beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

วิธีคิดเชิงระบบของ beeman <๔> : การเชื่อมต่อความคิดเป็นเชิงระบบกับการเล่นสมัยเมื่อยังเป็นเด็ก


การเล่นลูกหิน ผมทึกทักเอาเองว่า ทำให้ผมคิดเป็นระบบ และติดเป็นนิสัยมาจนทุกวันนี้

(บริการฟรีอินเตอร์เน็ต ที่ห้องพรีเมียร์เลาจ์ เซ็นทรัลชิดลม-ขอใช้ครั้งหนึ่งได้ 15 นาที คนหนึ่งใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง)

    เมื่อวานผมนึกภาพสมัยตอนเป็นเด็กชั้นนักเรียนชั้นประถม (มีถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ รุ่นสุดท้าย) โรงเรียนเลิก บ่าย ๓ โมง ผมก็จะทำการบ้านเสร็จที่โรงเรียน พอ ๔ โมงก็เดินเท้ากลับบ้าน ๑๕ นาทีก็ถึงบ้าน

    กิจวัตรเมื่อกลับถึงบ้านคือวางกระเป๋า แล้วก็ไปหาเพื่อนเล่น สมัยนั้นก็จะเล่นหนังยาง และลูกหินเป็นหลัก และมีเล่นหงายไพ่การ์ตูนด้วย

   เท่าที่จำได้ การหงายไพ่การ์ตูน (เล่น ๒-๓ คน) ถ้าหงายภาพซ้ำกัน คนที่หงายคนหลังจะชนะได้ไพ่กองนั้นไป

   เล่นหนังยางก็จะ โยนหนังยางเข้าในช่อง ๔ เหลี่ยม แล้วใช้เหรียญบาทไปคาบหนังยางเส้นเดี่ยวหรือกลุ่ม แล้วแต่คนที่อยู่ด้านนอกจะเป็นคนบอก เล่นได้ ๔-๕ คน

   เล่นหนังยางกับไพ่ ผมเล่นไม่ค่อยเก่ง เล่นพอใช้ได้ เสมอตัว ส่วนเล่นลูกหิน ผมคิดว่าเล่นได้ดีทีเดียวแต่ว่าไม่เก่ง ใช้การวางแผน มีการคิดเป็นระบบ (แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่ามีการคิดเป็นระบบ)

   (เท่าที่จำได้) พอวางกระเป๋าแล้วก็ออกไปดูเพื่อนๆ ว่ามีใครมารอเล่นอยู่บ้าง ถ้ามี ๒ คน ก็ชวนกันเล่นได้ เกมที่เล่นเรียกว่า "ตกคืบ" มีผู้เล่น 2-5 คน (อ่านวิธีคิดและวิธีเล่น ได้ที่บันทึกเก่านี้)

    ประเด็นที่จะเล่าต่อคือ วิธีคิดเชิงระบบ ของการเล่นลูกหินแบบ "ตกคืบ" คือ เราต้องคิดอยู่ตลอดเวลาขณะเล่นว่า เราต้องชิงความได้เปรียบ เช่น เรารู้ว่าใครเตี๊ยมแม่น เราก็พยายามหาวิธีที่จะไม่เล่นต่อจากเขา เพราะเขาจะได้สิทธิ์ในการเล่นครั้งต่อไป เราต้องพยายามเล่นหลังเขาและทำให้ลูกหินของเราอยู่ไกลเขามากที่สุด

    เวลาคนที่ได้สิทธิ์การเล่นอีกครั้ง หยอดลูกหินมาหาเรา ที่เรียกว่า "ตกคืบ" คือพอลูกหินของเขาตกมาหาเรา ใกล้เราที่สุดแล้ว เขาจะใช้มือข้างใดข้างหนึ่งกางออกให้ยาวที่สุด (ส่วนมากจะเป็นระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วนาง) เพื่อวัดคืบระหว่างลูกหิน ๒ ลูก ซึ่งคนที่มีนิ้วมือยาวจะได้เปรียบเล็กน้อย (ตรงนี้ผมค่อนข้างได้เปรียบ เพราะคืบมือซ้ายผมยาวกว่ามือขวา กล่าวคือวัดได้ 24 เซนติเมตร ส่วนคืบมือขวาวัดได้ 23 เซนติเมตร)

    ในการเล่น เราก็ต้องเล่นตามกติกาที่ทุกคนได้ตกลงกันไว้ และในการเล่นผมก็ต้องคิดวางแผนการเล่นที่ทำให้เราได้เปรียบ (ตามกติกา) อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการคิดแบบบูรณาการ ตามความแตกต่างของผู้เล่น และตามสถานการณ์ขณะนั้นด้วย

    ผมทึกทักเอาว่า นี่คือการคิดเชิงระบบ ซึ่งผมได้จากการเล่นตั้งแต่เด็ก และติดตัวซ่อนเป็นความรู้ฝังลึกอยู่ในตัว ไม่ยึดติดกับกรอบระเบียบอะไรอย่างเคร่งครัด มีความยืดหยุ่นพอสมควร

    การที่ผมคิดเพื่อให้ได้เปรียบเพื่อนตลอดเวลา ทำให้ผม "กิน" ลูกหินของเพื่อนมาเต็มกระเป่า และนำไปขายเพื่อน (ที่เล่นด้วยกัน) 5 ลูก 25 สตางค์ พอเล่นได้มากๆ เข้า (มีลูกหินที่เล่นได้กว่า 100 ลูก) มันก็เหมือนเป็นการสร้างอุปนิสัยติดพนันเล็กๆ  และเราเริ่มตกเป็นทาสมัน

    สมัยนั้นที่บ้านผมเช่าบ้านอาอยู่ บริเวณนั้นเป็นห้องเช่าประมาณ 10 ห้อง ที่ห้องเช่าห้องหนึ่ง เปิดบ่อน "น้ำเต้าปูปลา" ผมก็ไปนั่งเล่นด้วย เอาสตางค์ที่เก็บสะสมจากการขายลูกหิน ประมาณ 10 บาท ไปเล่น ครั้งแรกๆ ก็เล่นทีละสลึง ห้าสิบสตางค์

    ตอนเล่นลูกหินเราเล่นได้ เพราะเรามีความชำนาญในการเล่น แต่มาเล่นพนันอย่างอื่นๆ เราเล่นเสียเป็นส่วนใหญ่เพราะ "เจ้ามือ" เขาเป็นมืออาชีพและมีความชำนาญกว่า พอไปเล่นบ่อยๆ เงินที่เก็บสะสมเริ่มร่อยหรอไปทุกที

    วันหนึ่ง (ตอนเรียนอยู่มศ.๒) ก็มานั่งคิด ถามตัวเองว่า

  1. ไปเล่นพนันทำไม ตอบว่า อยากได้สตางค์ของเขา
  2. ถามว่า แล้วได้ไหม ตอบว่า ได้น้อยกว่าเสีย
  3. ถามว่า แล้วไปเล่นทำไม มันไม่ดีแก่ตัวเรา ทรัพย์ที่เก็บออมไว้ก็ย่อยยับ มันเป็นทางแห่งความเสื่อม
  4. ผมคิดต่อไปเองว่า คนทั่วไปย่อมชอบการพนันขันต่อ เช่น พูดว่า "มาพนันกันไหม...ฉันว่า..."
  5. แต่ถ้าคนอยู่เหนือการพนัน คือไม่เล่นการพนัน นั่นจะเป็นผลดีกับตัวเอง

    หลังจากวันนั้นแล้ว ผมปวารณาตัวเลยว่า จะไม่เล่นเกมการพนันที่กินเงินทองอีกต่อไป และผมก็ทำได้โดยไม่เล่นการพนันทุกรูปแบบ (ยกเว้นมีซื้อล็อตเตอรี่รัฐบาลบ้าง ปีละ 1 ใบ ในช่วงวันเกิด แต่นี่เว้นการซื้อมาเกือบ 10 ปีแล้ว)

    แต่ผมก็เล่นไพ่เป็นเกือบทุกชนิด เล่นเป็นเกม แต่จะไม่เล่นพนัน ถ้าใครชวนผมเล่นพนัน ผมก็จะปลีกออกจากวง เพราะการเล่นพนันไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ยกเว้นผู้ที่เป็นเจ้าของบ่อนหรือผู้ที่เก็บ "ค่าต๋ง" จากคนที่เล่นได้

    ผมมาวิเคราะห์ในตอนหลังว่า สิ่งแวดล้อมที่ผมอยู่สมัยนั้น แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศของการพนัน การที่เราสามารถหลุดออกจากวงโคจรของการพนันได้ เพราะมีการคิดเป็นระบบ และสอนตัวเองจากการคิดเป็นระบบนี่เอง

   เมื่อผมมีลูก ผมจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่พาลูกเข้าไปในสิ่งแวดล้อมที่เป็นการพนัน และจะสังเกตพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของลูกด้วย ถ้าเป็นไปได้ก็จะให้จดบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งจะมองเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายในนั้นด้วย...ขอจบบันทึกเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ

beeman by Apinya

มนุษย์ผึ้งมหัศจรรย์  
神奇的蜂爷
  
(shen2  qi2  de1  feng1  ye2)


หมายเลขบันทึก: 309896เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2009 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์เขียนยังไม่เสร็จไช่ไหมครับ

  • ถูกต้องแล้วครับ เวลา net หมด
  • ที่เขียนสมบูรณ์ต้องประทับตรา beeman ครับ..อิอิ
  • แล้วจะเขียนต่อวันนี้ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท