โรงเรียนสวายวิทยาคาร
โรงเรียนสวายวิทยาคาร โรงเรียน สวายวิทยาคาร

การพัฒนาบุคลากรครู ด้านกระบวนการนิเทศภายในโดยใช้กลยุทธ์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาทีมงานและกลุ่มสร้างคุณภาพโรงเรียนสวายวิทยาคาร อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1


นายประหยัด เขียวหวาน

ชื่อเรื่อง         การพัฒนาบุคลากรครู ด้านกระบวนการนิเทศภายในโดยใช้กลยุทธ์

                     การอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาทีมงานและกลุ่มสร้างคุณภาพ  

                    โรงเรียนสวายวิทยาคาร  อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

                     สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1

 

ผู้วิจัย            นายประหยัด  เขียวหวาน

หน่วยงาน   โรงเรียนสวายวิทยาคาร อำเภอเมืองสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์

                    สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1  

ปีที่วิจัย        2550

บทคัดย่อ

                   โรงเรียนสวายวิทยาคาร อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 มีปัญหาการดำเนินการนิเทศภายในของโรงเรียน คือ ผู้นิเทศไม่เข้าใจกระบวนการนิเทศภายในเชิงระบบที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีขั้นตอนการดำเนินงานที่มีคุณภาพ กระบวนการทำงาน วิธีการทำงาน แต่ละขั้นตอนขาดความต่อเนื่องและไม่มีการบันทึกผลลัพธ์ตามกระบวนการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ รวมทั้งไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบและประเมินผล ส่งผลต่อครูไม่สามารถนำกระบวนการนิเทศภายในไปพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และคุณภาพของผู้เรียนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องมีการนิเทศภายใน

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรครูโรงเรียนสวายวิทยาคาร   จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1  ให้มีความรู้  ความเข้าใจกระบวนการนิเทศภายในสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการด้านการจัดการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น  ประกอบด้วยกิจกรรม 6 กิจกรรม คือ กิจกรรมการวิเคราะห์ปัญหา กิจกรรมวางแผนการแก้ปัญหา  กิจกรรมกำหนดคุณภาพและประสิทธิภาพของแผนการดำเนินงาน กิจกรรมประชุมกลุ่มย่อย กิจกรรมฝึกการนิเทศภายใน และกิจกรรมประเมินผลการปฏิบัติการนิเทศ ดำเนินการโดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) จำนวน 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต( Observation)และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัยจำนวน 12 คน ได้แก่ ผู้วิจัย  ผู้อำนวยการโรงเรียน  รองผู้อำนวยการโรงเรียน  หัวหน้ากลุ่มบริหารวิชาการ  หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 30 คน ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 วิทยากร จำนวน 1 คน ครูผู้สอนช่วงชั้นที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4 จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เครื่องมือวัดกลยุทธ์และเครื่องมือวัดจุดประสงค์ ประกอบด้วยแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินที่วิเคราะห์การดำเนินงานพัฒนาบุคลากรครูให้มีความรู้ ความเข้าใจกระบวนการนิเทศภายใน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation Technique) และเสนอผลการวิจัยโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์

                   ผลการวิจัย พบว่า กลยุทธ์กลุ่มสร้างคุณภาพ กิจกรรมการวิเคราะห์ปัญหา สามารถวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของการนิเทศภายในได้จัด กิจกรรมการวางแผนแก้ปัญหา สามารถหาแนวทางในการแก้ปัญหา โดยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศภายในทั้งระบบ กิจกรรมการกำหนดคุณภาพและประสิทธิภาพของแผนการดำเนินงาน พบว่า ได้แผนปฏิบัติการนิเทศภายในที่มีการตรวจสอบ วิเคราะห์ วิพากษ์เป็นอย่างดีมีคุณภาพและมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ

ทั้งกระบวนการ กิจกรรมเครื่องมือและวิธีการในการดำเนินงาน กลยุทธ์การพัฒนาทีมงาน กิจกรรมประชุมกลุ่มย่อย โดยการเชิญวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถมาให้ความรู้ พบว่า บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมฝึกการนิเทศภายใน พบว่า ผลการดำเนินงานในครั้งนี้ ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้จากตัวผู้ให้การนิเทศและผู้รับการนิเทศเอง กิจกรรมประเมินผลการปฏิบัติการนิเทศยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากยังขาดการจัดการที่เป็นระบบ จึงต้องมีการพัฒนาในวงรอบที่ 2 พบว่า กลยุทธ์การพัฒนาทีมงาน กิจกรรมฝึกการนิเทศภายใน มีการดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้เพราะมีการจัดการสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ มีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ เพื่อให้กระบวนการนิเทศภายใน มีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่วนกิจกรรมประเมินผลการปฏิบัติการนิเทศ พบว่า อยู่ในระดับดีมาก ทุกคนพอใจและการจัดการนิเทศ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ผลการศึกษาด้านวัตถุประสงค์ พบว่า ผลการพัฒนาเพื่อให้ได้กระบวนการนิเทศภายในที่มีคุณภาพ โดยมีการดำเนินงานเป็น 5 ขั้นตอน คือ การศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหา การแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาและพัฒนา การดำเนินการแก้ปัญหาและพัฒนา การนิเทศติดตามผล และ

การประเมินและรายงานผลการแก้ไขและพัฒนา พบว่า การดำเนินการตามขั้นตอนการนิเทศภายใน พบว่า การดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัดและถูกต้องตามกระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษา ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรม เครื่องมือ วิธีการและกระบวนการในการดำเนินงานในโรงเรียนยังไม่มีคุณภาพและการนิเทศภายในยังไม่มีระบบ จึงต้องมีการพัฒนาเพื่อให้ได้กระบวนการนิเทศภายในที่มีคุณภาพ โดยดำเนินงานเป็น 5 ขั้นตอน ดังกล่าวแล้วข้างต้น ผลการดำเนินงาน พบว่า มีการดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัดและเป็นระบบมาก โดยอาศัยกิจกรรม เครื่องมือ วิธีการและกระบวนการดำเนินงาน ในการจัดการนิเทศ การประเมินและรายงาน

                   สรุปผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า การพัฒนาบุคลากรครูโรงเรียนสวายวิทยาคาร ให้มีความรู้  

ความเข้าใจกระบวนการนิเทศภายในสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการด้านการจัดการเรียน

การสอน ให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้นทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทุกคน มีความรู้

ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการนิเทศภายในและ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการนิเทศภายในโรงเรียน เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการพัฒนาบุคลากรครูให้มีความรู้  ความเข้าใจกระบวนการนิเทศภายในมาโดยลำดับอย่างต่อเนื่อง

หมายเลขบันทึก: 293911เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท