กฎหมายอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน (ตอนที่ 1)


กฎหมายอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน (ตอนที่ 1)

เอกสารประกอบการเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมพื้นฐาน
รหัสวิชา ส 41101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
หน่วยการเรียนที่ 10
กฎหมายอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน

------------------------------------------------------


หัวเรื่อง
                                1.  หลักกฎหมายอาญา
                                2.  ความรับผิดของเด็กและเยาวชนในการทำผิดทางอาญา

                                3.  กรณีที่มีผู้กระทำความผิดต่อเด็กและเยาวชน

                                4.  ความผิดเกี่ยวกับชีวิต และร่างกาย  

                                5.  ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ
                                6.  ความผิดเกี่ยวกับเพศและฐานทำให้แท้งลูก

สาระสำคัญ

                                 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดและโทษ โดยกำหนดว่าการกระทำใดบ้างเป็นความผิด ซึ่งผู้กระทำจะต้องได้รับโทษ กฎหมายอาญามีความมุ่งหมายโดยตรงที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของส่วนรวม โดยควบคุมมิให้บุคคลกระทำการอันเป็นภัยต่อผู้อื่นหรือต่อสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม

จุดประสงค์ปลายทาง

                                เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

จุดประสงค์นำทาง

                                1.  รู้และเข้าใจกฎหมายอาญา รวมทั้งโทษที่จะได้รับตามกฎหมาย        

                                2.   เห็นความสำคัญของกฎหมายอาญาและปฏิบัติตนตามหลักกฎหมาย

 กฎหมายอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน

1.  หลักกฎหมายอาญา

                1.1 ความหมายกฎหมายอาญา

                กฎหมายอาญา  หมายถึง กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วยเช่น กฎหมายกำหนดว่า การฆ่าคน หรือการลักทรัพย์ เป็นความผิด และกำหนดโทษไว้สำหรับผู้กระทำการนั้น ๆ และโดยหลักแล้ว กฎหมายย่อมใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนโดยเสมอหน้า ไม่เลือกว่าจะเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่

                1.2  ความผิดทางอาญา
             ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบการเทือนต่อสังคม รัฐจึงต้องลงโทษผู้กระทำผิดโดยมีหลักสำคัญคือ
                                   1.2.1  การกระทำนั้นต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดแจ้ง
                                   1.2.2  โทษที่ลงต้องเป็นโทษที่กฎหมายกำหนดไว้
                                   1.2.3  กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลัง

                โทษอาญาที่ใช้ลงโทษแก่ผู้กระทำผิด  มี 5 ประการ คือ
             1. โทษประหารชีวิต
             2. โทษจำคุก  จำเลยจะถูกจองจำไว้ในเรือนจำ การคำนวณระยะเวลาจำคุกจะนับวันเริ่มจำคุกรวมเข้าด้วย และนับเป็น 1 วันเต็ม โดยไม่คำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ถ้าระยะเวลาจำคุกกำหนดเป็นเดือนก็นับ 30 วันเต็ม เป็น 1 เดือน ถ้ากำหนดเป็นปีคำนวณปีปฏิทิน
            3. โทษกักขัง  จำเลยจะถูกกักขังไว้ในสถานที่กักขัง ซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
            4. โทษปรับ จำเลยต้องชำระเงินตามจำนวนที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจำเลยอาจถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับ อย่างไรก็ตามหากศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะไม่ชำระค่าปรับ ศาลอาจสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับไปก่อนก็ได้ โดยการกักขังแทนค่าปรับจะถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน และหากจำเลยเคยถูกควบคุมตัว มาก่อนไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวนหรือชั้นศาล ศาลจะนำวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาหักวันขังด้วย   การกักขังแทนค่าปรับนั้นกฎหมายห้ามมิให้กักขังแทนค่าปรับเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่กรณีศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไป ศาลจะสั่งกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปี แต่ไม่เกินสองปีก็ได้   นอกจากนี้ หากศาลพิพากษาลงโทษปรับไม่เกิน 80,000 บาทและจำเลย (เฉพาะบุคคลธรรมดา) ไม่มีเงินชำระค่าปรับ จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้ เมื่อศาลพิพากษาและเห็นควรก็จะอนุญาตให้จำเลยทำงานบริการสังคมฯ แทนค่าปรับ โดยกำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ถือเป็นหนึ่งวันทำงานต่อไป
               5. โทษริบทรัพย์สิน  หากเป็นทรัพย์ซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบเสียได้ เว้นแต่ทรัพย์เหล่านั้นเป็นทรัพย์ซึ่งผู้อื่นมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง อาจยื่นคำร้องขอคืนต่อศาลได้  ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดไม่ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้ใด ศาลจะสั่งริบทั้งสิ้นและเจ้าของที่แท้จริงก็ไม่อาจร้องขอคืนได้คำพิพากษาของศาลจะทำเป็นหนังสือ ยกเว้นในศาลแขวง คำพิพากษาจะทำด้วยวาจาก็ได้ โดยบันทึกไว้พอได้ใจความจำเลยจะต้องมาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งตามวันเวลาที่ศาลนัด ถ้าจำเลยไม่มาและศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีหรือจงใจไม่มาศาลศาลจะออกหมายจับจำเลย ถ้ายังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกหมาย ศาลอาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นลับหลัง จำเลยได้โดยถือว่าได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว

                1.3  ความรับผิดทางอาญา

                ความรับผิดทางอาญา คือ ผู้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าแม้ไม่ได้กระทำโดยเจตนาก็เป็นความผิด เช่น การกระทำโดยประมาท  การกระทำความผิดลหุโทษ

                ผู้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดจะแก้ตัวว่า ไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่ามีเหตุผลสมควร
                1.4  ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา

                เหตุยกเว้นความผิด  ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิดอาญาเลย เช่น

                   1.4.1  การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
                   1.4.2  ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำ
                   1.4.3  มีกฎหมายประเพณี
                   1.4.4   มีกฎหมายอื่นให้อำนาจกระทำได้

                1.5  เหตุยกเว้นโทษทางอาญา

เหตุยกเว้นโทษทางอาญาที่ถือว่ายังเป็นความผิดอยู่แต่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษทางอาญา

                    1.5.1  การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
                    1.5.2   การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต
                    1.5.3   การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา
                    1.5.4   การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
                    1.5.6   สามี ภริยา กระทำความผิดต่อกันในเรื่องทรัพย์
                      1.5.7  เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำความผิด

                1.6  เหตุลดหย่อนโทษ

               เหตุลดหย่อนโทษ ซึ่งเป็นเหตุที่ศาลอาจลงโทษสถานเบาได้คือ

                    1.6.1   ศาลเชื่อว่าบุคคลนั้นไม่รู้กฎหมาย
                    1.6.2   การกระทำโดยบันดาลโทสะ
                    1.6.3   บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องที่กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมายเลขบันทึก: 310406เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับที่มาเยี่ยม

ขอบคุนสำหรับ ความรู้ดีดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท