ว่าด้วยศักดิ์ศรีวิชาชีพ


เกียรติ ศักดิ์ศรี จรรยาวิชาชีพ

ค้างไว้จากบันทึกก่อนหน้านี้

อยากเอาแว่นขยายมาส่องเรื่องศักดิ์ศรีวิชาชีพทันตกรรมดูครับ

เปิดพจนานุกรมดูคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องดู

ศักดิ, ศักดิ์ น. อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).

ศรี ๑[สี] น. มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่นศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง

ศักดิ์ศรี น. เกียรติศักดิ์ เช่น ประพฤติตนไม่สมศักดิ์ศรี.

เกียรติศักดิ์[เกียดติสัก] น. เกียรติ, เกียรติตามฐานะของแต่ละบุคคล.

เกียรติ, เกียรติ-, เกียรติ์[เกียด, เกียดติ-, เกียน] น. ชื่อเสียง, ความยกย่องนับถือ, ความมีหน้ามีตา. (ส. กีรฺติ; ป. กิตฺติ ว่า คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ).

จรรยา[จัน-] น. ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่ในคณะ เช่น จรรยาแพทย์, นิยมใช้ในทางดี เช่น มีจรรยา หมายความว่า มีความ ประพฤติที่ดี. (ส. จรฺยา; ป. จริยา).

ส่วนในความหมายที่นิยามโดยทันตแพทยสภา

"จรรยาบรรณ แห่งวิชาชีพทันตกรรม" หมายความว่า มาตรฐานความประพฤติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม เพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรี และส่งเสริมชื่อเสียง เกียรติคุณ เกียรติฐานะ ของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ซึ่งเป็นสมาชิกของทันตแพทยสภา

"เกียรติ ศักดิ์แห่งวิชาชีพทันตกรรม" หมายความว่า มาตรฐานความประพฤติที่วัดจากการพิจารณาความเสื่อมเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมของวิชาชีพทันตกรรมเป็นหลัก ทั้งนี้ ถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม เป็นผู้มีเกียรติจะต้องประพฤติให้สมกับความไว้วางใจจากประชาชน และต้องรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณแห่งวิชาชีพ

ข้างล่างนี้เป็นมุมมองเมื่อเกือบร้อยปีก่อน...อ้างจากหนังสือ ผู้ชนะสิบทิศ โดย ยาขอบ

อันศักดิ์นั้นพึงติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เกียรติยศเป็นสิ่งเกิดเมื่อภายหลัง แต่คนใดไม่ระวังเกียรติยศแล้ว ศักดิ์ตัวที่มีอยู่ก็จะเสื่อมโทรมไป

ลองสรุปความดูว่า การจบปริญญาทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตนั้น เปรียบได้กับการ "เกิด" เป็นทันตแพทย์ มี "ศักดิ์" ติดตัว คืออำนาจตามกฎหมายที่จะให้บริการผู้ป่วย

ส่วน เกียรติ เป็นสิ่งที่ ผู้รับบริการ หรือสังคม เป็นผู้มอบให้ มอบให้ทันตแพทย์เป็นรายบุคคล และมอบให้กับวิชาชีพทั้งหมด เกียรติ นี้ปรากฏออกมาผ่าน "ความไว้วางใจ"

อาจกล่าวได้อีกแบบหนึ่งว่า เกียรติ (ในที่นี้น่าจะมีความหมายเดียวกับ ศักดิ์ศรี ด้วย) ของวิชาชีพนั้น ไม่ได้ปรากฎขึ้นโดดๆ เป็นสภาพสัมบูรณ์ หากแต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปรได้ตลอด ขึ้นกับความไว้วางใจที่สังคมมอบให้กับวิชาชีพนั้น

ทันตแพทย์ทำตัวไม่เป็นที่ไว้วางใจ ศักดิ์ศรีของวิชาชีพโดยรวมก็ลดลง

สังคมที่คนไม่สามารถไว้ใจผู้ให้บริการทางสาธารณสุขได้นี่คงจะเป็นสังคมที่มีความสุขไปไม่ได้นะครับ

ส่วนตัว ผมอยากอยู่ในสังคมที่มีทันตแพทย์ที่ทั้งเก่ง และไว้ใจได้

ลองถามตัวเองดูว่า หากคุณต้องการทำฟัน แล้วเลือกคลินิกมาสักแห่งหนึ่ง...คุณไว้ใจทันตแพทย์ ณ คลินิกแห่งนั้นได้แค่ไหน ไว้ใจในประเด็นไหนบ้าง ไม่ไว้ใจในประเด็นไหนบ้าง

นั้นล่ะครับคือภาพสะท้อนศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพทันตกรรมของสังคมบ้านเราในใจของคุณ


หมายเลขบันทึก: 310405เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งเจอมาเมื่อกี๊นี้เอง มันสะเทือนใจจนต้องรีบเอามาแปะ สังเกตหน้าเพจช่วงกลางๆ ฝั่งขวามือนะครับ อีกตัวอย่างที่บอกว่าสังคมมองเราอย่างไร เพจนี้บอกว่าสังคมโลกมองหญิงไทยอย่างไร และ google จัดหมวด "บริการ" ทันตกรรมของไทยไว้กับโฆษณาประเภทใด

ภาพขยาย

นี้คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ไม่ต้องขยายความอะไรกันอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท