KM สำนักงานเลขานุการคณะสาธารณสุขศาสตร์


สำนักงานเลขา ฯ ต้องการยกระดับคุณค่าของงานตนเอง และบุคลากรยกระดับปัญญาและทักษะการปฏิบัติงาน ส่งผลให้สำนักงานเลขา ฯ ส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ให้แก่ผู้รับบริการต่อไป

           สวัสดีค่ะ สำหรับบล็อกนี้ ดิฉันได้นำ การทำ KM ของสำนักงานเลขานุการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มาเล่าให้ท่านๆ ทั้งหลายได้รับรู้กันค่ะ ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้มีการทำ KM ขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติเกิดแรงจูงใจในการทำ KM ระดับสำนักงานเลขานุการคณะฯ 

            สำนักงานเลขานุการคณะฯ ต้องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการประกันคุณภาพการศึกษาระดับหน่วยงานย่อย และอยากฝึกทักษะในการทำ KM ซึ่งเป็นการตอบรับที่ดี หลังจากการจัดโครงการอบรมความรู้ด้านประกันคุณภาพการศึกษา ที่ได้ใช้เทคนิคเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer assist) โดยการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ. เทียมจันทร์ พานิชย์ผลินไชย มาเล่าเรื่อง การทำKM ที่คณะศึกษาศาสตร์  เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 ให้ฟัง ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการอบรม ได้ฝึกใช้เทคนิค AAR บุคลากรของสำนักงานจึงมีแรงบันดาลใจ ในการที่จะนำ KM มาใช้เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่จุดหมาย จึงจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในวันนี้ขึ้น (วันที่ 2 พฤษภาคม 2549) โดยมีเป้าหมายของการทำ KM เพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษา ระดับหน่วยงานย่อย
               การทำ KM วันนี้ ใช้ โมเดลปลาทู เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทุกคนตกลงร่วมกันในที่ประชุม ต้องการที่จะประเมินตนเอง ในส่วนความพึงพอใจของผู้รับบริการ ที่มาใช้บริการของสำนักงานเลขา ฯ เพื่อที่จะได้นำผลมาปรับปรุงงานของตนเอง จึงมี หัวปลา ในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ คือ ทำอย่างไร จะทราบว่า ผู้รับบริการพึงพอใจในงานของสำนักงานเลขานุการคณะ ฯ หลังจากนั้นในส่วนของ ตัวปลา ที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการแบ่งปัน โดยให้หัวหน้างานแต่ละงาน เล่าเรื่องที่ตนเองมีประสบการณ์ ในการประเมินความพึงพอใจในงานของตน ที่เคยทำมา เมื่อปีที่แล้ว พลัดกันเล่า ทุกงาน มีการแลกเปลี่ยน โดยคุณอำนวย เล่าประสบการณ์ที่เคยประเมินความพึงพอใจในส่วนของโรงพยาบาล (HA) หลังจากนั้น ก็มีการวางแนวคิด วิเคราะห์ผู้รับบริการ ของสำนักงานเลขา ฯ ในการที่จะประเมินในปีนี้ โดยทุกคนมีส่วนร่วม ผลจากการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ได้แนวคิด ซึ่งประกอบด้วย คำจำกัดความ การวิเคราะห์ผู้รับบริการ ประเด็นที่จะสำรวจความพึงพอใจ เกณฑ์การให้คะแนน แบบสอบถามผู้รับบริการภายนอก และดัชนีที่ 10.5 ของสำนักงานเลขา ฯ ส่วนสุดท้าย หางปลา มีการบันทึกสรุปผลการประชุมวันนี้ และบันทึกผลจากการแลกเปลี่ยนครั้งนี้
                การทำ KM วันนี้ ถือเป็นการปฏิบัติงานที่ เน้นคุณค่าและมูลค่า (value-add) เน้นที่คน เน้นที่กระบวนการ/ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ที่จะเพิ่มคุณค่าและมูลค่าซึ่งกันและกัน  เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงบวก โดยสำนักงานเลขา ฯ ต้องการยกระดับคุณค่าของงานตนเอง และบุคลากรยกระดับปัญญาและทักษะการปฏิบัติงาน ส่งผลให้สำนักงานเลขา ฯ ส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ให้แก่ผู้รับบริการต่อไป

                   การทำ KM ครั้งนี้  สอดคล้องกับ KM ภาคปฏิบัติวันละคำ ของ นพ. วิจารณ์ พานิช คำที่ 49 โดยมีรายละเอียด  ดังนี้


KM (ภาคปฏิบัติ) วันละคำ : 49. คุณค่าและมูลค่า
              • คุณค่าและมูลค่า (value) คือเป้าหมายหลัก    ไม่ใช่ประสิทธิภาพ (efficiency)    ที่จริงเราต้องการทั้งสองอย่าง แต่ตัวหลักคือคุณค่า
              • การบริหารแบบเน้นประสิทธิภาพ (ลงทุนน้อย ได้ผลมาก) เป็นการบริหารแบบล้าหลัง  ตกยุค เป็นหัวใจของการบริหารแบบ Reengineering ซึ่งตกยุคไปแล้ว  เพราะนำไปสู่การปลดคนออก ทำให้พนักงานหมดขวัญกำลังใจ  ด้อยในมิติของความเป็นมนุษย์
             • การบริหารงานแบบเน้นคุณค่าและมูลค่า (value-add) เน้นที่คน เน้นที่กระบวนการ/ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่จะเพิ่มคุณค่าและมูลค่าซึ่งกันและกัน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงบวก  ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงลบโดยการลดจำนวนพนักงาน   
             • การ ลปรร. ความรู้จากการปฏิบัติ เสริมด้วยการ ลปรร. ความรู้จากทฤษฎี เป็นวงจรต่อเนื่องไม่รู้จบ  นำไปสู่การเพิ่มคุณค่าและมูลค่าไม่รู้จบ และสามารถยกระดับสู่ภพภูมิใหม่ (New Order) ของความรู้และการปฏิบัติงานได้
              • องค์กรต้องสร้าง “ขาขึ้น” โดยการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า (แก่ธุรกิจของตน  แก่องค์กร  แก่เจ้าของ/ผู้ถือหุ้น  แก่พนักงาน  และแก่สังคม) อยู่ตลอดเวลา    ทั้งที่เป็นการเพิ่มทีละเล็กทีละน้อย    และการเพิ่มแบบก้าวกระโดดเป็นระยะๆ    นี่คือการคิดและดำเนินการเชิงบวก    ตรงกันข้ามกับการคิด/ทำเชิงลบ ในบรรยากาศ “ขาลง” โดยการลดค่าใช้จ่าย ลดคน
              • “ยกระดับคุณค่าขึ้นทั้งแผง” คือสภาพในอุดมคติ    ลูกค้าได้สินค้า/บริการที่พอใจและยกระดับความพอใจขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง    องค์กรก็ยกระดับความสามารถในการแข่งขันขึ้น    พนักงานยกระดับปัญญาและทักษะ    บริษัทลูก/ผู้ส่งวัตถุดิบ ก็ได้ยกระดับคุณค่า     สังคมได้อยู่ดีมีสุข มีความมั่นคง ยกระดับมาตรฐานชีวิต    KM นำไปสู่สภาพนี้ได้  
             • จงคิดให้ชัด   ปรึกษาหารือกันให้ชัด   ว่าคุณค่าของงาน/สินค้า ของท่าน/กลุ่ม/องค์กร คืออะไร    มองให้ลึก จนเห็นโอกาสในการพัฒนาและแข่งขันโดยการสร้างคุณค่าที่ใครๆ ก็ต้องเอ่ยถึง    และคู่แข่งสู้ยาก
               • การให้/ยอมรับ คุณค่า/มูลค่า แตกต่างกันในลูกค้าต่างกลุ่ม    ดังนั้นการขับเคลื่อนด้วยการสร้างคุณค่า/มูลค่า ต้องมาจากพลังดึงดูด (pull) โดยลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ    ความรู้ความเข้าใจระบบคุณค่าของลูกค้าจึงมีความสำคัญยิ่ง    และต้องไม่ลืมว่าสิ่งนี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่ง

คำสำคัญ (Tags): #มหาวิทยาลัย
หมายเลขบันทึก: 30111เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2006 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สนง.สาธารณสุข เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีพัฒนาการรวดเร็วมาก ขอชื่นชมครับ
ชื่นชมด้วยคน ขอให้ข้อเสนอแนะนิดนึงเรื่องการเอ่ยถึงคณะสาธารณสุข ขอให้ใส่ มหาวิทยาลัยด้วย เพราะมีหลายมหาวิทยาลัยและที่ม่ใช่ชาวมหาวิทยาลัยที่อ่านบล็อกอยู่
รัตน์ทวี อ่อนดีกุล

ยินดีต้อนรับค่ะ ถึงจะช้าไปสักหน่อย ขอให้เขียนออกมามาก ๆ นะคะ จะรออ่านค่ะ :)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท