ฝึกทักษะ “คิด พูด ทำ” เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (หรือเปล่า?)


. . โดยรวมแล้วผม “รู้สึก” ว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ได้มีการพัฒนาไปในทางที่ดี แต่ก็มีบางประเด็นที่ผมยังรู้สึก “ไม่แน่ใจ” . . .
            สคส. ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพัฒนาการเปลี่ยนแปลงให้กลุ่มผู้บริหาร (รุ่นใหม่) ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง โครงการนี้ถือว่าเป็น "โครงการทดลอง (นำร่อง)" ขนาดเล็กที่มีระยะเวลาค่อนข้างสั้นคือแต่เพียงห้าเดือนเท่านั้น ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่าช่วงเวลาห้าเดือนนี้สิ่งที่ สคส. ออกแบบไว้ จะสามารถพัฒนา “ความคิด การพูด และการกระทำ” ตามที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต้องการได้หรือไม่? ในโครงการนี้ทางฝั่ง สคส. มีคุณอ้อม (อุรพิณ ชูเกาะทวด) เป็นผู้จัดการโครงการ ส่วนผมทำหน้าที่เป็น "ตัวช่วย" โดยออกแบบโครงการไว้ว่าจะสร้างการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing) โดยจะแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นสี่กลุ่ม และจะเสริมทักษะผ่านการจัด Workshop สี่ครั้ง แต่ละครั้งมีรายละเอียดดังนี้:


            ครั้งแรก ใช้เวลา 3 วัน (29-31 พ.ค. 52) เป็นการจัด Workshop นอกสถานที่ (ใช้ที่เขาใหญ่) เพราะต้องการให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้หลุดออกมาจากบรรยากาศของที่ทำงาน เป็นการจัด Workshop แบบสบายๆ ลักษณะคล้ายกับการ Retreat ใช้กิจกรรมนำไปสู่การเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ที่เน้น "การเปิดใจ การรับฟัง การปล่อยวางอัตตาตัวตน (Let go)" มีกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมได้ "แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จระหว่างกัน" มี Session ที่แต่ละทีมจะต้องร่วมกัน คิดเพื่อออกแบบว่าจะต้องทำอะไรบ้างจึงจะสร้างการเรียนรู้ (ซึ่งหมายถึงการฟังอย่างเปิดใจ การปล่อยวางอัตตาตัวตน การสนใจใฝ่เรียนรู้) และการพูด (ซึ่งหมายถึงการใช้เรื่องเล่า) อันนำไปสู่การทำหรือการสร้างการเปลี่ยนแปลง (การพัฒนา) ในหน่วยงานของตนได้ โดยที่ 4 กลุ่มตามที่ได้แบ่งไว้ต่างก็มีการออกแบบกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป บางกลุ่มใช้การประชุม บางกลุ่มสร้างกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้คนในหน่วยงานสนใจเข้ามาร่วมกิจกรรม


            ครั้งที่สอง ใช้เวลา 2 วัน (27-28 มิ.ย. 52) เป็นการจัด Workshop ที่บริษัท (ช่วงเสาร์-อาทิตย์) เห็นได้ชัดว่าผู้เข้าร่วมหายไปหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้เหตุผลว่ากำลังเร่งส่งงาน Workshop ครั้งนี้เน้นไปที่เรื่อง “การคิด” โดยเฉพาะการคิดแบบมุ่งไปข้างหน้า (Proactive Thinking) การคิดเชิงบวก (Positive Thinking) และการคิดอย่างเป็นระบบ (Systems Thinking) เป็นการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการบรรยายแต่ใช้กิจกรรมเป็น ส่วนใหญ่ สร้างให้เกิดการเรียนรู้จากกันและกันผ่านกระบวนการ SSS (Success Story Sharing) ครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูง (กรรมการบริหาร) เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ 1 ท่าน ทำให้ท่านเข้าใจโครงการนี้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นท่านยังได้แชร์ประสบการณ์ของท่านอันเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมอย่างยิ่ง


            ครั้งที่สาม ใช้เวลา 2 วัน (15-16 ส.ค. 52) จัดที่บริษัทอีกเช่นกัน ครั้งนี้เน้นไปที่เรื่อง “การสื่อสาร” คือไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เรื่องการพูดเท่านั้น แต่ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า “การฟัง” นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเพียงใด ได้มีการนำความสำเร็จในเรื่องการสื่อสารของผู้เข้าร่วมทุกท่านมาแชร์กันใน Workshop นี้ พบว่ามีกรณี (Case) ดีๆ มากมายที่น่าจะเป็นประโยชน์กับบุคลากรคนอื่นๆ ในบริษัทได้ นอกจากนั้นยังมี Session ให้แต่ละทีมได้ แชร์ประสบการณ์การ “ขับเคลื่อน” สิ่งที่แต่ละกลุ่มได้ออกแบบไว้และนำไปทดลองใช้ (ทำ) ในหน่วยงานของตน โดยที่ครั้งนี้ได้มีการพูดถึงเรื่อง Strategy ด้วยว่าการขับเคลื่อนถ้าจะให้เขยื้อน จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ดี ต้องมี “ตัวช่วย” ที่เหมาะสม ต้องมี "แนวปฏิบัติที่ส่งเสริม (Supporting Practices)" ที่เกื้อหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (พัฒนา)  ครั้งนี้ได้มีกรรมการบริหารมาเข้าร่วมอีกหนึ่งท่าน มีที่ปรึกษาด้าน HR เข้ามาสังเกตการณ์ ท่านทั้งสองได้มีส่วนร่วม ได้ช่วยเสริมและต่อเติมการเรียนรู้ได้ค่อนข้างดีมากทีเดียว


            ครั้งที่สี่ (ครั้งสุดท้าย) กำลังจะมาถึงอีกใน 2 สัปดาห์นี้ ผมได้มีโอกาสทบทวน Workshop ที่จัดมาแล้ว 3 ครั้ง โดยรวมแล้ว “รู้สึก” ว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ได้มีการพัฒนาไปในทางที่ดี แต่ก็มีบางประเด็นที่ผมยังรู้สึก “ไม่แน่ใจ” ไม่รู้ว่าโครงการนำร่องนี้จะได้ผลคุ้มค่าไหม? ต้องทั้ง “ทำใจ” และ “ตั้งใจ” จะทำ Workshop ครั้งสุดท้ายนี้ให้ดี เพื่อที่ว่า . . .บางที “สิ่งที่เป็นปัญหา” อาจจะเกิดการพัฒนาขึ้นมาในครั้งสุดท้ายนี้ก็ได้ . . . แล้วคงจะนำมาเล่าให้ฟังต่อไปว่าผลที่ได้เป็นอย่างไร?
หมายเลขบันทึก: 300320เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับอาจารย์หมออัจฉรา ถ้าจบ Workshop ครั้งหน้าจะรีบนำ "สรุปบทเรียน" มาเขียนไว้ใน g2k ทันทีครับ

ตอนต่อไป อ่านได้จาก Link ข้างล่างนี้ครับ

http://gotoknow.org/blog/beyondkm/305569

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท