การติดอาวุธทางปัญญา ก่อนลงพื้นที่ จัด KM


เปิดใจยอมรับ เปิดตาดู เปิดปากพูด
เมื่อวานนี้  (26  พ.ค. 49)  ได้มีโอกาสติดตามท่านรองฯ  เกษร  ธานีรัตน์  รองผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ไปติดอาวุธทางปัญญาให้กับคุณอำนวยตำบล  ของ  ศบอ.ขนอม  โดยมี  ผอ.  อัจฉนุช  คำดีบุญ  ผอ. ศบอ.ขนอม  และคณะให้การต้อนรับ  (ความจริงตามโปรแกรมแล้วในต้นเดือน  มิ.ย.  49  นี้  ทาง ศนจ.นศ.  และเครือข่าย  กำลังหารือกันถึงรูปแบบ  และหลักสูตรในการจัดให้อยู่แล้ว  เพียงแต่การประสานงานยังไม่ลงตัว ว่าจะจัดวันไหน  แต่ท่าน  ผอ. อัจฉนุช  ใจร้อนมากๆ  อยากทราบเร็วๆ  ทีม  KM  ศนจ.นศ.  ก็เลยไม่ขัดใจ  จัดให้ก่อนเลยค่ะ  เพราะท่านกล้าขอ  ท่าน  ผอ. วิมล  วัฒนา  ก็ไม่กล้าขัดอยู่แล้วละค่ะ) 
                บรรยากาศในการประชุมวันนี้เริ่มต้นแบบสบายๆ  เป็นกันเอง  ท่านรองฯ  ได้ให้ความรู้แบบง่ายๆ  พร้อมยกตัวอย่างประกอบตลอด  เพราะ  KM  ยิ่งอ่านมากๆ  ยิ่งงง  ยิ่งฟังมากๆ  ชักเริ่มจะเบลอ  (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  พวกมือใหม่หัดขับอย่างพวกเรา  เพราะฉะนั้น  เราจึงมาหัดขับไปพร้อมๆกันเลยนะคะ)  ท่านรองฯ  บอกว่า  KM  ถ้าได้ลงมือทำแล้ว  พบเจอปัญหา  พบทางแก้ไขเมื่อนำมาพูดคุยกัน  มันถึงจะสนุก  ท่านเล่าว่าความรู้มี  2  ส่วนด้วยกัน  ส่วนที่  1  ศึกษาจากความรู้ที่อยู่ในกระดาษ    เมื่อศึกษาแล้วให้นำมาปฏิบัติ  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มีการแสดงความคิดเห็น  จึงจะมาเป็นความรู้ส่วนที่  2.  คือการนำความรู้มาสู่การปฏิบัติ  ท่านยกตัวอย่างว่าถ้าได้รับคำสั่งให้ทำอะไรก็ทำตามคำสั่งทุกอย่าง  ไม่ได้แสดงความคิดเห็น  ไม่ได้นำมาประยุกต์  ก็ไม่เป็นการจัดการความรู้  แต่เมื่อใดที่มีการแสดงความคิดเห็นว่าควรทำอย่างไร  มาแชร์ความรู้  มาทดลองทำ  แล้วนำมาปรับปรุง  แล้วจัดทำบันทึก  นั้นแหละ  คือการจัดการความรู้ 
                การทำงานในพื้นที่  การทำเวทีชาวบ้าน  ท่านก็ออกตัวว่าพวกเรา  KM  ยังไม่มีประสบการณ์ตรงนี้  เราก็เลยจำลองการประชุมในวันนี้ให้เป็นการจัดเวทีประชาคม  (ตามความเข้าใจของเรา)  ท่านบอกว่า  การที่เราจะทำอะไรในพื้นที่  ต้องตั้งเป้าหมายให้ได้ว่าต้องการอะไร  อยากทราบอะไร  ก็จัดประชุมทำเวที  มีการบันทึกไว้  เมื่อมีคนอื่นที่มีความรู้มากกว่านั้นอีก  ก็ทำบันทึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
                การทำ  KM  ตรงนี้  ต้องดึงความสามารถ  มาสู่การปฏิบัติให้ได้  ท่านยกตัวอย่างประกอบมากมาย  หลายอย่าง  เช่น  การสอนร้อยลูกปัด  มีขั้นตอนการทำอย่างไร  เมื่อทำแล้วก็จะเกิดอีกหลายๆ  ความคิด  ก็จะเกิดลายขึ้นหลายๆ  แบบ  ก็มีการทำบันทึกไว้  ต่อมาก็นำมาทำเป็นหลักสูตร  ไม่ต้องมากมาย  ให้ทำแค่หลักสูตรแผ่นเดียวก็พอ
ต่อมาท่านได้กล่าวถึงเรื่องการจัดทัพ  ว่ามีความสำคัญอย่างไร
1.  คุณเอื้อจังหวัด  มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  และมีหัวหน้าส่วนราชการในส่วนของจังหวัดเป็นกรรมการ  โดยมี  ผอ.กศน.นศ.  ท่านผอ.วิมล  วัฒนา  เป็นเลขาฯ  มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้การทำงานตรงนี้สะดวก  และดูแลสนับสนุนทางด้านงบประมาณ 
2.  คุณเอื้ออำเภอ  มีหน้าที่คล้ายๆจังหวัด  แต่เป็นการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเอง
3. คุณอำนวย   ซึ่งก็มี  8  ภาคีเครือข่าย  ร่วมกันทำภารกิจที่จะทำ  และทำกับใคร
                ถ้าทำกับชาวบ้าน  เรียกคุณกิจ  โดยตั้ง  8  อาสา  (จากปกครองจังหวัดจัดตั้งไว้)     8  อาสา  จะต้องหาเครือข่ายของตนเอง  1  คน/8  ซึ่งจะกลายเป็น  64  คน  แล้วเอามาจัดเวที  เป็นแกนของชาวบ้านและเป็นตัวอย่าง  เพื่อศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านว่าสิ่งไหนพึ่งตนเองได้  พึ่งพาผู้อื่น  หรือพึ่งพารัฐ  ถ้าแผนเดิมเขาไม่ได้แยกไว้  การจัดเวที  ก็จะทำให้เราสามารถได้คำตอบนั้นมา
                การทำเวทีเราจะต้องมีการศึกษาความรู้  เพื่อค้นหาความสามารถของแต่ละคนออกมาให้ได้  จึงต้องมีทั้งเทคนิคในการตั้งคำถาม  และจิตวิทยาในการค้นหาคำตอบ   เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริง  และดึงความสามารถของแต่ละคนออกมาให้ได้  ซึ่งท่านก็ได้ยกตัวอย่างว่าในตัวบางคน  ตัวเองก็ยังไม่ทราบว่ามีความสามารถทางด้านใด  บางครั้งผู้อื่นจะมองเห็น  ก็พยามยามให้เขาได้แสดงความสามารถนั้นออกมาให้ได้  (ท่านได้ยกตัวอย่างเรื่องของดิฉันในการทำงานในบางกิจกรรม  จะปฏิเสธเสมอว่าทำไม่ได้  แต่เมื่อท่านมองเห็นว่าทำได้ท่านก็จะมอบหมายให้ทำ  ก็สามารถทำได้ดี)
หน้าที่ของคุณอำนวยตำบล  จะต้องสมารถถอดบทเรียนได้ดี  เช่น  การทำปุ๋ยหมัก  ทำแล้วมีปัญหา  คนนั้นมีปัญหาอย่างนั้น  คนนี้มีปัญหาอย่างนี้  มีว่าอย่างไรก็เน้นให้คุณกิจ  ทำบันทึกไว้ด้วยว่ามีปัญหาอย่างไร  มีวิธีแก้ไขอย่างไร  คุณอำนวยตำบลก็ต้องบันทึกไว้ด้วย  เปรียบเสมือนหมอวินิจฉัยโรค  ว่าลักษณะเช่นนี้  มีอาการอย่างนี้  มีข้อห้าม  หรือแก้ไขอย่างไร  เช่นเป็นไข้หวัด  มีอาการเจ็บคอ  คัดจมูก  น้ำมูกไหล  ข้อห้ามก็ไม่ควรดื่มน้ำเย็น  เป็นต้น
                การทำเวที  ต้องดูจากแผนแม่บทชุมชนก่อนว่าบ่งบอกความต้องการอะไร  ถ้ายังไม่บ่งบอกเราต้องค้นหาความต้องการ  เราต้องพยายามหาข้อมูล  เช่น  ถ้าในหมู่บ้านนั้นมีค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวมาก  เราจะทำนากันหรือไม่  ถ้าไม่มีที่ทำนา  เรามาตั้งร้านสหกรณ์ซื้อข้าวมาขายในราคาถูก  เพื่อลดค่าใช้จ่าย  เป็นต้น
                สรุปได้ว่า  KM  คือรู้แล้วทำ  ทำแล้วแก้ไข  ทำซ้ำจนพอใจ
                ส่วนในเรื่องของการจัดการความรู้ในตัวเรา  ต้องเปิดใจพร้อมที่จะรับฟังความรู้ใหม่ๆ  เปิดตาดู   เปิดหูฟัง  ว่าทำอย่างไร  ทดลองปฏิบัติจริง  ได้ผลอย่างไรจดบันทึก    ไม่พอใจปรับปรุง  จดบันทึกความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ก็จะเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ในตัวเรา  สุดท้ายเปิดปากพูด  ถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจ  เข้าใจแล้วบอกเล่าให้คนอื่นฟัง  ทั้งปัญหา  และความสำเร็จ
                และท่านยังได้แนะนำเทคนิคในการเขียนบันทึก  ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบ  และเปิดประเด็นให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น
                ดิฉันได้กล่าวเสริมถึงเรื่องการจัดการความรู้ว่านอกจากจะใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวบ้านแล้ว  ยังสามารถนำมาจัดการความรู้ในสำนักงาน  หรือห้องสมุดได้อีกด้วย  โดยการค้นหาความสามารถของแต่ละคน  เพื่อนำมาจัดองค์ความรู้ร่วมกันพัฒนาให้ สำนักงาน  และห้องสมุดเจริญได้  เพราะในตัวของแต่ละคนย่อมมีความสามารถไม่เหมือนกัน  เช่น  งานศิลปะ  คอมพิวเตอร์  กิจกรรม  การจัดสวน  การเขียนข่าว  การประชาสัมพันธ์  ฯลฯ  ซึ่งล้วนแล้วแต่จะช่วยกันสร้างสีสัน  ความสดใส  สวยงาม  ให้กับหน่วยงาน  โดยเฉพาะในด้านการทำงานเป็นทีม  จะเกิดความรักใคร่  สามัคคี  เกิดความภาคภูมิใจในผลงานร่วมกัน  เพื่อประโยชน์และความพึงพอใจของผู้รับบริการ  ซึ่งก็ตรงกับความหมายของ  การจัดการความรู้   (Knowledge  Management :  KM)  เป็นเครื่องมือให้กระบวนการชุมชน   (สำนักงาน  ห้องสมุด)  เข้มแข็ง  และสมบูรณ์เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน  มีการสืบทอดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง   ดั่งคำที่ท่านผู้ว่ามักใช้เป็นประจำว่า  ทำให้ดู  อยู่ให้เห็น  เป็นให้ตาม  
                ท้ายที่สุดท่านรองฯ   และดิฉัน  เลยทดลองทำเวทีแบบจริงจัง  โดยพยามยามซักถาม  เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพูดคุย  จนได้ผลสรุป  จากการประชุมทำเวทีจำลอง  ดังนี้
                1. ผลที่ได้รับในวันนี้  จากการที่ได้ทำงานมาตลอดไม่เคยมีการจัดทำแบบบันทึกสรุปผลงาน  ครั้งนี้  จึงได้เกิดแนวคิด  และหารูปแบบในการทำบันทึกเพื่อเสนอผลงานต่างๆ
                2. ทำให้ได้ทราบแนวทางในการลงพื้นที่ในการจัดการความรู้  ว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มเป้าหมาย  จากเดิมคิดไม่ออกว่าควรจะเริ่มต้นทำในส่วนไหนก่อนหลัง  ดังนั้นวันนี้จึงได้รับความรู้ใหม่ๆ  เพิ่มขึ้น
                3.  จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในวันนี้  ไปปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน  และปรับเปลี่ยนวิธีการในการปฏิบัติงานในพื้นที่
                4. ได้รับการจัดการความรู้กับตัวเอง  คือเรื่อง  การเปิดใจ  เปิดตา  เปิดปาก  จากเมื่อก่อนไม่เคยคิด  ไม่เคยทำ
                5.  ได้ข้อคิด  ได้ความรู้ใหม่ๆ  เพิ่มจากการที่ไม่เคยทำบันทึก  ก็จะหันกลับมาจัดการความรู้กับตัวเองก่อน  ในเรื่องของการทำบันทึก
                6.  ได้ข้อคิด  ได้รูปแบบการบันทึกสรุปงานการจัดการความรู้  ว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
                ในส่วนของบรรณารักษ์  บอกว่ายังไม่เคยได้ฟังเรื่องการจัดการความรู้มาก่อน  วันนี้จึงได้รับความรู้อย่างเต็มที่  และจะนำมาปรับปรุงระบบในการทำงานห้องสมุด  ในเรื่องคำแนะนำก็จะพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆ  แต่เดิมไม่มีตัวชี้วัด  จากเดิมแบบฟอร์มการบันทึกยังไม่ละเอียด  ก็จะนำความรู้ที่ได้รับในวันนี้ไปผนวกกับของเดิมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
                สำหรับการประชุมแบบจำลองการจัดเวทีวันนี้  จากการสังเกตของดิฉันคิดว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง  เพราะมองเห็นแววตาสดใส  เจิดจ้า  เห็นพลังและความมุ่งมั่นในการทำงานเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะไม่เหมือนกับตอนก่อนเข้ารับการประชุม  จะเห็นแววตาแบบกังวล  และไม่มีความมั่นใจ
วันนี้รู้สึกมีความสุข  ทั้งผู้ให้  และผู้รับ  สำหรับท่านผอ.  อัจฉนุช  คำดีบุญ  ท่าน  ผอ. ศบอ.ขนอมเองก็บอกว่าพอใจในการประชุมครั้งนี้มากๆ  ก็หวังว่า  ทีม  KM  ศนจ.นศ.  จะช่วยให้นโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  และความมุ่งมั่นของ  ผอ.วิมล  วัฒนา  ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้โดยเร็ว
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31435เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2006 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยอดเยี่ยมครับ    เดิน KM มาถูกทางแล้วครับ   จะเห็นว่า การทำ KM ผู้ปฏิบัติจะเห็นผลด้วยตนเองอย่างนี้    เอาเวทีต่อไปมาเล่าอีกนะครับ

วิจารณ์ พานิช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท