เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์


เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ 1. ความหมายของคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

1. ความหมายของคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

1. ความหมายของคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์(computer) หมายถึง อุปกรณ์อิเลคทรอนิกที่ใช้ในการจัดการข้อมูลที่มีหน่วยประมวลผลกลาง (CPU:Central Processing Unit) ทำหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูล(คำนวณและตรรกะ) แล้วนำข้อมูลไปเก็บไว้ในหน่วยความจำ(Memory Unit) และนำข้อมูลออกมาแสดงผลทางหน่วยแสดงผลข้อมูล (Output Unit)


คุณสมบัติของคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการเก็บข้อมูลไว้ได้เป็นจำนวนมากและสามารถเรียกมาใช้งานได้เมื่อต้องการ และยังมีความเร็วในการคำนวณสูงจึงสามารถนำไปใช้กับงานได้ดังนี้
• งานคำนวณที่สลับซับซ้อนมาก เช่น สูตรทางคณิตศาสตร์
• งานที่มีปริมาณข้อมูลเป็นจำนวนมาก เช่น การคำนวณภาษีเงินได้
• งานที่ต้องทำเป็นประจำ เช่น การค้นหาประวัติลูกค้า การทำบัญชีรายวัน
• งานที่ต้องการความถูกต้องสูง เครื่องคอมพิวเตอร์จะทำตามคำสั่งได้อย่างแม่นยำ

2. วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์
การแบ่งวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ จะแบ่งออกเป็นยุค ๆ ตามลักษณะโครงสร้างและเทคโนโลยีของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยสามารถแบ่งได้เป็น
2.1 คอมพิวเตอร์ยุคแรก (ค.ศ. 1951-1958)
• เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้กำลังไฟฟ้าสูง เพราะมีขนาดใหญ่ จึงมีปัญหาเรื่องความร้อน และไส้หลอดขาดบ่อย
• ใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และหลอดสุญญากาศ
• การทำงานใช้ภาษาเครื่อง (Machine Language)
• คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่ถูกใช้งานในเชิงธุรกิจ คือ UNIVAC
• ตัวอย่างของเครื่องคอมพิวเตอร์ยุคแรก ได้แก่ มาร์ค วัน (MARK 1), อินีแอค (ENIAC), ยูนิแวค (UNIVAC)
2.2 คอมพิวเตอร์ยุคที่สอง (ค.ศ. 1959-1964)
• เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์ (transistor) แทนหลอดสุญญากาศ
• มีความเร็วที่สูงกว่า มีความถูกต้องแม่นยำ และประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่า
• เครื่องมีขนาดเล็ก ใช้กำลังไฟฟ้าน้อยและราคาถูกลง
• ใช้วงแหวนแม่เหล็กที่ทำขึ้นจากสาร ferromagnetic เป็นหน่วยเก็บความจำ
• ในช่วงต้น ค.ศ.1960 ได้เริ่มมีอุปกรณ์เก็บข้อมูลสำรองในรูปของสื่อบันทึกแม่เหล็ก เช่น จานแม่เหล็ก และดิสก์ มาใช้ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง
• ภาษาที่ใช้เป็นภาษาระดับสูง ซึ่งเป็นภาษาที่เขียนเป็นประโยคที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ เช่น ภาษาฟอร์แทน ภาษาโคบอล
2.3 คอมพิวเตอร์ยุคที่สาม (ค.ศ. 1965-1971)
• เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับคอมพิวเตอร์ เพราะมีการคิดค้น
• วงจรรวม (Integrated Circuit) หรือ IC ซึ่งสามารถทำงานได้เท่ากับทรานซิสเตอร์หลายร้อยตัว
• เครื่องคอมพิวเตอร์จึงมีขนาดเล็กลง ความเร็วเพิ่มขึ้น และใช้กำลังไฟน้อย
• โครงสร้างคอมพิวเตอร์มีการออกแบบที่ซับซ้อนขึ้น
• ภาษาที่ใช้ได้แก่ ภาษาโคบอล (COBOL) และภาษาพีแอลวัน (PL/1)
2.4 คอมพิวเตอร์ยุคที่สี่ (ค.ศ. 1972-1980)
• เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่ใช้วงจรรวมความจุสูงมาก (Very Large Scale Integration : VLSI)
• ขนาดของเครื่องคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงหรือไมโครคอมพิวเตอร์ เป็นแบบตั้งโต๊ะ หรือพกพาได้
• ทำงานเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
• ใช้สื่อข้อมูลพวกเทปแม่เหล็ก หรือ จานแม่เหล็ก
• ภาษาที่ใช้เป็นภาษาใหม่ ๆ เช่น ภาษาเบสิก (BASIC) ภาษาปาสคาล (PASCAL) และภาษาซี (C)
• ซอฟต์แวร์มีการพัฒนามาก มีโปรแกรมสำเร็จใหเลือกใช้กันมากขึ้น
2.5 คอมพิวเตอร์ยุคที่ห้า (ค.ศ. 1980-ปัจจุบัน)
• คอมพิวเตอร์ในยุคนี้ใช้เพื่อช่วยในการจัดการ การตัดสินใจ และแก้ปัญหา โดยจะมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ เมื่อต้องการใช้งานก็สามารถเรียกข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้ในการทำงานได้
• คอมพิวเตอร์ในยุคนี้เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)
• มีการใช้คอมพิวเตอร์ทำงานด้านกราฟิกอย่างแพร่หลายมากขึ้น
• ขนาดเครื่องมีแนวโน้มเล็กลงและมีความเร็วสูง เช่น โน้ตบุ้ค (NoteBook)
• การปฏิบัติงานต่าง ๆ มีการใช้คอมพิวเตอร์แทนแรงงานมนุษย์
• ซอฟต์แวร์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วขึ้นมาก รวมทั้งการประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์

3. ประเภทของคอมพิวเตอร์
3.1 ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Super Computer)
เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด จึงมีราคาแพงมาก ความสามารถในการประมวลผลที่ทำได้มากกว่าพันล้านคำสั่งต่อวินาที ตัวอย่างการใช้งานคอมพิวเตอร์ประเภทนี้ เช่น การพยากรณ์อากาศ การทดสอบทางอวกาศ และงานอื่น ๆ ที่มีการคำนวณที่ซับซ้อน
3.2 เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (Mainframe Computer)
คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพรองจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์ สามารถรองรับการทำงานจากผู้ใช้ได้หลายร้อนคนในเวลาเดียวกัน ประมวลผลด้วยความเร็วสูง มีหน่วยความจำหลักขนาดใหญ่ ตลอดจนการจัดเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก คอมพิวเตอร์เมนเฟรมนิยมใช้กับองค์การขนาดใหญ่ ที่มีการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้จำนวนมากในเวลาเดียวกัน เช่น งานธนาคาร การจองตั๋วเครื่องบิน การลงทะเบียนและการตรวจสอบผลการเรียนของนักศึกษา เป็นต้น
3.3 มินิคอมพิวเตอร์ (Minicomputer)
เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่าเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ แต่สูงกว่าไมโครคอมพิวเตอร์ และสามารถรองรับการทำงานจากผู้ใช้ได้หลายคนในการทำงานที่แตกต่างกัน จากจุดเริ่มต้นในการพัฒนาที่ต้องการให้คอมพิวเตอร์ประเภทนี้ทำงานเฉพาะอย่าง เช่น การคำนวณทางด้านวิศวกรรม ทำให้การพัฒนามินิคอมพิวเตอร์เจริญอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันธุรกิจและองค์การหลายประเภทนิยมมินิคอมพิวเตอร์มาใช้ในการให้บริการข้อมูลแก่ลูกค้า เช่น การจองห้องพัก ของโรงแรม การทำงานด้านบัญชีขององค์การธุรกิจ เป็นต้น
3.4 คอมพิวเตอร์สถานีงาน (Workstation Computer)
เป็นคอมพิวเตอร์ที่สนับสนุนการทำงานของคอมพิวเตอร์เครือข่าย ซึ่งใช้ในการจัดสรรและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น แฟ้มข้อมูล โปรแกรมประยุกต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์อื่น ๆ
3.5 ไมโครคอมพิวเตอร์ (Mirocomputer)
เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีผู้นิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด ส่งผลให้การพัฒนาเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มีลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (desktop computer) คอมพิวเตอร์พกพา (portable computer) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
• คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (desktop computer) เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (personal computer หรือ PC) ที่มีขนาดเล็กเหมาะกับโต๊ะทำงานในสำนักงาน สถานศึกษาและที่บ้าน
• คอมพิวเตอร์พกพา เป็นไมโครคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กเหมาะสฃแก่การพกพาไปใช้ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น
Notebook computer เป็นคอมพิวเตอร์พกพาที่มีน้ำหนักประมาณ 2-4 กิโลกรัม อุปกรณ์ประกอบด้วยแป้นพิมพ์ขนาดมาตรฐาน ปกติจะมีเครื่องอ่านแผ่นดิสก์ (floppy disk drive) โดยเฉพาะในปัจจุบันจะมีเครื่องอ่านแผ่นซีดีรอม (CD-ROM drive) ด้วย
Subnotebook computer เป็นคอมพิวเตอร์พกพาที่มีขนาดเล็กกว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โดยทั่วไปมีน้ำหนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม เพื่อเป็นการลดขนาดและน้ำหนัก ในบางครั้ง subnotebook จะไม่มีเครื่องอ่านแผ่นดิสก์ และจะใช้การ์ดบันทึกสำหรับงานเฉพาะอย่างแทน
Laptop computer มีน้ำหนักและขนาดใหญ่กว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ปกติจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 4-7 กิโลกรัม น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาจากน้ำหนักของฮาร์ดดิสก์และจอแสดงผลที่มีขนาดใหญ่กว่า
Hand-held computer ออกแบบขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะอย่างและนิยมใช้สำหรับงานที่มีการเคลื่อนย้าย เช่น การนับจำนวนสินค้า เป็นต้น
Palmtop computer เป็นคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้จัดการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ ปฏิทินนัดหมายการประชุม ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ การบันทึกสิ่งที่จะต้องทำ เป็นต้น palmtop ใช้แป้นพิมพ์ที่แตกต่างจากแป้นพิมพ์มาตรฐานและไม่มีฮาร์ดดิสก์สำหรับบันทึกข้อมูล
Pen computer เป็นคอมพิวเตอร์พกพาที่ใช้ปากกาเป็นอุปกรณ์ในการบันทึกข้อมูล ในบางครั้งก็จะใช้ปากกาในการเขียนข้อมูลลงบนหน้าจอ และในบางครั้งอาจจะใช้ปากกานี้สำหรับเป็นอุปกรณ์เพื่อเลือกการทำงานบนจอภาพ ระบบปากกาหรือ pen system นี้ใช้โปรแกรมพิเศษเฉพาะระบบ และเป็นคอมพิวเตอร์ที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการพัฒนาคอมพิวเตอร์ประเภทนี้ ประเภทที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือ personal digital assistant (PDA) หรือ personal communicator

4. องค์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์
ฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ เป็นส่วนประกอบหนึ่งของระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ หมายถึง ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน คือหน่วยรับข้อมูล หน่วยประมวลผลกลาง หน่วยความจำหลัก หน่วยเก็บข้อมูลสำรอง และหน่วยแสดงผล


การจัดการข้อมูลในคอมพิวเตอร์
การเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์นั้น ข้อมูลที่ป้อนเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวเลข ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์พิเศษอื่น ๆ จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ กล่าวคือ ข้อมูลที่จัดเก็บจะมีลักษณะเป็นสัญญาณดิจิตอล (สัญญาณไฟฟ้า) ซึ่งลักษณะการแทนข้อมูลต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์นั้นจะใช้รหัสของเลขฐานสอง (binary number) ประกอบด้วยเลข 2 ตัว คือ 0 และ 1 (0 แทนสัญญาณปิดและ1 แทนสัญญาณเปิด) โดยจะนำตัวเลข 0 และ 1 มาประกอบกันเป็นชุดเพื่อใช้แทนตัวอักษร ตัวเลขและสัญลักษณ์ต่างๆ
ตัวเลข 0 และ 1 ของระบบเลขฐานสองแต่ละตัวจะมีหน่วยเรียกว่าบิต (bit) ซึ่งมาจากคำว่า Binary digit การนำตัวเลข 0 และ 1 เขียนเป็นชุดเพื่อแทนอักขระต่าง ๆ โดยทั่วไปจะประกอบด้วยตัวเลข 0 หรือ 1 จำนวน 8 บิต เรียงกัน เป็นหน่วยใหญ่ขึ้น เรียกว่า ไบต์ (byte) แต่ละไบต์จะสามารถแทนตัวอักษร ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ได้ 1 ตัว

หน่วยประมวลผลกลาง (CPU)
ซีพียู (CPU) เป็นคำย่อของ central processing unit ซึ่งเป็นชิปซิลิกอน (silicon chip) หรือ วงจรรวม (integrated circuit หรือ IC) ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ หน่วยควบคุม (control unit) และหน่วยคำนวณและตรรกะ (arithmetic/logic unit หรือ ALU) ดังมีรายละเอียดดังนี้
• หน่วยควบคุม ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ทุกส่วน เช่น ส่วนรับ ข้อมูล ประมวลผล แสดงผล การจัดเก็บข้อมูล ดังนั้นการทำงานของหน่วยควบคุมจึงถือเป็นหัวใจหลักของระบบคอมพิวเตอร์
• หน่วยคำนวณและตรรกะ ทำหน้าที่คำนวณทางคณิตศาสตร์ (เช่น บวก ลบ คูณ หาร) และเปรียบเทียบทางตรรกะของข้อมูล (เช่น มากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากับ)

การทำงานของหน่วยประมวลผลกลาง (ทั้งหน่วยควบคุมและ ALU) จะมีรีจีสเตอร์ (register) ซึ่งเป็นแหล่งเก็บข้อมูลชั่วคราวที่ช่วยให้ซีพียูสามารถดึงข้อมูลไปประมวลผลได้เร็วกว่าหน่วยความจำธรรมดา

หน่วยความจำหลัก (MAIN MEMORY UNIT)
เป็นวงจรรวมหรือชิปที่ใช้บันทึกโปรแกรมและข้อมูล หน่วยความจำหลักจะบรรจุอยู่บนเมนบอร์ดหรือแผงวงจรหลัก หน่วยความจำบางประเภทก็ถูกออกแบบให้อยู่ในชิปซีพียูเลย
หน่วยของข้อมูลที่จัดเก็บในหน่วยความจำเรียกว่า ไบต์ (byte) ซึ่ง 1 ไบต์ จะประกอบไปด้วย 8 บิต นอกจากนี้ยังมีหน่วยเป็นกิโลไบต์ (kilobyte หรือ KB) ซึ่งมีค่าที่เท่ากับ1,024 ไบต์, เมกะไบต์ (megabyte หรือ MB) มีค่าโดยประมาณหนึ่งล้านไบต์ หรือ 1,024 KB, กิกะไบต์ (gigabyte หรือ GB) มีค่าประมาณหนึ่งพันล้านไบต์หรือหนึ่งล้านกิโลไบต์ และเทราไบต์ (terabyte หรือ TB) มีค่าประมาณหนึ่งล้านล้านไบต์
หน่วยความจำหลักที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมี 3 ประเภท คือ แรม (RAM) รอม (ROM) และซีมอส (CMOS)
1. แรม (RAM)
Random access memory หรือ RAM เป็นอุปกรณ์หรือแผงวงจรที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หน่วยความจำแรม บางครั้งเรียกว่าหน่วยความจำชั่วคราว (volatile) ทั้งนี้เนื่องจากโปรแกรมและข้อมูลที่ถูกเก็บในหน่วยความจำแรมจะถูกลบหายไปเมื่อปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนี้ถ้าต้องการเก็บข้อมูลและโปรแกรมที่อยู่ในแรมไว้ใช้งานในอนาคตจะต้องบันทึกข้อมูลเหล่านั้นลงในหน่วยความจำสำรอง (secondary storage) ก่อนที่จะปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกครั้ง
2. รอม (ROM)
Read-only memory หรือ ROM เป็นหน่วยความจำที่บันทึกข้อสนเทศและคำสั่งเริ่มต้น(start-up) ของระบบ คุณสมบัติเด่นของรอมคือ ข้อมูลและคำสั่งจะไม่ถูกลบหายไป ถึงแม้ว่าจะปิดเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไม่มีกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงแล้วก็ตาม ข้อมูลหรือคำสั่งที่จัดเก็บในหน่วยความจำรอม ส่วนใหญ่จะถูกบันทึกมาจากโรงงานผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ และข้อมูลเหล่านี้จะไม่สามารถลบหรือแก้ไขได้ แต่สามารถอ่านได้ เรียกว่า PROM (Programmable read-only Memory)
3. หน่วยความจำ CMOS
CMOS ย่อมาจาก Computer Metal-oxide Semiconductor เป็นหน่วยความจำที่ใช้เก็บข้อสนเทศที่ใช้เป็นประจำของระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ประเภทของแป้นพิมพ์ เม้าส์ จอภาพ และเครื่องอ่านแผ่นดิสก์ (disk drive) CMOS ใช้กระแสไฟจากแบตเตอรี่ ดังนั้นเมื่อปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ข้อสนเทศในCMOS จึงไม่สูญหาย ลักษณะเด่นของ CMOS อีกอย่างหนึ่งคือ ข้อสนเทศที่บันทึกใน CMOS สามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น การเพิ่ม RAM และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ

หน่วยรับข้อมูล (Input Unit)
หมายถึง กระบวนการป้อนข้อมูล คำสั่ง โปรแกรมเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการโต้ตอบของผู้ใช้โปรแกรมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์ซึ่งสามารถป้อนข้อมูลและคำสั่ง หรือโปรแกรมเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ได้
การรับข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่รับข้อมูลและโปรแกรมเข้าสู่ระบบโดยผ่านทางอุปกรณ์รับข้อมูล

อุปกรณ์รับข้อมูล (Input Devices)
สามารถจำแนกได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้
1. อุปกรณ์แบบกด (Keyed Device) ได้แก่ แป้นพิมพ์ หรือ keyboard แป้นพิมพ์เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งจะประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก ๆ ดังนี้
• แป้นอักขระ
• แป้นตัวเลข
• แป้นฟังก์ชั่น
• แป้นลูกศร
• แป้นควบคุม
2. อุปกรณ์ชี้ตำแหน่งและวาดรูป (pointing and drawing devices) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของตัวชี้ตำแหน่ง (pointer) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทำงานอยู่บนจอภาพคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ชี้ตำแหน่งใช้เป็นอุปกรณ์ที่รับข้อมูลเข้าสู่ระบบ โดยอุปกรณ์ชี้ตำแหน่งและวาดรูปที่นิยมใช้มีดังนี้
• เม้าส์(mouse) ทำงานผ่นสายเคเบิ้ล ปัจจุบันจะมีเม้าส์ชนิดไร้สายติดต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยใช้แสงอินฟาเรดและคลื่นสัญญาณ และบางชนิดมีแท่งชี้ควบคุมอยู่บนตัวเม้าส์ ด้านบนของตัวเม้าส์จะมีปุ่มกดหนึ่งปุ่มหรือมากกว่า
• ลูกกลมควบคุม (trackball) เป็นอุปกรณ์ชี้ตำแหน่งคล้ายเม้าส์ ต่างกันที่ลูกบอลของ trackball จะอยู่ด้านบน
• แผ่นสัมผัส (touchpad) เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมระนาบที่ใช้การเคลื่อนไหวของนิ้วมือ เพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของตัวชี้ตำแหน่ง แผ่นสัมผัสนิยมใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาเช่นเดียวกับ trackpoint
• จอยสติก (joystick) ใช้ควบคุมการเคลื่อนที่ของตัวชี้ตำแหน่งเหมือนเม้าส์ แต่จอยสติ๊กจะมีปุ่มกดเพิ่มเติมเพื่อสั่งงานเฉพาะอย่าง ขึ้นอยู่กับชนิดของโปรแกรมที่ใช้ นิยมใช้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ และควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์
• ปากกาแสง (light pen) ใช้สัมผัสกับจอภาพ เพื่อใช้ชี้ตำแหน่งและวาดข้อมูล นิยมใช้กับงานออกแบบ
• Digitizer ทำหน้าที่แปลงข้อมูล (อ่านพิกัด) ที่เป็นเส้นตรง เส้นโค้ง ภาพวาด หรือภาพถ่าย ให้เป็นสัญญาณดิจิตอล แล้วถ่ายทอดสัญญาณไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์
• Graphics tablet ทำงานลักษณะเดียวกับ digitizer ต่างกันที่จะมีอักขระและคำสั่งพิเศษสำเร็จรูปอยู่บนแผ่น tablet นิยมใช้สำหรับงานออกแบบสถาปัตยกรรม
• จอภาพสัมผัส (touch screen) เป็นจอภาพชนิดพิเศษให้ผู้ใช้งานใช้นิ้วสัมผัสบนจอภาพเพื่อป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ เช่น การให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหารจานด่วน ตู้เกมตามศูนย์การค้า เป็นต้น
• สมุดบันทึกคอมพิวเตอร์ (digital notebook) ประกอบด้วยกระดาษโน้ตหรือกระดาษที่ใช้เขียนวางอยู่บนแผ่นอิเล็คทรอนิคส์ แล้วใช้งานร่วมกับปากกาชนิดพิเศษ
3. อุปกรณ์กวาดข้อมูล (scanning devices) เป็นอุปกรณ์เพื่อใช้บันทึกข้อความ ภาพวาด หรือสัญลักษณ์พิเศษอื่น ๆ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีหลักการทำงาน คือ อุปกรณ์จะทำการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตอลที่สามารถนำไปประมวลผลและแสดงผลบนจอภาพได้ ได้แก่
• สแกนเนอร์ (scanner) ทำการแปลงข้อความหรือภาพจากเอกสารต้นฉบับให้อยู่ในรูปของข้อมูลดิจิตอล สามารถจัดเก็บและประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ได้
• เครื่องอ่านรหัสบาร์โค้ด (bar code reader) ประกอบด้วยเส้นตรงแนวตั้งและช่องว่างที่มีขนาดแตกต่างกัน ปกตินิยมใช้พิมพ์หรือติดบนผลิตภัณฑ์ หรือพิมพ์เป็นฉลากเพื่อติดกับผลิตภัณฑ์
• เครื่องอ่านเครื่องหมายด้วยแสง (Optical Mark Recognition : OMR) ใช้สำหรับประมวลผลข้อมูลจากแบบสอบถาม หรือกระดาษคำตอบคอมพิวเตอร์
• เครื่องอ่านอักขระด้วยแสง (Optical Character Recognition : OCR) สามารถอ่านอักขระจากเอกสารประเภทต่าง ๆ เช่น เอกสารจากลายมือ เอกสารที่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์
• เอ็มไอซีอาร์ (MICR) ย่อมาจาก magnetic ink character recognition device เป็นอุปกรณ์เพื่อรับข้อมูลและประมวลผลข้อความหรือเครื่องหมายที่พิมพ์ด้วยหมึกแม่เหล็ก เช่น เช็ค นิยมใช้ในงานธนาคาร
• กล้องดิจิตอล (digital camera) มีลักษณะคล้ายกับกล้องที่ใช้ถ่ายรูปโดยทั่วไป แตกต่างกันที่กล้องดิจิตอลจะเก็บภาพในรูปแบบของข้อมูลดิจิตอล บนแผ่นดิสก์หรือในหน่วยความจำแทนที่จะเก็บภาพไว้ในรูปแบบของฟิล์ม

หน่วยแสดงผลข้อมูล (Output Devices)
ทำหน้าที่แสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลข้อมูล (data) ได้แก่
• จอภาพคอมพิวเตอร์ (monitor) มีลักษณะคล้ายจอโทรทัศน์ แต่เดิมมอร์นิเตอร์และเทอร์มินัล เรียกกันว่า ซีอาร์ที (CRT) ย่อมาจาก (cathode-ray tube) ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีขนาด 14, 15, 17 นิ้ว หรือใหญ่กว่านั้น ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานพิมพ์ตั้งโต๊ะ งานกราฟิก และงานวิศวกรรม เป็นต้น ลักษณะที่สำคัญของจอภาพคอมพิวเตอร์มี 2 ประการ คือ ความละเอียด (resolution) และจำนวนสีในการแสดงผล ลักษณะความละเอียดของภาพจะขึ้นอยู่กับจำนวนจุด (dote) หรือ picture elements บนจอภาพที่เรียกว่า พิกเซล (pixels)
• จอภาพชนิดแบน (flat panel displays) นิยมใช้กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และปัจจุบันนิยมใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะด้วย
• เครื่องพิมพ์ (printers) โดยทั่วไปแล้วเครื่องพิมพ์สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือเครื่องพิมพ์แบบกระทบ (impact printer) และเครื่องพิมพ์แบบไม่กระทบ (non-impact printers)
- เครื่องพิมพ์แบบกระทบ (impact printers)
ใช้หัวเข็มกระทบให้แถบผ้าหมึกพิมพ์อักขระบนกระดาษ นิยมใช้กับกระดาษแบบต่อเนื่อง
+ เครื่องพิมพ์แบบจุด (dot-matrix printers) มีราคาไม่สูงนัก คุณภาพงานพิมพ์ไม่ละเอียดมากนัก มีเสียงกระทบของหัวเข็มที่ค่อนข้างดังในขณะพิมพ์ นิยมใช้กับงานที่มีการพิมพ์แบบสำเนา
- เครื่องพิมพ์แบบไม่กระทบ (non-impact printers)
เป็นการพิมพ์ที่ใช้หมึกฉีดพ่นไปบนกระดาษหรือใช้ความร้อนและความดัน เพื่อละลายผงหมึกให้เป็นลักษณะของอักขระ
เครื่องพิมพ์แบบไม่กระทบที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ เครื่องพิมพ์ฉีดหมึก (ink-jet printers) เครื่องพิมพ์เลเซอร์ (laser printers) และเครื่องพิมพ์ความร้อน (thermal printers)
+ เครื่องพิมพ์ฉีดหมึก (ink-jet printers) จะฉีดน้ำหมึกเล็ก ๆ ด้วยความเร็วสูงไปบนผิวหน้าของกระดาษ ปัจจุบันมีตลับหมึกแยกเป็นตลับหมึกสีดำ และตลับหมึกสี ขณะพิมพ์เสียงจะเงียบ ราคาไม่แพง ใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์และงานด้านโฆษณา
+ เครื่องพิมพ์เลเซอร์(laser printers) เป็นการใช้เทคโนโลยีที่คล้ายกับเครื่องถ่ายเอกสาร โดยจะใช้แสงเลเซอร์สร้างประจุไฟฟ้า และผงหมึกหรือโทนเนอร์สร้างภาพและอักขระที่มีคุณภาพสูงพิมพ์ลงบนกระดาษ ราคาของเครื่องพิมพ์เลเซอร์จะสูงกว่าเครื่องพิมพ์ฉีดหมึก สามารถพิมพ์สีได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะราคาแพง
• เครื่องพลอตเตอร์ (plotters) เป็นอุปกรณ์ที่พิมพ์ภาพลายเส้นที่มีความละเอียดสูง เช่น แผนที่ ผังอาคาร แผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ ภาพเหล่านี้เป็นภาพขนาดใหญ่ สามารถพิมพ์ได้ถึง 40-48 นิ้ว

5. การพิจารณาเลือกซื้อคอมพิวเตอร์
ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์
- เคสและพาวเวอร์ซัพพลาย (Case & Power Supply)
- ซีพียู (CPU)
- เมนบอร์ด (MainBoard)
- แรม (RAM)
- ฟลอปปี้ไดรว์ (Floppy Disk Drive)
- ฮาร์ดไดรฟ์ (Hard Disk Drive)
- ซีดีรอมไดรฟ์ (Cd-Rom Drive)
- การ์ดจอ (VGA Card)
- การ์ดเสียง (Sound Card)
- จอภาพ (Monitor)
1. เคสและพาวเวอร์ซัพพลาย (Case & Power Supply)
เคสที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้จะมีอยู่ 5 แบบคือ
• Full Tower
• Medium Tower
• Mini Tower
• Desktop
• Slimline
สิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจของพีซีก็คือ ชิปไมโครโปรเซสเซอร์หรือซีพียู(Central Processing Unit - CPU)
ความเร็วของซีพียู ซีพียูจะมีหน่วยที่ใช้วัดความเร็วคือเมกะเฮิรตซ์
2. เมนบอร์ด(Main Board)
Mainboard คือ แผ่นวงจรไฟฟ้าแผ่นใหญ่ที่รวมเอาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญๆมาไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุม การทำงานของ อุปกรณ์ต่างๆ ภายในพีชีทั้งหมด
3. แรม(Main Board)
• หน่วยความจำ (Random Access Memory - RAM) มี หน่วยความจำมีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลชั่วคราวเพื่อส่งไปให้ซีพียูประมวลผล และเก็บข้อมูลที่ประมวลผลเรียบร้อย แล้วเพื่อรอส่งไปให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ต่อไป
• มีหน่วยวัดความเร็วเป็นนาโนวินาที (หนึ่งส่วนพันล้านวินาที)
4. ฟลอปปี้ไดรว์ (Floppy Disk Drive)
เป็นสื่อเก็บข้อมูล ซึ่งจะบรรจุข้อมูลได้ถึง 1.44 เมกะไบต์
5. ฮาร์ดไดรฟ์ (Hard Disk Drive)
ฮาร์ดดิสก์คือแหล่งที่ใช้เก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์มันจะเก็บข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ โปรแกรมใช้งานและข้อมูล
6. ซีดีรอมไดรฟ์ (Cd-Rom Drive)
สื่อเก็บข้อมูลชนิดซีดีรอม แผ่นซีดีรอมขนาด 5.25 นิ้วหนึ่งแผ่นมีความจุมากถึง 650 -700 เมกะไบต์
7. การ์ดจอ (VGA Card)
หลักการทำงานพื้นฐานของการ์ดแสดงผล จะเริ่มต้นขึ้น เมื่อโปรแกรมต่างๆ ส่งข้อมูลมาประมวลผลที่ซีพียู เมื่อซีพียูประมวลผลเสร็จแล้ว ก็จะส่งข้อมูลที่จะนำมาแสดงผลบนจอภาพ มาที่การ์ดแสดงผล จากนั้นการ์ดแสดงผลก็จะส่งส่งข้อมูลนี้มาที่จอภาพ ตามข้อมูลที่ได้รับมา
8. การ์ดเสียง (Sound Card)
คือ อุปกรณ์ที่คอมพิวเตอร์สามารถส่งเสียงออกมาได้ นอกจากเสียง "ปี้บ" ปกติที่ออกมาจากลำโพงของพีซี
9. จอภาพ (Monitor)
จอภาพหรือมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ ก็จะมีหลักการทำงานคือ
• หน้าจอจะปรากฎขึ้นมาจากการที่หลอดภาพยิงลำแสงอิเล็กตรอนไปยังผิวหน้าด้านในของจอภาพ ซึ่งจะมีสารฟอสเฟสฉาบ เอาไว้ เมื่อสารนี้โดนแสงก็จะถูกกระตุ้นให้เปล่งแสงออกมา จุดไหนที่โดนแสงก็จะถูกกระตุ้นให้เปล่งแสงออกมาเป็นจุดๆ ซึ่ง จุดที่ว่านี้ก็คือจุดที่แสดงผลขึ้นมาบนหน้าจอนั่นเอง ซึ่งจุดนี้จะมีชื่อเรียกว่าพิกเซล
• การที่จอภาพแสดงผลในโหมด 640*480 พิกเซล ก็คือการแสดงผลจุดในแนวนอน 640 จุดและแนวตั้ง 480 จุด

การพิจารณาการเลือกใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับงาน
• ใช้กับ(เพื่อ)งานอะไร
• ใครเป็นผู้ใช้
• งานที่ต้องการนำไปใช้
• งบประมาณ
• แนวโน้มที่จะนำไปใช้ในอนาคต
• การเพิ่มเติมระบบ(Up Grade)
• การรับประกันและการบริการหลังการขาย

การดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน
• การตรวจสอบฮาร์ดแวร์
- การตรวจเช็คเบื้องต้น
- การทำความสะอาดและดูแลรักษา
• การตรวจสอบซอฟท์แวร์
- การตรวจสอบโปรแกรมที่เสียหาย
- การติดตั้งโปรแกรมใหม่
- การกำจัดไวรัส

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29796เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2006 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

 ขอบพระคุรมากๆเลยครับ!

ขอให้ทุกคนเข้าอีเมลเราเร็วๆๆๆๆค่า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท