ดิฉันเสียดายแทนหลายท่านที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 26 สิงหาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา ของ มน.(ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร) นัดมาร่วมรับฟังแนวทางการประเมินของ สมศ. รอบที่ 2-KM-กพร. ณ ห้อง Main Conference อาคาร CITCOM ดิฉันรีบจดบันทึกไว้กันระเหยหายไป ส่วนหนึ่งก็เพราะตั้งใจว่า จะเก็บมาเล่าต่อใน Blog ด้วยแหละค่ะ เรื่องที่ขอนำมาเล่าในวันนี้ เป็นนิทานเรื่อง กระต่ายกับเต่า สุดยอดนิทานอมตะมหานิรันดร์กาลไงค่ะ
ตอนเริ่มอารัมภบท ท่านอาจารย์วิบูลย์ พูดถึงเรื่อง การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยว่า เราหลีกหนีไม่พ้นหรอก ยังงัยเสียสถานการณ์ในโลกปัจจุบันก็รุมเร้าให้เราต้องเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย เมื่อเรามุ่งมั่นจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยเป็นฐานแล้ว ต้องมุ่งหาทิศทางให้ชัดด้วยว่าจะเด่นทางด้านไหน (KVต้องชัด) หลายๆ ท่านอาจคิดว่า เราเป็นมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ จะเอาอะไรไปสู้กับมหาวิทยาลัยเก่าแก่เกิดก่อน หรือมหาวิทยาลัยต่างชาติที่เป็นที่ยอมรับ เหมือนเป็นเด็ก จะไปสู้ชนะผู้ใหญ่ได้อย่างไร อาจารย์วิบูลย์บอกว่า สู้ได้ครับ ทฤษฎีของ ชาร์ล ดาร์วิน ยังเป็นจริงเสมอ สัตว์ที่มีความสามารถในการปรับตัวสูง จะมีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่า ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับความแข็งแรงของร่างกาย หรือสมอง
แล้ว อ.วิบูลย์ ก็เล่านิทานเรื่องกระต่ายกับเต่าสมัยใหม่ ให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้กระต่ายไม่ยอมหลับใต้ต้นไม้อีกแล้ว เต่าจึงคิดหาวิธีใหม่ โดยใช้จุดแข็งของของตน คือกระดอง และท้าแข่งกับกระต่ายด้วยเส้นทางที่เลือกเอง คือ บนเขาสูง โดยเต่าวางแผนว่า พอเริ่มสตาร์ทออกวิ่ง เต่าก็จะหดหัว หดตัวเข้าในกระดองอย่างปลอดภัย แล้วกลิ้งลงเขาด้วยแรงโน้มถ่วง โดยเล็งไว้แล้วว่าจะตกลงบนผืนหญ้านุ่มๆ ณ เชิงเขาที่เลือกไว้แล้วว่าเป็นเส้นชัย เท่านี้ก็ชนะใสเจ๋ง
พอฟัง อ.วิบูลย์ เล่าเรื่องนี้เท่านั้น ดิฉันก็อยากเล่ามั่ง นิทานกระต่ายกับเต่า Version ล่าสุด ดิฉันมีมาอวดเหมือนกัน เล่านิทานให้ผู้ใหญ่ฟังก็ต้องมีภาพการ์ตูนประกอบด้วยนะ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว......
เจ้าเต่ากับกระต่ายเถียงกันว่าใครเร็วกว่ากัน ทั้งคู่จึงตกลงที่จะวิ่งแข่ง เริ่มการแข่งขัน เจ้ากระต่ายนำโด่งมาไกลก็เลยชะล่าใจ คิดว่าพักผ่อนใต้ต้นไม้ซักกะแป๊บนึงก่อนแข่งต่อก็คงดี ไป ๆ มา ๆ ก็ง่วงสิ ตื่นมาอีกทีเจ้าเต่าก็คว้าแชมป์ไปแล้ว นิทานตอนนี้สอนให้รู้ว่า ช้าๆ แต่มั่นคงสามารถเอาชนะได้ (เหมือนกัน) นี่เป็นเวอร์ชั่นเดะ ๆ ที่เราคุ้นหูกัน
มีคนเล่าเวอร์ชั่นใหม่ที่น่าสนใจให้ฟัง
ต่อเลยนะ...
เจ้ากระต่ายสันหลังยาวก็รมบ่จอยตามระเบียบที่แพ้
มันจึงค้นหาจุดอ่อนของตนเองมันก็พบว่าความมั่นใจในตนเองเกินไปบวกกับความขี้เกียจของมันนั่นแหละที่ทำให้แพ้
ถ้ามันไม่เผลอหลับซะอย่าง เต่าหน้าไหนจะเอาชนะมันได้
มันจึงขอแก้ตัวใหม่อีกครั้ง และเต่าก็ยินยอม แน่นอนว่าครั้งนี้ เจ้าเต่าโดนทิ้งไม่เห็นฝุ่น
กระต่ายชนะขาดลอย เราได้ข้อคิดอะไรล่ะ...ต่อให้ช้าแต่ชัวร์
ยังไงก็แพ้เร็วและสม่ำเสมอ ถ้าเราเปรียบเทียบคนทั้งสองคนในองค์กรของเรา คนนึงช้าจริง
ทำอะไรมีระบบระเบียบแบบแผน แต่ทำอะไร ๆ ไม่เคยพลาด
ไว้ใจได้แน่นอนในผลงานของเขา
เทียบกับอีกคนนึงที่เร็วและก็พอไว้ใจได้ในสิ่งที่เขาทำ
คนที่เร็วกว่ามักจะประสบความสำเร็จมีความเจริญก้าวหน้าในองค์กรนั้น ๆ
มากกว่า ไอ้ช้าแต่ชัวร์น่ะมันก็ดีอยู่หรอก
แต่ให้เร็วและเชื่อถือได้นี่ดีกว่า แต่........เรื่องยังไม่จบแค่นี้...
คราวนี้ถึงตาเจ้าเต่ามาหาจุดบกพร่องของตัวเองบ้าง และมันก็พบว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่มันจะชนะเจ้ากระต่ายในเส้นทางการวิ่งแบบที่เป็นอยู่นี้ มันก็คิดอยู่ซักครู่หนึ่งก็ไปท้ากระต่ายแข่งใหม่ แต่ขอเปลี่ยนเส้นทางวิ่งซะหน่อย เจ้ากระต่ายก็ว่าย่อมได้อยู่แล้วเพ่ พอการเริ่มแข่งเริ่มปุ๊บ เจ้ากระต่ายก็ใส่เกียร์ห้อออกไปเต็มสปีดเลย จนกระทั่งไปถึงระหว่างทาง “เฮ้ย!!!.. เวรกรรม ต้องข้ามแม่น้ำ ทำไงล่ะคราวนี้…) เส้นชัยอยู่ไม่ห่างจากฝั่งตรงข้ามเท่าไหร่เลย เจ้ากระต่ายมัวแต่งงว่าจะทำไงดี จนเจ้าเต่าคืบคลานมาทันแล้วก็จ๋อมลงน้ำว่ายข้ามฝั่งไปเข้าเส้นชัย นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า... พิจารณาจุดแข็งของตนให้ดีแล้วพยายามเปลี่ยนสนามการแข่งขันให้ตนเองได้เปรียบมากที่สุด ยัง… ยังเร็วไปที่จะจบเพียงแค่นี้ ยังมีต่อ...
ด้วยน้ำใจนักกีฬา ครั้งนี้เจ้าเต่ากับกระต่ายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันแล้ว ต่างคนต่างมาระดมสมองคิดด้วยกัน หากทั้งสองร่วมมือกันการแข่งแบบเมื่อครั้งล่าสุดจะช่วยให้ทำเวลาได้ดีขึ้น ดังนั้นพวกมันจึงคิดจะแข่งอีกครั้ง แต่แข่งคราวนี้เป็นแบบทีมเวิร์ค เริ่มต้นด้วยเจ้ากระต่ายก็แบกเต่าวิ่งไปด้วยความเร็วสูง จนถึงริมแม่น้ำ เจ้าเต่าก็ให้กระต่ายขี่หลังว่ายข้ามไป พอข้ามฝั่งเจ้ากระต่ายก็แบกเจ้าเต่าวิ่งต่อจนเข้าเส้นชัยด้วยกัน ผลการแข่งขันครั้งนี้สร้างความพึงพอใจให้กับทั้งสองฝ่าย มากกว่าการแข่งขันครั้งก่อน ๆ หน้านี้ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า... การมีจุดแข็งและความสามารถโดดเด่นเฉพาะตัวเป็นสิ่งที่ดี แต่หากไม่รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น ยังไงก็ไปไม่รอด เพราะมันจะมีบางสถานการณ์ที่เราเจ๋งคนอื่นเจ๊งในขณะที่บางสถานการณ์เราเจ๊งแต่คนอื่นเจ๋ง ทีมเวิร์คสำคัญตรงที่การกำหนดผู้นำให้เหมาะกับสถานการณ์ให้ผู้ที่มีความถนัดกับสถานการณ์นั้น ๆ เป็นผู้นำกลุ่มในแต่ละช่วงสถานการณ์ที่เหมาะกับความสามารถของเขา
นอกจากนี้เรายังได้บทเรียนอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า ไม่ว่าเต่าหรือกระต่าย ไม่มีใครที่คิดเลิกล้มหรือท้อแท้หลังจากความล้มเหลวได้เกิดขึ้น
กระต่ายแก้ไขจุดบกพร่องของตนเองโดยการทำงานที่หนักขึ้นและเพิ่มความมุมานะในงานของตนเองหลังจากพบความล้มเหลว
ส่วนเต่าได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนใหม่ เพราะตัวมันเองได้ทำงานหนักที่สุดเท่าที่มันจะสามารถทำได้แล้วในชีวิต เมื่อเราพบกับปัญหาหรือความล้มเหลว บางครั้งเราก็ควรจะทำงานให้หนักขึ้นและมีความเอาใจใส่ในงานมากกว่าเดิม บางครั้งเราก็ควรเปลี่ยนแผนการทำงานและทดลองในสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างออกไป และในบางครั้งก็จำเป็นต้องทำทั้งสองอย่างเลย นอกจากนั้น กระต่ายกับเต่าก็ได้บทเรียนที่สำคัญอีกอย่างคือ เมื่อเราหยุดการแข่งขันกับตัวบุคคลแล้วหันมาแข่งขันกับสถานการณ์แทน พวกมันจะทำงานได้ดีขึ้น
โดยสรุปเรื่องราวของกระต่ายกับเต่าสอนเราในหลาย ๆ อย่าง ความรวดเร็วเสมอต้นเสมอปลายชนะความอืดอาด การดึงศักยภาพในตัวของเราออกมาและทำงานร่วมกันเป็นทีมย่อมดีกว่าการทำงานคนเดียว อย่ายอมแพ้เมื่อพบกับความล้มเหลว และสุดท้ายคือจงแข่งกับสถานการณ์ ไม่ใช่กับตัวบุคคล
เอ้า! หลับไปแล้วเหรอค่ะ เนี่ย นิทานจบแล้ว ตื่นได้แล้วค่ะ......