"บ้านผารังหมี" หมู่บ้านเข้มแข็ง พึ่งตนเอง


ที่นี่ใช้เงินเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ไม่มีเงินแล้วไม่ทำ

           วันที่ 22 ส.ค. 48  ได้มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนใน จ. พิษณุโลก ถึง 2 แห่ง คือ โครงการพันธมิตรสร้างเสริมสุขภาพ ที่สถานนีอนามัย ต.ท้อแท้ อ. วัดโบสถ์    และ บ้านผารังหมี อ. เนินมะปราง  ที่แรกนั้นท่านๆ อาจจะเคยได้อ่านเรื่องราวมาบ้างแล้วจาก blog ของ อ.หมอวิจารณ์    พานิช (Link)   คราวนี้จึงขอเล่าเรื่องจากหมู่บ้าน "ผารังหมี" กันบ้างนะคะ

            บ้านผารังหมี เป็นหมู่บ้านเข้มแข็งที่มีคนอยู่ประมาณ 700 คน ที่มีการตั้งกลุ่มต่างๆ มากมายถึง 16 กลุ่ม ที่ทำโครงการมากมาย เช่น กลุ่มเลี้ยงกบ, กลุ่มทอผ้า - ทอเสื่อ, กลุ่มทำน้ำหมักชีวภาพ, กลุ่มออมทรัพย์, กลุ่มไก่ชน, กลุ่มข้าวกล้อง, กลุ่ม อสม., ฯลฯ  สิ่งที่เด่นและน่าชื่นชมจากการได้ลงพื้นที่พูดคุยด้วย คือ 

             1. กลุ่มต่างๆ ของหมู่บ้านนี้ มีความเข้มแข็งดี  เพราะมีประธานของแต่ละกลุ่มชัดเจน ที่ต้องไม่ไปมีตำแหน่งเป็นประธานของกลุ่มอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นตัวยืนให้กลุ่มได้อย่างดี  แต่ประธานของกลุ่มหนึ่งก็สามารถไปเป็นสมาชิก (ลูกทีม) ของกลุ่มอื่นที่เขาสนใจได้   ซึ่งก็ปรากฎว่าส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะเป็นสมาชิกของกลุ่มอยู่หลายๆ กลุ่ม

              2. กลุ่มที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่เป็นอาชีพ, เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่จำเป็นทั้งสิ้น  จึงเป็นกลุ่มที่ยั่งยืน และสมาชิกก็คือ "คุณกิจ" ที่ทำอาชีพนั้นจริงๆ

              3. ชาวบ้านในชุมชนมีความสามัคคีกันดีทั้งๆ ที่ถ้าสืบประวัติความเป็นมาแล้ว ไม่ได้มีเชื้อสายบรรพบุรุษที่เดียวกัน หรือประวัติศาสตร์ชุมชนใกล้กัน  แต่เป็นคนที่อพยพมาจากภาคและจังหวัดต่างๆ   แต่สามารถสร้างความสามัคคีรวมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งที่ได้รางวัล   ซึ่งประธานกลุ่มต่างๆ ตีความว่าเป็นเพราะมีหัวหน้าชุมชน หรือผู้ใหญ่บ้าน และแกนนำ ที่เป็นผู้นำดี  ซื่อสัตย์ และคิดในประโยชน์ส่วนรวม จึงทำให้ชาวบ้านเป็นกลุ่มก้อนได้และมองเห็นในประโยชน์ส่วนรวมเหมือนกัน

             4. เมื่อมีโครงการส่งเสริมต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ, หน่วยวิจัย, หรืออื่นๆ เข้ามา   ชุมชนบ้านผารังหมี จะรวมตัวกันเพื่อวิเคราะห์ว่าโครงการนั้นมีประโยชน์และดี เหมาะสมกับหมู่บ้านจริงหรือไม่ ถ้าชุมชนคิดว่าไม่เหมาะ ก็จะไม่ทำตามที่รัฐเข้ามาส่งเสริม  เพราะเคยได้รับประสบการณ์จากอดีตทำตามแบบที่โครงการต่างๆ มานำเสนอ แต่ก็ล้มเหลวซะส่วนใหญ่    ไม่เหมือนกับโครงการที่ชาวบ้านริเริ่มคิดเอง ทำตามแบบฉบับของกลุ่มมักจะประสบความสำเร็จเพราะมันเหมาะสมกับเราอย่างแท้จริง    ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่เข้ามาต่างๆ จึงมักจะไม่ได้ดั่งใจเท่าไหร่เพราะหมู่บ้านนี้ไม่ทำตามที่เขาบอกให้ทำ (แม้จะมีงบมาให้)     

              5. แกนนำกลุ่มต่างๆ ไปอบรม, สัมมนา, ไปเวทีแลกเปลี่ยนที่อื่นอยู่เรื่อย  แล้วเอาความรู้ เรื่องที่ได้มาเล่าสู่กันฟังในหมู่บ้าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  โดยแต่ก่อนใช้งบของคณะกรรมการหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อได้งบจากโครงการหน่วยงานพัฒนาชุมชนจึงใช้งบตรงนี้

               6. งบหรือเงินต่างๆ ที่ได้มาของชุมชน จะถูกเอามาคิดหาทางเพิ่มให้มีเงินกองทุนมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ให้ปล่อยกู้หรือใช้จนหมด  ("ที่นี่ใช้เงินเป็นเครื่องมือ  ไม่ใช่ไม่มีเงินแล้วไม่ทำ")

              7. มีการตั้งกลุ่ม "อาสาสมัครน้อย (อสม. น้อย)"  ช่วงวัยประมาณ ป. 4- - ม. 2 เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และช่วยหมู่บ้าน  มี อสม. ผู้ใหญ่ คอยช่วยเป็นพี่เลี้ยง  ซึ่งเด็กก็ได้ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่มากขึ้น เรียนรู้ที่จะทำงานเพื่อชุมชนเป็นการสืบทอดการทำงานของรุ่นต่อรุ่นในอนาคตต่อไปด้วย

              8. นอกจากแต่ละกลุ่มจะมีเวทีพูดคุยกัน แต่บางทีเมื่อมีเรื่องใหญ่ๆ ก็สามารถนำเข้ามาในเวทีกลาง (เวทีประชุมประจำเดือนหมู่บ้าน) ให้เวทีกลางช่วยคิดด้วยและบางทีก็เป็นข้อตกลงร่วมของหมุ่บ้าน

              9. ชุมชนบ้านผารังหมี มีเกณฑ์ กติกา ที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นมาค่อนข้างชัดเจนเพื่อช่วยให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น   เช่น การพิจารณาการให้สิทธิ หรือเงินกู้ต่างๆ ก็จะให้สิทธิ์กับคนที่มาเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นการดึงให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่งดี    (แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีเงินเก็บกัน ไม่ค่อยกู้  คนที่จนที่สุดของหมู่บ้านก็ยังมีเงินเก็บ     รัฐที่มาเสนอให้เรากู้จึงไม่ค่อยมีลูกค้า) 

              

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2854เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2005 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท