ปริญญาเอก...สอนอะไรให้กับเรา


ใกล้ถึงวันลอยกระทงอีกครั้ง ทำให้ระลึกขึ้นมาได้ว่า กลับมาเมืองไทยเกือบจะครบ 4 ปีเต็มแล้ว รู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ยังไม่ทันได้ทำอะไรให้สมกับที่หายไปเรียนต่อทั้งโทและเอกที่ต่างประเทศยาวนาน 6 ปีเลย (เทียบกับ 4 ปีตอนนี้แล้ว 6 ปีตอนนั้นรู้สึกเหมือนเวลามันยืดยาวไม่รู้จบเสียที) ชีวิตช่วงนั้นสักแค่เกือบๆ 20% เท่านั้นที่มีเพื่อครอบครัวและตัวเองจริงๆ นอกนั้นกว่า 80% จะใช้เพื่อการศึกษาทั้งนั้น ทำแล็บมากกว่าคนที่ทำปริญญาเอกด้วยกันเป็นสามเท่าได้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นทั้งโชคดีและโชคร้ายของเรา ที่กว่าจะเรียนรู้ถึงวิธีการเรียนของเขา เราก็ยอมทำงานให้อาจารย์ไปมากมายหลายอย่าง เป็นทั้งเลขา ทั้งผู้ช่วย กว่าจะรู้ว่าอาจารย์ใช้ประโยชน์จากความเป็นคนชอบทำงาน ความมีระเบียบเรียบร้อย ความช่างค้นคว้า ความทุ่มเท ความบ้างานของเราก็เมื่อเวลาล่วงเลยจนเราทนไม่ไหวนั่นเอง ยังจำได้ไม่ลืมที่ขอยื่นคำขาดกับอาจารย์ว่า จะขอลงมือเขียนอย่างเดียวไม่ทำแล็บอะไรอีกแล้ว และหากอาจารย์ไม่ยอมอ่านและตรวจให้เสร็จในเวลาที่เรากำหนด ก็จะขอกลับบ้านโดยไม่รับใบปริญญาใดๆแล้ว เพราะรู้ว่า ใบปริญญาไม่ใช่จุดหมายของชีวิตเรา ไม่ใช่เครื่องมือเอามาส่งเสริมอนาคตหน้าที่การงานแต่อย่างใด สิ่งที่ได้รับมาและอยู่ในตัวเราแล้วนั้น สามารถเอามาชดใช้ให้บ้านเมืองไทยได้อยู่แล้วแน่นอน  

และนับว่าเป็นโชคดีอีกเรื่องที่อาจารย์ที่ปรึกษารอง ท่านเกษียณอายุราชการ และเห็นด้วยว่าเราทำงานมากจนเกินพอแล้ว ควรจะใช้เวลาขัดเกลาวิทยานิพนธ์ให้เสร็จสิ้น เพื่อจะได้จบกลับบ้านได้แล้ว (ไม่ต้องรอขอต่อเวลาไปอีกหลายเดือนตามสิทธิที่ทำได้ ตามที่อาจารย์หลักอยากให้เป็น) ท่านตรวจสอบแก้ไข พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเราอย่างเต็มที่จนเหมือนพ่ออีกคน ประทับใจมากๆที่แม้ในยามที่ท่านป่วยไปไหนมาไหนลำบาก ท่านก็ยังใช้เวลาตรวจวิทยานิพนธ์ให้เรา ให้ไปหาที่บ้าน เลี้ยงขนมเลี้ยงอาหารอีกด้วย ภรรยาของท่านก็น่ารัก ดูแลเอาใจใส่เราเช่นเดียวกัน เขียนบันทึก ครูที่เป็นครู เป็นแบบอย่างทางคุณธรรมจะประทับอยู่ในใจเราจริงๆ เมื่อนึกถึง"ครู" ทั้งสองท่านและอ่านวันนี้ก็บอกได้ว่า เขียนได้สมใจที่อยากเขียนแล้ว

สิ่งที่นอกเหนือจากวิทยาการ วิชาความรู้แล้ว ปริญญาเอกของเรา ก็ทำให้ได้เรียนรู้วิถีปฏิบัติของคนเป็น "ครู"จากอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองท่าน เรียกว่าได้ทั้ง Do และ Don't ให้เห็นกันชัดๆทีเดียว

กลับมาถึงชื่อบันทึกที่ตั้งไว้ เขียนเพราะช่วงนี้ได้อ่านหนังสือที่คนจบปริญญาเอก 2-3 ท่านเขียน (คนละเรื่อง คนละแนว ต่างๆกัน) ชอบความคิดที่เราได้หลังจากการอ่านหนังสือเหล่านั้น ปกติไม่ได้เป็นคนนับถือศรัทธาใครที่ปริญญาอยู่แล้ว และยิ่งตัวเองก็ผ่านประสบการณ์ของการได้ปริญญานี้มาแล้ว บอกได้ว่าไม่ใช่เครื่องวัดความ "พิเศษ"หรือ"เก่ง"แต่อย่างใด ใครที่ตั้งใจจริงและมีโอกาสก็จบปริญญาเอกได้ทั้งนั้น ปริญญาเอกไม่ได้สอนให้คนเป็นคนน่านับถือ น่าศรัทธาหรือเก่งกาจรู้อะไรเหนือใครแน่นอน ขอยืนยัน (สมัยก่อนมีอคติกับคนจบปริญญาเอกที่สอนอะไร พูดอะไรให้เราฟังไม่รู้เรื่องมาก่อนด้วยซ้ำ ตั้งใจไว้เสมอว่าจะไม่ทำอย่างนั้น) 

จากการอ่านหนังสือของ 2-3 ท่านที่ว่านั้น ทำให้คิดได้แล้วว่า สำหรับปริญญาเอกที่ตัวเองมี สอนให้รู้ว่า เราต้องสามารถทำให้คนอื่นๆอ่านความคิดของเรา ฟังความเห็นของเราแล้ว เขาเกิดความคิด ความอ่านของตัวเองที่เกิดประโยชน์ต่อๆไป (เหมือนที่เราได้จากการอ่านหนังสือ 2-3 ท่านที่กล่าวถึงนั่นเอง) เกิดความปิติขึ้นมาลึกๆว่า พอจะมองเห็นแล้วว่าเราควรพยายามทำอะไร

ต้องขอสารภาพว่า คิดเสมอๆว่าเรายังตอบแทนบุญคุณคนไทยในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาล (จริงๆแล้ว ทุนไทยครึ่ง ออสเตรเลียครึ่ง)ได้ไม่เต็มที่ เพราะมัวแต่ไปยึดติดกับการคิดจะใช้สิ่งที่เรียนรู้มาให้เกิดประโยชน์ การทำหน้าที่การงานของตัวเองให้เต็มที่ ก็ยังดูเหมือนจะเป็นประโยชน์เฉพาะคนส่วนน้อย แต่การจะทำอะไรที่มีประโยชน์กว่านี้ ถ้าเป็นแบบที่ใครๆยึดถือกันว่า ต้องเป็นครู เป็นอาจารย์ ก็มองยังไม่เห็นช่องทางว่า จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะระบบราชการที่เป็นอยู่ช่างขัดแย้งกับการใช้ประโยชน์คนเหลือเกิน อยากหาเวลาเขียนตำราในสิ่งที่อยากเขียน ก็เป็นไปไม่ได้เพราะมีงานอื่นๆที่ต้องรับผิดชอบมากเกินพอแล้ว (แต่ก็ยังไม่คิดว่าหมดหนทางนะคะ มองหาช่องทางอยู่ แต่สิ่งที่อยากเขียนก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เอาไปขออะไรไม่ได้อีกแหละ) ถ้าจะรับข้อเสนอไปเป็นอาจารย์ที่อื่นๆ ก็ยังไม่แน่ใจว่า เราจะได้ทำสิ่งที่อยากทำหรือไม่ และจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมได้กว้างขวางกว่าที่ทำอยู่จริงหรือเปล่า ประโยชน์ตนนั้นคงได้แน่ๆแต่ไม่รู้ว่าประโยชน์ส่วนรวมอย่างที่คิดว่าได้ทำเต็มที่อยู่นี้จะได้ทำหรือไม่

สำหรับตัวเองบอกได้ว่า ปริญญาเอกไม่ได้สอนให้มองหาทางเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งเอาเสียเลย โดยเฉพาะในระบบราชการบ้านเรา เพราะเมื่อย้อนดูเอกสารแล้วก็พบว่า เราเป็นนักเทคนิคการแพทย์ระดับ 6 มาตั้งแต่ปี 2537 กลับมาเมืองไทยจนถึงบัดนี้ก็เป็นเวลารวมแล้ว 15 ปีที่ไม่ได้เลื่อนไปไหนเลย เพราะตามระบบราชการปัจจุบัน เราต้องขวนขวายมองหาช่องทาง เงื่อนไขในการขอเลื่อนด้วยตัวเอง นึกไม่ออกเลยว่าเรามีงานชนิดไหนที่ทำมาในช่วง 4 ปีนี้ที่จะเอาไปใช้เพื่อการนี้ได้ เพราะงานที่ทำทั้งหลายนั้นเป็นงานเล็กน้อยที่ไม่มีใครอยากเสียเวลาทำหรือเป็นงานช่วยคนอื่นเสียมากกว่า แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรนะคะ เพราะเงินเดือนก็ยังคงเลื่อนไปได้อยู่ และยังถือว่าพอใช้ตามสมควรแม้จะค่อนข้างตึงมากเมื่อเรามีภาระมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้คิดก็คือ รู้สึกว่าเราไม่มีโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์ให้เต็มศักยภาพของเราในสภาวะที่เป็นอยู่ เพราะภาระที่ต้องรับผิดชอบนั้นกินเวลาที่มีอยู่เกือบทั้งหมดแล้ว 

แต่มาวันนี้ คิดได้แล้วค่ะว่า การที่เราเขียนสิ่งที่เราคิด แล้วทำให้คนอื่นเกิดความคิด ความบันดาลใจที่จะทำประโยชน์ต่อๆไปใน GotoKnow ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ประโยชน์อื่นๆที่เราจะทำได้นั้น ก็คงต้องแล้วแต่จังหวะและโอกาสที่ผ่านเข้ามา และการเขียนแบบที่ได้อ่านจากท่านๆ ดร.ทั้งหลายที่ช่วยให้คิดได้นี้ ก็จะเป็นเป้าหมายที่จะพยายามฝึกฝนตนเอง ให้ใช้สมองสร้างงานแบบนั้นบ้างในอนาคตค่ะ  

 

หมายเลขบันทึก: 308091เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2009 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

กะว่า จะเรียน ป.เอกเหมือน กัน เมื่อมีวาสนา

จำได้ เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว มี คนให้ทุนไปเรียนแคนนาดา

ไม่น่า say no เลย เรา แต่ก็ดีใจ

เพราะ เราแค่้อยากเรียน อยากรู้ อยากทำวิจัย ตีพิมพ์

ไม่อยากได้ กระดาษใดๆ

แต่เอ งานวิจัย ตีพิมพ์ แบบ inter ชิ้นแรก จะเริ่มเมื่อไร

ผมคงไม่รอให้ ได้ ป.เอก แล้วท ำแน่ เริ่ม ภายใน 3 เดือน น่ะ นายเอก อย่าอู้

สวัสดีครับพี่โอ๋

วันนี้นอนไม่ค่อยหลับ เลยเปิด net (gotoknow) หาอะไรอ่าน (ไม่ได้แปลว่าอ่านแล้วจะหลับนะครับ แปลว่าไหนๆสมองยังทำงาน ก็หาอาหารดีๆปรนเปรอให้คุ้ม) พอดีโจทย์ข้อนี้น่าสนใจ และน่ารวบรวมคำตอบ หรือแรงสะท้อนไว้เหมือนกัน

"เรียน (ป.เอก) ไปเพื่ออะไร?"

ถาม "วิธีเรียน" ก็คงจะมีคนตอบได้เยอะ หลากหลาย แต่อย่างที่เราทราบกันว่า "วิธี" นั้นตามมาทีหลัง เราต้องมี "เป้าหมาย" ก่อน วิธีค่อยตามมา เหมือนแพทยศาสตรศึกษา OLE คือต้องมี objectives ก่อน เราถึงจะได้วางแผนทำ learning experiences ได้ว่าควรจะทำยังไง เรียนยังไง

การเรียนรู้อาจจะมีสามยุค คือ Do what ทำอะไรกัน, Do how ทำยังไงกัน, และ Do why มันมีที่มาที่ไปยังไงถึงได้มาทำ ก็เคยมีคนถามเยอะนะครับว่าเรียน ป.เอกแล้วได้อะไรขึ้นมา กลับมาทำอะไรมั่ง ไม่เห็นมันทำอะไรเลย ฯลฯ แต่ผมใคร่ครวญหาคำตอบดูแล้ว ป.เอก เป็นการเรียนลงลึกภายในตัวเราเอง (มากกว่าลงลึกไปใน field ใด field หนึ่งอย่างที่อาจจะมีหลายๆคนเข้าใจ)

ใน methodology ไม่ว่าจะทาง basic sciences พวกทำแลป ทดลอง หรือจะเป็นงานวิจัยทาสังคมศาสตร์ มนุษยวิทยา ป.เอกทางกฏหมาย แล้ว ผมเห็นด้วยว่าถ้าคนทำ "อึด" พอ มันต้องจบลงจนได้ "อึด" นี่คือ วิริยะ แต่ความอึดไม่ใช่แรงผลักของคนทำ ป.เอก มันออกไปทาง "คุณสมบัติ" มากกว่า

ในโพชฌงค์ 7 ก่อนจะถึง "วิริยะ" ต้องผ่าน "สติ ธัมมะวิจัย" ก่อน

มีสติ ใคร่ครวญ รู้ตัว จนเกิดฉันทาคติ มีการ "บ่ม" สัมมาทิฎฐิให้ดีก่อน ก่อนที่จะ "ทนทู่ซี้" ทำอะไรไป 4-5-6-7-8 ปี ดังนั้นเราอาจจะเห็นคนจบเอกหลากหลายรูปแบบทางภายนอก แต่ผมคิดว่าเราอาจจะเห็น "การเปลี่ยนภายใน" ของบางคนแล้ว จะเข้าใจว่าเขาเรียนเพื่ออะไร ทำอะไร และน่าจะกลายเป็นทรัพยากรแบบใด ส่วนพวก "ทนทู่ซี้" จนจบ นั่นเป็นเพราะ "ระบบประเมิน" ที่ไม่ได้ประเมิน "ปรัชญา" (ทั้งๆที่สำหรับ doctor of philosophy degree) แต่ดันไปประเมินแค่ methodo และ output มองหาแต่ publications แต่ไม่ได้มองที่ character development

กระบวนการที่สำคัญที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าเป็นคำถาม (ที่มักจะผุด) ในใจของนักเรียน ป.เอกว่า เราเกิดมาทำอะไร เรากำลังทำอะไร และใครได้อะไรจากสิ่งที่เรากำลังทำ อยู่บ้าง และคำถามนี้ไม่ได้หยุดแค่ตอนได้รับปริญญา คำถามทั้งสามคำถามกลายเป็นคำถามประจำวัน อยู่กับปัจจุบัน และเข้าใจกับตัวตนของตนเองมากขึ้นๆ เกิดฉันทาคติ และสัมมาทิฎฐิในหน้าที่การงานความรับผิดชอบ และเกิด "ความรัก" การเรียนรู้ (philos, sophia) เข้าไปในเนื้อตัว

ถ้าเราคง "แรงผลัก" หรือที่มาของสิ่งที่เราได้่ทำ พยายามทำ เอาไว้ ไม่ให้สูญหายไปหลงเหลือแต่ advanced & very deep knowledge (ที่จะกลายเป็นล้าหลัง obsolete ไปในเวลาไม่กี่ปี) เราจึงจะ "รักการเรียนรู้" ไปตลอดทั้งชีวิต เพราะ ป.เอก นั้น สามารถกลายเป็น mental model เลยไปจากระดับ personal mastery ไปได้อีกระดับหนึ่ง

เรื่องพวกนี้ เอาเข้าจริงๆ ต้องมานั่งจับเข่าดูดาว ฟังเสียงลม ชมใบไม้ด้วยกันใต้เงาจันทร์ มันถึงจะเพียงพอนะนี่นะ

ขอบคุณที่จุดประกาย และทำให้คืนที่นอนไม่หลับ มีความหมาย ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์โอ๋

ตามอาจารย์หมอสกลมาติดๆ เพราะตื่นแล้วนอนไม่หลับ มาหาอะไรอ่านเช่นกัน พบข้อคิดอาจารย์โอ๋ ทำให้เข้าใจคนจบ ปริญญาเอกมากขึ้น บางคนจบมาแล้วมองดูแปลกๆ บางคนจบมาแล้ว ทำงานหนักจนไม่มีเวลาทำงานเพื่อตัวเอง  พี่เห็นคนแบบอาจารย์โอ๋มากมายในที่ทำงาน คือทำแต่งาน แต่ไม่ได้สนใจเก็บมาเขียนเพื่อประเมินเลื่อนระดับ

 

ถ้าดูลักษณะงานของอาจารย์โอ๋ พี่ว่าเขียนคู่มือการทำงานที่อาจารย์โอ๋ทำ เพื่อให้น้องที่ทำงานด้วยกันมาอ่าน เพื่อจะทำLab ได้ดีเหมือนเราและลองทำวิจัย R2R สักเรื่องเกี่ยวกับงานที่ทำ ก็ขอผลงานทางวิชาการได้แล้วค่ะ

 

ในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ข้าราชการเราก็จะปรับจากระบบซี เป็นระบบแท่ง ก็จะทำให้เราเข้าสู่ระบบใหม่ได้โดยได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เราทำบ้าง อาจไม่มากนัก แต่ก็อาจเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้เราอยู่ในระบบราชการต่อไปได้ โดยไม่เหนื่อยจนเกินไปค่ะ

 

คนเก่งแบบอาจารย์โอ๋ พี่ว่าทำได้แน่นอนค่ะ........

สวัสดีครับพี่โอ๋ ผมนั่งทำงาน การศึกษาอิสระ (IS) สำหรับที่จะจบ ป.โท อยู่ครับ แวะเข้ามาหาสาระและอาหารสมองจาก G2K ก็ได้เจอกับสิ่งที่น่าอ่านที่พี่โอ่เขียนไว้ครับ แล้วจะแวะมาอ่านต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • เข้ามาทำความรู้จัก ค่ะ
  • เขียนบันทึกและเม้นท์ไม่เก่งนะคะ
  • แต่พูดมากและหัวเราะเก่ง อิอิ
  • รถคันน้ำเงินของพี่บ่าววอญ่าค่ะ

         

ชอบมากค่ะ ที่คุณโอ๋เขียนว่า

"คนอื่นๆอ่านความคิดของเรา ฟังความเห็นของเราแล้ว เขาเกิดความคิด ความอ่านของตัวเองที่เกิดประโยชน์ต่อๆไป"

การเรียนปริญญาเอกทำให้คิดลึกซึ้งและคิดกว้างเผื่อคนอื่นๆได้ค่ะ สามารถแนะนำ หรือจุดประกายผู้อื่นทางการคิดได้ ซึ่งจำเป็นสำหรับทุกอาชีพค่ะ

ขอเสนอว่าคนที่จะเรียนปริญญาเอกได้ไม่จำเป็นต้องเก่งมายมายอะไร แต่ควรมีใจยอมรับความรู้และศรัทธาในการศึกษาเพื่อพัฒนาตนและสังคมค่ะ

อาจารย์ที่ปรึกษาก็สำคัญมากในการเรียนปริญญาเอกค่ะ โดยเฉพาะชาวต่างชาติต้องสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา อะไรคับข้องใจต้องหาทางออกร่วมกัน ไม่อย่างการเรียนจะมีแต่อุปสรรค

หัวข้อวิทยานิพนธ์ต้องได้อาจารย์ที่เข้าใจ เชี่ยวชาญ และต้องเป็นเรื่องที่เรามีความสนใจเป็นทุนไม่ใช่ทำเพื่อสนองอาจารย์ ไม่อย่างนั้นจะทุกข์สาหัสในการทำเรื่องที่เราไม่สนใจค่ะ

ขอบพระคุณที่กรุณาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ค่ะ

Can we learn to be POR AKE out side of any institute? ( mean knowledge not certificate or any paper hanging on the wall )

yes, you can.

Try having children, then bring them up and understand them. You'll get a Ph.D. of being-a-human. :)

ขอบคุณอ.Phoenix มากๆค่ะที่มาช่วยตอบคุณ terachai chaorattana เป็นคำตอบที่ถูกใจและตรงใจมากๆ เพราะสำหรับพี่โอ๋แล้ว การเลี้ยงลูกชาย 3 คนแบบที่เราได้เรียนรู้การวางตัว วางจังหวะตัวเองให้ถูก ทำหน้าที่ตัวเองให้พอดีๆ ปล่อยให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง แต่รู้จักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้หน้าที่ มีวินัยในตัวเองนี่ ให้ความภูมิใจ อิ่มใจมากกว่าจบปริญญาเอกด้วยซ้ำค่ะ

ตอนที่ต้องไปเรียนต่อ ยื่นคำขาดกับคุณสามีเลยว่า จะไม่ไปคนเดียวแน่นอน ถ้าต้องไปก็ขอเอาลูกทั้งสามคนไปด้วย เพราะตั้งใจไว้ตั้งแต่มีลูกว่าจะขออยู่ใกล้ๆ เรียนรู้ดูแลความเป็นไปของลูกตอนที่เขาต้องการเรา ตั้งใจไว้เลยว่า 10 ขวบปีแรกของลูก เราต้องใกล้ชิดเขาตลอด เป็นเวลาที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอมเลยล่ะค่ะ และมาถึงวันนี้ยืนยันได้จริงๆว่า ตัวเองคิดไม่ผิดเลยค่ะ บอกใครๆที่มีลูกเล็กๆเสมอว่า เวลากับลูกเล็กนี่สำคัญที่สุดไม่ควรแลกกับอะไรทั้งนั้น

คุณ นาย ศุภรักษ์ ศุภเอม ดูท่าทางจะเป็นคนพันธุ์ขวางโลกคล้ายๆกันนะคะ ทำอะไรก็ได้ตามจังหวะชีวิตของเราให้ดีที่สุดนั่นแหละค่ะ แล้วเราก็จะบอกตัวเองได้อย่างสบายใจว่าเราใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้ว

ดีใจที่อ.Phoenix นอนไม่หลับนะคะ ความเห็นยาวเกือบๆเท่าบันทึกพี่โอ๋เลย อ่านแล้วซึ้งจริงๆ จะบอกว่าตามคำจำกัดความที่อาจารย์ว่า พี่โอ๋จะบอกว่าตัวเองรู้สึกว่าเป็นคน"รักการเรียนรู้"มาแต่เด็กๆเลยนะคะ แต่เป็นคนไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรในชีวิต เด็กๆก็ทำตามผู้ใหญ่บอกให้เดิน ไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากทำอะไร ขนาดโตๆนี่ก็ไปเรียนต่อเพราะคุณสามีบอกให้ไป รู้ว่าตัวเองทำได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าต้องทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง นึกๆแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่แปลกประหลาดมานานแล้วค่ะ รู้สึกเป็นคนที่อะไรๆมันเข้ามาหาเราเองทั้งนั้น ถึงเวลาก็ต้องทำนั่นทำนี่โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนวางแผนสักเท่าไหร่ คิดแต่เรื่องไกลๆตัวทั้งนั้น สิ่งที่อยากทำคือเนรมิตให้คนทั้งโลกรักกัน รักทุกอย่างรอบๆตัว มีอะไรก็แบ่งๆกัน ฝันเฟื่องทั้งนั้นเลยค่ะ พูดแล้วก็ไม่คิดว่าใครจะเข้าใจเราหรอกนะคะ แค่รู้สึกอยากเล่าให้อาจารย์ฟังเท่านั้นเอง 

ขอบคุณพี่ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช ที่แนะนำนะคะ โอ๋ไม่ชอบระบบนี้น่ะค่ะ เลยไม่คิดจะทำอะไรตามระบบ อยากรู้เหมือนกันค่ะว่า ถ้าเราทำงานที่เราทำได้ทั้งหลายไปให้เต็มที่ และทำเพื่อราชการจริงๆโดยไม่หาอะไรให้ตัวเองเลยนี่จะเป็นยังไง (ตามประสาคนขวางโลกเล็กๆค่ะ)

พี่โอ๋ก็ติดตามน้อง nobita นายแบบเสื้อ GotoKnow ของพี่เสมอค่ะ (อ่านในอนุทินเป็นประจำ) เท่าที่ติดตามอ่านมาเสมอๆบอกได้ว่า น้อง nobita ตั้งใจทำอะไรก็น่าจะสำเร็จค่ะ

อ่านในบันทึกน้องนัทเรื่องคุณ มนัสนันท์ แล้วค่ะ ได้อ่านไปยิ้มไปสนุกเชียว

ขอบคุณ อาจารย์ อ้อม ฐิติรัตน์ สุวรรณสม มากค่ะที่มาแลกเปลี่ยนเอาไว้ ใครทำกำลังวางแผนจะไปเรียนเอกต่อคงได้ประโยชน์ไปด้วย พี่โอ๋นึกว่าอาจารย์อ้อมกลับมาแล้วเสียอีก ขอให้จบกลับมาไวๆนะคะ เมืองไทยต้องการคนดีมีความคิด ที่จะมาช่วยกันสร้างความรู้ ความคิดให้กันและกันต่อๆไปอีกเยอะเลยค่ะ

  • ตะลุยอ่านบันทึกนี้ ...และอ่านความเห้นของทุกคน 
  • ตระหนักในไมตรีจิตและมิตรภาพของคน gotoknow
  • ได้ของคิด เรื่องการเรียนป.เอก อยากให้ลูกมาอ่าน  และได้ทบทวนตัวเองด้วยเรื่องการเรียนต่อจากรุ่นพี่ ๆ ค่ะ
  • คุณโอ๋..มีเสน่ห์ตรงที่..มีจิตใจสะอาด..รักคนทั้งโลกเลย..
  • ขอบคุณที่ให้ได้เรียนรู้จ้า.. 

 

ปริญญาเอกหรือการเรียนรู้อื่นๆนั้นสอนอะไรได้หรือไม่นั้นไม่เป็นประมาณเท่าไร..

อยู่ที่ว่า..เราเรียนเพื่ออะไร..นี่สิสำคัญขอรับอาจารย์..

ทุกอย่างจะมีคุณหรือไร้ค่า..

คงต้องขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเห็นค่าและคุณในสิ่งนั้นมากน้อยเพียงใด..

สาธุกับบันทึกดีๆม่สาระขอรับอาจารย์..

แล้วจะมาเยี่ยมใหม่..

สวัสดีค่ะ คุณโอ๋

 

  • ครูอ้อย แอบมาเก็บความรู้สึก ดีดี กำลังใจไปแล้วค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท