รัฐถังแตกไม่มีงบฯ จ้าง "ครู" สอน 3 จชต. สมาพันธ์ขู่รวมตัวทวงเงินเสี่ยงภัย


รัฐถังแตกไม่มีงบฯ จ้าง "ครู" สอน 3 จชต. สมาพันธ์ขู่รวมตัวทวงเงินเสี่ยงภัย
       สมาพันธ์ครูภาคใต้ เผย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแคลนครูผู้สอนอย่างหนัก ในขณะที่ สพฐ. แจ้ง  ไม่มีงบฯ จ้างครูสอน ระบุงบประมาณ 70 ล้านบาทที่ 'ชิดชัย' อนุมัติ แก้ปัญหาได้แค่ช่วงสั้น ๆ อัดรัฐควรวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว เผยเงินเสี่ยงภัยถูกหั่นเหลือแค่คนละ 500-600 บาท/เดือน แต่มีเพียงตัวเลขยังไม่ได้รับเงินจริง ระบุเตรียมเคลื่อนอีกครั้งหากรัฐยังแก้ปัญหาให้ไม่ได้
       นายวิชาญ อาธิกพันธ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า สถานการณ์ของโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนครูผู้สอนจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการย้ายออกนอกพื้นที่ของข้าราชการครูจำนวนมาก เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทำให้โรงเรียนต่าง ๆ ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก  "การแก้ปัญหาในขณะนี้ คือ มีการเสนอไปยังสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้หาวิธีการรับครูอัตราจ้าง ที่จบระดับปริญญาตรี เข้าสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู นอกเหนือจากการสอบบรรจุตามวาระทั่วไป จากนั้นอาจจะมีการเพิ่มเงินเดือนให้ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกำลังรอให้ สพฐ. แจ้งมาว่า จะมีการปฏิบัติต่อไปอย่างไร" นายวิชาญ กล่าว
       นายวิชาญ เปิดเผยอีกว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สพฐ. ได้แจ้งมายังสมาพันธ์ครูภาคใต้ ว่า ขณะนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ เนื่องจากงบประมาณจากกรมบัญชีกลาง ไม่มีที่จะจัดสรรให้กับโรงเรียนต่าง ๆ สมาพันธ์ครูภาคใต้จึงไปหารือกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งที่เดินทางลงมาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแจ้งถึงปัญหาที่โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องประสบ  "นายจาตุรนต์ บอกว่า พล.ต.อ.ชิดชัย (วรรณสถิตย์) ได้อนุมัติงบประมาณให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วเป็นเงิน 70 ล้านบาท เงินแค่นี้นำมาใช้ได้ไม่ถึงเดือนกันยายนก็หมดแล้ว ซึ่งก็จะเกิดปัญหาวนเวียนอยู่อย่างนี้อีก รัฐบาลเองก็ไม่นิ่ง งบประมาณก็จะลงมาในลักษณะนี้แล้วก็หมด ครูเองก็กังวลใจ การแก้ปัญหาควรแก้แบบระยะยาว โดยเฉพาะผอ.โรงเรียนต่าง ๆ ล้วนปวดหัวไปตาม ๆ กัน" นายวิชาญ กล่าว
       นายวิชาญ กล่าวอีกว่า การให้ครูอัตราจ้างมาสอนทดแทนข้าราชการครูที่ขาดแคลน สามารถแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะเมื่อครบกำหนดตามกรอบของงบประมาณที่รัฐจัดสรรลงมาให้ โรงเรียนก็จะพบปัญหาเดิม ๆ อีก  หน่วยเหนือจึงต้องรู้ปัญหาที่แท้จริง และวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาว ควรมีการจัดสรรงบประมาณให้พอดีเกณฑ์ทุกโรงเรียน ขณะนี้อุปกรณ์การเรียนการสอนก็ด้อยคุณภาพ ครูไม่พอ ของไม่ดี และต้องเริ่มเตรียมการรองรับการสอนระบบ 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษายาวี ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ    เมื่อภาระงานเพิ่มขึ้น แต่กำลังคนและงบประมาณไม่มี ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย    "ระบบการสอน 2 ภาษา ขณะนี้มีโรงเรียนนำร่องไปแล้ว ทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งการจะดำเนินการตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพ เราต้องมีความพร้อมทั้งในเรื่องของบุคลากร อุปกรณ์การเรียนการสอน และงบประมาณสนับสนุน หากขาด 3 ส่วนนี้ ก็คงจะเดินหน้าไปได้ยาก คิดได้แต่ทำไม่ได้" นายวิชาญ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเงินเสี่ยงภัย ซึ่งข้าราชการครู และครูอัตราจ้างเคยได้รับเดือนละ 2,500 บาท เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ก็มีการตัดเงินเสี่ยงภัยของครูอัตราจ้างทั้งหมด ส่วนข้าราชการครูถูกตัดเหลือ 1,000 บาทต่อเดือน ทำให้สมาพันธ์ครูภาคใต้ต้องเรียกร้องกับรัฐบาล จนสุดท้ายก็มีการจ่ายให้ แต่ให้นำมาเฉลี่ยกันเองในกลุ่มครูแต่ละโรงเรียน   "บางโรงเรียนมีครู       ได้เงินเสี่ยงภัยตกคนละ 500-600 บาทเท่านั้น แต่ตอนนี้ได้รับแค่ตัวเลข เงินจริงยังไม่ได้ ได้ก็แค่ครึ่งหนึ่ง เราก็เรียกร้องกันอยู่ กระตุ้นทุกวิถีทางสุดท้ายได้แค่นี้ จริง ๆ แล้ว 2,500 บาท ไม่มากเลยหากเทียบกับการเสี่ยงชีวิตของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่  ตอนนี้ขวัญและกำลังใจหลายคนแย่ลงมาก ก็คงต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง และจะคอยติดตามเรื่องนี้ตลอด หากยังไม่ได้ก็คงต้องมีการเคลื่อนกันอีก ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัย อยากให้เจ้าหน้าที่ดูแลเข้มงวดและต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแค่ช่วงเปิดเทอมที่ประชาชนสนใจ ควรปฏิบัติให้เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่มาประชุมเครียดตอนที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว" นายวิชาญ กล่าว
       ด้านนายปิยะพร มณีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา เปิดเผยว่า ในส่วนของโรงเรียนบ้านปะแต ยังขาดครูผู้สอนอยู่ 2-3 คน แต่ในช่วงเดือนมิถุนายนจะมีการจัดครูอัตราจ้าง 1 คนและข้าราชการครู    ที่ย้ายจากพื้นที่อื่นมาแทนครูคนเก่าอีก 2 คน ในส่วนของครูจึงน่าจะไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้คือ ห้องเรียนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่มีทั้งหมด 350 คน  "โรงเรียนต่าง ๆ ต้องประสบปัญหาในการบริหารงานมาก เพราะครูขาดเยอะ บางโรงเรียนมีแต่ครูใหญ่ ผู้อำนวยการ และนักการภารโรง บางโรงเรียนก็มีแต่ผู้อำนวยการกับครูอัตราจ้าง โดยในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 จะมีการบรรจุครูอีกประมาณ 182 คน อยู่ในระหว่างการสอบคัดเลือก ผู้อำนวยการโรงเรียนต่าง ๆ สะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าต่างก็มีปัญหา งบประมาณไม่พอ อาคารเรียนไม่พร้อม ที่สำคัญขวัญและกำลังใจของครูที่ยังคาดคิดกันไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องทำต่อไป" นายปิยะพร กล่าว

ผู้จัดการรายวัน  19  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29531เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2006 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท