เคล็ดลับการเป็นนักประเมินที่ดี


การจะเริ่มเป็นนักประเมินก็ต้องเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ก่อน อีกทั้งต้องมีเจตคติที่ดีต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น หัดคิดเชิงบวก(แม้จะแก้ยาก) คิดอย่างสร้างสรรค์ ต้องฝึกทักษะการสื่อสาร การวัด การประเมินผล การคิดวิเคราะห์ คิดให้รอบคอบ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

บันทึกการเรียนรู้

Topic 14: Evaluation as a management tool

แบ่งบันความรู้โดย..รศ.ดร.มานพ  คณะโต     ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เก็บออมความรู้โดย..เกศรา  แสนศิริทวีสุข     นักศึกษาสาขาพัฒนาสุขภาพชุมชน 2.1 มข.
            การประเมินในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำอยู่ทุกวัน วันละหลายครั้ง มนุษย์เราประเมินทางเลือก เพื่อการตัดสินใจ เช่น ประเมินอาหารว่าจะกินอะไรดีในแต่ละมื้อ  ประเมินผู้คนรอบข้าง เพื่อตัดสินใจว่าจะคบกับใครดี จะเชื่อคำพูดใคร ตลอดจนประเมินงานที่กองสุมอยู่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรดี ก่อน-หลัง แต่สำหรับการประเมินผลตามหลักวิชาการมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการประเมินที่เราใช้อยู่ทุกวันตรงที่เราต้องทำอย่างดีที่สุด (best practices or best evaluation) โดยที่การประเมินเป็นงานชนิดหนึ่ง ซึ่งยิ่งทำมากเท่าไหร่      นักประเมินก็จะมีความรู้ ความชำนาญ และทำการประเมินได้ดีมากขึ้นตามลำดับ วันนี้จึงขอรวบรวมเคล็ดลับการเป็นนักประเมินที่ดี..ของมืออาชีพท่านหนึ่งมาฝาก คือท่านอาจารย์มานพ คณะโต เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่สะสมประสบการณ์อย่างมากมายในการเป็นนักประเมินทั้งโครงการและองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในและต่างประเทศ ดังนี้

องค์ความรู้ในการประเมินจะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ ดังนี้ 1) Methodology วิธีการต้องรู้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (โดยเฉพาะเชิงคุณภาพจะขาดไม่ได้)  2) Content of organization เช่น จะประเมินโครงการต้องรู้ในรายละเอียดของโครงการ ถ้าประเมินองค์กรก็ต้อง เรียนรู้บทบาทองค์กรและต้องเข้าใจขั้นตอนการทำงาน  3) Professional adjustment การตัดสินใจว่าอะไรดี ไม่ดี มีคุณค่า ไม่มีคุณค่า ต้องมีความเป็นมืออาชีพ และยังมี   สิ่งสำคัญในการประเมินผล คือ การกำหนดจุดมุ่งหมายและเป้าประสงค์ การศึกษาข้อมูล     พื้นฐานก่อนดำเนินโครงการ พิจารณาเรื่องสิ่งแทรกแซง การวัดตัวแปรและเกณฑ์การตัดสิน กระบวนการดำเนินโครงการ ผลลัพธ์และ ผลกระทบ รูปแบบของการประเมินผลจะมีทั้งการประเมินระหว่างดำเนินการ และประเมินรวบยอด โดยสิ่งที่สำคัญของการประเมินระหว่างดำเนินการ คือ ผู้ประเมินต้องชี้แนะทางออกในการแก้ไขปัญหาให้ผู้รับประเมินได้ ส่วนการประเมินรวบยอด  เป็นการประเมินหลังเสร็จสิ้นโครงการ ประเด็นที่น่าจะต้องให้ความสนใจคือ โครงการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โครงการคุ้มค่าสมควรขยายผลหรือไม่  โครงการมีประสิทธิผลอย่างไร  และจะสรุปเกี่ยวกับโครงการและปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆได้อย่างไร  นอกจากนี้ยังมีการประเมินแบบเสริมพลังอำนาจ ซึ่งเป็นการประเมินตามแนวคิดพื้นฐานของ Action research ที่เป็นกระบวนการที่กระทำเพื่อช่วยให้บุคคลต่างๆช่วยตนเอง และพัฒนาตนเอง โดยใช้วิธีการประเมินตนเองและสะท้อนผลแก่ตนเอง ข้อค้นพบจากการประเมินจะนำไปกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงการกำกับตนเอง โดยใช้ทั้งวิธีเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งถ้าใครสนใจจะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมอาจารย์ก็แนะนำให้ศึกษาจากผลงานของ David M. Fetterman ที่มีอยู่ตอนนี้ 3 เล่มด้วยกัน

             พูดถึงหลักการคร่าวๆของการประเมินไปแล้ว ก็ยังมีเคล็ดลับอื่นๆที่อาจารย์แถมให้อีก คือ การจะเริ่มเป็นนักประเมินก็ต้องเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ก่อน อีกทั้งต้องมีเจตคติที่ดีต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น หัดคิดเชิงบวก(แม้จะแก้ยาก) คิดอย่างสร้างสรรค์ ต้องฝึกทักษะการสื่อสาร การวัด การประเมินผล การคิดวิเคราะห์  คิดให้รอบคอบ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญต้องมีจรรยาบรรณในการประเมิน   สุดท้ายถ้าท่านนำไปใช้แล้วและได้มีการพัฒนาเทคนิคการประเมินผลของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อแน่ว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งเชิงบวกและลบ จะเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าที่จะช่วยให้ท่านก้าวสู่มืออาชีพได้ในที่สุด (ถึงท้อก็อย่าถอยนะคะ..)

หมายเลขบันทึก: 298232เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท