Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตามคณะอนุกรรมการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัวในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปสงขลา


งานแบบนี้เป็นงาน "แบบอย่างที่ใช้กฎหมายมาเป็นตัวเอื้อ" ต่อการทำงานของประชาสังคม จะเห็นว่า 3 ปีกว่าแล้วของการทำงานนี้จึงเป็น 3 ปีของการสร้างความเหนียวแน่นของเครือข่ายประชาสังคมด้านเด็ก โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 กฎหมายนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการเคารพสิทธิเด็กโดยตรง แต่ก่อให้กลไกทางสังคมเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งจะทำให้กฎหมายไม่มีผลเพียงแต่ในกระดาษ กฎหมายนี้ใส่วิญญานให้แก่ตัวอักษรด้วย
       ในระหว่างวันพุธ-พฤหัสบดีที่  17-18 พฤษภาคม 2549 เราได้ตามคณะคณะอนุกรรมการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว  ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปลงพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง กล่าวคือ (1) ในการเฝ้าระวังและตรวจเยี่ยมสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของเด็กและเยาวชน และ (2) เข้าพบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด
         ในวันอังคารที่  16 พฤษภาคม 2549 เราออกเดินทางจาก กทม. ก็ตอนเย็น ไปถึงสงขลา ก็ค่ำทีเดียว แต่ก็มักจะรวมกลุ่มกับคณะผู้ตรวจเยี่ยมด้วยกันเพื่อไปสำรวจเมือง หาข้าวกิน และแลกเปลี่ยนแนวคิดของการตรวจเยี่ยมในวันรุ่งขึ้น เราพบว่า การกินข้าวเย็นในที่แปลกๆ จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนทำงานซึ่งมาจากต่างที่ต่างถิ่นได้ดีกว่าในห้องประชุมแบบเคร่งครัด ขัดคอกันบ้าง ก็ไม่ว่ากัน ขัดคอกันแล้ว ก็ตักบูดูให้เป็นการปลอบใจ ปรับทัศนคติต่อกันอย่างละมุนละหม่อม เราเรียนรู้ว่า ตอนกิน ก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดี
            ในเช้าวันพุธที่  17 พฤษภาคม 2549 เราเริ่มต้นวันโดยการตรวจเยี่ยมทัณฑสถานหญิงสงขลา แล้วก็ทานข้างกลางวันกับท่านผู้อำนวยการเรือนจำและทีมงานของท่าน ส่วนตอนบ่าย ไปตรวจเยี่ยมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาและ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9  จังหวัดสงขลา แล้วก็ไปพัก บางคนออกกำลังกาบ บางคนนอนหลับนิดหนึ่งเอาแรง แล้วพอหกโมงครึ่ง ก็ไปทานข้าวเย็น ขอตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าข้าวกลางวันและข้าวเย็น ก็เป็นแบบกินไปสรุปงานไป แลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกตามเคย สารพัดทฤษฎีและประสบการณ์ถูกงัดเอามาประกอบการอภิปรายมากมาย ทำงานกับกลุ่มนี้มา ๓ ปีแล้วค่ะ เราจึงมีประสบการณ์ในการตรวจเยี่ยมร่วมกันมาก มีมุกเด็ดให้จดจำไปประกอบการสอนหนังสือได้มาก "ตามเคย"
             ส่วนในวันพฤหัสบดีที่  18 พฤษภาคม 2549 ตอนเช้า  เราก็ไปตรวจเยี่ยมกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา แล้วก็พักรับประทานอาหารกลางวัน แล้วบ่ายก็ไปเข้าพบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสงขลา แล้วก็ไปกินข้าวเย็น ขอให้สังเกต การสรุปงานก็บังเกิดในโต๊ะกินข้าวเหมือนเดิม มีคนช่างกินหลายคน และมีคนช่างพูดหลายคน บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ลึกซึ้งมากขึ้น สรุปผลของสงขลาได้หลายแง่มุม แต่ความอร่อยลดลง เพราะกินกันแบบสุดๆ ทุกวัน เป็นอุบายของคุณหมอชูชัย ศุภวงศ์หรือไม่นะ ? งานที่เราทำเครียดมาก เพราะคนที่เราไปเยี่ยม จะเกรงมากกับการเยี่ยมของเรา แต่เราก็ต้องทำให้บรรยากาศมีความฉันท์มิตร แต่ก็ต้องตรงไปตรงมาในการชี้ว่า สิ่งที่เขาทำถูกหรือผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน งานยาก พอถึงวันสุดท้าย ก็โล่งอก เพราะผู้ถูกเยี่ยมในวันนี้ดูยอมรับในข้อจำกัดที่พวกเขามีอยู่หรือสร้างขึ้น คณะตรวจเยี่ยมเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ก็สี่ทุ่ม เหนื่อยกันทุกคน
             คนที่เหนื่อยที่สุด ก็น่าจะเป็น ผู้ประสานงาน 3 ท่าน (1) นายมานะ  งามเนตร์ (2) นายพิชญ์  รอดแสวง  และ (3)  นางภัทรานิษฐ์  เหมวนิช ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในงานแบบนี้ คนประสานงานจะต้องชัดทั้งในแง่กรอบความคิดของการทำงาน และความมุ่งมั่นของการทำงาน ในงานประสานงาน คนทำงานจะเป็นคนเบื้องหลัง ก็รับผิดชอบทุกรื่องที่เกิดขึ้น เราได้แต่บอกน้องๆ ว่า ถ้ายอมรับว่า เราเก่งในวันนี้ เราก็จะบอกให้ว่า ความเก่งของเราอยู่ที่เรามีประสบการณ์ในการทำงานในทุกระดับ เราทำมาหมดแล้ว และงานที่สอนเรามากที่สุดในแง่มุมของการจัดการ ก็คืองานประสานงานนี้ล่ะ คนไทยมักสอบตกในเรื่องประสานงาน และไม่สู้งานแบบนี้ แต่คนหนุ่มสาวที่ทำตรงนี้ได้ เขาเรียกหนักเอาเบาสู้ ในอนาคต ก็จะบริหารจัดการงานใหญ่ๆ โตๆ ได้แบบดีงามที่เดียว
            มีบทเรียนละเอียดให้เราเล่าได้อีกในการทำงานในฐาน "อนุกรรมการ" ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ทั้งในส่วนของอนุกรรมการด้วยกัน ตัวระบบการทำงาน และตัวผลของการทำงาน ห้องทำงานของคณะอนุกรรมการจะเกิดขึ้นทุกวันอังคารที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สกม) หากไม่ออกต่างจังหวัด ซึ่งโดยปกติ ก็เดือนละครั้ง
              งานแบบนี้เป็นงาน "แบบอย่างที่ใช้กฎหมายมาเป็นตัวเอื้อ" ต่อการทำงานของประชาสังคม จะเห็นว่า   3 ปีกว่าแล้วของการทำงานนี้จึงเป็น 3 ปีของการสร้างความเหนียวแน่นของเครือข่ายประชาสังคมด้านเด็ก โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 กฎหมายนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการเคารพสิทธิเด็กโดยตรง แต่ก่อให้กลไกทางสังคมเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งจะทำให้กฎหมายไม่มีผลเพียงแต่ในกระดาษ กฎหมายนี้ใส่วิญญานให้แก่ตัวอักษรด้วย
               กลไกทางสังคมที่เกิดจาก "พวกเด็กนิยม" กลุ่มมหัศจรรย์มาก อยากเล่าถึงตรงนี้มาก เราได้เรียนรู้ถึง "องค์ความรู้" ที่คนทำงานด้านเด็กที่เข้มแข็งกลุ่มนี้ใช้ในการสอนตัวเองให้เท่าทันกับปัญหาและโอกาสทางสังคมที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว  เราเรียกพวกท่านว่า "ลูกๆ"
หมายเลขบันทึก: 29537เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2006 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท