เพราะทุกที่มีเรื่องเล่า (แต่พวกเขาก็ควรต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง)


ไม่เพียงสอนให้นิสิตได้เรียนรู้ด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นกระบวนการของการฝึกให้พวกเขาทำงานกันเป็นทีม เรียนรู้กันเป็นทีม และสังเคราะห์ความรู้นั้นเป็นทีมไปในตัว

ผมเคยได้เปิดเวทีถกคิดกับทีมงานและน้องๆ นิสิตมาเป็นเวลานานพอสมควรว่ากิจกรรมใดบ้างที่ดูมีน้อยและอ่อนกำลังมากที่สุดในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “ กิจกรรมด้านธรรมะ คุณธรรมจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม” นั่นต่างหาก คือจุดเปราะ หรือทางเลือกที่มีให้เลือกอย่างน้อยนิด

จะว่าไปแล้ว มันก็จริงตามนั้น สังเกตได้ง่ายๆ จากจำนวนชมรมที่สังกัดในด้านนี้ในแต่ละปีการศึกษานั้น มีจำนวนไม่กี่ชมรมเองเลยก็ว่าได้ และจำนวนอันน้อยนิดนั้น ยังมุ่งไปสู่การจัดกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยเสียมากกว่า พลอยให้บรรยากาศเรื่องอบรมสัมมนาเกี่ยวกับธรรมะ คุณธรรมจริยธรรมและเรื่องสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยดูกร่อยๆ ไปอย่างน่าใจหาย




ปีนี้ ผมมอบทีมงานให้ปักธงขับเคลื่อนเรื่อง “ธรรมะในสถานศึกษา” ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเชื่อว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้โตเกินกว่าที่จะพูด หรือจัดกิจกรรมธรรมะให้นิสิตได้รับรู้และซึมซับ

เช่นเดียวกับการย้ำเตือนว่า ขอให้ถือว่า ปีนี้คือปีแห่งการบุกเบิกเรื่อง “ธรรมะในสถานศึกษา” ในวิถีกิจกรรมนอกห้องเรียนอย่างแท้จริง ซึ่งประกอบด้วยการจัดบรรยายธรรมะในมหาวิทยาลัย เน้นความสนุกสนานและสาระประเทืองชีวิต อันเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้นิสิตที่เข้าร่วมไม่รู้สึกเบื่อหน่าย และอีกประการคือการนำพานิสิตออกไปเข้าค่ายธรรมะในสถานที่ปฏิบัติธรรมใกล้ๆ มหาวิทยาลัย...

ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งผมและทีมงานยังต้องนั่งถกคิดวางแผนการทำงานค่ายธรรมะ หรือค่ายปฏิบัติธรรมในสถานศึกษาอย่างยกใหญ่ เพราะเราวิเคราะห์แล้วว่า นิสิตในมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่ม “เด็กโตและไม่นิ่ง” มีทัศนคติที่ไกลห่างจากเรื่องทางธรรมะอยู่พอสมควร หากยังต้องใช้กระบวนการของพระวิทยากรเสียทั้งหมด บางทีอาจทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดกับกิจกรรมก็เป็นได้ เพราะหลักๆ แล้ว นิสิตก็ล้วนเคยสัมผัสกระบวนการเหล่านี้มาแล้วเมื่อครั้งเป็นนักเรียนในวัย “กระโปรงบานขาสั้น”

ดังนั้นค่ายปฏิบัติธรรมในสถานศึกษาเมื่อวันที่ 15-17 สิงหาคม 2552 ณ วัดป่าวังเลิง จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างกิจกรรมของพระวิทยากรกับกิจกรรมที่เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผมและทีมงาน...





ผมเปิดตัวด้วยกิจกรรมง่ายๆ โดยเริ่มจากการมอบหมายให้ทีมงานประเมินความคาดหวังของนิสิต จากนั้นก็แบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มมีสมาชิกไม่เกิน 5 คน พร้อมๆ กับการแจกกระดาษให้คนละแผ่น เพื่อให้แต่ละคนลากเส้นแบ่งกระดาษออกเป็น 4 ส่วน เสร็จแล้วกำหนดให้ทุกคนวาดรูปเรื่องราวตนเองลงในกระดาษแต่ละส่วน โดยประกอบด้วย

  • (1) ความฝันในวัยเด็ก
  • (2) ความฝันในสมัยเรียนมัธยม
  • (3) ความฝันในปัจจุบัน
  • (4) และความฝันในอนาคต

ผมไม่ได้ตั้งชื่อกิจกรรมนี้ เพราะเป็นการบูรณาการมาจากเวทีต่างๆ แต่ย้ำให้นิสิตบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นแก่เพื่อนในกลุ่ม พร้อมๆ กับการเปิดกว้างให้แต่ละคนซักถามถึงเรื่องราวของกันและกัน อันเป็นกระบวนการหนึ่งของการละลายพฤติกรรมไปในตัว เสร็จแล้วทีมงานก็จะสุ่มเลือกใครบางคนออกมานำเสนอให้ทุกคนได้รับฟังร่วมกัน...





เป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องราวในอดีตนั้น หลายต่อหลายคนใช้เวลาคิดและหวนถึงอย่างยาวนานเป็นพิเศษ คล้ายกำลังจะบอกว่า การเติบโตมาสู่วันนี้นั้น หลายอย่างในชีวิตก็เลือนหายไปอย่างแทบไม่น่าเชื่อ...ตรงกันข้ามกับความฝันในปัจจุบันและอนาคตนั้น แต่ละคนสามารถขีดเขียนออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ในชั่วพริบตา

มีบางคนเขียนภาพเกี่ยวกับครอบครัวครบทั้ง 4 ส่วนของกระดาษ โดยเขาสื่อสารออกมาอย่างฉะฉานว่า “ครอบครัวของเขา คือแรงพลังอันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนชีวิตจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและผูกโยงไปถึงอนาคต” และอื่นๆ อีกมายมายที่ผมไม่อาจกล่าวถึงได้ในที่นี้ เพียงแต่อยากจะบอกว่า กิจกรรมเช่นนี้ ไม่เพียงละลายพฤติกรรมของผู้คนเข้าหากันเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการชักชวนให้แต่ละคน ถามไถ่-สำรวจชีวิต และความฝันของตนเอง เพื่อย้ำให้เขาตระหนักว่า “ ชีวิตต้องมีความฝัน..และความฝันก็ต้องมีความหวัง” ด้วยเช่นกัน

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ได้รับคำชมจากคณะพระวิทยากรเป็นยิ่งนัก พร้อมๆ กับการขอลิขสิทธิ์ไปใช้กับกระบวนการของท่าน ซึ่งผมก็ได้แต่บอกเล่าไปอย่างสุภาพว่า ผมไม่ใช่ต้นคิดของเรื่องเหล่านี้ เป็นการถอดบทเรียนและเลียนแบบมาจากเวทีต่างๆ เพียงแต่มาประยุกต์เป็นเรื่องราวในแบบของตัวเองเท่านั้น...





นอกจากนี้ ผมยังกำหนดให้มีกิจกรรมอีกกิจกรรมหนึ่งขึ้นมาเพื่อสลับกับกิจกรรมการอบรมของพระวิทยากร โดยตั้งชื่อกิจกรรมนั้นว่า “เพราะทุกที่มีเรื่องเล่า” ...

กิจกรรมที่ว่านั้น ผมและทีมงานแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ เช่นเคย ให้แต่ละกลุ่มไปศึกษาเรื่องราวใดก็ได้ที่ปรากฏในวัดป่าวังเลิง เสร็จแล้วให้ทำการประมวลความรู้ หรือถอดบทเรียนเหล่านั้นร่วมกัน พร้อมๆ กับการสื่อสารด้วยภาพวาดและนำเสนอให้เพื่อนทุกคนได้รับรู้-รับฟังร่วมกันอีกรอบ




แน่นอนครับ กิจกรรมที่ว่านี้ แทนที่ผมและทีมงานจะเชิญวิทยากรในวัดที่เป็นทั้งพระและญาติโยมมาบรรยายให้นิสิตฟัง หรือไม่ก็มอบหมายให้ลูกทีมสักคนไปทำการค้นคว้ามาบรรยายให้นิสิตฟังเองก็ได้ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น ผมกลับย้ำให้นิสิตได้ไปเรียนรู้ด้วยตนเอง สุดแท้แต่พวกเขาจะสืบค้นด้วยวิธีการใดก็ตามเถอะ ขอให้มีข้อมูลมานำเสนอก็เป็นพอ ...

ดังนั้น กระบวนการเช่นนั้น จึงไม่เพียงสอนให้นิสิตได้เรียนรู้ด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นกระบวนการของการฝึกให้พวกเขาทำงานกันเป็นทีม เรียนรู้กันเป็นทีม และสังเคราะห์ความรู้นั้นเป็นทีมไปในตัว

ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นชมว่า พวกเขาสามารถเสาะแสวงหาความรู้ผ่านสถานที่ พระสงฆ์ แม่ชี คนสวน คนงานก่อสร้าง หรือญาติโยมที่เข้าๆ ออกภายในวัดได้อย่างแทบไม่น่าเชื่อ...





เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ใช่ว่าผมและทีมงานขี้เกียจที่จะทำหน้าที่เป็นคนบรรยายให้ความรู้เสียเมื่อไหร่ แต่เราก็คิดเองว่า การให้เขาเลือกเรียนรู้ในเรื่องที่สนใจด้วยตัวของเขาเองน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสม และยิ่งหากการเรียนรู้ของเขาเกิดขึ้นจากวิธีการของเขาเอง ผมก็เชื่อว่า มันคือสิ่งที่เราต้องชื่นชม-ให้กำลังใจและเปิดทางให้กับการเรียนรู้นั้นๆ อย่างไม่อิดออด

สำหรับผมและทีมงานนั้น จะถอยออกมารับช่วงการถอดบทเรียนปิดท้ายเกี่ยวกับองค์ความรู้ของสถานที่นั้นอีกรอบ ทั้งในมิติของการบอกเล่าแบบเป็นกันเองและการนำเสนอด้วยวิถีทัศน์ที่เน้น “สนุกสนานและเบิกบานด้วยความรู้” (บันเทิงเริงปัญญา) แทน...




เป็นที่น่ายินดีว่า กิจกรรมทั้งปวงนั้นเป็นไปด้วยดี ไม่เบื่อ ไม่ง่วงเหงา ...แต่ละกลุ่มนำเสนอเรื่องราวของการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างน่าฟัง ทั้งตำนานการสร้างเจดีย์ในวัด ตำนานพญานาคกับความเชื่อของชาวบ้านและวิถีพุทธ หรือแม้แต่ต้นไม้สำคัญๆ ในวัดก็ถูกนำเสนออย่างชวนฟัง ฯลฯ -

ที่สุดแล้ว เรื่องทั้งหมดนั้นยังถูกนำไปเผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์สีช่อง 7 ทำเอาหลายต่อหลายคน หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง


หมายเลขบันทึก: 299230เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2015 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (39)

สุดยอดจริงๆค่ะอาจารย์พนัส มาเรียนรู้กระบวนการด้วยค่ะ เผื่อจะนำไปใช้กับคนไข้มะเร็งเเละครอบครัว กุ้งชอบการทำกิจกรรมเเบบนี้ค่ะ มันได้อะไรมากกว่าที่เราคิดไว้ มากกว่าการนั่งฟังบรรยาย ทราบว่าช่วงนี้ยุ่งมากเหรอคะ

เเละรู้สึกประทับใจภาพวาดที่งดงามของเเต่ละกลุ่ม ทำไมเขาวาดได้สวยจังคะ

สวัสดีครับ..

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ..
ผมขอสารภาพตามตรงเลยว่า..ยุ่งมากจริงๆ...
ส่วนใหญ่เดินทางบ่อยมาก
หลุดลอยออกไปจากสำนักงานและวิถีความรื่นรมย์พอสมควร

กิจกรรมในครั้งนี้...
พยายามอย่างมากเพื่อมิให้นิสิตเกิดความรู้สึกว่าเป็นค่ายธรรมะที่เน้นการปฏิบัติธรรมเสียทั้งหมด การนำเอากระบวนการเหล่านี้เข้าไปเติมแต่ง ช่วยให้กิจกรรมผ่อนคลายมากขึ้นเลยทีเดียว

สำคัญคือ..นิสิต ได้คิดเอง ทำเอง...และได้เรียนรู้คนรอบข้างไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้เรื่องราวของสถานที่ที่เขาไปพิงพักไปในตัว...

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

  • กิจกรรมที่ดูมีน้อยและอ่อนกำลังมากที่สุดในมหาวิทยาลัย หาได้แตกต่างจากโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่
  • กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและสิ่งแวดล้อมมีน้อยมาก  หนักไปทางการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทุกรูปแบบ 
  • อะไรก็ได้ขอให้GPAสูงเข้าไว้ การแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น เห็นแก่ตัว ขาดสัมมาคารวะ
  • ล้วนแล้วแต่เห็นเป็นเรื่องธรรมดาของผู้เรียนผู้สอนยุคปัจจุบัน ท้อมากค่ะในช่วงแรก
  • วันนี้โครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้ก่อเกิดขึ้นโดยกระบวนการคิดเชิงระบบ
  • สำเร็จเป็นต้นแบบแล้วโดยเด็กห้องท้าย ม.6/8 ของที่นี่ค่ะ
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/298307
  • พวกเขาส่วนหนึ่งใฝ่ฝันอยากมาเป็นนิสิตที่นี่..มหาวิทยาลัยมหาสารคาม...
  • ฝันที่อยากจะไป ได้แต่เป็นกำลังใจแนะนำส่งเสริมเขาเท่าที่จะทำได้ค่ะ
  • ...ช่วงนี้แป๋มเองก็ภาระหนักเหมือนกันค่ะ..มากถึงมากที่สุด..เริ่มมีอาการไม่สบาย..

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

ก่อนอื่น ผมต้องเอ่ยว่าเป็นกำลังใจให้ทุกวิถีก้วนะครับ และขอให้สุขภาพแข็งแรงๆ..เป็นพลังแห่งการขับเคลื่อนสิ่งดีงามให้เกิดกับตัวเองและคนรอบข้างเสมอไป

...

ย้อนกลับไปอดีตนั้น  มีคำขวัญ "ตาวิเศษเห็นนะ" ...ก็ถือว่าทรงพลังต่อการปลูกสร้างจิตสำนึก หรือสร้างความตระหนักให้กับผู้คนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนนั้น ฮอตฮิตติดเป็นนิสัยไปด้วยก็มาก ช่วยให้การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีพลังและขยายเป็นเครือข่ายได้อย่างน่าภาคภูมิใจ  แต่ทุกวันนี้  ทุกอย่างดูสวนทางไปจากอดีตค่อนข้างมากมิใช่น้อยเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม หรือธรรมะนั้น  คนหนุ่มสาว มักรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องชวนเบื่อหน่าย เป็นกรอบกติกาที่ชวนอึดอัด  พร้อมๆ กับมองว่า ในวันและวัยของพวกเขานั้น น่าจะมีเสรีต่อการใช้ชีวิตตามวิธีของเขาเอง ซึ่งบ่อยครั้งก็ยังรวมถึงการแหวกขนบจากธรรมเนียมคำสอนของคนแก่คนเฒ่าด้วยก็มาก เพราะถือว่า "ตกยุค-ล้าหลัง" ...ส่วนหนึ่งที่สำรวจและวิเคราะห์แล้วก็คือ นิสิตยังรู้สึกว่าค่ายธรรมะในสมัยเรียนมัธยมนั้น ดูแข็งๆ เข้มๆ ..ไม่ผ่อนคลายสักเท่าไหร่  ส่วนหนึ่งเหนื่อยมากกว่าสนุก ดังนั้นค่ายที่พี่และน้องๆ ทำนั้น จึงพยายามปรับให้หลากหลายเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง...ไม่ติดยึดกับการบรรยายและนั่งปฏิบัติธรรมเสียทั้งหมด บูรณาการการเรียนรู้เรื่องสถานที่และความรู้ที่มีอยู่ในตัวตนของตัวเองไปในตัว...

ยังคิดว่าเทอมหน้าจะวางแผนเรื่องนี้กันอีกรอบ และทำให้เป็นรูปธรรม เปิดรับการเข้าร่วมตามความสมัครใจล้วนๆ เลยทีเดียว...

....

ขอบคุณครับ

กิจกรรมสร้างสรรค์ดีค่ะ

สวัสดีครับ berger0123

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ..
เกี่ยวกับกิจกรรมนี้ ยังคิดจะเล่าต่ออีกสักบันทึก..

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ

- น่าเสียดายไม่ได้เจออาจารย์

- งานเยอะน่าดู

- อยากกลับไปเป็นเด็กจัง

- เผื่อจะได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเขาบ้างค่า

สวัสดีครับ..เพชรน้อย

ช่วงนี้ผมงานยุ่งจริงๆ ครับ บางวันขับรถโผล่พ้นอยู่ในสองจังหวัดเลยก็มี  ไม่ได้นอนห้องมาก็หลายคืน  แต่ทั้งปวงนั้นก็เป็นวิถีการงานแทบทั้งสิ้น

ผมยังมีพลังพอที่จะเป็นเช่นนี้อีกหลายยกอยู่ก็ว่าได้

ขอบคุณครับ

  • เป็นกิจกรรมการเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมที่น่าสนใจมาก..เรียนรู้ด้วยตนเองผสมผสาน
  • ขออนุญาตนำไปประยุกต์ใช้กับลูกศิษย์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาครับ
  • ขอบคุณความรู้ดีๆครับ

ยอดเยี่ยมมากค่ะ

เสียดายที่ไม่ได้พบอาจารย์ที่ขอนแก่น

  • ขอให้ทุกช่วงการเดินทางของชีวิต
  • เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าของการมอบสิ่งดีดี
  • ให้กับมวลชนนะคะ..."พี่แผ่นดิน"

สวัสดีค่ะอ. พนัส...ขอชื่นชมวิธีการคิดหลักสูตร การจัดกิจกรรมให้นักศึกษาได้สัมผัสกับชุมชน หรือรากเหง้า ด้วยวิธีกรอันแยบยล นักศึกษาเก่งมากค่ะ เป็นการเรียนแบบบูรณาการ...นำไปใช่ในการำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคงได้ เชื่อว่าไม่นาน  มมส...จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เดียว...

จะรออ่านนิทานของอาจารย์นะคะนะคะ... ขอนิทานให้เด็กๆด้วยค่ะ...พาคนเก่งมาเยี่ยมค่ะ

 

  • งดงามแท้ น้อ กิจกรรม 
  • จะเอาไปทำบ้างนะครับ 
  • กิจกรรมนี้ชื่อว่า "เพราะทุกที่มีเรื่องเล่า" แล้วเอาไปดัดแปลงเป็นเรื่องศึกษาประวัติชุมชน เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอด คงดีมิใช่น้อยยยยยยยยยย 

สวัสดีครับ

ผมว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม แชร์์วิชั่นได้อย่างดี รวมทั้งจะเป็นการให้เขาเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจได้อย่างมีความสุข เพราะเขาสามารถค้นหาองค์ความรู้ได้เอง

ชื่นชมกระบวนทั้งของอาจารย์และตัวนักศึกษาเองครับ

ขอบคุณครับ

กิจกรรมเหล่านี้ จะได้ติดในมโนสำนึกของนักศึกษาไปในอนาคต อาจจะช่วยให้เค้าได้เผชิญชีวิตได้อย่างดีค่ะ คุณแผ่นดิน

สวัสดีครับพี่

กิจกรรมดีๆ อย่างนี้ ขออนุญาตินำไปเป็นต้นแบบการทำค่ายธรรมะ ที่บ้านเกิดด้วยนะครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ ส่วนรายละเอียดเนื่อในนั้นจะต้องขอไปรับด้วยตนเองเลยนะครับ

เห็นพัฒนาการด้านกิจกรรมของนิสิตมหาลัยที่ตัวเองเคยอยู่มาแล้วอดปลื้มใจไม่ได้ ยังงัยก็รักษาสุขภาพนะครับพี่

สวัสดีค่ะอาจารย์  ชอบชื่อบันทึกนี้ค่ะ “เพราะทุกที่มีเรื่องเล่า” ... เมื่อเวลาผ่านไปก็จะกลายเป็นอดีตและเก็บไว้ในความทรงจำ 

  • ไม่แปลกใจเลยที่เด็กยุคนี้สมัยนี้ มักจะไม่จดจำเรื่องราวในอดีตและต้องใช้เวลาคิดและหวนถึงอย่างยาวนาน หลายอย่างในชีวิตเลือนหายไปเพราะเขาไม่ได้ถูกเลี้ยงดูปลูกฝังให้สัมผัสกับความงดงามจากธรรมชาติรอบตัว
  • สิ่งที่เขาได้สัมผัส คือสภาพแวดล้อม สังคมที่เต้นเต้นเร้าใจ กระแสการไหล่บ่าของวัฒนธรรมของต่างชาติ  ตื่นเต้นเร้าใจกับแสงสี เทคโนโลยีไฮเทค จนดูเหมือนจะกลายเป็นวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว  ใครมัวแต่ชื่นชมกับวัฒนธรรมไทย รักธรรมชาติ ก็ถูกาว่า เอ๊า!.. เชย....
  • การที่อาจารย์ริเริ่มนำกระบวนการขับเคลื่อน “ธรรมะในสถานศึกษา”  ให้เป็นรูปธรรม เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ อยากให้ทุกมหาวิทยาลัยร่วมกันขับเคลื่อนด้วย
  • ไม่อยากให้โรงเรียนหรือสถานศึกษามุ่งเน้นเรื่องเรียน ติวให้เก่งอย่างเดียว มี IQ แต่ขาด EQ MQ และ AQ ไม่มีคุณธรรม และไม่สามารถเผชิญปัญหาและความยากลำบาก ...เพราะปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน....
  • ในโรงเรียนมัธยมศึกษา ก็กำลังมุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรม มีกิจกรรมหลายรูปแบบในการปลูกฝังและส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวของเขา.... ถ้าร่วมแรงร่วมใจกัน คิดว่าสังคมก็จะค่อยๆ ดีขึ้นค่ะ

หวัดดีคะ พี่หน่อยมาชวนแผ่นดินพาลูกศิษย์ เข้าค่ายสุขแท้ด้วยปัญญา ที่สุรินทร์ 12 -17 ต.ค.จ้า

ถูกต้องแล้วท่านแผ่นดิน Learn How to Learn ครับ

สวัสดีครับ. อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

อันที่จริง นิสิตบอกเล่าเรื่องราวคติความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคมากอย่างน่าสนใจ  โดยปากคำชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เดิมปั้นเป็นรูปเทวรูปด้วยซ้ำไป แต่มีนิมิตฝันว่าให้เปลี่ยนเป็นการปั้นพญานาคแทน  เพราะที่นี่เป็นอารยะธรรมุ่มน้ำโขง ไม่ใช่อารายธรรมของขอมโบราณ

นั่นคือเรื่องเล่าที่ชวนคิด...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ครูอรวรรณ

ผมเองก็เสียดายที่ไม่ได้ไปร่วมงานที่ขอนแก่น..เป็นช่วงที่หลบไม่พ้นภารกิจนานาประการ ซึ่งที่จริงก็เป็นเช่นนี้มานานแล้ว ...
ไว้โอกาสหน้า..คงได้พบเจอกัน นะครับ

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

ขอบคุณสำหรับกำลังใจนะครับ.
การงานยังเป็นความรื่นรมย์สำหรับพี่เสมอ...
และยังไงเสีย ก็ขอเป็นกำลังใจให้เช่นกัน นะครับ...

สู้ๆ....

สวัสดีครับ พี่แดง

ไม่มีโอกาสได้ไปทักทายที่ขอนแก่นด้วยตนเอง  ได้แต่ฝากกำลังใจไปอย่างไม่หยุดหย่อน..
สำหรับบันทึกเกี่ยวกับนิทานนั้น เป็นบันทึกถัดไป...
ตอนนี้เขียนเสร็จและลงในบล้อกเรียบร้อยแล้ว
เชิญไปแวะเยี่ยมได้เลย นะครับ

สวัสดีครับ..ตาเหลิม

เห็นด้วยนะครับว่ากิจกรรมนี้สามารถเชื่อมโยงไปถึงการเรียนรู้เรื่องประวันติของชุมชนได้เป็นอย่างดี  ผมเองก็มองในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้ลงกระบวนการอะไรในเชิงลึก  เพราะติดขัดด้วยเวลาอันน้อยนิดของกิจกรรม และจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ก็มุ่งไปในเรื่องการปลุกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเสียมากกว่า  อีกทั้งเงื่อนไขวิทยากรที่มาจากภายนอกก็เป็นตัวแปรที่ทำให้เราไม่สามารถลงรายละเอียดอะไรมากกับกิจกรรมนี้ แต่ก็ถือว่า  ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี...นิสิตก็มีความสุขกับการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณบินหลาดง

ขออนุญาตนำทัศนะมากล่าวย้ำอีกรอบนะครับ 

ผมว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม แชร์์วิชั่นได้อย่างดี รวมทั้งจะเป็นการให้เขาเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจได้อย่างมีความสุข เพราะเขาสามารถค้นหาองค์ความรู้ได้เอง

...

ขอบคุณมากครับ ชัดเจนและทำให้บันทึกของผมดูดีขึ้นมาเยอะเลย..

 

สวัสดีครับ พี่ใบบุญ

กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมปลูกฝังทัศนคติ ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานมาก ซึ่งยังต้องรวมการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน  เพราะทุกวันนี้ เยาวชนมีทางลือกที่แปลกแยกให้เลือกเยอะเหลือเกิน  ใครต้นทุนไม่ได้ ก็ตกไปในเส้นทางนั้นได้โดยง่าย...ในสถานะของการศึกษา ก็ทำได้ดีที่สุดคือการให้การศึกษาเพื่อสร้างภูมิต้านทานแก่พวกเขาเป็นหลักสำคัญ  ส่วนจะเกิดผลแค่ไหน ยังมีปัจจัยอีกมากมายเป็นตัวกำหนด

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์....

อึ้งไปครู่นึงเลยค่ะ เมื่ออ่านและดูภาพจบ...

เป็นกิจกรรมที่ประณีต มากๆ เลยค่ะ งดงามมากๆ ค่ะ

พอลล่า จะหาคำไหนมีบอกอาจารย์ดีคะ ...

ขอบคุณมากค่ะ

จะหาคำไหนมาบอกอาจารย์ อิอิ...พิมพ์ผิดค่ะ

ขอโษค่ะ

เยี่ยมยอดมากเลยครับ...

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนนะครับ

(๑) มหาวิทยาลัย รวมทั้งสถานศึกษาต่าง ๆ นิยาม "ธรรม" ไม่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ในปัจจุบัน ยังยึดติดกับนิยามเก่าที่บริบทและสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว กิจกรรมที่เกี่ยวกับ "ธรรม" จึงทั้ง "เฉิ่ม" และ "เชย" เข้ากันได้ยากกับคนรุ่นใหม่ จริงอยู่แม้จะเข้าถึงได้บ้าง โปรดพึงสังเกตุเยาวชนเหล่านั้น แม้ไม่ต้องเข้าร่วมเขาก็รอดอยู่แล้ว และที่สำคัญเป็นคนกลุ่มน้อย

(๒) กิจกรรมของอาจารย์ เยี่ยมจริง ๆ ครับ ขอคิดต่อครับ...กิจกรรมนี้สามารถต่อยอดได้อีก เช่นสามารถทำให้เขาเห็นได้ว่าความเพียรของตนเองเป็นปัจจัยภายในที่ควบคุม/สร้างได้ เป็นที่มาของความสำเร็จ และความไม่ประสพผลสำเร็จอาจมาจากความเพียรของตนเองยังไม่เพียงพอ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ น้องต้อม ดอกคูน

ค่ายที่บ้านเกิด
มีอะไรให้พี่และทีมงานได้ช่วยเหลือ...บอกได้เลยนะครับ..อย่าได้เกรงใจ

สู้ๆ..
พี่เป็นกำลังใจให้นะครับ

กิจกรรมจรรโลงใจจรรโลงโลกดีจังค่ะ...ยอดเยี่ยมน่าชื่นชมค่ะ...เป็นเราก็ชอบเรียนแบบนี้ค่ะ..

ดีใจแทนเด็กๆและผู้ปกครอง เขาจะซึมซับโดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด

ลูกๆเรียนที่นี่ ดีใจทุกครั้งที่ลูกเล่าถึงการร่วมเข้าค่าย (เชิงจริยธรรม)

เป็นกำลังใจและชื่นชมคนจริงใจค่ะ (คนกาฬสินธุ์ จังแมนเก่งเนาะ เป็นตาฮักอีหลีจริงๆ)

สวัสดีครับ ครูใจดี

ขอบพระคุณทัศนะอันดีงามและสร้างสรรค์ที่นำมาฝากช่วยเติมให้บันทึกของผมน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว...

โดยปกติแล้ว  เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เด็กๆ หรือเยาวชนมีทัศนคติที่ว่า "เรื่องธรรมะ" เป็นเรื่องของคนแก่คนเฒ่า หรือคนสูงอายุเท่านั้น  ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมที่คุ้นชินว่า บั้นปลายชีวิตคนเรามักหันหน้าเข้าพึ่งพาวัดนั่นแหละ

ผมคิดว่าการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนนั้นเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากๆ...ผมไม่แน่ใจว่าวิชาว่าด้วย "พลเมืองดี"  (ทำนองนี้)  ยังมีอีกหรือไม่..

เช่นเดียวกับเวลาเข้าค่าย เพลงที่เราเคยได้ยินเสมอๆ..ก็เช่น ตรงต่อเวลา...ความซื่อสัตย์ ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ผมได้รับการเสพสัมผัสจากกระบวนการทางการศึกษามาตั้งแต่เด็ก และมันก็ "ฝังหัว" ตัวเองมาอย่างเนิ่นนานเหมือนกัน...

หรือแม้แต่การสอนเรื่องวันสำคัญทางศาสนา สมัยก่อนก็สอนด้วยเพลง เช่น มาฆบูชา..เข้าพรรษา วันเหล่านี้มีเพลงให้ร้องและท่องจำง่ายๆ ..สนุกๆ..แต่ได้สาระครบถ้วน แต่พอถามเด็กนักเรียนทุกวันนี้  พวกเขาไม่รู้เรื่องเพลงเหล่านี้เลย  มิหนำซ้ำไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้เลยก็ว่าได้...

นี่คือปรากฏการณ์ที่ชวนสะท้อนใจไม่ใช่น้อย...

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับ พี่หน่อย ดอกแก้ว

ผมสนใจกิจกรรมที่คุยกันมาก และกำลังหาทางออกที่ดีที่สุดในการไปผนึกกำลังช่วยพี่หน่อย เพราะที่จริงนั้น  เดือนตุลาคมทั้งเดือน ผมมีคิวกิจกรรมยาวเหยียดไม่เว้นวันเลยทีเดียว

แล้วผมจะติดต่อกลับไปนะครับ...แต่เบื้องต้นนี้  ส่งกำลังใจไปให้ก่อนแล้วกัน

สุขภาพกายและใจแข็งแรงๆ นะครับ..

 

สวัสดีครับ อ.JJ


ขอบพระคุณสำหรับบทสรุปที่สั้นกระชับและมีพลังนี้นะครับ
 Learn How to Learn

สวัสดีครับ.♥paula ♥ที่ปรึกษาตัวน้อย✿

มาพร้อมคำชมหวานๆ ทำเอาผมตัวลอยลิบลิ่ว เลยนะครับ..
ก็ไม่มีอะไรมากเลย..
"พูดในสิ่งที่ทำ-ย้ำในสิ่งที่มี"  เท่านั้นเอง

ขอบคุณครับ

เข้ามาเรียนรู้และขอชื่นชมกับการบูรณาการกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่น่าเบื่อ...การค้นคว้าหาความรู้แบบนี้ทั้งสนุกสนานและทำให้เด็กๆ ได้รู้จริง เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้ที่พวกเขาค้นคว้าและสังเคราะห์องค์ความรู้ออกมาบอกเล่าแก่คนอื่นๆ ได้ด้วย...ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ...

เป็นสุดยอดในการสอน การสอนที่ดี คือ ไม่ต้องสอน ให้เขาสอนโดยตัวเขาเองครับ

นี่แหละผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่ครูควรหันกลับมามองครับ ชื่นชมเทคนิคการสอนแบบใหม่

พี่พนัสคะ

  • มาเล่าเรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่องที่นี่ค่ะ
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/303788
  • พี่ช่วยให้กำลังใจพวกเขาเหมือนกับที่มีให้แป๋มด้วยนะคะ
  • เพราะพี่เป็นตัวแบบที่ดีให้กับของครูของเขา (คนนี้) 
  • เด็กๆคงดีใจมากที่รู้ว่าพี่ไปให้กำลังใจค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท