ประสบการณ์ (สอน) และชีวิตครบรสที่เวียงจันทร์ 6 วัน 5 คืน ตอนที่ 5 -บรรยากาศการเรียนการสอน


นักศึกษาที่เรียนมีความสนใจในการเรียนมาก แม้ว่าภาษาจะเป็นอุปสรรคบ้าง

นักศึกษาลาวที่ได้เข้ามาเรียนในโครงการยกระดับนี้เป็นกลุ่มที่เคยทำงานในโรงพยาบาลมาก่อน (แต่ไม่ใช่วุฒิปริญญาตรี) เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้นโดยความช่วยเหลือของรัฐบาลไทย ทางรัฐบาลลาวได้คัดเลือกโดยการสอบแข่งขันระหว่างเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลของหัวเมืองต่างๆ และโรงพยาบาลในเวียงจันทร์ คนที่ได้คะแนนสูงและเหมาะสมจะได้เข้าเรียนในโครงการนี้เป็นเวลา 2 ปี ใน 2 ปีนี้ นักศึกษาจะได้เรียนวิชาพื้นฐานที่ทางลาวมีอาจารย์และสามารถสอนเองได้ ส่วนวิชาชีพนั้นจะมีอาจารย์จากคณะผลัดเปลี่ยนกันไปสอนทีละ 2 คน เมื่อสอนจนครบทุกสาขาที่เกี่ยวข้องนักศึกษาทั้ง 24 คน จะมาฝึกงานที่คณะเป็นเวลาเดือนกว่าๆ

ดังนั้นนักศึกษากลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กจบ ม. ปลาย แต่เป็นกลุ่มที่มีอายุ เป็นคนที่ทำงานมาก่อน ข้อดีของการสอนกลุ่มนี้ไม่ว่าทั้งไทย(ที่เคยสอน) หรือลาวก็ตามแต่ จะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ ตั้งใจเรียน พยายามเข้าใจสิ่งที่เราสอน (แม้ว่าจะเข้าใจช้าบ้าง) ให้ความสนใจซักถามระหว่างสอนและทำ lab เพราะคนที่เคยทำงานมาแล้วรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร คำถามของกลุ่มนี้มักเอาไปใช้ในงานประจำจริงๆ ซึ่งบางทีเราเตรียมสอนไปก็นึกไม่ถึงเช่นกัน

เนื่องจากไปสอนสองคน เมื่อคนหนึ่งสอน อีกคนก็จะเตรียม lab ก่อนลงมือทำ lab จะอธิบายให้ฟังว่าเติมอะไร เท่าไหร่ ตามสไลด์ที่เตรียมมา แต่เวลาถามกลับบางทีเค้าตามไม่ทัน เราต้องเพิ่มการอธิบายบนกระดานเข้าไปด้วย เวลาทำlab ก็จะรอไปพร้อมๆ กัน เพราะถ้าปล่อยให้ทำเอง เราจะตามแก้ปัญหาไม่ทัน เพราะบางทีอยากให้เค้าเรียนรู้ไปทีละขั้นว่าสิ่งที่เติมลงไปแต่ละอย่างนั้นจะทำให้เกิดอะไรขึ้น ต้องอธิบายไปทีละขั้น แต่เหมือนกับการเรียนการสอนในบ้านเราที่มีคนหัวเร็ว หัวช้า กลุ่มที่เข้าใจได้เร็วจะไปก่อน กลุ่มช้าจะตามหลัง แต่นักศึกษาทั้งชั้นดูรักใคร่กลมเกลียวกันดี

ส่วนเรื่องภาษาในการบรรยายนั้นใช้ภาษาไทยกลาง ส่วนสไลด์ใช้ทั้งไทยทั้งอังกฤษเป็นชุดเดียวกับที่ใช้สอนนักศึกษาที่่เมืองไทย เพียงแต่ว่าสไลด์ไหนที่ไม่ต้องการเน้นก็ข้ามไป เนื้อหาที่บรรยายก็ตัดออกไปประมาณครึ่ง เพราะเวลามีน้อย และหลังสอนเสร็จก็ต้องสอบด้วยเพื่อจบหัวข้อนั้นๆ ก่อนเริ่มเรื่องใหม่  แต่ปัญหาที่พบคืือ การสอบ เนื่องจากสอบเป็นภาษาไทยทั้งหมด ทำให้มีปัญหาเรื่องภาษาพอสมควร บางทีสอบ 10 ข้อ ใช้เวลาเกือบ   45 นาที แถมบางข้อที่คำถามซับซ้อนหน่อย เราพยายามอธิบายเพิ่มในคำถาม ยิ่งทำให้งงไปใหญ่ ดังนั้นคำถามที่เหมาะสมสำหรับการเรียนในช่วงเวลาสั้นๆ ควรเป็นคำถามง่ายๆ ตรงๆ ตัวอย่างคำถามที่เป็นปัญหาเช่น เราถามว่า

แมกนีเซียมในร่างกายลดลงได้จากสาเหตุใด? คำตอบข้อ ก,ข,ค คงอ่านเข้าใจกัน ไม่มีคำถาม แต่พอถึงข้อ ง. ภาวะการให้นมบุตร - คนโน้นยกมือ คนนี้ยกมือ เราก็งงว่างงตรงไหนไ่ม่ได้พิมพ์อะไรผิดนี่นา แต่นักศึกษาอ่านแล้วงงว่าให้นมบูด นมเสียทำไมคะ เราต้องอธิบายว่าไม่ใช่นมบูด แต่ให้นมลูก เนื่องจากภาษาลาวไ่ม่มี _ตร  ภาษาเีขียนเขียนตามเสียงที่ออก เช่น เดือนพฤษภาคม เขียนว่า พึดสะพา - เราชอบนะ มันสื่อสารง่ายดี 

หรืออีกอย่างเช่น ได้ตัวเลขมา ต้องเอาตัวเลขไปเขียนกราฟ เราเรียกว่าไปเขียนกราฟหรือ plot graph ก็ได้ แต่เค้าจะเรียกว่าเอาไปแต้ม มีครั้งหนึ่งที่นักศึกษาถามว่า ตัวเลขที่ได้ต้องเอาไปแต้มไหม เราบอกว่าไม่ได้เอาไปให้คะแนน ให้แต้มหรอก - กว่าจะนึกออกว่ามันคนละแต้มกัน

เวลาที่ทำ lab เราจะบอกให้ทำตามขั้นตอนที่เขียนไว้ในชีท ให้ถือชีทด้วยเวลาทำ lab บอกให้ดูในชีท - งง แต่บอกบอกให้ดูในบึ้ม - อันนี้เข้าใจ เวลาที่ใ้ห้เอาหลอดทดลองไปวัดค่าด้วยเครื่อง เค้าจะบอกว่าไปแทก

เราเองพอเห็นนักศึกษาให้ความสนใจ ก็พยายามฝึกให้เค้าเขียนรายงานตามแบบฟอร์มที่เราเตรียมให้ พอถึงการวิจารณ์ว่าผลการทดลองของเรามีความน่าเชื่อถือ เค้าเขียนว่า - ผลการทดสอบมีความหน้าเชื่อถือเปิดดูรายงานคร่าวๆ แล้วยังไม่่รู้ว่าจะอ่านออกหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ยังเขียนภาษาไทยไม่ได้

ส่วนเรื่องภาษาอังกฤษที่เราใช้นั้น อาจารย์ที่มานั่งฟังด้วยบอกว่า เค้าก็สอนด้วยศัพท์เทคนิคเหล่านี้เหมือนกันแต่ใช้ภาษาฝรั่งเศสแทน บางคำเราก็งงเช่น  tube- ทิวบ์- หลอดทดลอง เค้าจะออกเสียงว่า ทูบ ซึ่งเป็นคำที่ฝรั่งออกเสียงจริงๆ

พอมาวันท้ายๆ คุ้นเคยกันมากขึ้น นักศึกษาผู้หญิงก็ตามเรื่องครอบครัว มีลูกมีเต้าหรือยัง อายุประมาณเท่าไหร่ เราเป็นคนผอมสูง นักศึกษาเล่าให้ฟังว่า เห็นเราวันแรกคิดว่าคนนี้จะสอนเราได้เหรอ เราฟังแกเล่า ก็รู้สึกดีเหมือนกัน มีคนวิจารณ์เราตรงๆ

นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถามเรามีแฟนไหม เราตอบว่าแฟน "ไม่มี" มีแต่ลูก แกนิ่งไปสักพักแล้วตอบว่า "อ๋อ..แฟนจน"  - คำว่า "มี" ในภาษาลาวแปลว่า รวย

เอาเข้าจริงๆ เราว่า เค้าเข้าใจเรา แต่เรานี่แหละไม่เข้าใจเค้า นี่ขนาดว่าเราเป็นคนอีสานพูดภาษาถิ่นได้ เราเข้าใจเค้าได้เพียงครึ่งหนึ่งมั้ง แต่มันเป็นไปได้เพราะแถบชายแดนเวียงจันทร์รับฟังวิทยุไทย ทีวีไทยกันทั้งนั้น ขนาดหน้าจอโทรศัพท์มือถือของอาจารย์ที่เข้า attend ยังเป็นรูปน้องแพนเค้กเลย แถมแกมาเดินบิ๊กซีขอนแก่นยังมาเห็นต่ายอรทัยด้วย ส่วนอาจารย์อีกคนมีลูกอ่อนตั้งชื่อลูกว่า น้องฝ้าย - แต่ไม่มีใครเรียกน้องฝ้าย ดันเรียกแต่ว่าปอยฝ้าย - แกคงจะเปลี่ยนชื่อลูกเร็วๆ นี้

การไปสอนครั้งนี้แม้ว่าจะโชคร้ายเพราะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ไม่มีเวลาไปเที่ยวดูสถานที่สำคัญๆ - ถึงแม้ว่าจะเคยดูแล้วก็ตาม แต่เป็นทริปที่คุ้มค่าที่เราได้สอนเต็มที่ ทั้งบรรยาย ทั้งปฏิบัติการ สอนตั้งแต่แปดโมงครึ่งถึงห้าโมงเย็น นักศึกษาตั้งใจเรียน อยู่กับเราจนเลิก ก่อนกลับแต่ละวันเราก็บอกเค้ากลับบ้านไปเย็นนี้ทานข้าวเย็นเสร็จเอาชีทออกมาอ่านนะ พรุ่งนี้จะสอบ เค้าก็อ่าน เพราะเค้ารู้ว่าคำตอบในชีทมีสองที่ที่ไม่เหมือนกัน เค้าแย้งเราได้ บางคนพาเราไปส่งที่โรงแรมวันที่รถววส.ไม่อยู่ อีกคนเอาก๋วยจั๊บมาให้สองถุง พอถึงโรงแรมเราเทรวมกันสองถุงได้หม้อเล็กๆ แบ่งกันกินสองคนอิ่ม บางวันเอาข้าวต้มญวณมาให้ เราิกินซะอิ่ม แถมถือติดมือมาให้ยายที่ขอนแก่นกินด้วย ยายบอกว่าอร่อยมาก วันกลับเอาข้าวจี่ (บาร์เกตต์) เรามาอีกคนละสองถุง แต่ละชิ้นยาวยังกับดาบ เอามาปิ้งกินกับกาแฟอร่อยดี

กลุ่มนี้จะกลับมาฝึกงานกับเราอีกที เมษายนปีหน้า คงได้สนุกสนานกันอีก

พอมาถึงตอนนี้เราสรุปได้ว่านักศึกษาลาวเองมีศักยภาพในการเรียนรู้ แต่ที่ผ่านมาขาดโอกาสเพราะปิดประเทศมานาน แต่พอมีโอกาสได้เรียนรู้ก็ทำได้ เราเองได้แต่คิดในใจว่าไม่ว่าสปป.ลาวจะพัฒนาไปทางไหนขอให้ผลประโยชน์จากการพัฒนาตกอยู่กับประชาชนและขอให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 306766เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วรู้สึกสนุกนะคะ

คำหลายๆคำครูต้อยก็ไม่รู้จักไม่คุ้นเคยค่ะ

ขึ้นอิสานคราวนี้ไม่ได้ชิมปลาร้า

และได้ชิมใจคนอิสานใจดี

น่ารักและเอื้อเฟื้อมากๆค่ะ

บันทึกนี้ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมทางภาษาเมืองลาว

คราวหน้าจะข้ามโขง คิดว่าต้องเรียนทำความเข้าใจภาษา

และวัฒนธรรมก่อน จะได้เที่ยวได้สนุกยกกำลังค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ถ้าได้ข้ามไปฝั่งโน้นให้ลองอ่านภาษาลาวที่่่ติดตามป้ายต่างๆ ดูนะคะ สนุกดี

แต่ให้ระวังว่า ม ม้าที่เราเห็นนั้นคือ น หนู

และภาษาลาวไม่มีสระเอีย เบยลาว ที่เห็น จึงเป็น เบียร์ลาว - โรงงานอยู่ทางเข้าเวียงจันทร์นี่เอง

ในเดือน ธค 52 นี้ ลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันซีเกมส์ ตอนนี้เวียงจันทร์ดูดีขึ้นมาเมื่อเทียบกับสองปีที่แล้ว

เมื่อพูดถึงลาว จะมีคำพูดว่า ไทยและลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน เมื่อพูดแล้วอย่าไปหาคำตอบว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง มันเป็นสำนวนเท่านั้น การหาคำตอบรังแต่จะทำใ้ห้เกิดความบาดหมางกันเปล่าๆ

cheer !

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท