อภิปรายเรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังใน Thailand Research Expo 2009


ความเจ็บป่วยเรื้อรังไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ป่วยเท่านั้น

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ ดิฉันไปร่วมอภิปรายในหัวข้อ "รูปแบบและแนวคิดเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังแบบองค์รวม" ในงาน Thailand Research Expo 2009 ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นผู้รับผิดชอบ

การเดินทางไม่ยุ่งยาก ดิฉันแวะรับ รศ.ดร.ยุพาพิน ศิรโพธิ์งาม รองหัวหน้าภาควิชาพยาบาลศาสตร์ ฝ่ายนโยบายและแผน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้ดูแล (Caregiver) วิทยากรเวทีเดียวกัน เราไปถึงเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ก่อนเที่ยง ผู้ประสานงานแจ้งให้ไปจอดรถที่อาคารจอดรถชั้น ๕ เสียเวลาวนไปวนมาตอนหาทางขึ้นจนยามต้องเดินมาชี้ทางให้ ณ เวลานั้นที่จอดรถยังว่างอยู่มาก เราขึ้นลิฟต์ไปชั้น ๒๒ อาจารย์ ดร. จิรวรรณ อินคุ้ม มารอรับอยู่แล้วและพาไปรับประทานอาหารกลางวัน

เราไปเตรียมความพร้อมกันก่อนเวลาที่ห้อง Lotus Suite 11 ซึ่งเป็นห้องย่อยขนาดเล็กๆ นับเก้าอี้ที่จัดไว้ได้ประมาณ ๑๒๐ กว่าตัว ตามกำหนดการจะเริ่มประชุมภาคบ่ายในเวลา ๑๓.๓๐ น. แต่มีผู้เข้าประชุมทยอยมานั่งรอกันตั้งแต่ ๑๓ น.แล้ว ได้เจอ ผศ.ทัศนียา วังสะจันทานนท์ ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่ มวล. พานักศึกษาพยาบาลของ มศว. มาชุดหนึ่ง ดิฉันจึงได้คิดว่านักศึกษาที่อยู่กรุงเทพฯ น่าจะได้มาเปิดหูเปิดตา ดูว่าการประชุมวิชาการใหญ่ๆ เป็นอย่างไรบ้าง

ทีมวิทยากรในหัวข้อนี้มี ๓ คน นอกจากดิฉันและอาจารย์ยุพาพินแล้ว ยังมี ผศ.ดร.จรรยา สันตยากร จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วย อาจารย์จรรยารู้จักน้องๆ ทีมงานเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช แกนนำเครือข่าย KM เบาหวาน ไม่ว่าจะเป็น คุณหมอนิพัธ โต้ง อ้อ เป็นอย่างดี แถมยังเคยไปเยี่ยม อบต.ปากพูน ที่นครศรีธรรมราชด้วย เราจึงคุยกันได้หลายเรื่อง

เรา ๓ คน ตรวจสอบการขยับเก้าอี้นั่งบนเวที เพราะดิฉันมีประสบการณ์เมื่อปีที่แล้วว่าหากขยับเก้าอี้ไม่ดีจะหงายหลังเอาง่ายๆ เพราะเวทีมีขนาดเล็กมาก ระหว่างนั้นดิฉันถือโอกาสฉาย VDO "หมอฝอยทอง" เพื่อให้ผู้เข้าประชุมที่มาก่อนเวลาได้ชมและเป็นการเรียกแขกไปในตัว ฉาย VDO ได้ค่อนเรื่องก็ได้เวลาเริ่มการอภิปราย ผู้เข้าประชุมเกือบเต็มห้อง เหลือที่ว่างแถวหน้าสุด (ที่นั่งของวิทยากร) และด้านใน (เพราะเข้า-ออกไม่สะดวก)

ทีมงาน มศว.มีพิธีกรดำเนินรายการเป็นอาจารย์สาวรุ่นใหม่ แนะนำผู้ดำเนินการอภิปรายคืออาจารย์ ดร. จิรวรรณ อินคุ้ม การอภิปรายครั้งนี้วิทยากรไม่สามารถขึ้นบนเวทีแบบพร้อมหน้าพร้อมตากันได้ อย่างที่บอกแล้วว่าเวทีเล็ก เราจึงต้องผลัดกันขึ้นพูดทีละคน โดยดิฉันพูดก่อนเป็นคนแรก ตามด้วยอาจารย์ยุพาพินและอาจารย์จรรยา

 

ภายในห้องประชุม Lotus Suite 11

อาจารย์จิรวรรณแจ้งว่ามีเวลาให้วิทยากรแต่ละคนๆ ละ ๔๕ นาที ดิฉันพูดเรื่อง "การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน" เป็นคนแรก มีเวลาไม่ถึง ๔๕ นาที เข้าใจว่าคนจับเวลาไม่ได้หักเวลาช่วง Introduction ออก ต้องเร่งพูดแบบรถด่วน โชคดีที่ได้ฉาย VDO ไปก่อน คนฟังคงปะติดปะต่อภาพการทำงานออก ตอนช่วงท้ายจึงเหลือเวลาพอให้อาจารย์จรรยาได้นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจได้อย่างเต็มที่ ดูสไลด์การนำเสนอของดิฉันได้ที่นี่

อาจารย์ยุพาพินนำเสนอเรื่อง "สุขภาพของผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง" ทำให้เรามองเห็นว่าความเจ็บป่วยเรื้อรังไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ป่วยเท่านั้น ฉายภาพให้เห็นผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีข้อจำกัดไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ผู้ดูแลจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านและชุมชน ในต่างประเทศเขามีสวัสดิการให้ญาติผู้ดูแลที่บ้านด้วย เช่น เงินตอบแทน เพิ่มวันหยุดให้

ปัจจุบันมีการจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเร็ว ในขณะที่ยังต้องการการดูแล ญาติจึงต้องเป็นผู้ให้การดูแลแทน ผู้ดูแลมีหลายประเภท ทั้งที่เป็นญาติในครอบครัว ผู้ดูแลที่ทำงานนอกบ้าน ผู้ดูแลที่จ้างมา เวลาทำการวิจัยเกี่ยวกับผู้ดูแลจึงต้องคัดกรองให้ดีว่าเป็นใคร งาน (task) ของผู้ดูแลนั้นมีมากมายจริงๆ สุขภาพของผู้ดูแลก็เป็นเรื่องสำคัญและควรได้รับความสนใจ ผู้ดูแลอาจเป็นผู้ป่วยที่ซ่อนเร้น มีความเครียด มีผลกระทบจากการดูแลต่อภาวะสุขภาพกาย มีความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ อ่อนล้า ฯลฯ ตลอดจนอาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วย ระหว่างผู้ดูแลและสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัว

บุคลากรด้านสุขภาพจะช่วยเหลือผู้ดูแลได้อย่างไรบ้าง ใช้ทฤษฎีอะไรเป็นกรอบ อาจารย์ยุพาพินได้เคย review งานวิจัยด้านผู้ดูแลในประเทศไทยเอาไว้

อาจารย์จรรยานำเสนองานวิจัยเรื่อง "การพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมและการจัดการตนเองกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในชุมชน" เป็นงานวิจัยในพื้นที่หนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก การวิจัยแบ่งออกเป็น ๔ ระยะ
- ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในกลุ่มเสี่ยง
- นำข้อมูลที่ได้มาสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมและการจัดการตนเอง โดยร่วมมือกันทั้งผู้ป่วย ญาติ อสม. แกนนำหมู่บ้าน จนท.สาธารณสุข แพทย์ และพยาบาล
- นำรูปแบบที่ได้มาดำเนินการวิจัยกึ่งทดลอง
- นำผลการวิจัยเสนอในการประชุมกลุ่ม เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

นักศึกษาปริญญาโทมีส่วนร่วมในงานวิจัยครั้งนี้ด้วย อาจารย์จรรยาประยุกต์ใช้แผนที่ Asia Point แล้ว link กับเลข ๑๓ หลัก ทำให้รู้ว่าใครอยู่ตรงไหน มีแบบสอบถาม คำถามเชิงคุณภาพ คำถามเชิงปริมาณ มีการทำ Genogram (Genogram ของกษัตริย์ ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจ) ปฏิทินชีวิต ปฏิทินภัยพิบัติ ปฏิทินประเพณี มีภาพกิจกรรมต่างๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและน่าสนใจ นอกจากงานวิจัยแล้ว ทีมยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน ไปกินไปอยู่กับเขาได้อย่างน่าชื่นชม

จบกิจกรรมก่อนเวลาเล็กน้อย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 295851เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท