ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

“มหกรรม คืน ชีวิตให้ทะเล”


การดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ภายใต้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อ สร้างกลไกการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง สร้างกฎ กติกาชุมชน ท้องถิ่น และ จัดทำแผนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งร่วมกัน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงของประเทศ เพื่อถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจัดงาน “มหกรรม คืนชีวิต ให้ทะเล” ในครั้งนี้ จึงต้องเป็นจุดเริ่มของการจุดประกาย ของความร่วมมือ เพื่อรักษาทรัพยากรชายฝั่ง ให้ยั่งยืนและสมดุล ต่อไป

กระบวนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม

มหกรรม คืน ชีวิตให้ทะเล

ณ  ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

******************************************************************************

ที่มาและที่ไป  เรือคราดหอยลาย ปัญหา ซ้ำซาก แต่ยากจะจัดการได้ จริงหรือ?

               

ท่ามกลางกระแสของประเทศ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลาน แต่การทำลาย  และการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรก็มากขึ้น เช่นเดียวกัน เช่น การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างหลากหลายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีการทำลาย มากมายเช่นเดียวกัน  คำถามก็คือว่า “ถ้าเราอนุรักษ์ไว้ แล้วปล่อยให้มีการทำลาย จะอนุรักษ์และฟื้นฟูไปทำไม” ในทางกลับกันถ้าเราไม่ทำลาย หรือ ป้องกันการทำลาย แค่เท่านี้ เราก็มีทรัพยากรเพียงพอให้ลูก ให้หลาน ไม่ใช่หรอกหรือ  คำถามต่อไปก็ คือว่า “เรามีทั้งกฎหมาย มีผู้บังคับใช้กฎหมาย มีผู้กระทำผิดอย่างชัดแจ้ง แล้วทำไมถึงจับกุม ถึงหยุดกระบวนการนี้ ถึงแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เสียที”   ปัญหาอยู่ตรงไหน อยู่ที่กฎหมาย อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย หรืออยู่ที่กลไกการจัดการกันแน่

คำถามต่อไป คือว่า “โจรปล้นหอยลาย โดยทำการประมงผิดกฎหมาย ผู้ทำลายทรัพยากร ทำลายระบบนิเวศน์  ทำลายประมงพื้นบ้าน นำพาแรงงานด่างด้าว ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ”  ทำไมปัญหานี้ถึงแก้ไม่ได้เสียที  ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปล่อย และละเลยให้โจรผิดกฎหมาย ลอยนวลอยู่ได้  เป็นอย่างนี้แล้วปัญหาจะจบลงเมื่อใด

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะมองเห็นคุณค่า และคุณประโยชน์ของทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรชายฝั่ง ที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของปวงชนชาวไทย  ปัญหามีไว้เพื่อแก้ และต้องแก้ทันที ไมใช่ปล่อยให้เรื้อรัง ยาวนาน  ทั้งปัญหาระยะสั้น และระยะยาว ต้องดำเนินการ ก่อนที่ไม่เหลือทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน เพราะเมื่อถึงเวลานั้น จะอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างไร ก็น่าจะสายเสียแล้ว

ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ภายใต้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อ สร้างกลไกการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง สร้างกฎ กติกาชุมชน ท้องถิ่น และ จัดทำแผนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งร่วมกัน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงของประเทศ เพื่อถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

การจัดงาน “มหกรรม คืนชีวิต ให้ทะเล” ในครั้งนี้ จึงต้องเป็นจุดเริ่มของการจุดประกาย ของความร่วมมือ เพื่อรักษาทรัพยากรชายฝั่ง ให้ยั่งยืนและสมดุล ต่อไป

 

กระบวนการต่อสู้ สู่การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น

โดยความเห็นของเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา และ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ประชุมหารือร่วมกันทุกเดือน ในวันพุธที่ ๓ ของเดือน  โดยจะหมุนเวียนประชุมตามรอบ รอบที่ ๑ และ ๒ ประชุมสัญจรไปยังหมู่บ้านต่างๆ และในรอบที่ ๓ ประชุมที่ อบต. หรือ ศูนย์ประสานงานตำบล  ในการประชุมได้ปรึกษาหารือเพื่อยกร่าง ข้อเสนอข้อบัญญัติตำบลมาโดยตลอดตั้งแต่เดือน มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา

ทั้งนี้ในการออกข้อบัญญัติ ต้องตอบสนองต่อปัญหา และการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มียุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันของทุกๆฝ่าย

ดังนั้น ในการออกข้อบัญญัตินี้ จึงมีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยาว ภายใต้นโยบายสาธารณะและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเน้น ที่ ๓ จุดหลัก คือ

๑.    กระบวนการเฝ้าระวังแบบมีส่วนร่วม

๒.   การออกกติกา ข้อบัญญัติ  เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง

๓.   แผนการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง

               ทางคณะทำงานจึงได้ยกร่าง ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา เรื่อง การอนุรักษ์และ  ใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พ.ศ. ๒๕๕๒ ขึ้น ตามหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตามหลักการจัดการพื้นที่สาธารณะ และตามหลักสิทธิหน้าบ้าน หรือหน้าตำบล เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก และเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล คือ การปฎิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ได้กำหนดพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง ใน ๒ แนวเขต คือ ประกอบด้วย    เขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่ง เขตที่ ๑ ระยะทาง ๑,๕๐๐ เมตร จากขอบน้ำชายฝั่งออกไปในทะเล    และ เขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเขตที่ ๒ ระยะทาง ๕,๔๐๐ เมตร จากขอบน้ำชายฝั่งออกไปในทะเล

ในเขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งเขตที่ ๑ บุคคลสามารถทำการประมงด้วยเครื่องมือการประมงที่ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และห้ามทำการประมงดังต่อไปนี้

(๑)        การทำการประมงด้วยเครื่องมือประจำที่ทุกชนิด

(๒)การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด

(๓)       การใช้โพงพาง รั้วไซมาน หรือกั้นซู่รั้วไซมาน ลี่ หรือเครื่องมือที่มีลักษณะและวิธีการ

            คล้ายคลึงกัน ทำการประมง

 

 

ในเขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งเขตที่ ๒ บุคคลสามารถทำการประมงด้วยเครื่องมือการประมงที่ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือการประมงดังต่อไปนี้

(๑)         การประมงโดยใช้เครื่องมืออวนประกอบคันรุนประกอบเรือยนต์

(๒) การประมงโดยอวนลากคู่เป็นการทำประมงโดยใช้เรือยนต์ 2 ลำในการลากอวนและถ่าง

             ปากอวน

(๓)         การประมงโดยใช้อวนทุกชนิดที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า ๒.๕ เซนติเมตรประกอบแสงไฟ

              ทำการประมงในเวลากลางคืน

(๔)         การประมงโดยใช้เครื่องมือคราดหน้าดินประกอบเรือยนต์ทุกชนิด

บทลงโทษ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัติ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท และในกรณีที่ผู้นั้นกระทำผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๙๐ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือกฎหมายอื่น ให้เจ้าพนักงานส่วนตำบลดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย  

ผู้รักษาและบังคับใช้ข้อบัญญัตินี้  โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาเป็นประธานและสามารถ แต่งตั้งให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และราษฎรอาสาสมัครเป็นคณะกรรมการบริหารเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ตามข้อบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานส่วนตำบล  

มีอำนาจหน้าที่  คณะกรรมการบริหารเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)       บริหารเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นไปตามข้อบัญญัตินี้

(๒)     จัดทำแผนงานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระยะ ๓ ปี เสนอเพื่อขอความ 

          เห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

(๓)      ดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานใน (๒)

(๔)      จัดให้มีอาสามัครจากราษฎรอาสาตรวจตรา เฝ้าระวัง การกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบัญญัตินี้

          และ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(๕)     แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฎิบัติหน้าที่ตามข้อบัญญัตินี้

(๖)      จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และประชาชนในตำบลท่าศาลา

หลักการปกครองที่ดีของข้อบัญญัติ  การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ใช้กระบวนการปรึกษาหารือจนได้ข้อยุติ กรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้  ที่ประชุมอาจมีมติให้ใช้วิธีลงคะแนนได้ โดยใช้เสียงข้างมากของกรรมการที่เข้าร่วมประชุม  กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

จำเป็นต้องมีแผนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม ๗ ยุทธศาสตร์

          จากการประมวลสรุป ข้อเสนอแนะต่างๆ จากเอกสารและความเห็นของทุกภาคส่วน  มีความประสงค์และอยากผลักดัน การจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม  โดยมี ๗ ยุทธศาสตร์ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ประเด็นที่ ๑  ฐานข้อมูล

ในประเด็นนี้  นครศรีธรรมราชมีหลายหน่วยงาน หลายองค์กร  ที่เป็นหน่วยงานพัฒนาและศึกษาวิจัย แต่ไม่ได้รวบรวมฐานข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบ  เช่น   ความหลากหลายทางชีวภาพ

องค์กรชุมชน  การกัดเซาะ/เพิ่ม ของชายฝั่ง  เครื่องมือประมง ในส่วนของตำบลท่าศาลา มีการเก็บข้อมูลความหลากหลายและองค์กรชุมชนทางการประมงไว้บางส่วนแล้ว

            ดังนั้น ในอนาคตจึงต้องมีการเก็บรวมรวมข้อมูล เพื่อการประกอบการตัดสินใจของหลายๆฝ่ายร่วมกัน เพื่อการวางแผน และจัดระบบการทำงานอย่างบูรณาการได้

 

ประเด็นที่ ๒  กลไกเฝ้าระวังชายฝั่ง

ปัจจุบัน กลไกเฝ้าระวังชายฝั่ง  มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ ๕ หน่วยงาน คือ กรมประมง กรมเจ้าท่าและพาณิชย์นาวี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ทหารเรือ และตำรวจน้ำ  แต่ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา คือ เรือไม่ได้อยู่ในสภาวะที่พร้อม ทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาเรื่องน้ำมัน  เจ้าหน้าที่  และขอบเขตของพื้นที่ในการเฝ้าระวังกินพื้นที่มากเกินไป การดูแลจึงไม่ทั่วถึง

ในอนาคตจึงต้องผลักดันเรือประจำการ  ณ ที่เกิดเหตุบ่อยๆ  พร้อมกับเจ้าหน้าที่ และมีค่าน้ำมันในการออกไปตรวจตราจับกุม โดยเป็นหน่วยระดับอำเภอ พร้อมที่จะประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างบูณาการ ปัญหาในทะเลหน้าบ้าน จึงควรจัดการบทบาทและภารกิจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เนื่องจากในปัจจุบัน แต่ละหน่วยงานไม่ได้ประสานงานอย่างเป็นระบบเกิดช่องว่างของสุญญากาศในการเฝ้าระวัง เพราะแต่ละหน่วยงานจะมีแผนเฝ้าระวังพื้นที่ละ ๑ – ๒ อาทิตย์เท่านั้น

 ในพื้นที่ตำบลท่าศาลา ทาง อบต.จะสนับสนุนค่าน้ำมันในการตรวจตราและเฝ้าระวังทางทะเลและชายฝั่ง แก่เรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มาประจำการและตรวจตรา จับกุม  ในอนาคตจะผลักดันเรื่องเรือตรวจตรา เจ้าหน้าที่ หรือประสานเรือมาประจำการในพื้นที่  จากศักยภาพที่ผ่านมาสรุปได้ว่า หน่วยงานระดับท้องถิ่น และระดับอำเภอเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

ประเด็นที่ ๓  การจัดการองค์กรชุมชน

        การจัดการองค์กรชุมชน ถือ เป็นการจัดการฐานรากและในระดับพื้นที่ เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด ดังนั้นควรมีรูปแบบการจัดการองค์กรชุมชนที่หลากหลาย ในตำบลท่าศาลามีกลุ่มองค์กร ทั้งหมด ๑๘ กลุ่ม เช่น  ออมทรัพย์   เครือข่ายวิทยุ   ร้านค้าชุมชน  กองทุนข้าวสาร  กองทุนเครื่องมือประมง โดยการสนับสนุนจากชุมชนเอง จาก อบต. จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  ในอนาคต อบต.ที่ติดชายฝั่งทะต้องมีแผนงาน ด้านชายฝั่งและสนับสนุนประเด็นองค์กรชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างเป็นระบบ

 

ประเด็นที่ ๔  รูปแบบการอนุรักษ์

            รูปแบบการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบการจัดการ และมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้มีความต่อเนื่อง เช่น  ป่าชายเลน   หมฺรำไม้เสม็ด  โป๊ะไม้ไผ่ธนาคารปูไข่ ในทะเล บนฝั่ง  ปะการังเทียม ฯลฯ  ซึ่งรูปแบบการอนุรักษ์เหล่านี้ มีการศึกษาและออกแบบส่วนหนึ่งแล้ว ที่ตำบลท่าศาลา ในอนาคตผลักดัน ปะการังเสาหลัก หอเฝ้าระวัง ฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์ฟื้นฟู และป้องกันแนวชายฝั่ง จากอวนลาก อวนรุนอีกทางหนึ่งด้วย ในระดับพื้นที่จึงควรมีรูปแบบการอนุรักษ์ อาสาสมัครการอนุรักษ์ และการสนับสนุนงบประมาณกิจกรรมให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

 

ประเด็นที่ ๕ เศรษฐกิจชุมชน

            ในประเด็นนี้เป็นการต่อยอดจากการทำประมง และต่อยอดจากวิถีและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เช่น การแปรรูป การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  แพชุมชน  ท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการผลิต ให้เกิดรายได้ของชุมชนชายฝั่ง  และเป็นการใช้ทรัพยากรของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ประเด็นที่ ๖ กฎ กติกา ข้อบัญญัติท้องถิ่น และ ประกาศจังหวัด

            ในการประกอบอาชีพ และการทำการประมงชายฝั่ง ซึ่งใช้ฐานทรัพยากรเดียวกัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทางออกก็คือ ทำอย่างไรให้ได้ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและสมดุล ดังนั้นจึงควรมีกฎ  ระเบียบ และกติกาของชุมชน  ข้อบัญญัติท้องถิ่น ประกาศจังหวัด เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาทรัพยากรให้เกิดความสมดุล ในระดับตำบลจึงควรมีข้อบัญญัติท้องถิ่นทางทะเล เพื่อปกป้องทรัพยากรให้สอดคล้องกับการใช้ของพื้นที่

 

ประเด็นที่ ๗  การเชื่อมประสานและการทำงานแบบบูรณาการ

            พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ถือเป็นพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการจัดการในระดับพื้นที่มีหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรอบและประเด็นการทำงานมีความทับซ้อนกัน ดังนั้น ในการจัดการให้มีพลังและขับเคลื่อนงานอย่างบูรณาการจึงควรมีการจัดการในระดับตำบล  โดยประสานงานความร่วมมือ ใน ภาควิชาการ  ภาคท้องถิ่น/รัฐ   ภาคชุมชน  ภาคเอกชน

            จัดทำแผนงาน  การจัดการร่วมกัน มีหน่วยประสานงานอย่างเป็นระบบ  เนื่องจากแต่ละหน่วยงานแต่ละองค์กร  มีศักยภาพและความพร้อมที่ไม่เท่ากัน การทำงานเชื่อมประสานจึงเกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 302769เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2009 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับคุณ ทรงวุฒิ ทั้งเจ็ดประเด็น พื้นที่ชายฝั่งทุกแห่ง ต้องนำมาพูดคุยหาทางออก บอกทางแก้ ไปตามบริบทของพื้นที่

ทุกฝ่ายทุกคนต้องมีข้อมูล และรับรู้ข้อมูลได้เท่ากัน เพื่อรู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้ ปัญหาร่วมกันครับ

ทั้ง 7 ประเด็นนี้ ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องการลงรายละเอียดครับ

แต่จากการทำงาน พอประมวลเบื้องต้น

ช่วยรุกต่อด้วยครับ

หนู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท