ยิ่งแก่ ยิ่ง "แรง..."


ถ้าพ่อแม่โกรธเกรี้ยวเรา ด่าเรา ทำให้เราทุกข์ก็ไม่ต้องไปโทษใครนะ เราต้องโทษ "ตนเอง..."

พ่อและแม่ในเวลาที่แก่เฒ่าหากท่าน “หลง” ท่าน “ไม่ปลง” และท่านลงใจในความ “โกรธ” นั้นก็คือ “กรรม” ของเราที่ไม่รู้จักดูแลท่านเมื่อครั้นยังหนุ่มสาว...

การที่พ่อและแม่ของเราขี้โมโห โกรธเกรี้ยว เอาแต่ใจตัวเอง หรือหลง ๆ ลืม ๆ นั้นก็เพราะเราไม่รู้จักมอบ “ธรรมะ” ให้แก่ท่านเมื่อครั้งที่ท่านยังรับได้
คนที่ไม่มี “ธรรมะ” ในหัวใจ แก่ตัวไปจะโลภ โกรธ และ “หลง...”

นี่แหละหนอที่ท่านบอกว่า
ถึงแม้นว่าเราจะนำคุณพ่อ คุณแม่มาเลี้ยงดูบนบ่าทั้งสองข้าง ให้ท่านอุจจาระ ปัสสาวะรดเราอยู่บนนั้นนับร้อยปี ก็ไม่สามารถตอบแทนบุญคุณท่านได้หมดสิ้น
แต่การมอบ “ธรรมะ” ตอบแทนให้แก่ท่านนั้น จึงจะถือว่าเป็นการทดแทนบุญคุณของท่านได้อย่างหมดจด...

คนแก่ตัวลงแล้วไม่มี “ธรรมะ” นั้น “ทุกข์นะ...”
ทำอะไรไม่ได้ตามใจเหมือนก่อนก็ “โมโห” แล้ว
ปากจะพูดอะไรไม่ทันใจก็ “โกรธ” แล้ว
เห็นอะไรขวางหูขวางตาหน่อยก็ “บ่น” แล้ว
ลูกนั้นหนอจักต้องรับ “กรรม” ตรงนี้

ถ้าพ่อแม่โกรธเกรี้ยวเรา ด่าเรา ทำให้เราทุกข์ก็ไม่ต้องไปโทษใครนะ เราต้องโทษ "ตนเอง..."

ต้องตระหนักให้ดีว่า เมื่อก่อนเราไม่มอบ “ธรรมะ” ให้แก่ท่านไว้
เพราะผู้สูงอายุที่มี “ธรรมะ” ท่านจะน้อมนำความจริงมา “พิจารณา” ชีวิต...

 

ขิงนั้นยิ่งแก่ยิ่งแรง
คนที่แก่มาก ถ้าหากมีธรรมก็จะเข้าใจ “โลก” เข้าใจ “ชีวิต” มาก มีแรงที่จะให้สิ่งดี ๆ แก่ลูกหลานมาก
แต่ถ้าแก่มาก แล้วใจไร้ “ธรรมะ” นั้นก็จะมีความโกรธ ความโลภ ความหลงที่รุนแรงอย่างมิอาจประมาณ
ถ้าหากพ่อและแม่เรามีธรรมะอยู่ในหัวใจในขณะหนุ่มสาว ครั้นแก่ตัวลงท่านจะเป็นผู้ใหญ่ที่ใคร ๆ ก็รัก ใคร ๆ ก็อยากเข้าใกล้

ลูกทั้งหลายจงตระหนักรักและตอบแทนท่านด้วย “ธรรมะ”
ธรรมะอันเป็น “สัจธรรม” แก่ “ชีวิต...”
ตอบแทนท่านด้วยธรรมะในวันนี้ ทุกชีวีในครอบครัวจะสุขทั่วด้วย “ความสงบ...”

 

คำสำคัญ (Tags): #กรรม#ความแก่
หมายเลขบันทึก: 295644เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้วนึกถึงหญิงชราท่านหนึ่งค่ะ

ท่านแทบไม่มีโอกาสไปวัด ไม่มีโอกาสได้ศึกษาธรรม นั่งๆนอน รอวันละสังขารอยู่กับบ้านไปวันๆ

ลูกๆก็ไม่หาโอกาสให้บุพการีมีโอกาสพบธรรม ด้วยเหตุผลที่ว่า อายุมากแล้ว จะเข้าใจอะไรได้

ลูกชายปฏิบัติต่อแม่อย่างดี อาบน้ำให้ แต่งตัวให้ เพราะคิดว่านั่นคือการแสดงออกถึงความกตัญญู แต่ไม่หาโอกาสให้แม่ได้มีธรรมในใจ

เหมือนคาถาในบันทึกนี้เลยค่ะ

รู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา...ที่ให้เวลากับบุพการีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น...แต่โชคดีค่ะที่ท่านมีธรรมะอยู่ในใจ

นมัสการพระคุณเจ้า ด้วยความเคารพ

ผู้เขียนเคยมีคำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้แม่ละจากความตระหนี่เสียได้

เมื่อเรามีธรรมมะแล้ว ปฏิบัติตนในศิลธรรมอันดี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

และเห็นคุณค่าในผู้อื่นอย่างสมำเสมอ แต่ทั้งนี้ แม่เป็นที่หนึ่งเสมอ

ด้วยประสบการณ์ความทุกข์ยากในอดีตของแม่ทำให้แม่ยังติดตระหนี่อยู่

นอกจากการทำบุญต่อพระสงค์แล้วและให้ทุกอย่างที่ให้ได้แก่ลูกแล้ว

แม่ยังมีความตระหนี่อยู่มาก เทียบกับสิ่งที่แม่ได้รับจากการที่เราดูแลจัดหามาให้แม่

เพื่อให้แม่เป็นผู้แบ่งปันผู้อื่นต่อ เช่นบางสิ่งบางอย่างจะเน่าเสีย แม่ก็ยินดีให้มันเน่าอยู่ที่บ้าน

ทั้งที่แม่ก็รู้ เราก็รู้ว่าแบ่งคนอื่นไป ก็จะพอดี ถ้าเราไปจัดการ แม่ก็จะไม่มีความสุข

เรื่องธรรมมะนี้อาจารย์กะปุ๋มเคยตอบให้คลายใจลงมาบ้างแล้วว่า

"พี่นก แม่ลูกมีสายสัมพันธ์สื่อถึงกันพี่นกปฏิบัติให้มากพอ แล้วจะถึงแม่เอง"

ผู้เขียนปฏิบัติมาตลอดชีวิต ยังเห็นผลน้อยอยู่ ซึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอ แต่อยากจะฟังทัศนะของพระอาจารย์บ้าง

ในมุมมองของความตระหนี่ นมัสการขอบพระคุณล่วงหน้า เจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท