ทิศทางนเรศวรวิจัย (อีกครั้ง)


ดังนั้น ถ้าบุคลากรทุกส่วนของมหาวิทยาลัยใช้งานวิจัยเป็นฐานในการคิดและการทำ การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยจะไม่ไกลเกินฝัน ถ้าทุกคนร่วมมือกัน เพราะความสามารถของทุกคนของพวกเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าลองเอามาใช้ในทิศทางนี้ ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้ยากเย็นหรือไกลเกินฝัน ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน

         เพื่อเป็นการเสริมบรรยากาศเกี่ยวกับการ “อยากเป็น Research - Based University” ในขณะนี้ ผมขออนุญาต ท่าน อ.มาลินี เพื่อนำเอาบทความใน blog ของอาจารย์มาลงให้อ่านกันอีกครั้ง ดังนี้ครับ 
         เรื่องเล่าวันนี้ ถอดเทปจากเสียงจริงของท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร ซึ่งท่านได้นำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรในช่วง 4 ปีข้างหน้า”ระหว่างวันที่ 3-6 เมษายน 2548 ณ โรงแรมระยองรีสอร์ท จังหวัดระยอง 
         ลองอ่านดูซิค่ะ อ่านแล้วท่านจะรู้สึกเหมือนกำลังนั่งฟังคนเล่าจริงๆ ไม่ใช่พูดตามบท เป็นบันทึกที่มีคุณค่าควรแก่การเก็บไว้ใน E- diary นี้ diary สาธารณะ เพื่อประโยชน์ของทุกๆท่าน 
         กราบเรียน ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย ท่านอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาคและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน 
          ความจริงผมอยากชวนพูดคุยเรื่องนี้อย่างเดียวเลยทั้ง 2 วันเพื่อช่วยกันกำหนด Shared vision ด้านการวิจัยของ มน. แต่จำกัดเรื่องเวลา และถ้าวิทยากรท่านอื่นยังมาไม่ถึงก็จะขอใช้เวลาไปเรื่อย ๆ ก่อน ในช่วงต้นนี้อยากให้ลองดู CD-ROM บันทึกการประชุมทางวิชาการ เรื่องการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก่อน “รู้เขารู้เรา” เผื่อว่าเราจะได้บทเรียนบางอย่างที่เป็นประโยชน์จากเค้า ไม่จำเป็นต้องเอาแบบอย่างเขาทั้งหมด ฉาย CD-ROM (รวม 3 ตอนสั้นๆ) 
         CD-ROM ตอนที่ 1 (เนื้อหาโดยย่อจากการกล่าวนำของท่านอาจารย์ ดร.ปิติ ทฤษฏิคุณ รองอธิการบดี มอ.) “…การทำวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพและก็มีประสิทธิผล คนที่ทำวิจัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องสำคัญ ในสิ่งที่ผมพูดก็คือการวิจัยนั้นมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็น Research process กับ Research management ทั้งสองส่วนหลักนี้ ปัจจัยเรื่องของคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และคนสองกลุ่มหลักคือนักวิจัยกับผู้บริหารงานวิจัย ในส่วนของ มอ. มีการพัฒนาคุณภาพนักวิจัยมากและดีพอสมควร แต่การจัดการงานวิจัยนั้น คนก็เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับที่ต้องดูแลและพัฒนากันต่อไป...” 
         CD-ROM ตอนที่ 2 (เนื้อหาโดยย่อช่วงการบรรยายของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช) “...การมีผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นที่ปรึกษาจะเป็นการช่วยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง งานวิจัยไม่ใช่การจ้างทำของ เป็นการร่วมกันฟันฝ่าเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เป็นประโยชน์ของบ้านเมือง ยิ่งงานใหญ่ยิ่งต้องช่วยกัน อีกอย่างคือการมีโลกทัศน์ว่าเมื่อได้เงินมาจะจัดการอย่างไรก็เป็นเรื่องสำคัญ จะคิดว่านี้เงินเราต้องใช้ให้หมด หรือคิดว่านี่คือภาษีชาวบ้านใช้ไม่หมดก็คืนไป นี่คือจริยธรรมเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม การทำวิจัยต้องมีการสร้างโลกทัศน์ด้วย การจัดการการวิจัยถ้าส่งเสริมให้มีแต่คนตะกละจะเป็นบาปที่รุนแรงที่สุด คนฉลาดแต่ตะกละจะกินมากกว่าคนที่ฉลาดน้อย บ้านเมืองเสียหายมากกว่าเยอะ...”
         CD-ROM ตอนที่ 3 (เนื้อหาโดยย่อ ช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น) “...สังคมไทยยุคดั้งเดิมไม่มีวัฒนธรรมการวิจัย มีวัฒนธรรมอำนาจ วัฒนธรรมไสยศาสตร์ที่ขัดขวางการวิจัย ใครจะทำวิจัยต้องขัดแย้งกับตนเอง ขัดแย้งกับระบบภายในกับวัฒนธรรมไทย ใครทำการวิจัยก็เหมือนเป็นการพายเรือทวนน้ำ รบกับระบบที่มีอยู่ก็เกือบตายและยังมีการเมืองภายนอกที่โถมเข้าหลายครั้งไม่ให้ทำการวิจัย และมีมนต์ดำเยอะ…”
         ผมขออนุญาตสรุปภาพรวมๆ จาก CD-ROM อีกครั้ง Shot 1 งานวิจัยที่ มอ. พูดถึงสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสำเร็จต้องอาศัยคน 2 ประเภทเป็น Key man คือ ตัวนักวิจัย ที่เค้าทำการเทรนมามากและดีพอสมควรแล้ว และคนอีกประเภทคือผู้บริหารงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการพัฒนา Shot 2 ความจริงท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พูดทั้งในเรื่อง Up stream, Mid stream และ Down stream management แต่ผมตัดมาเฉพาะตอนที่เป็น Mid stream management บางส่วน และ Shot สุดท้ายเป็นบรรยากาศทั่วๆ ไป มีการย้ำว่าการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยมันเหมือนกับการพายเรือทวนน้ำ บางคนบอกเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา เข็นในพื้นราบยังยาก เนื่องจากหนักและมักจะวนกลับที่เดิม นี่เข็นขึ้นเขายิ่งยากเย็นเข้าไปใหญ่
         เรากลับมาคุยในเรื่องของเราเกี่ยวกับทิศทางการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเริ่มจากเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้วเมื่อต้น ปี 2547 วันเดียวกันนั้นผมนำเข้าไปขอความเห็นชอบสองเรื่อง เรื่องแรกคือ QA เรื่องที่ 2 เรื่องการวิจัย ทั้งคู่ผ่านการเห็นชอบจากสภาฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 ผมได้เข้ามารับผิดชอบงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเมื่อต้นปี 2547 ขณะนี้ครบรอบ 1 ปีพอดี ต่างจาก QA ที่ผมรับผิดชอบติดต่อกันมา 4 ปี
         ความจริงแนวความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยวิจัยนี้เริ่มต้นเดิมทีได้มาจากท่านองคมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมเมื่อปลายปี 2546 ที่กำหนดเป็นนโยบายเชิงเป้าหมายให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพัฒนา มน. ให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ภายในปี 2549 ใช้คำว่า “มหาวิทยาลัยวิจัย” แต่ว่าเราขอปรับภายหลังมาเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย” และปรับเวลาเป็นภายในปี 2550 พร้อมกันนี้สภามหาวิทยาลัยก็ได้มอบยุทธศาสตร์มาสำหรับการดำเนินการด้วย ก็มีอยู่ 6 ยุทธศาสตร์ใหญ่ เนื้อหาหลักๆ คือ
         อันแรกต้องยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะให้ดีก่อน อันที่สองเสริมความพร้อมด้านปัจจัย ด้านคน ด้านเงิน เครื่องมือและแรงจูงใจ อันที่สามให้อาจารย์ทุกคนต้องทำวิจัย อันที่สี่ว่าที่บัณฑิตที่จะจบก่อนสำเร็จการศึกษาต้องมีผลงานทางด้านวิจัย ตีพิมพ์ บทความ ที่เป็นบทความทางวิจัยหรือบทความวิชาการและให้เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา ห้าเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนที่ไม่ใช่อาจารย์ต้องทำงานวิจัยเพื่อเอาผลงานมาให้ผู้บริหารตัดสินใจหรือพัฒนาตัวเจ้าหน้าที่เอง พัฒนางานและพัฒนาองค์กร ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 6 เรื่องกลไกความรับผิดชอบให้มีการกำหนดผู้รับผิดและรับชอบ ทางสภามหาวิทยาลัยได้เขียนไว้ชัดเจนว่าให้อธิการบดีรับผิดรับชอบต่อสภามหาวิทยาลัย และให้ท่านคณบดีรับผิดรับชอบต่ออธิการบดี
         Slide ที่ 1 นี้เป็นภาพรวมๆ หรือว่าเป็นรูปร่างหน้าตาของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เหมือนกับเป็น Definition ของ มน. หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร นิสิต คณาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ ต้องใช้งานวิจัยเป็นฐาน ในการคิดในการทำ เพื่อให้เกิดเป็น Research - Based University เพื่อให้บรรลุปณิธานของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นทิศทางใหม่ของมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยก็คือ การปรับทิศทางจากการบริโภคความรู้ไปเป็นผลิตองค์ความรู้ใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการสร้างองค์ความรู้ ทิศทางใหม่ของมหาวิทยาลัยต้องสร้างองค์ความรู้สร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น สมศ. ที่เข้ามาประเมินครั้งแรกจะหมดรอบแรกของการประเมินในเดือนสิงหาคม 2548 และรอบสองจะเริ่มเดือนสิงหาคม 2548 การประเมินรอบสองจะมีการพิจารณาเรื่อง Accreditation, Rating และ Ranking ด้วย จะมีการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยรวมทั้งของแต่ละสาขาโดยเน้นระดับสาขาวิชา
         Slide ที่ 2 จะเห็นว่าอาจมีการแบ่งการประเมินเป็น 2 กลุ่ม ในมาตรฐานกลุ่มที่ 1 มี 100 คะแนนเต็ม แล้วแบ่งเป็น 40 20 15 และ 5 คะแนน รวม 80 เหลือ 20 คะแนน ให้มหาวิทยาลัยหรือคณะเลือกว่าจะเอาไปใส่ตรงไหน ถ้าเน้นวิจัยต้องใส่ในมาตรฐานที่ 2 ที่เป็นมาตรฐานด้านการวิจัยและสร้างสรรค์ หากไม่เน้นวิจัยก็ไปเน้นที่บริการวิชาการกับชุมชนไปใส่ที่มาตรฐานที่ 3 เน้นการเรียนการสอนก็ใส่มาตรฐานที่ 1 ต้องคุยกันว่าจะตัดสินใจเอา 20 คะแนนนี้ไปใส่ตรงส่วนใด ซึ่งรวมทั้งระดับคณะด้วย ท่านจะชอบวิธีการนี้หรือไม่ก็ต้องเลือก ทำนองเดียวกัน ก.พ.ร.จะมีทางเลือกให้ 3 ทางที่จะประเมินมหาวิทยาลัย จะใช้คำว่าทางเลือกที่ (1) (2) และ(3) และนำมา Weight ชั่งน้ำหนัก ความจริงทางเลือกที่ 1 เน้นการวิจัย ทางเลือกที่ 2 เน้นการเรียนการสอน ทางเลือกที่ 3 บริการวิชาการกับชุมชน เราต้องตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่ในกลุ่มใดและ สมศ. รวมทั้ง กพร. จะทำการประเมินเราตามนั้น
         เพื่อให้เห็นสภาพจริงของตัวเราเอง ผมอยากให้ช่วยกันพิจารณา Slide ที่ 3-4-5 ผมลองเอาผลประเมิน สมศ. ในรอบแรกเมื่อปี 2545 เอามาเทียบเคียงกัน ของราชภัฎ B. ภาคเหนือตอนล่างเหมือนเรา และอีกอันก็คือ ม.C.. ภาคเหนือเหมือนเรา และอีกอันก็คือ ม.D.. ก่อตั้งมาประมาณ 10 ปีเท่าๆ เรา จะเอาเฉพาะ KPI ทางด้านการวิจัยมาเทียบเคียงให้ดู ที่น่าสังเกตคือทั้งรอบแรกและรอบสอง สมศ. ยังคงใช้ตัวบ่งชี้ด้านการวิจัยยังคงเหมือนเดิม ยังอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ปรับ จากทั้งหมด 6 ตัวบ่งชี้ ตัวบ่งชี้แรกเรื่องเกี่ยวกับนิสิตบัณฑิตศึกษา ปริญญาเอก 1 คน วิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาเอก 1 คน สามารถเป็น Publication ไปนำเสนอในระดับนานาชาติในตารางช่อง B ยังไม่มีนักศึกษาปริญญาเอก ก็คือ ราชภัฏ.B ส่วน C ก็คือที่ ม...... D ก็คือของที่ ม...... เรามาดูของเราในช่อง A ในปี 2545 ข้อมูลจากฐานข้อมูล NUQADB ที่แต่ละคณะรายงานเข้าไว้ ที่ป้อนข้อมูลความจริงมัน 0.29 แต่ผมขอปรับให้เป็น 1 เนื่องจากทราบดีว่าก่อนจบทุกคนต้องตีพิมพ์อยู่แล้ว ลองดูอีกหนึ่ง KPI เป็นเรื่องของนักศึกษาปริญญาโท วิทยานิพนธ์ 1 ฉบับเป็น Publication ถ้าเกิดเป็นของม.D 1.8 ของ ม.C 0.23 ของราชภัฎ B 0.43 ของ ม.นเรศวร 0.07 อันนี้คิดเฉพาะแผน ก ที่เป็นวิทยานิพนธ์ ถ้าคิดรวมของแผน ข ด้วย 0.006 เวลาที่ กพร. มาดูจะดูตัวเลขล่าง แต่ว่า สมศ. ดูตัวเลขบน อันนี้เป็นเรื่องของบัณฑิตศึกษาซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการวิจัยของมหาวิทยาลัย คือบัณฑิตศึกษา ถ้าไม่เข้มแข็งก็ไม่มีทางที่มหาวิทยาลัยจะเข้มแข็งทางการวิจัยได้
         อีกอันก็คือเรื่อง Publication ของอาจารย์ ต่อจำนวนอาจารย์ ของเรา 0.14 ดูที่จำนวนการใช้ประโยชน์ 0.09 โปรดสังเกตว่า KPI พวกนี้เป็น KPI ที่ สมศ. มาประเมินและต่อไปจะมีคนเอาไปใช้ในการที่จะทำ Rating, Ranking ถึงตรงนี้คงพอมองเห็นกันแล้วว่าเราต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อที่จะปรับทิศทางเปลี่ยนจากการเป็นผู้บริโภคความรู้มาเป็นผู้สร้างองค์ความรู้กันให้มากขึ้น ยังมีอีกตัวบ่งชี้ ถัดมาเป็นเรื่องของจำนวนเงินสนับสนุนจากภายนอกคือศักยภาพของอาจารย์ที่จะดึงเงินวิจัยจากภายนอกมาทำงานวิจัย ของ C กับ D ประมาณ 140,000 บาทต่อคน ต่อหัวอาจารย์ ของเราประมาณ 15,000 ไม่ว่าจะใช้ KPI ตัวไหน เป็นตัวเลขที่เรา Report ไปเอง และเป็นสภาพจริงที่รอการพัฒนาอย่างจริงจัง อย่างเร่งด่วน
         ก่อนที่จะวิเคราะห์ภาพรวมงานวิจัยของ ม.นเรศวร ผมขอวิเคราะห์ภาพรวมงานวิจัยระดับประเทศก่อน มีนักวิจัยหลายท่านวิเคราะห์วิจัยกันว่าการบริหารงานวิจัยในระดับประเทศเป็นส่วนที่อ่อนแอที่สุดทั้งๆ ที่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในด้านการวิจัยของประเทศ เพราะขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดความร่วมมือร่วมใจกัน การวิจัยภาคเอกชนของเราไม่เข้มแข็งเหมือนกับที่ต่างประเทศเขา สุดท้ายระบบวิจัยในมหาวิทยาลัยก็อ่อนแอทั้งๆ ที่เป็นองค์กรที่มีศักยภาพสูงสุดในการทำวิจัยก็ยังต้องแก้ไขและปฏิรูปกันอีกมากเช่นกัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้การวิจัยของมหาวิทยาลัยอ่อนแอ ตามที่ปรากฏในรายงานของท่านอาจารย์ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ คือ (1) ขาดยุทธศาสตร์ขาดโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยที่ดี (2) ขาดกระบวนการจัดการงานวิจัยที่ดี (3) ขาดวัฒนธรรมการวิจัย เป็นวัฒนธรรมอำนาจเพราะอยู่ในระบบราชการ (4) ติดอยู่ในกระแสธุรกิจอุดมศึกษา ชอบทำกันแค่สอนความรู้เก่า สอนง่ายๆ เปิดหลักสูตรพิเศษกันจนไม่มีเวลามาทำงานวิจัยที่จะนำมาซึ่งการสร้างองค์ความรู้ใหม่
         กรณีของ มน. เราเอง ตามความคิดของผม ผมว่าคงไม่ต่างจากระดับประเทศมากนัก ดังนั้นทั้งหมดนี้คือโอกาสที่เราต้องช่วยกัน แก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นในทุกๆ จุด ผมขอนำเสนอข้อมูลของมหาวิทยาลัยที่พอที่จะมี Impact factor สูง ด้านการวิจัย ไม่ได้เป็นข้อมูลจากมหาวิทยาลัยวิจัยระดับ World class อะไร ลองเอาของ Swiss ranking ที่ University of Geneva ลองดูจำนวนนิสิตประมาณ 15,000 คน จำนวนอาจารย์ 3,000 คน จำนวนเงินสนับสนุนการจัดการศึกษาค่อนข้างสูง 650 ล้านฟรังค์สวิสฯ ถ้าเป็นเงินไทยก็ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท ลองดู Spending profile ค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัย 52% ส่วนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยลองดูข้อมูลของ มอ. ที่วางระบบการวิจัยไว้ค่อนข้างดีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขณะนี้เริ่มเห็นผลชัดเจนแล้ว ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะเห็นผลสำเร็จ เมื่อปี 2544 เขากลับมา Discuss กันอย่างจริงจังอีกครั้งว่าเขาจะเป็น Research - Oriented University คือเน้นวิจัย แล้วก็เริ่มตั้งกองทุนวิจัย ทำกันอย่างจริงจังมานานพอสมควร ความจริงมีหลายยุทธศาสตร์ที่เค้าอัดเข้าไป นี่คัดมาดูกันบางส่วน เช่น ส่งคนไปเรียนทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้มี Excellent center ซึ่งของเราเรียกว่าเป็น Selected field ของ มอ. ตอบได้แล้วว่ามีอยู่ 5 สาขา แต่ว่าต้องอัดเงินเข้าไป ต้องมี Commitment ว่ารับเงินไปแล้วต้องได้ Paper และก็เป็น Commitment ระหว่างคณบดีกับสภามหาวิทยาลัย ย้อนกลับมาดูของเรา ถ้าจะลองถามกันว่ามหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย จะเอาจริงหรือ สู้เขาไหม จะเป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับทุก ๆ คนในที่นี้ว่าจะเอาจริงหรือไม่ จะสู้หรือเปล่า ถ้าเอาจริงก็เป็นไปได้สูงเพราะคนของเราศักยภาพดีมาก อาจารย์ของเราส่วนใหญ่เพิ่งจบมาและยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ถ้าคิดจะสู้ก็สู้ได้ จะเป็นหรือไม่เป็นต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต และก็เจ้าหน้าที่ ทั้งหมดจะเป็นคนตอบว่าจะสู้หรือไม่ ถ้าไม่รีบคิดรีบทำกันเสียตั้งแต่ตอนนี้จะมีผลเสียหายมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
         ดังนั้น ถ้าคิดจะสู้ หรือเอาจริงก็ต้องมียุทธศาสตร์ ลองดูยุทธศาสตร์ที่เรามีอยู่แล้วใน Slide ที่ 6 จะเห็นว่ามีอยู่ 6 ยุทธศาสตร์ ผมว่ายุทธศาสตร์เราดีมากอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า How to ในแต่ละยุทธศาสตร์อาจจะต้องปรับใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ และควรจะช่วยกันปรับกันไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา
         ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริหารงานวิจัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เมื่อก่อนนั้นไม่มีเพิ่งจะมีไม่นานนี้ หน่วยงานที่รองรับที่จะมาช่วยรองวิจัยในปัจจุบัน ก็มีงานวิจัย โครงสร้างของงานวิจัยนี้มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ตอนตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ในปัจจุบันงานวิจัยมีข้าราชการ 1 คน ลูกจ้างชั่วคราว 4 คน ที่ทำงานอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย และก็สังกัดอยู่ในกองบริการการศึกษา ในปัจจุบันทุกคนต้องทำงานกันหนักมาก ในระดับคณะก็จะมี รองคณบดีฝ่ายวิจัย หรือผู้ช่วยคณบดี หรืออาจไม่มีเลย หรือบางทีมีก็เหมือนไม่มี แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยอีกนิดหน่อย โครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างที่ติดมาตั้งแต่ตอนก่อตั้งมหาวิทยาลัยใหม่เช่นกัน โครงสร้างที่เล่ามาทั้งหมดนี้มีไว้สำหรับทำหน้าที่เป็น Messenger โดยแท้ ดังนั้นถ้าหากต้องการยกระดับและปรับโครงสร้างจะต้องปรับจากการทำหน้าที่จาก Messenger มาเป็น Manager ให้ได้ ทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ ต้องการคนที่มีความรู้ทางด้านการบริหารงานวิจัยอีกจำนวนมาก ตอนนี้ขาดมาก นักวิจัยพอมีแต่ขาดผู้บริหารงานวิจัยแทบไม่มี นอกจากการเป็น Messenger กันทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะแล้ว การทำงานที่สัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นในปัจจุบันนี้ต่างคนคิดต่างคนทำ งานวิจัย กองแผน การเงิน บัณฑิตวิทยาลัย บัณฑิตศึกษาของแต่ละคณะ ผู้บริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัย ผู้บริหารงานวิจัยคณะ นักวิจัย ศูนย์วิจัยต่าง ๆ ทั้งที่สังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดคณะ และยังมีที่ไม่สังกัดทั้งมหาวิทยาลัยและคณะด้วย หน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้อยู่กันอย่างกระจัดกระจายและไม่ค่อยจะเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นต่อไปจะต้องร่วมมือและใจกันให้มากขึ้น ต้องมีเรื่องเงินสนับสนุนซึ่งในส่วนของการบริหารจัดการนี้ อ.หมอวิจารณ์ ซึ่งบริหารงานวิจัยมากว่า 20 ปี ให้ความเห็นว่างบแผ่นดิน จริงๆแล้ว ต้องนำมาหัก 10% เพื่อจะเอามาใช้ในการบริหารงานวิจัย แต่ของเราไม่ได้หักไว้เลย เนื่องจากคงคิดว่างานวิจัยไม่เป็นจำต้องมีการจัดการ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งในปัจจุบันก็คือ เงินรายได้สำหรับการวิจัยของเราก็กระจายไปทุกคณะ ให้บริหารจัดการกันเอง กระจัดกระจาย
         ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาความพร้อมด้านปัจจัยเพื่อสนับสนุนการวิจัย ด้านการเงินตัวเลขสนับสนุนการวิจัยปี 2544 รวมทั้งหมดได้ประมาณ 100 ล้านบาท ในปีต่อไปปีงบประมาณ 2549 เฉพาะที่ขอไปใหม่ผ่าน วช. ก็ 40 กว่าล้าน แต่พอไปดู KPI ที่ได้ไม่รู้ว่าผลงานวิจัยเหล่านั้นหายไปไหนหมดไม่ค่อยได้นำมาใช้ โดยทั่วไปเค้าเรียกเอาไปขึ้นหิ้ง เพราะฉะนั้นทิศทางใหม่เมื่อทำวิจัยแล้วต้องให้ผลการวิจัยอยู่ในห้องผู้บริหารเพื่อนำมาช่วยใช้ในการตัดสินใจ หรือเอาไปใช้ไปใช้ในห้องเรียน เพื่อช่วยในห้องเรียน ช่วยการเรียนรู้ของเด็ก หรือเอาไปเข้าห้างโดยการทำวิจัยร่วมกับเอกชนหรือร่วมกับชุมชนทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง หรือว่าเผยแพร่สู่สากล เอาไปตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ เพื่อจะได้เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ตรงนั้น ดังนั้น ต่อไปการทำวิจัยต้องเน้นที่ผลลัพธ์ 1-4 จะเน้นไปในการใช้ประโยชน์ ส่วนสุดท้ายเน้นไปที่ Publication เพราะฉะนั้นในการจัดสรรเงินสนับสนุนการวิจัย ต่อไปผมคิดว่าควรรวมงบประมาณไว้ตรงกลางแล้วค่อยจัดสรรทุนการวิจัยตามแนวความคิดนี้ จะได้ไม่มีปัญหาทำวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง และ KPI ต่าง ๆ ก็จะดูดีขึ้น เกิด Impact สูงขึ้น

        
ดู Slide ที่ 7 เป็นแนวความคิดของผม ผมคิดว่าการเป็นมหาวิทยาลัยควรใช้สัดส่วน 50 : 50 ยังคงต้องเน้นความเป็นวิชาการ Basic Research หรือ Fundamental Research , Academic Research ยังคงต้องมี  
การให้ทุนก็ควรเน้นให้กับอาจารย์ที่มีนิสิตบัณฑิตศึกษาอยู่ด้วยจะช่วยให้ทำงานผลงานได้มากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นในข้อ 1 ที่เน้นตีพิมพ์มันจะไปแก้ปัญหา KPI ที่ตัวเลขไม่ค่อยดี 3 ตัวแรกได้ ส่วนที่ 2 อีก 50% ให้นำมาใช้ในเรื่องการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นต่อไปถ้าจะทำวิจัยต้องตอบให้ได้ก่อนว่าจะตีพิมพ์หรือว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ อาจจะได้ทั้ง 2 อย่างแต่ต้องเน้นไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าเป็น R&D ต้องมีคนมาร่วมจากภาคเอกชน เพื่อการันตีได้ว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง   เอกชนควรมาช่วยกันตั้งแต่เริ่มคิด Topic ในการทำวิจัย แล้วดำเนินการวิจัยร่วมกัน ส่วนเรื่อง empower ชุนชน ก็คือให้อาจารย์ไปทำวิจัยร่วมกับชุมชน   ก็ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวิจัย วัตถุประสงค์จริงให้ชุมชนมาเป็นนักวิจัยหลักอาจารย์จะเป็น Tutor จะได้นำไปใช้ได้จริงจัง  ส่วน R2R จาก Routine ไปเป็น Research  เจ้าหน้าที่ของเราก็ต้องหัดทำวิจัยสถาบันเพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนางานและพัฒนาองค์กร และจะทำให้มีผลงานไปนำเสนอได้   ผู้บริหารควรเป็นคนตั้งโจทย์ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการวิจัยเพื่อนำผลที่ได้มาใช้ตัดสินใจ  ต้องร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้บริหาร ขณะนี้ผมได้จัดอบรมมาแบบต่อเนื่อง เป็นอบรมเชิงปฏิบัติการวิจัยสถาบันให้กับสาย Non-Teaching  ถ้าย้อนกลับไปดู 2-3 ปีที่ผ่านมา Non-Teaching ของเราไม่ได้มีผลงานวิจัยสถาบันไป Present ในระดับประเทศ ที่กรุงเทพฯ  ไม่มีของเราเลย ปลายปีนี้วิจัยสถาบันของมน.ควรมีอย่างน้อย 5 Paper เป็นวิจัยสถาบัน ไม่แน่อาจจะถึง 10 paper ไปนำเสนอในระดับประเทศ ก็ได้ ส่วน T&L (Teaching  &  Learning)  ควรมีวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิต
เพราะโลกเปลี่ยนถ้ายังจด Lecture อย่างเดียวไม่ทัน
         อีกประเด็นที่สำคัญมากคือโครงการวิจัยของเรา แต่เดิมส่วนใหญ่เป็นโครงการเดี่ยวต่างคนต่างทำวิจัย ผลออกมาไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เท่าไร  ตีพิมพ์ก็ไม่ได้นำไปใช้ ทิศทางใหม่ควรจะมีกระบวนการพัฒนาชุดโครงการที่มันมี Impact สูงและนำเอาไปขาย Idea ให้จังหวัดหรือประเทศ  แต่ต้องช่วยกันพัฒนาให้ดีก่อน  เวลาไปเสนอขาย Idea ผู้ที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้จะได้อยากให้ทุนมาทำ และเวลาทำจะเกิด Impact สูง คือในทางการบริหารการวิจัย เขาเรียก Up stream management ต้องทำให้ดีก่อน ขณะนี้ผมได้ลองจัดทำแบบสอบถามมาด้วยเพื่อลอง Scan ดู  ดูทั้งสองมุมมองว่าเราพร้อมด้านไหน มุมมองความพร้อมกับมุมมองของความต้องการ  เรามีความพร้อมทางด้านไหน  เราถามความต้องการจังหวัดหรือประเทศว่าเขาต้องการด้านไหน  ถ้าเกิด Demand side สูง  และ Supply side มีความพร้อม ตรงนั้นแหละที่เป็น Topic ที่น่าทำ เพราะว่าโอกาสประสบความสำเร็จสูง ดังนั้น ปัญหาในขณะนี้คือ ขึ้นอยู่กับเราที่จะพัฒนาชุดโครงการประเภทนี้มาให้ได้ดีมีคุณภาพขนาดไหน นักบริหารงานวิจัยและนักวิจัยต้องร่วมมือร่วมใจกันให้มากตรงนี้
        
ยุทธศาสตร์ที่ 3  หน้าที่ที่อาจารย์ทุกคนต้องทำวิจัย หน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยมี 4 ด้าน คือ ผลิตองค์ความรู้ ผลิตบัณฑิต บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่การผลิตองค์ความรู้มักถูกละเลย อาจารย์จะไปมีภาระงานในส่วนการเรียนการสอนมาก ควรจะปรับมาเน้นการวิจัยให้มากขึ้น เวลาไปคิด KPI มันจะได้ได้ 0.5-1.0 ตอนนี้ของเราประมาณ 0.14  ถ้าทำตรงนี้ได้ KPI ก็จะสูงขึ้น ทีนี้เกณฑ์ภาระงานทางวิชาการและการให้ความดีความชอบทบวงมหาวิทยาลัยเดิมกำหนดให้มี ผศ.  รศ.  ศ.  ถ้าเกิดเป็น ผศ. บทความวิจัยปีละเรื่อง ต้องตีพิมพ์ในวารสารที่มี  Peer review ถ้าหากเป็นบทความวิชาการ 2 เรื่อง  ถ้า รศ. ก็บทความวิจัย 2 เรื่อง  หรือบทความวิชาการ 4 เรื่อง ถ้า ศ. ต้องระดับนานาชาติ ต้องปีละ 1 เรื่อง  โดยสรุปแล้วทุกคณะมีโอกาสที่จะทำให้ดีขึ้นได้อีกมากในจุดนี้
         ยุทธศาสตร์ที่ 4  ผลงานทางวิชาการและผลงานทางวิจัยของนิสิตก่อนจบระดับปริญญาตรี โทและเอก ต้องช่วยกันปรับจากการใช้องค์ความรู้เก่ามาเป็นผลิตองค์ความรู้ใหม่ เพราะฉะนั้นนิสิตของเราควรจะลดระบบนั่งเรียน จด จำและสอบได้แล้ว ควรเน้นให้เขามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีผลงานที่เป็นบทความเป็นผลงานทางวิชาการ ตอนนี้หลายคณะก็ทำอยู่แล้ว โดยสรุปอยากให้นิสิตมีผลงานที่เป็นนวัตกรรม เป้าหมายคือ ว่าที่บัณฑิต 1 คน ต้องมีอย่างน้อย 1 บทความวิจัยหรือบทความทางวิชาการ ขอให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาของคณะเป็นคนรับรองและให้เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา ก่อนจบทุกคนต้องมีผลงานทางด้านบทความวิจัยหรือบทความวิชาการหรือนวัตกรรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งออกมาก่อนจบ  มีลายเซ็นของอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นตัวกระตุ้นอาจารย์ไปด้วย จะมีผลทำให้อาจารย์มีบทความของอาจารย์เองเพิ่มมากขึ้น อีกเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมแนวความคิดนี้คือ  ต้องมีการผสมผสานการเรียนการสอน เลือกวิธีการเรียนการสอนให้ถูกกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้  ให้เด็กได้มีโอกาสได้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
         ยุทธศาสตร์ที่ 5  เกี่ยวกับข้าราชการและพนักงานที่ไม่ใช่อาจารย์ อยากจะออกเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย สำหรับ Non-Teaching ให้เขานำงานรูทีน มาทำวิจัย โดยกำหนดโจทย์มาจากผู้บริหารและถ้าสามารถไปตีพิมพ์ได้หรือนำไปนำเสนอในที่ประชุมวิชาการได้ให้รางวัลไปเลย  5,000 บาทต่อ Paper  เขาก็เอาไปขอเป็นผลงานตัวเองได้อีกด้วย
         ลองดูภาพรวมนโยบายเชิงเป้าหมายตาม Slide ที่ 8 ตอนนี้สามารถสรุปได้เป็น 1 ผู้บริหาร 1 นวัตกรรมการบริหาร เวลาตัดสินใจจะได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลกับความจริงที่ได้จากการวิจัย ระดับคณะก็เหมือนกันเลือกมาอย่างน้อย 1 Selected field เวลามีคนถามจะได้ตอบได้ว่าจะเอาดีทางไหน ภายในคณะก็จะเป็น Research faculty  หรือ  Research  department      ส่วนระดับอาจารย์มี 1 อาจารย์ 1 บทความวิจัยหรือ 1 บทความวิชาการ ที่ต้องทำตามเกณฑ์อยู่แล้ว เงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา 1 ว่าที่บัณฑิต 1 บทความวิจัย ด้านหน่วยงาน Non-Teaching ควรทำวิจัยอย่างน้อย 1 บทความทุกปี ดังนั้น ถ้าบุคลากรทุกส่วนของมหาวิทยาลัยใช้งานวิจัยเป็นฐานในการคิดและการทำ การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยจะไม่ไกลเกินฝัน ถ้าทุกคนร่วมมือกัน เพราะความสามารถของทุกคนของพวกเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าลองเอามาใช้ในทิศทางนี้ ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้ยากเย็นหรือไกลเกินฝัน ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน
        ยุทธศาสตร์ที่ 6  กลไกความรับผิดรับชอบ   ผมลองให้ดูวิธีการของที่ต่างประเทศ  RAE (Research Assessment Exercises) ของอังกฤษ เขาจะประเมินการวิจัยของมหาวิทยาลัยทุก 5 ปี ที่อังกฤษเขาแยกทีมประเมินการเรียนการสอนและการวิจัยคนละทีมกัน ด้านการวิจัยเมื่อประเมินแล้วจะมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณด้านวิจัยของอังกฤษ เฉพาะ Funding ตรงการวิจัยนี้ก็ 70,000 กว่าล้านบาท โดยนำผลการวิจัยไปจัดสรรเงิน เกณฑ์ที่เขาใช้มี 7 ระดับ ถ้าผลประเมินอยู่ระดับ 0-3a จะไม่ได้รับการจัดสรรงบวิจัย  จะต้อง 4 ขึ้นไปจึงจะได้รับการสนับสนุน  หลักการทำนองนี้ของเราก็เริ่มมี กพร. เอามาใช้ ซึ่งมีผลทำให้จุฬาฯ ขอนแก่น ได้ Incentive มา 10-30 ล้านบาท ในขณะที่ของเราได้ประมาณหนึ่งล้านบาท ของเราภายในมหาวิทยาลัยน่าจะลองเอาแนวความคิดนี้มาประยุกต์ใช้ดูบ้าง
         สุดท้ายขอขอบคุณท่านอธิการบดีที่ให้โอกาสผมมารับผิดชอบงานทั้ง 3 ด้านนี้ คือ QA วิจัย และ KM และขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการประเมิน วัฒนธรรมคุณภาพ วัฒนธรรมการวิจัย และสร้างมน.ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้
  ถ้าเกิดเราไม่สามารถเรียนรู้ได้เร็วพอที่จะปรับให้ทันกับสถานการณ์ใหม่ เราก็อยู่ไม่รอด นี่คือสัจธรรม  เรื่องการเรียนการสอนที่มีการวิจัยเป็นฐาน ผมได้เชิญท่านอาจารย์ ดร.ทิศนา  แขมมนี จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มาพูดให้เราฟังวันที่ 16 พฤษภาคม 2548  เดี๋ยวจะกำหนดรายละเอียดอีกที  วันที่ 24-25 มิถุนายน 2548 ที่ทรัพย์ไพวัลย์จะมี UKM2  คือ University Knowledge Management  จัดโดย Network ของ KM มี  ม.นเรศวร  ม.สงขลา  ม.ขอนแก่น  ม.มหิดล  ม.มหาสารคาม และ สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) ก็เวียนกันเป็นเจ้าภาพทุก 3 เดือน ครั้งต่อไปเราเป็นเจ้าภาพจะกำหนดเรื่องการพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็น Topic หลัก อาจจะมีรองวิจัยทั้ง 5 มหาวิทยาลัย รวมทั้งนักวิจัยและอาจารย์ที่สนใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แล้วเปิดโอกาสให้วิจารณ์กัน อันนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมาก  ต่อไปก็จะเป็นงานแสดงผลงานวิจัยเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี มหาวิทยาลัย ซึ่งจะจัดในวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2548  และต่อไปจะจัดเป็นงานประจำทุกปี เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัย และเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้มารู้จักและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน อยากให้มามีส่วนร่วมมากๆ จะได้ช่วยกันปรับทิศทางของมหาวิทยาลัย ให้มาช่วยกันสร้างองค์ความรู้ใหม่กัน แล้วช่วยกันคิดวิธีที่จะทำให้มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยมันเป็นจริงให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ช่วยกันคิดกระบวนทัศน์ใหม่ด้านการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันนั้นท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช จะกรุณามาช่วยวิพากษ์ระบบบริหารงานวิจัย Model ต่างๆ ให้ด้วย และจะมีผลงานวิจัยของทุกคณะ และผลงานวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนล่าง ดึงทั้ง 13 สถาบันมาร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย ก็ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วม ขอบคุณครับ
         เป็นไงค่ะ  เรื่องเล่าเร้าพลัง  นี้  ทำให้เห็นทิศทางได้อย่างชัดเจนทีเดียว ดิฉันเกิด idea  และพลังอย่างบอกไม่ถูก  ต้องขอตัวไปสร้างงานวิจัยเสียแล้วละค่ะ

หมายเลขบันทึก: 3122เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2005 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชักเขินเสียแล้ว ตอนอาจารย์มาลินีลงเรื่องเล่านี้  ยังไม่ได้ขออนุญาตคนเล่าตัวจริงเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท