กฎหมายอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน (ตอนที่ 2)


กฎหมายอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน (ตอนที่ 2)

2.  ความรับผิดของเด็กและเยาวชนในการทำผิดทางอาญา

                โดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาขึ้น แสดงว่าได้มีการกระทำอันเป็นการเสียหายหรืออันตรายแก่สังคมแล้ว บุคคลที่กระทำความผิดย่อมจะต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
                สำหรับกรณีที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำผิดแล้ว กฎหมายเห็นว่าพวกเขาเหล่านี้อาจมีความรู้สึกผิดชอบอย่างจำกัด ไม่เหมือนกับกรณีที่ผู้ใหญ่เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงกำหนดเรื่อง ความรับผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน ไว้เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในบางกรณีแม้การกระทำของเด็กจะเป็นความผิด แต่กฎหมายอาจไม่เอาโทษเลยก็ได้
                เรื่องความรับผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนนี้ ประมวลกฎหมายอาญาได้แบ่งกลุ่มอายุของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไว้ดังนี้
                1. เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี
                2. เด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี
                3. เด็กอายุ 15 ไม่เกิน 18 ปี
                4. เด็กอายุ 18 ไม่เกิน 20 ปี
               

       1. เด็กอายุไม่เกิน 10  ปี สามารถกระทำความผิดทางอาญาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าเด็กนั้นเป็นผู้กระทำความผิดได้ แต่กฎหมายยกเว้นโทษแก่เด็กนั้น โดยห้ามมิให้ลงโทษแก่เด็กนั้นเลยแต่ทั้งนี้หมายความว่าการกระทำของเด็กอายุไม่เกิด 10 ปี นั้น ยังเป็นความผิดกฎหมายอาญาอยู่ เพียงแต่กฎหมายไม่เอาโทษเท่านั้น

                ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

       2. เด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี กระทำความผิดอาญาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยถือว่าเด็กนั้นอาจเป็นผู้กระทำความผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้กฎหมายก็ยังถือว่ามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างจำกัดเช่นเดียวกัน จึงให้มีการยกเว้นโทษแก่เด็กที่กระทำ ความผิด โดยห้ามมิให้ลงโทษทางอาญาแก่เด็กนั้นเลย  แต่ทั้งนี้หมายความว่า การกระทำของเด็กนั้นยังเป็นความผิดกฎหมายอาญาอยู่ เพียงแต่กฎหมายไม่เอาโทษเท่านั้น อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี ที่กระทำความผิดนี้ กฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะใช้ "วิธีการสำหรับเด็ก" ได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงเด็กให้เป็นคนดี และไม่กระทำความผิดขึ้นอีกในอนาคต
                วิธีการสำหรับเด็ก  ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ 
                    (1) การว่ากล่าวตักเตือนแก่เด็กที่กระทำความผิด หรือแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ 
                    (2) การเรียกบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่มาทำทัณฑ์บนว่าจะระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายขึ้นอีก
                    (3) การใช้วิธีการคุมประพฤติสำหรับเด็ก โดยมีพนักงานคุมประพฤติคอยควบคุมสอดส่อง
                    (4) ส่งตัวไปอยู่กับบุคคลหรือองค์กรการที่ยอมรับเด็กเพื่อสั่งสอนอบรม
                    (5) ส่งตัวไปโรงเรียนหรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก( แต่ไม่ให้อยู่จนอายุเกิน 18 ปี)
                จะเห็นได้ว่า "วิธีการสำหรับเด็ก" นี้เป็นวิธีการหรือเครื่องมือที่ศาลคดีเด็กและเยาวชน หรือศาลที่พิจารณาที่เด็กกระทำความผิด จะใช้สำหรับจัดการแก่เด็กผู้กระทำผิด และแก่บิดามารดาตลอดจนผู้ปกครองซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กที่กระทำผิด
 วิธีสำหรับเด็ก  เหล่านี้ ไม่ใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นแต่เพียงเครื่องมือที่มุ่งหมายให้เด็กกลับตนเป็นคนดีเท่านั้น สำหรับศาลคดีและเยาวชนนั้น ยังมีมาตรการอื่น ๆ ซึ่งกำหนดไว้เป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็ก ฯ และพระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคดีเด็ก ๆโดยเฉพาะอีกด้วย

          3. เด็กอายุ 15 ปี ไม่เกิน 18 ปี กระทำความผิด  กฎหมายถือว่ามีความรู้สึกผิดชอบตามสมควรแล้ว แต่ก็ไม่อาจถือว่ามีความรู้สึก ผิดชอบอย่างเต็มที่ เช่น กรณีผู้ใหญ่กระทำความผิด กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ โดยศาลที่พิจารณาคดีอาจเลือกลงโทษทางอาญา แก่เด็กนั้นเช่นเดียวกับกรณีคนทั่วไป (แต่ให้ลดโทษลงกึ่งหนี่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อน) หรือศาลอาจจะเลือกใช้ "วิธีการสำหรับเด็ก" อย่างที่ใช้กับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15ปีก็ได้
ทั้งนี้การที่ศาลจะใช้ดุจพินิจลงโทษเด็กนั้น หรือเลือกใช้ "วิธีการสำหรับเด็ก" ศาลต้องพิจารณาถึง "ความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวง เกี่ยวกับผู้นั้น" เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะเลือกใช้วิธีใดระหว่างการลงโทษทางอาญา กับการใช้วิธีการสำหรับเด็ก และถ้าศาลเห็นสมควรลงโทษทางอาญา ศาลก็ต้องลดโทษลงกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนด้วย 
          4. เด็กอายุ 18 ปี ไม่เกิน 20 ปี  โดยปกติแล้วผู้กระทำความผิดที่มีอายุ 18 ปี ไม่เกิน 20 ปี จะต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ศาลอาจใช้พินิจลดโทษ ให้หนึ่งในสาม หรือกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนก็ได้ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าความรู้สึกผิดชอบของเขายังมีไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นเหตุ ที่พิจารณาจากตัวเด็กที่กระทำความผิดนั้นเอง

3 กรณีที่มีผู้กระทำความผิดต่อเด็กและเยาวชน

                กรณีที่มีผู้กระทำความผิดต่อเด็กและเยาวชน เป็นกรณีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ก็ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทางกฎหมายเท่าเทียมกับผู้ใหญ่
แต่เนื่องจากในบางกรณี ความอ่อนวัยของเด็กและเยาวชน อาจทำให้ผู้นั้นถูกกระทำผิดได้ง่ายขึ้น กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดอาศัยความอ่อนวัยของเด็กและเยาวชน เพื่อจะทำให้การกระทำความผิดทำได้ง่ายขึ้น กฎหมายอาญาจึงบัญญัติให้ความคุ้มครองเด็กและเยาวชนไว้เป็นกรณีพิเศษ
การคุ้มครองเด็กและเยาวชนดังกล่าว ก็โดยการกำหนดให้การกระทำบางอย่างต่อเด็กและเยาวชนเป็นความผิด หรือ เป็นกรณีที่จะต้องรับโทษมากขึ้น
                ความผิดต่าง ๆ ที่ให้การคุ้มครองแก่เด็กและเยาวชนเป็นพิเศษนี้ในบางกรณีเป็นการให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษแก่เด็กและเยาวชนเพศหญิง บางกรณีก็เป็นการาคุ้มครองโดยทั่วไปทั้งชายและหญิง ส่วนอายุของเด็กและเยาวชนที่ได้รับการาคุ้มครองเป็นพิเศษนั้น จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทความผิด ความผิดที่เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ ได้แก่
                3.1  ความผิดเกี่ยวกับเพศ
                ความคุ้มครองที่กฎหมายให้เป็นพิเศษแก่เด็กและเยาวชนในความผิดที่เกี่ยวกับเพศนั้น มีดังนี้
                      3.1.1  ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ความผิดฐานนี้ลงโทษแก่ผู้ที่กระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ที่ไม่ใช่ภรรยาตน ไม่ว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กฎหมายก็ถือว่าเป็นความผิด ทั้งนี้เพราะถือว่าอายุเพียงเท่านี้ ยังไม่มีความรู้สึกผิดชอบพอที่จะให้ความยินยอมได้
                แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่า 13 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษและหากศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่าที่ชายผู้กระทำความผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ก็ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป
                3.2 ความผิดฐานกระทำอนาจาร
                การกระทำอนาจารได้แก่ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของบุคคลอื่น เช่น การจับ หรือ ลูบคลำอวัยวะเพศเป็นต้น
                กฎหมายลงโทษผู้กระทำอนาจารแก่บุคคลไม่ว่าชายหรือหญิงอายุกว่า 15 ปี โดยขู่เข็ญหรือกำลังประทุษร้าย หรือเพราะบุคคลนั้น ไม่อยู่ในภาวะขัดขืนไว้ หรือทำให้เข้าใจผิดว่าตนเป็นคนอื่น
นอกจากนั้น หากเป็นการกระทำแก่เด็กไม่ว่าชายหรือหญิง อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ ก็เป็นความผิดด้วย และถ้าทำโดยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพราะบุคคลนั้นไม่อยู่ในภาวะขัดขืนได้ หรือทำให้เข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ผู้นั้นก็ต้องรับโทษหนักขึ้น
และไม่ว่ากรณีใดหากการอนาจารเป็นเหตุให้ผู้ทำอนาจารได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ผู้นั้นก็ต้องรับโทษหนักขึ้นด้วย
                3.3  ความผิดฐานพาเด็กหญิงไปเพื่อให้สำเร็จความใครของผู้อื่น
                ความผิดฐานนี้กฎหมายลงโทษแก่ผู้ที่เป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือ ซักพาไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งเด็กหญิงหรือหญิงอายุไม่เกิน 18 ปี ไม่ว่า จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นหากหญิงนั้นมีอายุไม่เกิน 15 ปี
                ถ้าการกระทำดังกล่าวได้กระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือข่มขืนใจโดยประการใด ๆ ผู้กระทำดังกล่าวก็ต้องรับโทษซึ่งหนักขึ้น
เหตุเพิ่มโทษพิเศษหรือความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดทางเพศที่กระทำต่อเด็กและผู้เยาว์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้กระทำจะต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าปกติถึงหนึ่งในสามถ้าเป็นการกระทำแต่
                                1. ผู้สืบสันดาน ซึ่งได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื่อ ที่ชอบด้วยกฎหมาย
                                2. ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะครูที่มีหน้าที่สอบอย่างเดียว ต้องมีหน้าที่ดูแลด้วย
                                3. ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ
                                4. ผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์ หรือในความอนุบาลตามกฎหมาย

4. ความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย
                กฎหมายให้ความคุ้มครองแก่เด็กและเยาวชนเป็นพิเศษในความผิดที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
                4.1 ความผิดฐานช่วยหรือยุยงให้เด็กอายุไม่เกิน 16 ปี ฆ่าตัวตาย ความผิดฐานนี้มุ่งลงโทษแก่ผู้ซึ่งให้การช่วยเหลือหรือยุยงให้เด็กอายุไม่เกิน 16 ปี ฆ่าตัวตาย ถ้าได้มีการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายของเด็กนั้น ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ
                4.2 ความผิดฐานทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกิน 9 ปี ความผิดฐานนี้เป็นกรณีที่ผู้นั้นทอดทิ้งเด็กซึ่งอายุยังไม่เกิน 9 ปี ไว้ ณ ที่ใด ๆ เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล ทั้งนี้เพราะกฎหมายถือว่าเด็กอายุไม่เกิน 9 ปี ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้
                4.3 ความผิดฐานทอดทั้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ ความผิดฐานนี้มุ่งลงโทษผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาที่ทอดทิ้ง ผู้ซึ่งพึ่งตนเองไม่ได้ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุ ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต การที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้นั้นจะต้องเกิดจากอายุ ความป่วยเจ็บ กายพิการ หรือจิตพิการด้วย
                4.4 ความผิดฐานทารุณเด็ก ความผิดฐานนี้มุ่งเอาโทษแก้ผู้ที่กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทารุณต่อเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี (รวมทั้งคนป่วยหรือคนชรา) ซึ่งต้องพึ่งผู้นั้นในการดำรงชีพหรือการอื่นใด  การที่กฎหมายลงโทษเช่นนี้เพราะเป็นการกระทำที่ขาดเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 310408เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณในข้อมูลทำรายงานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท