เมื่อวานนี้ ผมพร้อมด้วยอาจารย์ เกษม ผลกล่ำ ครูอาสาฯรับผิดชอบตำบลท่าเรือ แทนผู้อำนวยการศูนย์ กศน.เมืองฯได้ไปร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เข้าร่วมประชุมเกือบร้อยคน ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจระดับอำเภอ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก อบต. ทุกตำบล โดยมีนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุม
ผมพยายามจับใจความของการประชุม ก็พอเข้าได้ใจว่าเป็นการประชุมเพื่อขับเคลื่อนคาราวานแก้จนของอำเภอเมืองนครฯของเรา จากเอกสารที่แจกผมอ่านดูแล้ว เห็นว่าขั้นตอนการขับเคลื่อนคาราวานแก้จนมี 10 ขั้นตอน ( มากพอดู) เริ่มจาก จัดตั้งสำนักงานศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน แต่งตั้งทีมงานคาราวานแก้จน อบรมทีมงานคาราวานแก้จนอำเภอ / กิ่งอำเภอ จัดทำสมุดบันทึกการแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือน (Family Folder) จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือน (Family Plan) การดำเนินการให้ความช่วยเหลือ การจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับอำเภอ จัดทำแผนเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน การติดตามประเมินผล และการรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน ( เอกสาร 16 หน้า) แต่ละขั้นตอนจะมีข้อย่อยซึ่งเป็นรายละเอียดอีกมาก ผมจะไม่กล่าวถึง
เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนคาราวานแก้จน ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จึงแต่งตั้งทีมงานคาราวานแก้จน โดยมอบหมายหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ เป็นหัวหน้าทีม รับผิดชอบแต่ละตำบล ซึ่งหัวหน้าของผม (ผอ.กศน.อำเภอเมืองฯ) ตามคำสั่งของอำเภอแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมรับผิดชอบตำบลปากพูน ทำภารกิจทั้ง 10 ขั้นตอน แต่เนื่องจากทีมทำงานจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการทำงานขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างดี ท่านประธานจึงแจ้งว่าก่อนที่แต่ละทีมจะได้ลงไปปฏิบัติการในแต่และพื้นที่ตำบล ท่านประธานจะสาธิตการทำกิจกรรมคาราวานแก้จนให้ดูก่อน สัก 1 หมู่บ้าน จะแจ้งเวียนให้ทราบภายหลังว่าจะไปสาธิตกันที่หมู่ไหน ตำบลไหน ช่วงเวลาใด เพราะท่านบอกว่าท่านผ่านหลักสูตรสัมมนานายอำเภอเรื่องคาราวานแก้จนมาแล้ว ซึ่งภาคใต้ได้จัดขึ้นที่จังหวัดตรัง เมื่อได้ดูตัวอย่างท่านแล้ว ( ตัวอย่างที่จะทำก็จำลองแบบมาจากอาจสามารถโมเดล ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร ทักษิณ ชินวัตร สาธิตให้ดู ที่อำเภออาจสามารถ ) จากนั้นหัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบแต่ละตำบลก็จะร่วมกับทีมงานลงไปขับเคลื่อนคาราวานแก้จนในตำบลต่อไป
ท่านประธานเปรียบทีมงานแต่ละตำบลว่าเหมือนหมอรักษาโรค ( ความยากจน) จึงต้องรู้ว่าผู้ขึ้นทะเบียนคนจน จนจริงในเรื่องใด อะไรคือ need ของเขา สัมผัสกับเขาแล้ว ต้องรู้อาการ แล้ววินิจฉัยโรคได้ จากนั้นจึงบันทึกใน Family Folder พร้อมกับกำหนดแนวทางรักษา (Family Plan) หลังจากนั้นทำแผนปฏิบัติการรองรับว่าส่วนราชการ องค์กร หน่วยงานใดจะลงไปร่วมให้การช่วยเหลือบ้าง
ผมมีความคิดเห็นว่ากระบวนการทำงานได้ออกแบบเอาไว้ค่อนข้างยาวและรัดกุม ม๊าก...มาก เพราะธรรมเนียมราชการต้องเป็นแบบนี้ จึงอยากจะเห็นการผสมผสานโครงการนี้ ภาษาราชการเขาว่า บูรณาการ เข้ากับโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครเสียจะเป็นการดี เพราะตัวละครทีทำก็ตัวละครเดียวกัน (ส่วนใหญ่) ทั้งผู้กระทำและชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านรู้ได้อาการของโรค วินิจฉัย และรักษาได้ด้วยตัวเอง ยกเว้น โรค ประเภท จนที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน หนี้สินนอกระบบ ซึ่งหนักหนาเกินกำลัง การต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนของจังหวัดนครฯน่าจะได้เปรียบจังหวัดอื่นเพราะมีโครงการจัดการความรู้แก้จนมาเสริม คงจะเป็นจังหวัดเดียวในขณะนี้ที่มีโครงการทำนองนี้ ที่เน้นการแก้ปัญหาที่ฉับไว บูรณาการการแก้ไขปัญหากันหน้างาน ไม่มากขั้นตอน อาศัยทุนทางสังคมและทุนทุกอย่างของชาวบ้านเองเป็นหลัก น่าจะได้หาทางหนุนเสริมกันและกัน
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
น่าจะปรับแนวคิดจากคลินิกตรวจวินิจฉัยโรคความยากจนโดยส่วนราชการ
แล้วเป็นผู้รักษามาใช้การจัดการความรู้ซึ่งมีแนวคิดให้ส่วนราชการเป็นวิทยากรกระบวนการให้คนไข้เรียนรู้โรคความยากจนด้วยกันเองจากข้อมูลครัวเรือนและชุมชนโดยแบ่งเป็น4ระดับตามแนวทางโครงการแก้จนเมืองนคร
เห็นด้วยครูนอกโรงเรียนอย่างยิ่งว่าควรสนธิกำลัง(ศัพท์ทางทหาร)โครงการคาราวานแก้จนกับจัดการความรู้แก้จนเมืองนครเข้าด้วยกัน
เรื่องนี้ประธานคุณเอื้อน่าจะจัดประชุมวงคุณเอื้อจังหวัดทำความเข้าใจกัน
งานจะไปได้ไกลมากทีเดียว
ขอเอาใจช่วยครูนอกโรงเรียนทำภารกิจในต.ปากพูนประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้นะครับ