ.ศ.2485 ต.โคกสว่าง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ทำนา เลี้ยงวัว และปลูกไผ่ เคยเป็นพรานป่าที่รู้จักและเข้าใจธรรมชาติ ด้วยนิสัยใฝ่รู้ ผืนป่าจึงเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่เรียนไม่รู้จบ สามารถจดจำต้นไม้ได้แทบทุกชนิด ทั้งชื่อเรียกและสรรพคุณ ในการ เข้าตำรับยาแผนโบราณ เป็นหมอยาพื้นบ้าน ที่ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพรรณพืชสมุนไพรพื้นบ้าน
พ่อเม่าเป็นคนขยันช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ชอบอาสาทำงานส่วนรวม จึงมีเพื่อนฝูงมาก ทำให้รับรู้เรื่องราวความเคลื่อนไหวด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนและการแสวงหาประโยชน์ของผู้มีอิทธิพล
ด้วยสำนึกแห่งความรัก และ หวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของชาติจะเป็นทุกข์ทุกครั้ง ที่รู้ข่าวหรือพบเห็น เจ็บปวดและเศร้าใจเมื่อเห็นทรัพยากรธรรมชาติถูกย่ำยี และตักตวง อย่างหยาบช้า จึงไม่อาจวางเฉย เข้าอาสาเป็นสายข่าวด้านความมั่นคงและเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังสอดส่องดูแลป่า รายงานความเคลื่อนไหวเรื่องขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าไปยัง กอ.รมน. ได้ร่วมงานกับกลุ่มอนุรักษ์เขาใหญ่ ถ่ายทอดประสบการณ์ สอดแทรกแนวคิดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชนป็นอาสาสมัครให้กับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯประสานงานและติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเขาใหญ่ เกลี่ยกล่อมชาวบ้านให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของป่า ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นแกนหลักในการจัดทำโครงการอบรมมัคคุเทศท้องถิ่น รองรับการจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่เขาใหญ่
เป็นบทบาทของชาวบ้าน ที่พยายามร้องขอความเป็นธรรม ให้กับผืนป่า และทรัพยากรธรรมชาติ โดย เฉพาะ”ป่าเขาใหญ่” ผืนป่าที่ผูกพันกับวิถีชีวิต ตั้งเกิดจวบจนวาระสุดท้าย

ส่งโดย น้าพร
เรียบเรียง โดย ป้าแอ๊ด

เพิ่มเติมที่  www.pooyatayai.com

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31443เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2006 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท