๒๓. การเรียนรู้ทางสังคมและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในเพลง


"....งานเพลงและงานดนตรีบางกลุ่ม เป็นงานที่มีมิติการเรียนรู้และสร้างความเคลื่อนไหวสังคม...."

งานของ สมัย อ่อนวงศ์ (ก่อน ๒๕๑๕) กับ  จรัล มโนเพชร (ก่อน ๒๕๒๕) เป็นงานสื่อสารเรียนรู้ผ่านเพลงที่ให้มุมมองต่อสังคมต่างไปจากยุคก่อนหน้าของเขาอย่างน่าสนใจ

สมัย อ่อนวงนั้น เป็นหมอลำแคน ที่ทำให้เสียงแคน เพลงหมอลำ และภาพความเป็นท้องถิ่นของอีสาน กลายเป็นวัฒนธรรมที่เป็นสากลสำหรับสังคมไทย เพลงลูกทุ่งอีสานและหมอลำอีสาน รวมทั้งส้มตำ แพร่สะพัดเป็นของส่วนรวมในทุกภูมิภาคตั้งแต่ความนิยมของสมัย อ่อนวงดังระเบิดเถิดเทิงไปทุกที่ในหมู่คนไทยทั้งในและต่างประเทศ

จรัล มโนเพชร ก็ทำนองเดียวกันครับ เขาทำให้คำเมือง การอู้ภาษาถิ่น เรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมล้านนา รวมทั้งวัฒนธรรมย่อยต่างๆที่มีของภาคเหนือ เป็นที่รู้จักและเห็นความงดงามในทรรศนะที่แตกต่างไปจากอดีตมาก ทำให้ความเป็นท้องถิ่นสามารถพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองในขณะที่ก็มีความเป็นสากลของสังคมไทยไปด้วย เป็นเรื่องที่น่าทึ่งครับ

ในเพลงมะเมี๊ยะก็เช่นกันครับ เรื่องที่เป็นตำนานและเรื่องเล่าของท้องถิ่น ก็นำเอามาสื่อสารเรียนรู้กับสังคม ในรายละเอียดที่เป็นเนื้อหานั้น สำหรับเพลงแล้วก็ทำหน้าที่แสดงสถานการณ์เพื่อทำให้คนเข้าถึงประเด็นความคิด ประเด็นการเรียนรู้ทางสังคม รวมทั้งให้ความรอบรู้และได้ความเข้าใจระหว่างสังคมต่างๆ ที่ผู้คนควรจะได้ผ่านการฟังเพลง เช่น ความรักมักเป็นเช่นนี้ แท้เชียว (มีทุกข์สุข ทั้งมีความสูงส่งและเป็นอนิจจัง.....ฯลฯ)

หรือจะฟังแบบได้การเรียนรู้ทางสังคมก็เช่น สิ่งที่บอกเล่าและพรรณาในเพลงมะเมี๊ยะนั้นสืบทอดไว้ให้เราได้เรียนรู้ไปด้วยว่า ผู้นำทางสังคมของล้านนามีการติดต่อและแลกเปลี่ยนทางสังคมกับสังคมสยามและพม่า ทั้งทางด้านการศึกษาและการเป็นดองกัน มานานแล้ว ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์สังคมในภูมิภาคนี้  อีกทั้งความรักต่างศักดิ์ ความรักต่างชนชั้นนั้น ก็มีอยู่เสมอเหมือนกับเป็นความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของสังคม

เรื่องราวของมะเมี๊ยะเป็นเหมือนตำนานที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน หากสังคมไม่มีวิธีพัฒนาทางเลือกให้หลากหลายในการสร้างประวัติศาสตร์ ความรู้ และวิถีทรรศนะต่อสังคม เราก็คงขาดโอกาสได้เห็นอีกแง่หนึ่งที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมต่อการสร้างความเป็นจริงของสังคมมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแนวเพลงแบบเล่าเรื่องอย่างจรัล มโนเพ็ชร จัดว่าเป็นความริเริ่มหนึ่งในวิถีดังกล่าว

ในเพลงของจรัล มโนเพชรทำให้สังคมมีมิติที่ลึกซึ้งและหลากหลาย เข้าถึงความสำนึกของคนทั่วไปได้มากขึ้น ก่อนหน้านั้น คนในภูมิภาคอื่นรับรู้สังคมล้านนาเพียงมีสาวสวย แต่ จรัล มโนเพชร ทำให้ภาพเหล่านี้เปลี่ยนไปสู่การเห็นความเป็นสังคมทั้งที่เป็นจริง มีความมั่งคั่งทางภูมิปัญญา วัฒนธรรม และมิติอื่นๆในวิถีชีวิตของปัจเจกและวิถีสังคมที่ผงาดขึ้นอย่างสง่างาม ไม่ใช่กลุ่มย่อยและเป็นท้องถิ่นของคนส่วนน้อย

แอ๊ด คาราบาวก็เช่นกันนะครับ แต่กรณีของเขาไม่ใช่เพียงเล่นกับเรื่องทางวัฒนธรรมและความเป็นท้องถิ่นอย่างเดียว ทว่า ทำให้ประเด็นและความสำนึกทางสังคมกลายเป็นเรื่องไม่ไกลตัวสำหรับทุกคน ประเด็นสังคมในเพลงของแอ๊ดคาราบาวนั้นเป็นประเด็นที่ให้สำนึกร่วมที่ใหญ่ๆและสำคัญทั้งนั้น ซึ่งก่อนหน้านั้น หากไม่ใช่เพลงของคาราบาวคุยแล้วละก็ ชาวบ้านชาวช่องไม่กล้านำเข้ามาเป็นหัวข้อการคุยในวงสนทนาหรอก เรื่องมันใหญ่ เป็นเรื่องของคนมีความรู้ และเหมือนอยู่ไกลตัวของคนทำมาหากินแบบชาวบ้าน-ชาวบ้าน

หลายเพลงนี่ฟังแล้วก็ทึ่งครับว่าเขาสามารถนำมานำเสนอและถ่ายทอดโดยเพลงได้อย่างไร เช่น ประเด็นการย้ายถิ่นแรงงานไปตะวันออกกลาง การเสียดุลการค้าจากค่านิยมใช้ของนอก เรฟูจี รวมทั้งแนวการดำเนินชีวิตของปัจเจก เหล่านี้น่ะครับ ซึ่งเรื่องเหล่านี้อย่าว่าแต่นำมาทำเป็นเพลงเลย หากเป็นหัวข้อการบรรยายก็คงจะหาคนบรรยายให้คนทั่วไปฟังได้ยาก จึงฟังไปก็ทึ่งไปนะครับ.

หมายเลขบันทึก: 310778เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2009 05:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะ

แหม คอเดียวกันเลยค่ะ

สมัยเรียนม.ช. โฟล์คซองกำเมืองถูกใจนักศึกษานักๆ

ฟังแล้วม่วนอกม่วนใจ๋

สวัสดีครับคุณณัฐรดา

กิจกรรมการแสดงทางศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี ของ มช. รวมทั้งงานช่างและการฝีมือของชาวบ้านทางเหนือนี่มีความเป็นเอกลักษณ์มากนะครับ ผมก็ชอบและถูกใจนักๆครับ เพลงโฟล์คคำเมืองก็ชอบทั้งเรื่องราวชีวิต เนื้อหาของเพลง แนวคิด แนวดนตรี และทักษะการแสดงถ่ายทอด ม่วนใจ๋นักครับ

อ้อ งั้นบอกกล่าวคุณณัฐรดาเสียเลย เสาร์อาทิตย์นี้ไปจนถึงอาทิตย์หน้านับแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ผมกับพี่ๆเพื่อนๆ ที่อยู่เฉยๆไม่เป็นเลยหาเรื่องสนุกๆทำกัน จะจัดแสดงรูปเขียนและงานศิลปะ แล้วก็นั่งเสวนากัน ที่ร้านหนังสือเบิกม่านหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายานะครับ หากผ่านไปแถวนั้นก็แวะไปได้นะครับ เย็นวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๕๒ เป็นวันเปิดและมีการเสวนาทั้งเรื่อง ศิลปะ หนังสือ(โดยเฉพาะขอร่วมรำลึก ๑๐๐ วันมรณกรรมอาจารย์กรุณา กุศลาสัยด้วย) อาหารเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาด้านใน ในแนวชีวเกษม เพื่อสร้างสุขภาวะทั้งของตัวเราเองและของสาธารณะ เลยบอกกล่าวมาเพื่อเชิญตามอัธยาศัยนะครับ.

เพลงเหล่านี้ถือเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ วิรัตน์ นำวิถีประชาศึกษาไปใช้ประโยชน์ การทำเวทีประชาคมสุภาพมาแล้วครับ

ขอบคุณอาจารย์ครับ กับหลานมุมมองของชุมชน

"พบถิ่นอินเดีย ของอาจารย์ กรุณา นอนรออยู่ยังหาโอกาสไม่ได้ครับ

ได้อ่านแล้วจะได้นำมาคุยกันครับอาจารย์

สวัสดีครับคุณบีเวอร์ครับ น่าสนใจครับ เขามีแนวในการมองความเป็นวรรณกรรมอย่างไรไหมครับ ผมเคยเห็นเพลงที่มีความเป็นบทกวีและเป็นงานวรรณกรรมอีกมิติหนึ่งอยู่ในเพลงด้วยเหมือนกันครับ อย่างเพลงตากับหลาน อุ๊ยคำ มะเมี๊ยะ ของจรัล มโนเพ็ชรนั้น เห็นได้ชัดเจนเลยครับว่าหากอ่านจำเพาะเนื้อหาเพลงก็มีโครงสร้างสร้างและการดำเนินเรื่องเหมือนเป็นเรื่องสั้นอย่างสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง 

ของคาราบาวก็เช่น เพลงลุงขี้เมา เพลงวณิพกพเนจร มีลักษณะเห็นได้เลยว่าเป็นงานวรรณกรรมอยู่ในตัวเอง อย่างนี้ได้หรือเปล่าครับ

สวัสดีครับท่านวอญ่าผู้เฒ่า อันที่จริง เท่าที่ตามอ่านบันทึกและการถ่ายทอดบทเรียนการทำงานของท่านวอญ่าผู้เฒ่านั้น ก็เห็นอยู่เสมอครับว่าวิธีมองและวิธีทำงานกับชุมชนของวอญ่าผู้เฒ่ามีการทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาประชาชนและความเป็นพลเมืองที่เป็นกำลังสร้างสรรค์ส่วนรวมในแง่ต่างๆไปด้วยอยู่เสมอ ข้อมูลการปฏิบัติและวัตถุดิบจากของจริงของท่านวอญ่าผู้เฒ่าเลยมีอยู่เพียบเลยครับ

หนังสือวิถีประชาศึกษาผมนั้นก็อาจจะช่วยให้เห็นแง่มุมสำหรับการดึงเอาบทเรียนจากการแก้ปัญหาและการได้ลงมือสร้างประสบการณ์ต่อการทำงานเชิงสังคมอย่างที่ท่านวอญ่าผู้เฒ่ากำลังทำอยู่เหล่านั้น มาเจียรนัยให้เห็นความเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้คุณค่าและความหมายต่อการทำสิ่งต่างๆให้เป็นการพัฒนาคนและชุมชน เพื่อมีคุณภาพชีวิตและได้สุขภาวะที่มั่นคงยั่งยืนกว่าได้สิ่งอื่นมากยิ่งๆขึ้น

การมีวิธีมองเพื่อเห็นการทำสิ่งต่างๆเป็นโอกาสการเรียนรู้ของประชาชนและชุมชนไปด้วยอยู่เสมอนั้น จะทำให้เห็นวิธีแปรการปฏิบัติและการทำงานเชิงสังคม ให้เป็นโอกาสการลงทุนเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพทุนมนุษย์และทุนทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างหนึ่งที่ดีกว่าอีกหลายเรื่องครับ

ถูกต้องครับ คือ ผมมองว่าเพลงก้คือเพลงนะครับ ไม่ได้เป็นเรื่องสั้น หรือวรรณกรรมประเภทอื่นๆ

เพลงเหล่านี้นะครับ เก็บรวบรวมเรื่องราวของยุคสมัย ค่านิยม จารีต วิถีประชา

เพลงในยุคหนึ่งๆ ก็จะมีส่วนประกอบของคำแตกต่างกันไป อย่างสมัยนี้คำว่าโทรศัพท์มือถือ กริยาคำว่าโทรก้มากขึ้น

เพลงลูกทุ่งก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมเมืองมากขึ้น เช่นดอกหญ้าในป่าปูน ดอกนีออนบานค่ำ คำว่าเกวียน หรือ โคลน ก้จะน้อยลง

เพลงพวกฮิปฮอป นี่ชัดเจนครับ ภาษาในเพลงผู้แต่งหลายๆ ท่านพยายามเหน็บสังคม หลายๆ ท่านเหน็บเรื่องรักซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนสังคม สะท้อนวิธีคิด เช่น เพลงหนูอยากได้ เพลงราตรีสวีสดิ์ หลายๆ อย่างมันแฝงอยู่ในนั้น

..

นี่แหละครับ มันสะท้อนภาพสังคมแต่ละยุค ผ่านภาษา + ทำนอง

ผมว่าน่าจะเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยได้ แถมเข้าถึงประชาชนได้มากเพราะเสพง่าย

...

คิดว่ายังไงครับ

ดอกนีออนบานค่ำนี่เข้าท่าจริงๆนะครับ

เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจดีครับ แต่ก็มีเพลงจำนวนหนึ่งเหมือนกันที่เป็นบทกวี งานวรรณกรรม และเรื่องราวสำหรับการบอกกล่าวถ่ายทอด

อย่างเพลง ทานตะวัน นั้น เป็นบทกวีประพันธ์โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และใส่ทำนองพร้อมกับเพลงขลุ่ยให้เป็นเพลงไปด้วยโดยธนิศร์ ศรีกลิ่นดี ก็เลยเป็นทั้งเพลงและบทกวี

เพลงเปิบข้าว ที่ใส่ทำนองและร้องโดยคาราวานนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วก็อีกหลายเพลงซึ่งมีที่มาจากบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ 

เพลงแหล่โดยมาก ก็มีที่มาจากกลอนแปดเพื่อบันทึกและเล่าเรื่อง

เลยก็มีงานที่มีความเป็นพหุศิลป์หรือเป็นหลายอย่างอยู่ในตัวเองนะครับ

  • ได้มีโอกาสเจอกับอาจารย์จริยาภรณ์แล้วละครับ อาจารย์มีความตั้งใจมากจริงๆ ไปของานวิจัยชุมชนชาวนาบัวเพื่อเอาวิธีวิจัยที่เป็นการสร้างความรู้ท้องถิ่นของชุมชนโดยกลุ่มชาวบ้านหลายสาขา ไปศึกษา
  • แล้ววันนี้ก็เห็นอาจารย์เอาของฝากจากมหาสารคามไปฝากไว้ให้ บอกว่านอกจากออกภาคสนามมาแล้วก็สอบ Qualify Examination ไปแล้วด้วย
  • ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ ยามว่างก็มาคุยกันอีกนะครับ

อาทิตย์อรุณสวัสดิ์ค่ะอาจารย์

ชอบฟังทุกแนวเพลงที่อาจารย์กล่าวมาเลยค่ะ หลงใหลเพลงสมัยโน้น ด้วยถ้อยคำ อักขระ ภาษาที่เรียงร้อยอย่างละเมียด สื่อความหมาย เข้าถึงง่าย ได้ใจค่ะ อย่างเพลง คิดถึงบ้าน บ้านบนดอย .. เพลงมหาลัย บัวลอย คนจนผู้ยิ่งใหญ่ เป็นต้นค่ะ

เมื่อคืนดูข่าว รำลึกท่านพร ภิรมย์ อ.เพลงแหล่ นั่งดูกับน้องสาว เราก็นึกย้อนไปเพราะชอบกันมากมาย ดาวลูกไก่ วัวแม่ลูกอ่อน ป๋าร้องกล่อมทุกวัน จนตอนนี้เจ้าหลาน ก็ยังชอบต้องบอกปู่ว่า เอาอีก ๆ ๆ และถามเป็นเจ้าหนู จำไม ๕ ๕ :)

 

อ่านแล้วต้องยิ้มเลยเชียวคุณ poo เพราะเมื่อวานนี้ผมกับคู่หูก็เอาเพลงเก่าๆมานั่งเปิดฟังและคุยกันเหมือนอย่างที่คุณ poo คุยนี้เลย ฟังทั้งหงา คาราวาน แอ๊ด คาราบาว เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย์ กลุ่มเฉลียง เพลงคาราบาวที่ร้องโดยไวพจน์ ศรีสุพรรณ ขวัญจิตร ศรีประจันต์ และสุรชัย สมบัติเจริญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท