แจ้งเกิดด.ช.แมเซนตาว ต่างท้องที่ (โรงพยาบาลท่าโรงช้าง)


เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา แม่ของแมเซนตาวมาขอให้ผมช่วยแจ้งการเกิด ผมก็ช่วยกรอกแบบฟอร์มท.ร.100 ให้เธอตามหนังสือรับรองการเกิดท.ร.1/1 จากโรงพยาบาลท่าโรงช้าง ต.ท่าโรงช้าง         อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี

                                    

และทะเบียนประวัติ(ท.ร.38/1) ของเธอ ที่ระบุที่อยู่ 54/153 หมู่ที่ 5 ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง

                                         

            ด้วยความหวังว่าเธอจะแจ้งการเกิดลูกได้สำเร็จแม้ว่าลูกของเธอจะเกิดที่โรงพยาบาลดังกล่าวข้างต้นก็ตาม เพราะตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเกิดหรือการตายต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่น พ.ศ.2551 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2551 ข้อ 1 สามารถแจ้งการเกิดได้

 

            ผลปรากฏว่าเธอวกกลับมาหาผมอีกครั้ง ใบหน้าเธอเศร้าสลด แจ้งเกิดไม่ได้ เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งเกิดค่ะ

 

            เธอยื่นเอกสารให้ผมดู ผมกรีดนิ้วดูเอกสารอีกครั้ง ล้วนแต่เป็นเอกสารเดิมไม่มีเอกสารใหม่แนบเข้ามา เธอมิได้รับการปฏิเสธอย่างเป็นทางการ

 

            เธอมิใช่รายใหม่ที่ลูกเธอเกิดที่หนึ่ง และเธออยู่อีกที่หนึ่ง ดังเรื่องราวของตานดาเอ้

http://gotoknow.org/blog/papermoon/262190

แต่ในครั้งนั้น ผมใช้วิธีที่ไปแจ้งเกิดที่ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา มิได้ใช้วิธีแจ้งเกิดต่างท้องที่ ผลปรากฏว่า เวลาผ่านไปเนิ่นนานเกินสมควรกว่า 90 วันแล้ว เรื่องราวเงียบดั่งสายลม

 

            ที่สำคัญมิน่าเชื่อว่าการปฏิเสธครั้งนี้ผมจะได้ยินมาจากเทศบาลเมืองระนองทั้ง ๆ ที่ สำนักทะเบียนแห่งนี้ได้เป็นต้นแบบในการแจ้งเกิดเด็กหลาย ๆ คนมาแล้ว

 

เมื่อผมคุยกับแม่ของแมเซนตาวแล้ว เธอไม่ปรารถนาไปสุราษฏร์ธานี ในขณะเดียวกันทำให้ผมเชื่อมั่นในกฎหมายมากยิ่งขึ้นว่าจะต้องใช้ได้ผล กฎกระทรวงข้างต้นต้องใช้ได้ผล ต้องตีความให้เป็นคุณ ผมจำต้องเลือกเทศบาลเมืองระนองเป็นต้นแบบของการแจ้งเกิดต่างท้องที่ให้แก่เด็กต่างด้าวที่เกิดในผืนแผ่นดินไทย เหมือนกับกรณีของมะเฮตีไท้ซานอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตามผมจะต้องกลับไปโรงพยาบาลท่าโรงช้างอีกครั้งเนื่องจากคุณหมอเจ้าบ้านผู้รับมอบอำนาจให้ไปแจ้งการเกิดมิได้ลงนามมา ให้เซ็นต์ชื่อแล้วค่อยกลับมาพาแม่แมซานตาวแจ้งเกิด เพื่อรับการปฏิเสธอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

 

ก่อนหน้าที่ผมเคยคุยเล่น ๆ กับเจ้าหน้าที่เทศบาลเรื่องการแจ้งเกิดต่างท้องที่ เขาให้ความเห็นว่ากฎกระทรวงฉบับข้างต้นใช้ได้แต่เฉพาะคนไทย คนต่างด้าวแจ้งเกิดไม่ได้หรอก แต่หากอ่านกฎกระทรวงนี้ดี ๆ ไม่เห็นมีข้อความใดห้ามเอาไว้ แต่กลับเขียนไว้ชัด ๆ ในข้อ 1 วรรคแรก ว่า ในกรณีผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดตามมาตรา 18(1) หรือ (2) ยังมิได้แจ้งการเกิด และคนซึ่งเกิดนั้นมีภูมิลำเนาปัจจุบันอยู่ต่างท้องที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่เกิด บิดา มารดา ผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี จะแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของคนซึ่งเกิดนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก็ได้

 

จะเห็นได้ว่ากฎกระทรวงมิได้ระบุคำว่า สัญชาติไทย , คนไทย , ไทย แต่ประการใดเลย

 

จากครั้งนี้ทำให้ผมจัดกลุ่มปัญหาการแจ้งเกิดให้กับเด็กต่างด้าวใหม่อีกหนึ่งกลุ่มเป็น กลุ่มที่ 7 คือ กลุ่มเกิดต่างท้องที่ ด้วยเหตุว่าเด็กเกิดต่างท้องที่ กับทะเบียนประวัติของบิดามารดา เช่น เด็กเกิดที่โรงพยาบาลท่าโรงช้าง จ.สุราษฏร์ธานี แต่ทะเบียนประวัติ(ท.ร.38/1)ของมารดาอยู่ที่จ.ระนอง หรือเด็กเกิดที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า จ.พังงา แต่ทะเบียนประวัติ(ท.ร.38/1) ของบิดามารดาอยู่ที่จ.ระนอง ตาม Blog ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นต้น  

หมายเลขบันทึก: 295846เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอโทษครับ บันทึกผิด

เรื่องการแจ้งเกิดตามกรณีนี้ต้องเป็นการแจ้งเกิดที่ ที่ว่าการอำเภอเมืองระนอง ตามทะเบียนประวัติท.ร.38/1 หากไปยื่นที่เทศบาลเมืองระนอง แล้วถูกปฏิเสธกลับมาว่าแจ้งเกิดผิดสำนักทะเบียนท้องถิ่น ก็เป็นอันว่าเทศบาลเมืองระนองถูกต้องครับ

อัพเดทสถานการณ์ครับ

วันที่ 15 กันยายน 2552

โรงพยาบาลท่าโรงช้าง อยู่ริมถนนสาย 41 นาน ๆ จะมีรถเมล์ผ่านสักคัน โรงพยาบาลนี้เป็นโรงพยาบาลเล็ก ๆ แต่คนไข้เยอะ ผมไปที่ห้องคลอดบอกเจ้าหน้าที่นำเอกสารให้คุณหมอเซ็นต์ให้ครบ

คุณหมอเซ็นต์ให้ครับ เป็นอันว่าผ่านไปอีก 1 ขั้นตอน เอกสารท.ร.1/1 สมบูรณ์แล้ว

แต่ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่านางพยาบาลยังสงสัยเลยว่าเด็กพม่าแจ้งเกิดได้หรือไม่ แจ้งเกิดแล้วได้สัญชาติไทยหรือ

ขอบคุณครับ โรงพยาบาลท่าโรงช้าง แม้เกิดความสงสัย แต่ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของตนจนเสร็จสมบูรณ์

วันที่ 17 กันยายน 2552

ผมโล่งอก แล้วก็สบายใจ ที่การแจ้งเกิดน้องแมเซนตาวแบบ 2 เด้ง คือเด้งแรกแจ้งเกิดต่างท้องที่ เด้งสองแจ้งเกิดเกินกำหนด เจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอเมือง จ.ระนอง ยอมรับคำร้อง ในการแจ้งการเกิด

เหลือแต่ให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มานัดสอบพยานบุคคล หมายถึงว่าขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการรับคำร้อง ไป 1 ขั้น

ขอขอบคุณที่ว่าการอำเภอเมืองระนองครับ ที่ยอมรับคำร้อง

แล้วผมจะมาอัพเดท ดูว่าผลสุดท้ายแล้วเป็นเช่นไร

เกือบลืมไปครับ บันทึกไว้เป็นพยานว่าที่ว่าการอำเภอเมืองระนอง ได้รับคำร้องของแม่น้องแมเซนตาว เป็นคำร้อง ที่ 112/2552 ตามแบบท.ร.031 ขอรับ

ในเรื่องดังกล่าว ผมได้รับข้อมูลมาเลยขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

 

กรณีดังกล่าวเป็นการแจ้งเกิดเกินกำหนดของเด็กต่างท้องที่ กล่าวคือ ไม่ได้แจ้งเกิดต่อสำนักทะเบียนที่เด็กเกิด (อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฯ) แต่ไปแจ้งเกิดที่สำนักทะเบียน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประเด็นจึงมีอยู่ว่า กรณีดังกล่าวสามารถแจ้งเกิดต่างท้องที่ ตาม มาตรา 18 วรรค 3 ของกฎหมายการทะเบียนราษฎรได้หรือไม่

 

ดูแล้วก็น่าจะใช้ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเกิดหรือการตายต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่น พ.ศ.2551 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2551 ข้อ 1 ซึ่งบอกว่าการแจ้งเกิดต่างท้องที่ทำได้ โดยสามารถ "... จะแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของคนซึ่งเกิดนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก็ได้" แต่ทีนี้จะมีปัญหาซึ่งเกิดจากการตีความคำที่ใช้ในระเบียบดังกล่าวว่า คำว่า "ทะเบียนบ้าน" นั้นหมายถึง ท.ร. 14 และ ท.ร. 13 แต่ไม่รวมถึง ทะเบียนประวัติ ท.ร. 38/1  และ ท.ร. 38ก ดังนี้ในกรณีที่แม่ของเด็กซึ่งมีชื่อใน ท.ร. 38/1 จึงไม่สามารถแจ้งเกิดต่างท้องที่ได้

 

หากเป็นอย่างที่ผมเล่ามา กรณีนี้แม้จะรับคำร้องไปแล้วก็อาจถูกปฏิเสธ ไม่รับแจ้งเกิดต่างท้องที่ ซึ่งทางออกก็คงมีสองทางคือ

  1. พาไปแจ้งเกิดในท้องที่ที่เด็กเกิด ก็คือที่สำนักทะเบียนอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฯ
  2. โต้แย้งการตีความดังกล่าว โดยพยายามยกเหตุผลว่า การกำหนดให้สามารถแจ้งเกิดต่างท้องที่ได้นี้ มีจุดมุ่งหมายในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการแจ้งเกิด อันเป็นประโยชน์ต่อรัฐในการมีข้อมูลของคนที่เกิดและอยู่ในประเทศไทย ดังนี้ การตีความอย่างกว้างว่า "ทะเบียนบ้าน" ให้รวมถึงทะเบียนประวัติต่างๆ ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เช่น ท.ร. 38/1 หรือ ท.ร. 38ก เป็นการตีความตามเจตนารมณ์และเอื้อประโยขน์ต่อประเทศไทย มากกว่าการตีความอย่างแคบตามลายลักษณ์อักษร (ซึ่งไม่เห็นว่ารัฐจะได้ประโยชน์อะไรจากการตีความแบบแคบนี้) 

 

ผมว่าประเด็นนี้อาจต้องขอหารือกับทาง สทร. ว่าข้อมูลที่ผมได้รับมานั้นถูกต้องหรือไม่ และถ้าถูกต้อง จะสามารถตีความคำว่า "ทะเบียนบ้าน" ให้ครอบคลุมถึงทะเบียนประวัติได้หรือไม่ หรือต้องมีการแก้ไข กฎกระทรวงดังกล่าว

ผมเห็นด้วยกับคุณกานต์ครับ ว่าจะต้องตีความกฎหมายอย่างกว้าง และให้เป็นคุณ ถ้ามิฉะนั้นก็จะไม่สามารถแจ้งการเกิดให้เด็กไร้รัฐหมดไปจากประเทศไทยได้ ด้วยเหตุผลว่า

ยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้แรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่เพื่อไปแจ้งการเกิดได้

ข้อความที่ 5 และ 6 ซ้ำกัน ผมว่าคุณจันทร์กระดาษลบออกข้อความอันใดอันหนึ่งออกจะดีกว่านะครับ

 

ก่อนอื่นคงต้องบอกว่า ผมให้ข้อมูลไปตามที่ผมได้รับทราบมา และไม่ได้เสนอว่าจะต้องทำประการใดหรือต้องตีความแบบไหน ดังนั้นที่คุณจันทร์กระดาษบอกว่าเห็นด้วยกับผมก็คงจะไม่ตรงนัก เพราะผมเองก็ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นแต่ยกความเป็นไปได้ขึ้นมาให้ดูอย่างน้อยสองทางออก

 

ผมได้รับข้อมูลยืนยันมาว่า "ทะเบียนบ้าน" ไม่สามารถตีความอย่างกว้างให้คลุมถึง "ทะเบียนประวัติ" ต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อมาคิดโดยละเอียดแล้ว ผมเองก็รู้สึกว่าการตีความอย่างกว้างของผมเป็นไปไม่ได้เพราะผิดหลักการ ซึ่งหากผู้ร่างต้องการให้คลุมก็คงต้องเขียนไปโดยชัดเจน และการตีความกฎหมายก็จะตีความตามใจฉันก็คงจะไม่ถูกต้อง ก็เอาเป็นว่าทางออกในแง่ของการโต้แย้งให้ตีความอย่างกว้างก็คงตกไป (เพราะโต้แย้งไปก็ไม่น่าจะฟังขึ้น)

 

นอกจากนั้นทางฝ่ายรัฐก็ได้พยายามช่วยเหลือเด็กในกรณีนี้โดยให้แจ้งเกิดได้ ณ สำนักทะเบียนต่างท้องที่ที่เด็กเกิด (แม้ว่าพ่อแม่จะออกจากพื้นที่ควบคุมก็ตาม) และให้สำนักทะเบียนต่างท้องที่นั้น ส่งเรื่องต่อมาให้สำนักทะเบียนที่แม่ของเด็กมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติ เพื่อทำการเพิ่มชื่อเด็ก (ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกเพิ่มจากปกติเพื่อแก้ปัญหา เพราะกรณีที่เป็นบุคคลเลข 0 และ 00 นั้น ไม่สามารถแจ้งย้ายที่อยู่ออกนอกเขตควบคุม)

 

เมื่อได้ฟังคำชี้แจงเพิ่มเติมแล้ว ผมว่าทางออกสำหรับกรณีนี้น่าจะเป็น การทำตามกฎหมาย โดยไปแจ้งเกิดในท้องที่ที่เด็กเกิด ก็คือที่สำนักทะเบียนอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฯ ซึ่งหากแม่ไม่สามารถเดินทางได้ก็คงต้องใช้วิธีมอบอำนาจ

 

ส่วนประเด็นที่เราต้องการเสนอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวง ก็คงจะต้องหาทางยกขึ้นมาถกเหตุและผลกันต่อไป (ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบ)

คงต้องรอผลจากเจ้าหน้าที่ทะเบียนของที่ว่าการอำเภอเมืองระนอง ว่าจะเป็นอย่างไรนะครับ

รอผลจากที่ว่าการอำเภอเมือง ระนอง ต่อไปเช่นกัน

โรงพยาบาลท่ากระดาษดีมากเลยๆๆๆๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท