ศูนย์ กศน.ตำบล ( กรณี จ.น่าน )


             ก่อนที่จะเริ่มเข้าเนื้อหาบันทึก  ต้องขอบพระคุณ ผอ.คเชนทร์ มะโนใจ สำนักงาน กศน.จังหวัดน่าน ที่ท่านได้กรุณาและให้โอกาสไปร่วมเรียนรู้ โดยเมื่อเย็นวันศุกร์ ที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๕๒ ได้โทรประสานเชิญชวนไปร่วมพิธีเปิด ศูนย์ กศน.ตำบลพญาแก้ว ในค่ำวันเดียวกันผมได้โทรยืนยันว่าสามารถร่วมเดินทางไปพิธีได้  นัดหมายออกเดินทางไปเวลา ๐๗.๓๐ น.วันเสาร์ ที่ ๑๔ พ.ย.๒๕๕๒  เมื่อถึงกำหนดนัดได้เดินทางไปพร้อมกันท่านมารับพร้อมท่าน ผอ.กฤษดา ศรีใจวงศ์ ศูนย์ กศน.อำเภอเมืองน่าน ร่วมเดินทางไป อ.เชียงกลางด้วย  ผ่าน อ.ท่าวังผา ถึง อ.ปัว แวะรับประทานอาหารมื้อเช้าที่ร้านต้นเลือดบ้านปรางค์ อ.ปัว(  เจ้าแรกในอำเภอปัว )  ขอขอบพระคุณท่าน ผอ.กฤษดา เป็นเจ้าภาพมื้อเช้านี้  หลังจากรับประทานอาหารมื้อเช้าเสร็จเวลาราว ๘.๓๐ น.พวกเราทั้ง ๓  เดินทางต่อไปร่วมพิธีเปิดศูนย์ กศน.ตำบลพญาแก้ว

                ก่อนถึงสายแยกเข้าตัวอำเภอเชียงกลาง  รถยนต์เลี้ยวซ้ายเข้าพื้นที่ ต.พญาแก้ว ไปตามถนนในหมู่บ้าน/ตำบล รถยนต์ถึงศูนย์ กศน.ตำบลพญาแก้ว มีนักเรียน กศน.ชาวบ้าน ๖ ตำบล ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ และจากอำเภอต่าง ๆ มาร่วมงานพิธีเปิดในเช้าวันเสาร์เพื่อให้กำลังใจ และเรียนรู้วิธีการทำงานของชาว กศน. คณะกรรมการศูนย์ ผู้เกี่ยวข้อง นับเก้าอี้และบันทึกภาพแล้วไม่น้อย ถือว่ามีการประสานงานกันได้ดีอย่างยิ่ง

                 ก่อนที่เข้าสู่พิธีการ มีวงดนตรีพื้นบ้าน คณะตอกเติ้ม บ้านหนองแดงบรรเลงเพลงเข้ากับบรรยากาศ ที่เต้นส์ต่าง ๆ มีการแสดงผลงาน และจำหน่ายสินค้าที่ศูนย์ กศน.ตำบลอื่น ๆ ใน อ.เชียงกลาง และนักเรียน กศน.นำมาร่วมงาน ได้ใช้โอกาสและเวลาที่มีเดินไปบันทึกภาพและสอบถามผู้มาร่วมงาน  กล้าพูดได้ว่า พวกเขามาร่วมงานด้วยความเต็มใจ

                กำนันมนัส  ผอ.บรรลือ ผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำตามระเบียบ นักเรียนนักศึกษามามาก ( ค่อนข้างหนาตา ) อธิบายโดยภาพที่บันทึกได้ดีถือว่า ทุกท่านทุกองค์เป็นภาคี กศน.ได้อย่างดียิ่ง  กำนันในฐานะผู้นำท้องที่ กล่าวต้อนรับคุณโสภณ สีมาเหล็ก สว.น่าน ผอ.คเชนทร์ ผอ.ศูนย์อำเภอต่าง ๆ  แขกทุกท่านผู้มาร่วมงานพิธีเปิด จากนั้น เข้าสู่พิธีการสงฆ์ มีการกล่าวรายงานโดยกำนันในฐานะมีใจมามีส่วนร่วมให้สำคัญที่ได้ร่วมขับเคลื่อนศูนย์แห่งนี้ จากนั้นคุณโสภณ กล่าวเปิดแล้วพากันไปเปิดแพรที่ป้ายศูนย์ มีการจุดพลุ ( ระเบิดเสียงดัง ) คงต้องการให้เทวดาได้สะดุ้งแล้วรับรู้ และปล่อยโคมลอยจำนวนหนึ่งสวยงาม เด็กม้ง เด็กอนุบาล นำแสดง ๓ ชุด คุณโสภณ ในฐานะเป็นอดีตกำนัน ต.พระธาตุ อ.เชียงกลาง ร่วม ๘ ปี กล่าวความในใจพบพี่น้องผู้ร่วมงาน ท่านให้ความสำคัญการศึกษา กล่าวว่า ท่านมาถึงวันนี้ได้เพราะการศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

                 ระหว่างเดินทางไปตามเต้นส์  อาคาร บริเวณโดยรอบและแวะพักได้โทรนำเรียนให้คุณวนิดา  บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน อ.เชียงกลาง ที่รู้จักคุ้นเคยเมื่อพบกันถือโอกาสบันทึกภาพไว้กับ คุณดุสิต สลีอ่อน ครูผู้รับผิดชอบศูนย์ กศน.ตำบลพญาแก้ว เพื่อให้เป็นที่ระลึกและให้กำลังใจกัน ๒ ภาพด้านบน ส่วนภาพล่าวก่อนบันทึกวรรคนี้  ๓ ท่าน นั้นเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ โดยตำแหน่งกลางเป็น คุณโสภณ สว.ด้านซ้ายเป็น ผอ.คเชนทร์ และขวาของผู้ชมภาพเป็น ผอ.บรรลือ ศูนย์ กศน.อ.เชียงกลาง  ขอนำภาพบันทึก ภาคี คณะกรรมการบริหารศูนย์ที่ได้ไปเรียนรู้มาแบ่งปันกันที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 313599เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความรู้เรื่อง ศูนย์ กศน.ตำบล ที่ได้ไปค้นมาจากการเสนอข่าวต่าง ๆ ครับ

                        นายประเสริฐ บุญเรือง รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า กศน.กำลังเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชน         (ศรช.) ตำบลให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อเป็น         มาตรฐานเดียวกันว่า กศน.ตำบล/แขวง และในกรณีที่ตำบลใดมีมากกว่า 1 แห่ง จะใช้ชื่อว่า ศรช.บ้าน...สำหรับการบริหารจัดการ กศน.ตำบล และ ศรช. จะบริหารโดยองค์คณะบุคคล ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากตำบล หมู่บ้าน และองค์กรนักศึกษา โดยมีครู ศรช.เป็นเลขานุการและหัวหน้า กศน.ตำบล ทั้งนี้นาย   จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ จะทำพิธีเปิด กศน.ตำบล อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้

 
                   รองเลขาธิการ กศน.กล่าวต่อไปว่า จากการที่ กศน.ได้รับงบประมาณในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งกว่า 10,442 ล้านบาทนั้น กศน.ได้จัดสรรงบฯ จำนวน 634 ล้านบาท ไปใช้ในการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ  ICT เพื่อให้ กศน.ตำบล และ ศรช. กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตใช้  พร้อมทั้งนำกระบวนการคิดเป็นมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ทุกระดับ เพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงการศึกษาโดยไม่ต้องเดินทางมาเรียนถึงในอำเภอ


                “กศน.ยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกหมู่บ้าน โดยจะจัดหนังสือพิมพ์และหนังสือต่าง ๆ ไปให้บริการประชาชน ขณะเดียวกันจะมีรถโมบายเคลื่อนที่ห้องสมุด 3 ดี ออกไปให้บริการประชาชนในพื้นที่เพื่อให้มีหนังสืออ่าน ไม่ตกยุค รู้เท่าทัน และเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กศน.เคยมีที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน แต่เมื่อถ่ายโอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้วพบว่า อปท.ไม่ได้ทำต่อเนื่อง ดังนั้น กศน.ก็จะให้ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตทำหน้าที่แทนนายประเสริฐกล่าวและว่า ขณะนี้ กศน.กำลังเปิดรับสมัครผู้ที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชน มีความรู้ ความสามารถ และมีใจเสียสละที่จะช่วยเหลืองานการศึกษาตลอดชีวิต เข้ามาเป็นอาสาสมัคร กศน. และช่วยดูแลศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตในพื้นที่นั้น ๆ.

ข้อความข้างบนมาจาก--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 ก.ย. 2552  และล่าสุดมีข่าวจากเลขาธิการ กศน. ดังนี้ .-

              นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า กศน.มีนโยบายให้จัดตั้ง กศน.ตำบล/แขวง ขึ้นในทุกตำบล/แขวง ทั่วประเทศ 7,423 แห่ง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษารอบสองทำให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ณ ฮอลล์ 8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีรมว.ศึกษาธิการเป็นประธานพิธีเปิด

 

ขอขอบคุณมากค่ะ..ที่ได้ให้เกียรติไปร่วมงาน เปิด กศน.ตำบลพญาแก้ว และขอขอบคุณที่ให้กำลังใจในการทำงาน...ชาวเชียงกลางคงมีโอกาสได้ต้อนรับท่านอีกนะค่ะ....ขอขอบคุณค่ะ

วนิดา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท