กรณี คุณดอกรัก เพ็ชรประเสริฐ


การประกันความเสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดจากการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน,การเยียวยาโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด

     กรณี คุณดอกรัก นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ขอบคุณสื่อทุกแขนง ยกมาจาก http://www.mohanamai.com/boardzone/show.php?Category=board&No=8051 ในประเด็นคำถาม ท่านคิดเห็นอย่างไร กรณีผู้ป่วยแพ้ยาแล้วตาบอด ที่ผมได้ Post ตอบไว้ เมื่อวันที่ 2005-08-07 เวลา 01:47:32

     กรณีเช่นนี้ไม่ควรที่จะพิจารณากันว่าใครถูกใครผิด แต่สิ่งที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่งในเบื้องต้นคือการเยียวยา (treat) ต้องเน้นว่าการเยียวยาทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายประชาชนผู้ที่สูญเสียการมองเห็นไป และครอบครัว ต้องได้รับการเยียวยาในทุกมิติ ทั้งด้านจิตใจ ด้านร่างกาย รวมถึงด้านสังคมด้วย เช่นการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น (โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด) การให้คำปรึกษาจากนักจิตวิทยา หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จากสังคมนี้ ในขณะเดียวกันแพทย์ พยาบาล หรือจนท.ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องได้รับการเยียวยาด้วยเช่นกัน (แม้จะเกิดความเสียหายเทียบกันไม่ได้เลยกับที่ประชาชนเสีย) แต่ก็ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นถือว่าเสียหายกันทั้ง 2 ฝ่าย และที่สำคัญจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในระบบที่ดีจะสามารถป้องกันเรื่องอย่างนี้ได้

     มีข้อมูลที่ สสจ.สระบุรี (โดยกลุ่มงานประกันสุขภาพ) ได้เคยไปสัมภาษณ์พยาบาลที่เคยเกิดปัญหาคล้ายกับกรณีเช่นนี้ จากความรู้สึกที่บอกว่า "เหมือนไม่มีใครเป็นเพื่อนเลยยามทุกข์ยาก รู้สึกโดดเดี่ยว อยากจะไปขอโทษน้องเค้า ยังไม่รู้จะทำได้ยังไง" หรือกรณีที่แพทย์ท่านหนึ่งแห่ง รพช.(หนึ่ง) จ.พัทลุง หลังจากที่ต้องเผชิญหน้ากับญาติของผู้ป่วยที่โดนเตียงประจำรถส่งต่อ (Refer) หนีบเอานิ้วมือบาดเจ็บมาก ในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อขึ้นรถ กล่าวในที่ประชุมประจำเดือนว่า "ผมรู้สึกโดดเดี่ยวมาก เพราะผมใหญ่ที่สุดแล้วสำหรับที่นี่ ผมต้องการคนกลางที่ใหญ่กว่าผมมาช่วยเจรจา 25 นาทีกว่าที่ ผชว.จะมาถึงมันช่างนานเสียเหลือเกิน แม้จะเป็น 25 นาทีจริง ๆ ก็เถอะ" สะท้อนอะไรบางอย่างใช่ใหม่ครับ กรณีเช่นที่ว่านี้ก็น่าจะไม่แตกต่างกันมากนักในเรื่องความรู้สึกของผู้ให้บริการ เพียงแต่แพทย์ย่อมมีสิทธิ์ในการทำการรักษามากกว่าพยาบาลเท่านั้น ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตแห่งวิชาชีพเช่นกันถึงจะได้รับการคุ้มครอง (มาถึงตรงนี้หมออนามัยนึกเอาว่าอันตรายแค่ไหน) ที่ยกตัวอย่างทั้ง 2 เรื่อง เพื่อจะบอกว่า "ไม่มี จนท.สาธารณสุขท่านใดหรอกครับที่เจตนา เน้นว่า เจตนาจะให้เกิดกรณีแบบที่ว่านี้" แต่จะเกิดขึ้นเพราะความประมาท หรือความไม่พร้อมของบุคลากร/อุปกรณ์เครื่องมือ หรือแม้แต่ความไม่พร้อมในมาตรการการป้องกันความเสี่ยงก็แล้วแต่ แต่ขอยืนยันว่าถ้าเป็นเจตนาของบุคคลไม่น่าจะใช่ 

     กรณีเช่นที่ว่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจน กรณีที่เกิดขึ้นน้อยกว่านี้จะถือว่าผู้ให้บริการทำให้เกิดขึ้นได้หรือไม่เช่นที่ประเทศสหราชอาณาจักรพบว่าผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลมีการติดเชื้อ (เชื้อใหม่ที่ไม่ใช่สาเหตุการป่วยครั้งแรก) จากโรงพยาบาลถึง 9% จากผู้ป่วยที่รับไว้ทั้งหมด (National Audit Office, 2000) ในประเทศเราก็มี เช่นกรณีที่ จนท.ติดเชื้อวัณโรคจากคลินิกวัณโรค แต่ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในภาพรวมที่ชัดเจนเท่านั้น ที่ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่านี่เป็นผลกระทบจากการจัดบริการทั้งนั้นขึ้นอยู่ว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง

     การป้องกันโดยการมีมาตรการในการจัดการกับความเสี่ยง (Risk Management) อย่างเป็นระบบจึงควรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในขณะเดียวกันประเทศของเราควรจะได้มีการเริ่มคิดถึง "การประกันความเสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดจากการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน" ด้วย เพราะเมื่อมีกองทุนประกันความเสี่ยงนี้แล้ว ย่อมจะมีคนกลางเกิดขึ้นในการเจรจา และทำหน้าที่เยียวยาให้ทั้ง 2 ฝ่าย การจ่ายเงินเข้ากองทุนก็หักเอาจากรายได้ของผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อร่วมเฉลี่ยความเสี่ยง (Risk Sharing) และหากใครมีพฤติกรรมประมาทก็จ่ายเพิ่ม แต่ทั้งนี้เราต้องเชื่อร่วมกันก่อนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มาจากเจตนาเป็นแน่แท้ หากเป็นได้ตามที่กล่าวเชื่อว่าสังคมเราจะอยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้น และเกิดเป็นสังคมที่มีความเข้าอกเข้าใจกัน 

     จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเชื่อว่าจะไม่ทำให้ใครต้องสูญเสียเพิ่มขึ้นอีก หากความสูญเสียที่ผ่านมาได้ถูกนำมาใช้เป็นพื้นความรู้ในการจัดการเพื่ออนาคตที่ดีและเป็นการช่วยกันสร้างสังคมที่มีแต่ความเข้าอกเข้าใจกัน (trustfulness) ให้อภัยกันและกัน (excuse) เมื่อมีการสูญเสียก็มีการเยียวยากันอย่างทันท่วงที 

     อ่านบทความของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพิ่มเติมได้ที่ http://www.nhso.go.th/ ซึ่งได้เขียนขึ้นและนำเสนอไว้ประมาณวันที่ 19 สิงหาคม 2548 หรือที่  http://gotoknow.org/file/chinekhob/fromDokRak.zip

          เรื่องที่ต่อเนื่องกันและผมเห็นว่ามีประโยชน์ อยากให้ได้อ่านกัน สำหรับบทความเรื่อง "ภัยที่กำลังเกิดกับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และพยาบาล" โดยแสวง บุญเฉลิมวิภาส และ เอนก ยมจินดา ศูนย์กฏหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งโดยความร่วมมือกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หากต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะ ติดต่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) E-mail : [email protected]

คำสำคัญ (Tags): #วิจัยและพัฒนา
หมายเลขบันทึก: 3129เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2005 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
มีไม่มากนัก สำหรับบุคคลที่มองประชาชนเป็นหลัก ปัจจุบันนี้ หลายอาชีพกลับมองค่าตอบแทน เป็นที่ตั้งไม่เว้นแม้ รพ รัฐบาล หากจิตสำนึกรัก ของคนในชาติ มีมากกว่านี้ ปัญหาทุกปัญหาจะถูกแก้ไขเสมอ .. แม้เราเป็นส่วนน้อยแต่ก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ ครอบครัวยากจนอีกหลายครอบครัวค่ะ ทั้งนี้ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

     ผมเห็นว่ามีประโยชน์ แต่ต่อเนื่องกันครับ อยากให้ได้อ่านกัน สำหรับบทความเรื่อง "ภัยที่กำลังเกิดกับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และพยาบาล" โดยแสวง บุญเฉลิมวิภาส และ เอนก ยมจินดา ศูนย์กฏหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งโดยความร่วมมือกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หากต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะ ติดต่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) E-mail : [email protected]

     ดูกรณีที่คล้ายกันได้ทีกรณี คุณศิริรัตน์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท