บุญกฐิน


 

 

บุญบุญบุญ                  บุญนั้น                  ให้อุ่นจิต

บุญบุญบุญ                  คือชีวิต                 จิตแจ่มใส

บุญบุญบุญ                  คือความสุข           ไม่ทุกข์ใจ

บุญบุญบุญ                  บุญกฐินไซร์          ให้รีบทำ

 

กฐินคืออะไร?

"กฐิน" ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวรในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตให้ภิกษุ

ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาร่วมกัน โดยให้เธอพร้อมใจกัน ยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำจีวร

(จะทำเป็น อันตรวาสก หรืออุตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้และพวกเธอจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ)  ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายออกไปถึงกลางเดือน ๔) ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ) สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรม ต้องมีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ เดือน ๑๒

ความเป็นมาของกฐิน

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เชตะวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ต่อมาเมื่อจวนจะถึงวันเข้าพรรษา ภิกษุชาวเมืองปาไฐยจำนวน ๓๐ รูป ล้วนเป็นพระธุดงค์ (ผู้ถือวัตรปฏิบัติกำจัดกิเลส) คืออยู่ป่าเป็นนิตย์ บิณฑบาตเป็นนิตย์ และใช้ผ้าเพียงสามผืน พากันเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ไปไม่ทันเพราะถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน  จึงจำพรรษาที่เมืองสาเกตระยะทางเพียง ๖ โยชน์เท่านั้นก็จะถึงเมืองสาวัตถี พากันกระวนกระวายตลอดพรรษา เพราะอยู่ใกล้แค่นี้ก้ยังไม่ได้ มีโอกาสเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าสมใจนึก ครั้นออกพรรษาจึงพากันรีบเร่งออกเดินทางไปเฝ้า  ระหว่างทางฝนยังตกชุก จีวร และบริขารเปียกโชกด้วยน้ำฝนและโคลนเลน ได้รับความลำบากไปตลอดทางจนถึงสำนักของพระผ้มีพระภาคเจ้า

   เป็นธรรมเนียมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหลายที่ทรงปราศรัย และตรัสถามภิกษุอาคันตุกะผู้มาเฝ้าพระองค์ "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนยังชีพอยุ่ได้หรือ พอยังอัตภาพไปได้อยู่หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจสมัครสมานกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ"

พระธุดงค์ชาวเมืองปาไฐยได้กราบทูลให้ทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดที่แล้วมา

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม และทรงอาศัยเรื่องนี้เป็นเหตุ จึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุผุ้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน

              ตรัสอานิสงส์ของการได้กรานกฐิน

๑.เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา

๒.ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ

๓.ฉันคณะโภชนะได้ (นั่งล้อมโภชนะฉัน หรือ ฉันเข้าวง)

๔.ทรงอติเรกได้ตามปรารถนา

๕.ย่อมได้จีวรที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้น

              ผลบุญของการถวายผ้า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลาย จงฟังถึงกรรมที่เราได้กระทำไว้แล้ว เราเห็นภิกษุผู้อยู่ป่ารูปหนึ่งจึงได้ถวายผ้าท่อนเก่า ในกาลนั้นเราได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก ผลแห่งกรรมอันเนื่องด้วยผ้าท่อนเก่านั้นได้สำเร็จแม้ในความเป็นพระพุทธเจ้า"

              สัปปุริสทาน ๕ พร้อมทั้งอานิสงส์

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สัปปุริสทาน ๕ อย่างนี้คือ

๑.ให้ทานด้วยศรัทธา (ความเชื่ออย่างมีเหตุผล)

๒.ให้ทานด้วยความเคารพ

๓.ให้ทานตามกาล

๔.ให้ทานมีจิตอนุเคราะห์

๕.ให้ทานไม่กระทบตน ไม่กระทบผู้อื่น

 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !บุคคลให้ทานด้วยความเชื่อแล้ว ในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป้นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปงามน่าดู

น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มี  ผิวพรรณงดงามอย่างยิ่ง"

 "บุคคลให้ทานด้วยความเคารพแล้ว .ในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีบุตร ,ภรรยา,ทาส ,คนรับใช้ หรือกรรมกรก็ตาม บุคคลเหล่านั้นย่อมตั้งใจ สนใจฟัง ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตรับรู้(คำสั่ง)"

"บุคคลให้ทานตามกาลแล้ว" ในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และความต้องการทั้งหลายของเขาที่เกิดขึ้นตามกาล ย่อมบริบูรณ์"

 

 

"บุคคลให้ทานมีจิตอนุเคราะห์แล้ว ในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และจิตของเขาย่อม น้อมไปเพื่อบริโภคในกามคุณ

๕ โอฬาร"

"บุคคลให้ทานไม่กระทบตน ไม่กระทบผู้อื่นแล้วในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และความล่มจม แห่งโภคะของเขาย่อมไม่มาจากที่ไหนๆ คือไฟจากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาท ซึ่งไม่เป็นที่รัก

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้แลสัปปุริสทาน ๕ อย่าง"

              (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๑๙๒)

               บุญแบบไหน?

   สร้างกุศล           ปนเหล้า         ไม่เอานะ

ควรจะละ               ให้ขาด          ประกาศสั่ง

ดื่มสุรา                  ยาเมา           เอาบุญบัง

มันน่าชัง                เหลือฝืน        ถ้าขืนมี

เป็นชาวพุทธ           ควรถือ          คือสัจจะ

ควรรู้ละ                  บางอย่าง      ในบางที่

ในเขตวัด                พุทธสถาน     ลานเจดีย์

ไม่ควรมี                  สิ่งชั่ว           เรื่องมัวเมา

 

ท่านพุทธทาส ได้แบ่งการทำบุญออกเป็น ๓ แบบ คือ

ทำบุญแบบอาบน้ำโคลน

ทำบุญแบบอาบน้ำหอม

ทำบุญแบบอาบน้ำสะอาด

๑.ทำบุญแบบอาบน้ำโคลน หมายถึง ทำบุญแต่ทำบาปด้วย เช่นไปทอดกฐิน ทอดผ้าป่าด้วย ไปกินเหล้าสูบบุหรี่ด้วย ฆ่าวัว ฆ่าหมู เป็ดไก่ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วย

๒.ทำบุญแบบอาบน้ำหอม  หมายถึง ทำบุญเพื่อแลกเอาสวรรค์วิมาน ทำบุญเพื่อถูกหวย  ถูกลอตเตอรี่ ให้ค้าขายร่ำรวย ให้การงานก้าวหน้า ทำบุญสิบบาทจะให้ถูกรางวัลที่๑ จะให้ได้วิมานหลังหนึ่ง จะให้หายจากโรคภัยต่างๆ เป้นการค้ากำไรเกินควร

๓.ทำบุญแบบอาบน้ำสะอาด หมายถึง การทำบุญชนิดที่เป็นการล้างบาป

 คือความโลภ ความเห็นแก่ตัว เพื่อการปล่อยวางความยึดถือว่าเป็นตัวกู ของกู

 ฉะนั้นชาวพุทธใครชอบอาบน้ำอะไร? เชิญเลือกกันเอาเองเถิด

 

 

                            ถ่ายจากผามออีแดง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ 28 ส.ค.52

 

เจริญธรรม หมายเหตุ บันทึกนี้ทำไว้ล่วงหน้า สำหรับกำหนดการบุญกฐิน

จะนำมาบอกกล่าวอีกครั้ง..ธรรมรักษา

 

หมายเลขบันทึก: 292312เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 08:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คนเราส่วนมาก จะคิดถึงบุญต่อเมื่อหมดหนทางครับ

ธรรมสวัสดีไกรษร

บุญคือการกระทำที่ไม่เดือดร้อนตน

เดือดร้อนผู้อื่น เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น

ทุกคนสามารถทำบุญได้ทุกๆวัน

อนุโมทนาสาธุกับโยมด้วย..บุญรักษา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท