วันที่ 24 สิงหาคม 2548 ทีมงาน กศน. ภายใต้การนำของ ศึกษานิเทศก์ สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน อ. อุทัย หนูแดง ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานการจัดการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจพอเพียง พ้นความยากจน ที่บ้านคลองนูน หมู่ที่ 4 ต. ปังหวาน อ. พะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โดยมีครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน นายธวัชชัย อิสโร เป็นผู้ประสานงาน และมี ผอ. นิพันธ์ ดำเนินผล เป็นที่ปรึกษาโครงการ
เส้นทางที่พวกเราเดินทางเข้าหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นถนนแคบ ๆเลียบชายเขา ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนกันทั้งชุมชน พื้นที่มีลักษณะเป็นเนินสูงต่ำสลับกัน มีสวนผลไม้นานาชนิด เช่น ทุเรียน เงาะ ลองก็อง จำปาดะ ซึ่งกำลังมีผลอยู่เต็มต้น มีคลองน้ำไหลผ่านตลอดหมู่บ้าน คณะของเราไปพบกับลุงจรูญ อรุณ ภูมิปัญญาแแห่งบ้านคลองนูน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อการเกษตร โดยมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ มาจากตนเองซึ่งประสบปัญญาด้านการเงินในการให้บุตรเรียนต่อ โดยขาดเงินจำนวน 5000 บาท และได้ไปกู้ยืมเพื่อนบ้านในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน จากจุดนี้เองที่ลุงจรูญเริ่มครุ่นคิด และสังเกตเห็นว่าคนในชุมชนคลองนูน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และประกอบอาชีพเกษตรกรรมเหมือนตนเอง และมักขาดเงินทุนในการซื้อปุ๋ย วัสดุอุปกรณ์ในการเกษตร ไม่มีเงินส่งให้ลูกเรียนหนังสือ จึงชักชวนชาวบ้านมารวมกลุ่มกันตั้งเป็นกองทุน แต่ไม่มีผู้ใดร่วมด้วย... และเมื่อสอบถาม ความต้องการของเพื่อนบ้าน ก็พบว่าทุกคน ต้องการเล่นแชร์ ลุงจรูญจึงเกิดความคิดว่า ต้องเริ่มรวมกลุ่มคนโดยการเล่นแชร์ แต่เป็นแชร์ที่ไม่ต้องมีดอกเบี้ย และจะต้องมีกฏกติกา มีการตั้งกฎกติกาของกลุ่ม จำนวน 19 ข้อ มีสมาชิกครั้งแรกครั้ง 9 คน จากกลุ่มคน 9 คนนี้เองที่ได้มีการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนากลุ่มเล่นแชร์จนกลายมาเป็นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ชื่อกลุ่มกองทุนหมุนเวียนเพื่อการเกษตร มีสมาชิกจำนวน 74 ราย และลุงจรญ ยังได้ถ่ายทอดแนวคิดการออมทรัพย์ ไปสู่กลุ่มเยาวชน อีก 1 กลุ่ม ซึ่งขณะนี้ มีสมาชิก จำนวน 36 ราย ปัจจุบันนอกจากจะให้สมาชิกกู้ยืมเงินเพื่อการประกอบอาชีพแล้ว ทางกลุ่มก็ยังให้ความสำคัญกับการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาของบุตรหลานของสมาชิก เป็นความจำเป็นในระดับต้น ๆ นอกจากนี้ลุงจรูญก็เคยชักชวนชาวบ้านให้มาช่วยกันสร้างโรงเรียน สำหรับเด็ก ๆในหมู่บ้าน แต่เนนื่องจากมีปัญยหาในค้านกฏหมาย โรงเรียนแห่งนี้ได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว มีโครงการอีกมากมายที่ลุงจรูญ เป็นผู้นำในการรวมกลุ่ม เช่น การจัดร้านค้าชุมชน โดยเริ่มจากการขายข้าวสาร ต่อมาก็มีปุ๋ย ซึ่งการรวมกลุ่มกันซื้อทำให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นการลดต้นทุน โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้า คนกลาง ผลกำไรก็สามารถนำกลับคืนให้สมาชิกอีก จากบทเรียนบทแรกทำให้ลุงจรูญตระหนักว่ากิจกรรมส่วนรวมทุกกิจกรรม จะต้องมาจากปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน ทุกกิจกรรมต้องผ่านกระบวนการทำแผนชุมชน มีกรจัดทำเวทีประชาคม ให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเสนอปัญหาความต้องการ ร่วมกัน ัปัจจุบันในหมู่บ้าน มีกลุ่มใหม่ เกิดขึ้นอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มแปรรูปสมุนไพร กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ การปลูกป่าทดแทน กลุ่มชาวสวนผลไม้การใช้สารอินทรีย์บ้านคลองนูน โดยทุกคนในหมู่บ้านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ภายในปี 2550 ชุมชนบ้านคลองนูนจะต้องหายจน ทุกคนจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นชุมชนที่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ..นี่คือผลของการต่อสู้ ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ ของคนจนผู้ที่ไม่จนปัญญา ..คนจนผู้ยิ่งใหญ่แห่งบ้านคลองนูน ลุงจรูญ นามสกุล อรุณ