๑๐. ทำกินทำอยู่ เรียนรู้พอเพียง


“…ทำนามันเป็นหนี้ก็จริง แต่ก็ได้ลงมือทำของเราเอง พอเกี่ยวข้าวมากินหรือขาย ไม่ได้เงินร่ำรวยก็จริง แต่มันชื่นใจ...”

        ในความเป็นจริงนั้น วิถีชีวิตชาวบ้าน การทำนาทำไร่ มีความเป็นเนื้อเดียวกับความเป็นทั้งหมดของชีวิตจิตใจ มากกว่าจะแยกเป็นวิถีกลไกว่าเป็นอาชีพอย่างวิธีคิดของสังคมสมัยใหม่ ความที่เป็นเนื้อเดียวกับชีวิตนั้น จึงต้องทำอย่างเป็นหน้าที่ของชีวิต ทำเพื่อกล่อมเกลาตนเองและสร้างภาวะแห่งตนให้เติบโตงอกงาม ทำอย่างเป็นการเข้าถึงธรรมและความเป็นชีวิต โลกทรรศน์และชีวทัศน์อย่างนี้ยากอย่างยิ่งที่จะเข้าใจให้ซาบซึ้ง หากไม่สามารถเข้าไปอยู่ในจุดยืนเดียวกับชุมชนการผลิตของชาวนา

น้าของผมคนหนึ่ง เคยปรารภกับหลานๆที่อยู่กรุงเทพฯว่า “..หากอยู่กรุงเทพฯทำมาหากินลำบากก็กลับบ้านเราเถิด หากใครกลับบ้านแล้วละก็ น้าก็จะแบ่งนาให้ทำสักแปลงหนึ่ง  หลานคนหนึ่งก็ออกปากว่า “..จะยกให้ทำทำไมในเมื่อทำนาไปก็มีแต่หนี้สินอยู่ตลอด น้าก็พูดว่า “…ทำนามันเป็นหนี้ก็จริง แต่ก็ได้ลงมือทำของเราเอง พอเกี่ยวข้าวมากินหรือขาย ไม่ได้เงินร่ำรวยก็จริง แต่มันชื่นใจ

เหตุผลจากวิถีดำเนินชีวิตอย่างนี้ทำให้ชาวนาและชุมชนการผลิตอยู่กับสภาพซึ่งมองจากจุดยืนคนภายนอกแล้วก็อาจจะเห็นว่าเป็นความจนและความน่าลำบากยากแค้น  รวมทั้งไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ทั้งที่ก็เป็นหนี้ ยากจน และยากไร้โอกาสตามค่านิยมของสังคมภายนอกมากมายอย่างนั้น ทำไมชาวนาและเกษตรกรโดยทั่วไปก็ยังอยู่กับวงจรเดิมๆอย่างนั้น

จนตรอกและไม่มีความรู้พอสำหรับการผลิตเพื่อสร้างความร่ำรวยกระนั้นหรือ ข้อที่น่าฉงนเหล่านี้จะให้ภาพอีกแบบเมื่อได้เห็นว่าวิถีชีวิตชาวนาและชุมชนการผลิต เป็นการดำรงอยู่ด้วยฐานคติอีกแบบหนึ่งซึ่งอาจต่างจากค่านิยมในกระแสหลักของสังคมทั่วไป

การทำนา ดำรงชีวิตอยู่กับการงานและการผลิต มีวิชาชีวิตและหลักปฏิบัติต่างๆอยู่มากมาย เป็นระบบคิดที่วางอยู่บนคุณธรรมของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นและการปรับตนเองให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับธรรมชาติ เช่น หลังการเกี่ยวและนวดข้าว กระทั่งขนข้าวใส่ยุ้งฉางแล้ว ก็จะถือหลักห้ามนำเอาข้าวเปลือกออกมาขายหรือทำกิน ต้องรอจนถึงเดือน ๓ ถึงย่างเดือน ๖ ซึ่งก็จะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ และถ้าหากจะให้ดี ก็จะต้องจกข้าวในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งจะเป็นวันที่ชาวนาเรียกว่า กบบ่มีปาก นาคบ่มีฮูขี้(กบไม่มีปากและนาคไม่มีรูก้น)

ในวันดังกล่าว มีหลักให้ว่า พอถึงเที่ยงคืนไปจนถึงก่อนสว่างก็ต้องรีบจกข้าวเปลือกในยุ้งฉางออกมาสักถังหรือกระบุงหนึ่ง ตอนไหนก็ได้ เนื่องจากในวันดังกล่าวจะทำให้ จกบ่หมด ใช้กินอยู่บ่หมด (ตักตวงไม่หมด ใช้ไม่หมด) จากนั้นก็จะนำออกไปขายหรือทำอยู่ทำกินอย่างไรก็ทำได้ตลอดไปจนถึงเดือน ๖ ชาวบ้านและชุมชนเชื่อว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ผลผลิตต่างๆจะไม่เกิดการสูญเสียและมีความเป็นมงคลต่อชีวิตทั้งของตนเองและต่อหลักชุมชนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา 

วิชาชีวิตและหลักปฏิบัติในวิถีชาวบ้านดังกล่าว ดูเหมือนจะไม่ได้อยู่ในรูปของสถิติตัวเลขและวิชาหนังสือ ทว่า เมื่อศึกษาและวิเคราะห์ให้รอบด้านแล้ว ก็จะเห็นถึงความเป็นเหตุเป็นผลไปกับธรรมชาติและฤดูกาลอย่างยิ่ง เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นหน้าแล้ง ทางเกวียนและดินตามท้องนาจะแห้งแข็ง เหมาะสมสำหรับเกวียนและรถบรรทุก

ขณะเดียวกัน ก็จะมีเวลาเก็บข้าวให้ลดความชื้นลงโดยไม่แห้งกรอบจนทำให้เม็ดข้าวหักมากจนเกินไปอีก ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการ จกบ่หมด ใช้บ่หมด มากที่สุดของแต่ละปี ซึ่งจะเห็นว่าเป็นบทสรุปที่สะท้อนถึงการเก็บสถิติและตกผลึกประสบการณ์ สืบทอดเป็นหลักปฏิบัติรุ่นต่อรุ่นจนเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิต

ตลอดช่วงชีวิตที่อยู่บ้านกับแม่ พ่อ และพี่ๆน้องๆ กระทั่งย่างเข้า ๑๗-๑๘ ปีนั้น ที่บ้านเราไม่ต้องกินข้าวขาวหรือข้าวจากโรงสีเลย ทั้งรำข้าว และปลายข้าวสำหรับเลี้ยงหมูและไก่ ก็ไม่ต้องซื้อ

 

                        

 

ในหน้าแล้ง หลังให้ข้าวเลี้ยงหมู ไก่ หมา แล้ว พอตกสายๆ แม่ก็จะเกณฑ์พวกเราไปสีข้าวและตำข้าวครกกระเดื่อง รอบแรกก็จะนำข้าวเปลือกมาสีก่อนจนได้ ๗-๑๐ กระบุง จากนั้นก็จะซ้อมข้าวด้วยครกกระเดื่อง เพื่อได้ข้าวสาร รำ และปลายข้าว สำหรับทำกินและเลี้ยงหมู หมา ไก่ แม่พาพวกผมทำอย่างนี้อยู่สองสามรอบ ก็จะได้ข้าวสารหลายกระสอบเพื่อเก็บไว้กินจนถึงการเวียนมาของหน้าข้าวใหม่ปีถัดไป

การสีข้าวแบบแรงมือและคันโยก ต้องผ่อนแรงและดันคานเหวี่ยงเหมือนผลักออกไปจากตนเองอย่างเป็นจังหวะ อีกทั้งต้องมีความสม่ำเสมอ  หากกระแทกกุกกักหรือเร่งเกินไป ข้าวที่เปลือกยังไม่กระเทาะก็จะไหลปนจนเกินจะนำไปตำต่อไปได้

เมื่อสีข้าวเปลือกออกมาแล้ว แม่ก็จะฝัดด้วยกระด้งเพื่อแยกแกลบออกไป แม่เป็นคนฝัดข้าวด้วยกระด้งเก่งและดูสวยงาม  เวลาที่แม่ถือกระด้งไปยืนฝัดข้าว พวกไก่และหมาช่างแสนรู้ก็จะตามไปยืนล้อม รอกินเมล็ดข้าวและรำที่กระเด็นออกจากกระด้ง จากนั้นก็จะช่วยกันนำข้าวกล้องที่สีแล้วไปซ้อมด้วยครกกระเดื่อง พวกผมและแม่พ่อทั้งบ้าน กระจายเป็นแรงงานช่วยแม่ไปตามถนัด ซึ่งบางทีก็ขี้เกียจ อยากไปโดดน้ำและปีนต้นไม้เล่นกับเพื่อนอย่างใจะขาดเหมือนกัน

ในหน้าตำข้าว หมู่บ้านของเราก็จะมีแต่เสียงครกกระเดื่องดังโป๊กเป๊กจากบ้านเหนือจรดบ้านใต้ เสียงแม่ไก่และลูกไก่ร้องเจี๊ยวจ๊าวสลับกับเสียงหมาเห่า ผสมผสานเป็นลมหายใจและดนตรีกาลแห่งท้องทุ่ง

หอมไอหุงข้าวใหม่ยามเช้าจะอวลไปทั่วทั้งละแวกบ้าน  เป็นเหมือนหมุดหมายถึงการสิ้นสุดสิ่งเก่าๆและการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆที่มีชีวิตชีวาและความสดใสของแต่ละปี เมื่อแม่และพ่อประจงตักข้าวใหม่พาพวกผมไปใส่บาตรแล้วก็นั่งกินด้วยกันร้อนๆพร้อมหน้ารอบสำรับข้าว ก็ช่างให้รสคำข้าวที่หวานกำซาบไปทั่วทุกขุมขนและเส้นเอ็น.

หมายเลขบันทึก: 292286เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

อยากให้ภาพที่อ่านนี้ ออกมาเป็นหนังสักเรื่องจังเลย

  • ความอร่อยของอาหารที่ทาน อยู่ที่การได้ทานกันพร้อมหน้า บุคคลที่เป็นที่รักของเรานะคะ
  • แวะมาอ่านเรียนรู้ด้วยความเคารพศรัทธาค่ะ
  • หอมไอหุงข้าวใหม่ยามเช้าจะอวลไปทั่วทั้งละแวกบ้าน  เป็นเหมือนหมุดหมายถึงการสิ้นสุดสิ่งเก่าๆและการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆที่มีชีวิตชีวาและความสดใสของแต่ละปี

  • เมื่อแม่และพ่อประจงตักข้าวใหม่พาพวกผมไปใส่บาตรแล้วก็นั่งกินด้วยกันร้อนๆพร้อมหน้ารอบสำรับข้าว ก็ช่างให้รสคำข้าวที่หวานกำซาบไปทั่วทุกขุมขนและเส้นเอ็น.

  • ขอบคุณ คุณ kumfun ครับ คิดไว้เหมือนกันครับ
  • ตั้งใจว่าจะทำเป็นหนังสือให้แม่แจกในงานทำบุญครอบอายุ ๗๗ ปีในปีหน้าครับ ได้แจกญาติๆและชุมชนที่บ้าน รวมทั้งให้แม่ได้อ่านเพื่อเป็นกำลังใจของคนแก่คนเฒ่าด้วยครับ เลยต้องใช้การวาดรูปและทำเรื่องที่เป็นประสบการณ์ร่วมของชาวบ้านให้เป็นแกนครับ
  • ขอบคุณคุณ Sila Phu-Chaya ครับผม
  • เห็นคุณ Sila Phu-Chaya  ดึงวรรคส่งอย่าง คห ๓ ออกมาจัดวางอย่างนี้นี่ เป็นภาษาของนักอ่านมากเลยนะครับ

แปลกใจจัง..ค่ะครูม่อย..ครูอ้อยเล็กสงสัยจังว่าครูอ้อยเล็กอายุเท่าไหร่แน่...ทำไมครูม่อยโพสต์อะไรมาครูอ้อยสัมผัสมาหมดเลย..เครื่องสีข้าวด้วยมือ ครกกระเดี่องตำข้าว ที่ลูกพี่ๆน้องๆเวียนกันมาช่วยกันเหยียบเล่นด้วยความสนุกสนานแต่ได้ประโยชน์คือได้ช่วยตำข้าวไปในตัว กระด้งฝัดข้าว การเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมา มองออกไปนั่นคงเป็นกอไผ่สีสุกที่ใช้กินได้ทั้งหน่อ และลำต้นเอามาจักสานเป็นกระบุง กระด้ง ตะข้อง ตะแกรง ลอบ เฝือกดักปลา ฯลฯเอ้อแปลกจังครูอ้อยเล็กอายุเท่าไหร่หว่า..งิๆ

 

หรือว่าเราใช้อากาศในการหายใจชนิดเดียวกันค่ะ..ลมหายใจเลยคล้ายกัน..

ตอนเด็กๆ ชีวิตในบ้านก็แทบไม่ต้องใช้เงินเหมือนกันค่ะ

ผักสวนครัวอยู่หลังบ้าน รั้วกินได้อยู่รอบบ้าน ผลไม้อยู่สวนหลังบ้าน

ชีวิตก็มีความสุขตามประสา

เห็นภาพและเรื่องอาจารย์แล้วอดคิดถึงไม่ได้

ป.ล. หาครูแผนในนี้ไม่เจอค่ะ คล้ายๆจะแว๊บๆว่าเห็น หาอีกทีก็ไม่เจอแล้ว

อ่านข้อคิดเห็น ครูอ้อยเล็ก  แล้วก็ยิ้มๆครับ

ผมสรุปให้นะครับ ก็ครูม่อย กับครูอ้อยเล็ก รุ่นเดียวกันไงครับ รุ่นที่ฟังเพลงสไตล์นี้แล้วเพราะครับ แม่อรชรงามเหมือนกินรีร่าง ยลพักตร์แม่แลค้าง ทรวงสล้างเต่งตึง

จริงๆผมเองก็สัมผัสบรรยากาศแบบนี้ ประมาณว่าผมกำลังจำความได้ แต่โตมาหน่อยก็ไม่มีบรรยากาศแบบนี้อีกเเล้ว

อ่านบันทึก อ.วิรัตน์ ทำให้เราได้ย้อนกลับไปสู่อดีตที่คลาสสิกมากๆเลยครับ

ต้องขอบคุณพลังการเขียน การนำเสนอของอาจารย์ครับ

 

 

ขออนุญาต เขียนถึง อ.ศิลามณี Sila Phu-Chaya ครับ

ดีใจครับที่อาจารย์ศิลามณีมาอ่านบันทึกของ อ.วิรัตน์ ชวนพี่ วิญญาณเสรี (หรือเรียกชื่อเล่นว่า สัมภเวสี) มาอ่านด้วยครับ ผมคิดว่าเนื้อหาที่ว่าด้วยบรรยากาศวิถีชีวิตในอดีตนั้น ทำให้เรามีความสุขไม่น้อยเลยครับ :)

จำได้ว่า.. เคยได้ยินอาจารย์ปรารภถึงคำพูดที่ว่า “…ทำนามันเป็นหนี้ก็จริง แต่ก็ได้ลงมือทำของเราเอง พอเกี่ยวข้าวมากินหรือขาย ไม่ได้เงินร่ำรวยก็จริง แต่มันชื่นใจ 

วันนี้ได้มาอ่านบันทึกนี้ ยิ่งพบว่าอาจารย์เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของชาวนาอย่างลึกซึ้ง ผ่านประสบการณ์ที่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง ความจริงใบไม้ฯ เพิ่งเขียนเรื่องเล่าที่แตะชีิวิตชาวนานิด ๆ ไม่ได้ลึกซึ้ง (ยังไม่ได้ตีพิมพ์) กระนั้นก็ขออนุญาตเอามาแจมพร้อมคำนับคารวะค่ะ..^__^..

สายลมโชยมาอ่อน  ๆ พัดพาเอากลิ่นหอมของไอดินและทุ่งนามาแตะจมูก ฉันและเพื่อนจอดรถแวะกินข้าวเหนียวไก่ย่างที่ซื้อมาจากตลาดอยู่ใต้ร่มไม้ริมทุ่งนา สัมผัสบรรยากาศของทุ่งนาเขียวขจีด้วยความรื่นรมย์ สำหรับคนเมืองอย่างฉันอาจเป็นเพียงการเปลี่ยนบรรยากาศ แต่สำหรับชาวนาแล้ว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของไอดินและต้นข้าวนี้ กล่าวได้ว่าเป็นกลิ่นหอมของชีวิต เพราะเป็นกลิ่นหอมที่พวกเขาคุ้นเคยผูกพันมาชั่วชีวิต...

สวัสดีค่ะอาจารย์พี่ม่อย สบายดีนะคะ อ่านแต่ละบันทึกของพี่เพลินเห็นภาพชัดเหมือนชมภาพยนตร์เป็นฉากๆ เลยค่ะ ชอบภาพวาดประกอบทุกภาพค่ะ

สวัสดีคะ อาจารย์ เพิ่งมาอ่านบันทึกอาจารย์ครั้งแรกค่ะ

ช่วยให้เด็ก น้อยด้อยประสบกาณ์อย่างพอลล่า เข้าใจเห็นภาพชัดเหมือนพี่ดาว ลูกไก่ ว่าเลยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

Pจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกู อิๆภูมิใจพี่อ้อยเล็กภูมิใจอย่างน้อยไม่ได้เป็นศิลปินร่วมสมัย..ได้เกิดร่วมสมัยก็ยังดีนะ..งิๆๆ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

  • เห็นภาพวากชุดนี้แล้วคิดถึงแม่เฒ่า-พ่อเฒ่า ลุง-ป้า และ ปู่-ย่า ตา-ยายเลยจริง ๆ อาจารย์
  • ได้ทันเห็นทันทำบ้างนิดหน่อยตอนเป็นเด็ก เครื่องมือชุดนี้อยู่ใต้ถุนบ้านแม่เฒ่า-พ่อเฒ่า เวลาทำก็รวมคนเฉพาะลูกหลานแม่เฒ่าก็เต็มใต้ถุนบ้านเลยแหละ
  • ทำอยู่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นมาก็ใช้บริการโรงสีในตลาดหนองบัวกันหมด อุปกรณ์ต่าง ๆ สูญหายมลายสิ้นไม่พบเจอ
  • แต่ก็ยังพอหาดูได้ที่พิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับใกล้ ๆ บ้านอาตมาเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านไปเที่ยวชมได้ตามอัธยาศัยมีของให้ดูชม พะลึกพะลือ (มากมายก่ายกอง)
  • จะหาว่าหนองบัวมีของดีแล้วไม่บอกไม่ได้นะคุณโยม

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ผมก็แปลกใจครับครูอ้อยเล็ก ว่าทำไมครูอ้อยเล็กรู้จักวิถีชีวิตเหล่านี้หลายเรื่อง คงไม่ใช่เรื่องอายุอย่างเดียว แต่ผมแปลกใจและสนใจว่าชุมชนแถวๆนครปฐมที่มีสภาพแวดล้อมอย่างนี้ในช่วง ๒๐-๓๐ ปีไปแล้วนั้น เขาสามารถดำรงความดั้งเดิมหลายอย่างไว้ได้อย่างไรน่ะครับ
  • แถวบ้านจะไม่นิยมปลูกกอไผ่สีสุกครับ ใช้กอไผ่ตงแทน ไผ่ตงแม้ลำจะเล็กกว่าแต่ก็ใช้สอยได้อย่างดีเหมือนไผ่สีสุก แต่ที่ต่างจากไผ่สีสุกคือไผ่ตงจะมีกิ่งและหนามมากกว่า ใช้ปลูกและทำรั้วกลุ่มบ้านได้ดีครับ
  • เราใช้ลมหายใจเดียวกันกับผู้คนและสรรพชีวิตแน่ๆน่ะครับ เวลาหายใจเข้า ก็เป็นลมหายใจที่แบ่งปันมาจากพืชพันธ์และสรรพชีวิตอื่น เวลาเราหายใจออก เราก็หยุดตนเองชั่วครู่และแบ่งปันสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราออกไปให้ผู้อื่นบ้างน่ะครับ
  • สวัสดีครับคุณณัฐรดา
  • คุณณัฐรดาเป็นคนมีพลังมากมายจริงๆ ทำไมทำอะไรได้เยอะแยะและดีๆต่อผู้อื่นทั้งนั้นเลยนะครับ
  • ครูแผน ที่กำลังตามหานี่ใครหรือครับ คุ้นๆว่าจะเป็นในโอเคเนชั่นใช่ไหมครับ

สวัสดีครับคุณจตุพร

  • ผมก็พลอยได้ยิ้มไปด้วยครับ รุ่นที่ฟังเพลงธานินทร์เพลนี้นี่ เป็นรุ่นผมและรุ่นก่อนหน้านั้นครับ แต่รุ่นนี้ มาถึงตอนนี้แล้วคงจะไม่เหลือเค้าสล้างและอรชรเหมือนกินนร-กินรีเยื้องย่างแล้วละครับ เป็นหมูแพนด้าซะมากกว่า
  • คุณจตุพรทำให้ได้เข้าไปอ่านงานของอาจารย์ศิลา ภูชยาไปด้วยครับ เลยเป็นอย่างที่ผมเข้าใจจริงๆ ท่านเป็นนักอ่าน นักคิดเขียนและนักศึกษาปฏิบัติ เลยนำเรื่อง โรงมหรสพทางจิตวิญญาณ ของสวนโมกข์ มาฝากคารวะท่านด้วยครับ ยังไม่ดีนัก แต่กว่าจะไปเก็บข้อมูลมาเขียนได้ ก็ต้องใช้ความตั้งใจและผ่านความล้มเหลวไปหลายรอบครับ

สวัสดีครับน้องดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

  • ดีใจนักน้องแก้วมาแอ่ว
  • พี่ก็ตามอ่านงานของน้องดาวลูกไก่ กับวสุคนโสตอยู่เสมอครับ  ทั้งด้วยความน่าสนใจและด้วยความระลึกถึงทั้งบ้านเลย 
  • ชอบอ่านเวลาเขียนถึงเรื่องราวที่น้องดาวลูกไก่กับวสุไปเที่ยวตามวัด ชุมชน และกิจกรรมของผู้คน มาเล่าถ่ายทอดมากๆด้วยครับ
  • หน้าหนาวนี้จะไม่มีโปรแกรมไปไหนกันบ้างหรือเนี่ย

สวัสดีครับน้องพอลล่า 

  • อย่างน้องพอลล่านี่คงไม่เรียกว่าด้อยประสบการณ์แล้วละครับ ประสบการณ์ดีและเก่งมากด้วยครับ 
  • แต่ก็ประทับใจครับที่คนรุ่นใหม่มีความสนใจเรื่องราวในวิถีชาวบ้านและการเรียนรู้ทางสังคม
  • นอกจากได้เกิดร่วมสมัยกันแล้ว โชคดีที่ได้มาเป็นสภาพแวดล้อมการเรียนรู้-ทำการงาน และเป็นเพื่อนทางปัญญาให้กันด้วยนะครับ คุณครูอ้อยเล็ก

กรานมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)ครับ

  • เห็นพะลึกพะลือที่พระคุณเจ้าเอามาพูด(เขียน)แล้วขำเลยครับ ได้ยินเสียงคนหนองบัวเลย

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง

  • ใช่เลย แนวนี้นั่งคุยกับใบไม้ฯแล้วสนุก เป็นแนวที่ต้องให้เวลาในการเปิดตัวเราให้มีประสบการณ์รอบด้านกับเหตุการณ์ต่างๆให้มากพอที่จะถ่ายทอดและเขียนออกมาใหม่ด้วยทรรศนะและการนำเสนอของเรา

ขอแลกเปลี่ยนด้วยนะคะ

  • สมัยก่อนตามบ้านนอกจะมียุ้งข้าวกันแทบทุกบ้าน บางบ้าน 2 - 3 หลังแต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วค่ะ รื้อปลูกบ้านสวยๆแบบตะวันตกกันหมดแล้ว
  • การตักข้าวจากยุ้ง  อุปกรณ์ที่ใช้ตักข้าวเปลือกเป็นกระดองเต่าค่ะ ขนาดพอดีไม่ใหญ่หรือไม่เล็กจนเกินไป รูปร่างสาวยงามมีลายสีเหลืองหรือไม่ก็สีขาว  ตักครั้งละ 3 กระดอง แล้วเอาไปโปรยไว้กับพื้นดิน เป็นอาหารของนกกา พร้อมกับตักน้ำใส่กะลาไว้ด้วยค่ะ
  • และให้คนที่เกิดปีขาล  มะโรง  มะเส็ง  เป็นคนตัก เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่กินข้าว จำได้ว่าเคยตักค่ะ เพราะเกิดปีมะโรง คงเป็นความเชื่อตามที่พี่ชายอธิบายไว้ “กบบ่มีปาก นาคบ่มีฮูขี้(กบไม่มีปากและนาคไม่มีรูก้น)     
  • ตา ยาย และพวกน้าๆเกิดปีสัตว์กินข้าวทุกคน  หลานคนแรกนี่แหละค่ะ ที่เกิดปีมะโรง  ได้ตักทุกปี    

                 ----------------------------------------

  • การดำเนินชีวิตของชาวนา  บางบ้านมีอันจะกิน แต่บางบ้านมีหนี้สินอาจเป็นเพราะ การบริหารจัดการในครัวเรือนก็เป็นได้ (อิอิ..พูดแบบนักบริหาร)
  • เท่าที่จำความได้ ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ค่ะ  ยายมีลูก  11 คนและเป็นหัวหน้าครอบครัวด้วย  ตาเข้าวัดเพราะเป็นช่างไม้ ไปช่วยทำตู้โต๊ะและงานก่อสร้าง  หรือไม่ก็อยู่บ้านทำอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ
  • เครื่องสีฝัด  ครกกระเดื่อง  สาก ตาและเพื่อนบ้านช่วยกันทำเอง
  • ทุกคนตื่นแต่เช้ามืด ยายหุงข้าว  แม่ทำขนมขายเพราะแต่งงานและต้องเลี้ยงลูก( 5 คน ) อยู่กับบ้านคนเดียว ทำเงินไว้ซื้อกับข้าว
  • น้าๆเทียมเกวียนออกไปนา ทำนาหลายไร่ค่ะ 
  • พอหุงข้าวเสร็จ ยายไปส่งข้าว  ที่นาจะมีกระท่อมไว้สำหรับพักผ่อนด้วย ใช้ไม้ไผ่สับๆทำฝาและพื้น  หลังคามุงด้วยแฝก  มีหลายกระท่อมค่ะที่อยู่รวมๆกัน  เรียกว่าเป็น โนน

  • ยายจะขุดดิน ปลูกผักไว้รอบๆกระท่อม  บวบ ฟัก  ฟักทอง ไผ่ตง และอีกหลายๆไผ่ 
  •  มันเทศ  มันสำปะหลัง และอีกหลายๆชนิด ไว้สำหรับทำอาหาร และขนม
  • หลังจากนั้น ยายจะตัดไม้ไผ่ จักตอกมัดกล้า ข้าวฟ่อน  สานกระบุง ตะกร้า กระด้ง ตะแกรง  กระพ้อมใส่ข้าวเปลือก และอุปกรณ์ทุกชนิด
  • ถ้าวันไหนฝนตกหนักตั้งแต่เช้า  นั่นคือวันหยุดของชาวนา  อยู่บ้านช่วยกันจักสานค่ะ
  • เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จากการขายข้าว  ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ทำทุน  อีกส่วนหนึ่งซื้อที่ดินเพิ่มทุกปี การกินอยู่แทบไม่ต้องควักทุนเลยค่ะ
  • ไม่มีหนี้สิน  เพราะทุกคนต้องทำงาน ไม่มีเวลาเที่ยวเตร่หาความสำราญ
  • ความสุขคือได้ทำงาน หนัก อยู่ในไร่ในนา หรือไม่ก็ทำบุญที่วัดในวันหยุดเทศกาล

                                    

                           มีความสุข(แต่เหนื่อยมากๆ)มาจนถึงบัดนี้ค่ะ

                                                      

              

                   ขอบพระคุณพี่ชายที่มีที่ว่างให้บรรยายเสียยืดยาว 

            ขอบอกว่าไม่ใช่คนรุ่นเดียวกันนะคะ  แค่ใกล้เคียงค่ะ อิอิ...

         การมีลูกมากๆก็ดีไปอย่างหนึ่งนะคะ   แต่ถ้าเป็นสมัยนี้..กระอัก!! ค่ะ

    

 

 

 

สวัสดีค่ะพี่ม่อย 17-22 ก.ย. วสุและน้องจะลง กทม. ค่ะ พร้อมพี่เล็กและแต๋ม ซึ่งจะอยู่ทำงานมหิดล "สายรุ้งที่แม่ปิง" ช่อง 9  ด้วยค่ะ ไม่รู้น้องหน่อย (ซึ่งทำงานหนักทุกงานใหญ่ๆ) ลงมาด้วยไหมนะคะ

ถ้ามีโอกาสไป ชม. หลายๆ วัน จะขอเรียนเชิญพี่ม่อยมาเติมเต็ม KM ให้ทีมที่ทำงานนะคะ

  • สวัสดีครับน้องจุฑารัตน์
  • นึกออกไปด้วยเลย เป็นอย่างที่น้องจุฑารัตน์เพิ่มเติมรายละเอียดให้อีก แล้วก็บางแง่มุมก็เพิ่งได้ทราบไปด้วยครับ อย่างการใช้กระดองเต่าตัก แล้วก็ให้เอาไปโปรยเป็นอาหารให้นกกาน่ะครับ  รวมทั้งการเรียกกระท่อมพักตามนาว่าโนนน่ะครับ
  • สวัสดีครับน้องดาวลูกไก่ต๋อย
  • คร่อมเสาร์อาทิตย์พอดีนี่เนาะ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

  • การปลูกกระท่อม(คนในบ้านเรียกว่าห้างนา)ในนารวมกันหลาย ๆ หลังเป็นกลุ่ม ที่คุณครูจุฑารัตน์ เรียกว่า โนน นั้น คนหนองบัวเรียกว่า โคกห้าง
  • ส่วนกระดองเต่าตักข้าวเปลือกนี่ไม่รู้จักและไม่เคยเห็น เพิ่งจะได้ยินชื่อ ถือเป็นความรู้ใหม่

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • แถวบ้านเรียกโนน ก็หมายถึงเนินที่สูงพ้นน้ำท่วมขนาดใหญ่ ใหญ่กว่าจอมปลวก โพน
  • ต่างจังหวัดมีบ้านโนนโน่น-โนนนี่ เหมือนกันนะครับ
  • การทำห้างอยู่ด้วยกันหลายจ้าวในหน้าทำนานั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีที่นาอยู่ไกล ไปกลับทุกวันไม่ไหว จะทำนาไม่ทัน

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • การตักข้าวเปลือกใช้อุปกรณ์ได้หลายชนิด  ในสมัยก่อนอาจเป็นความเชื่อที่ว่า เต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว จึงนำมาใช้เพื่อให้การดำเนินชีวิตมีความยั่งยืนค่ะ
  • บางบ้านใช้ทัพพี  ซึ่งทำจากเครื่องเงินหรือทองเหลือง ล้วนเลือกสรรแต่สิ่งที่ดีงาม และเป็นมงคลค่ะ
  • ที่ตักครั้งแรกแค่ 3 ทัพพีหรือ 3 กระดองเต่า เป็นเคล็ดที่ถือเอาเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ เป็นวันเริ่มต้นที่จะนำข้าวเปลือกออกจากยุ้ง
  • การปลูกห้างนาอยู่บนโนน นั้น  คนที่มีนาอยู่ใกล้ๆกันเขาจะปลูกอยู่รวมๆกัน เมื่อเวลาไปนอนค้างคืนที่นา  อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ต้องระวังขโมยลักควาย จะได้ดูแลช่วยเหลือกันค่ะ
  • แถวบ้านมีเครื่องจักสานสำหรับตักข้าวเปลือกรูปทรงเหมือนกระดองเต่า หรือเหมือนบุ้งกี๋ขนาดเล็กอยู่เหมือนกันครับ  

สวัสดีครับพี่

    บรรยากาศที่พี่ได้เขียนมาเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่พึ่งพาธรรมชาติ และกำลังกายของตนเอง  ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่ก็ไม่อดตาย

ชีวิตอย่างนี้นับวันจะน้อยลง ไปหลงกับชีวิตที่แก่งแย่งแข่งขันกันตลอดเวลา...ขอบคุณครับสำหรับเรื่องที่อ่านแล้วมีความอบอุ่นใจ

  • สวัสดีครับท่านวสุ ขันแข็งจริงๆเนาะ แถวมีคู่หูร่วมแนวทางไปด้วยกันอย่างสุดยอดทั้งคู่เลย
  • เดี๋ยววันหลังจะเชิญไปนั่งเสวนากันที่บ้านห้วยส้มบ้างนะครับ
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆที่วสุนำมาเขียนและถ่ายทอดไว้ด้วยเช่นกันครับ

ดีมากครับช่วยกันรักษาไว้เริ่มต้นที่ตัวเรา

วิถีชีวิตอย่างนี้ในประเทศเพื่อนบ้านของเราในเอเชียก็มีและยังเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อชาวบ้านในท้องถิ่นที่ยังคงอยู่กันด้วยความเป็นชุมชน หลายอย่างจึงเป็นสุขภาวะและคุณภาพชีวิต ที่อยู่ในความเป็นอยู่ร่วมกันของผู้คนครับ

                           

นักศึกษา-ลูกศิษย์ผม มาจากศรีลังกา ชาวมุสลิม และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในบ้านของเขา ระหว่างที่ผมและคณะพานักศึกษาไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนสาคลีวิทยา พอเห็นกระด้งฝัดข้าว เขาก็คว้ากระด้งและยืนฝัดข้าวสาธิตให้เพื่อนๆดู เขาบอกว่าเขาเป็นลูกชาวนา

อ่านอดีต..ที่งามภายในใจ ของอาจารย์แล้ว สุขใจไปด้วย นะครับ

...แค่กลิ่นข้าวที่หอมไปทั่วละแวกบ้าน จากฝีมือของใครคนนั้นเนี่ย!

...แม่คือผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริงของลูก ๆ ...

 

มาเยี่ยมอาจารย์ด้วยความเคารพ ครับ

ขอบคุณคุณแสงแห่งความดีครับที่มาชวนรำลึกถึงแม่และข้าวใหม่หอมๆในตอนนี้ เพราะหน้านี้แหละกำลังได้กินข้าวใหม่กัน ผมเพิ่งจะได้ข้าวกล้องจากที่บ้านของภรรยาทำนากันเองมาถุงเล็กๆถุงหนึ่ง รอจังหวะจะต้มข้าวต้มให้หอมตลบไปเลยสักวันหนึ่ง และเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาก็ได้กลับบ้านเกิดที่นครสวรรค์เพื่อไปทำบุญกับแม่ ญาติๆก็เผาข้าวหลามจากข้าวใหม่กัน มันทั้งหอมข้าวใหม่และหอมชีวิตเข้าไปถึงขั้วหัวใจของเราเลยนะครับ

นี่เป็นการมากระตุกให้เขียนเรื่องแม่ต่ออีกในปีนี้หรือเปล่านะครับ มีน้องๆมานั่งเคาะโต๊ะบอกให้เขียนต่ออีก ปีนี้ก็เลยกะว่าจะเขียนต่ออีกภาคหนึ่งอยู่เหมือนกัน แล้วก็ชุดแรกนี้ก็กะว่าจะพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ เพื่อเพิ่มส่วนที่เป็นบทสังเคราะห์และทบทวนความรู้สำหรับการทำวิจัยในแนว Auto-Ethnography ที่ประยุกต์ใช้สำหรับขับเคลื่อนกิจกรรมชุมชนและเป็นสื่อปฏิบัติการสังคมในขอบเขตต่างๆด้วย ได้ทดลองทำออกไปใช้แล้วครับ ใช้ได้ครับ ปีนี้เลยจะถอดบทเรียนและเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่เป็นเหมือนรายงานผลและบันทึกบทเรียนของการนำออกไปใช้ทำงานดูแบบสบายๆน่ะครับ

นอกจากการรำลึกถึงแม่แล้ว ระบบคิดเรื่องแม่ก็เป็นทรรศนะแม่บทในการสร้างความรู้และจัดการความรู้ที่น่าสนใจมากที่สุดแนวหนึ่งในจักรวาลของความรู้และวิธีคิดของมนุษย์เลยนะครับ โดยเฉพาะสำหรับสังคมไทยและสังคมที่มีพื้นฐานอยู่กับวิธีการผลิตเกษตรกรรม อย่างข้าวใหม่ น้ำ และปัจจัยที่ประชุมกันจนก่อเกิดเป็นชีวิตและสรรพสิ่ง อีกทั้งหล่อเลี้ยงให้มีความงอกงาม และพัฒนาการให้อยู่ในวงจนเสื่อสลาย เกิด-ดับ เกิด-ดับ เหล่านี้ ระบบคิดชุดหนึ่งก็ให้วิธีคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงที่แม่ส่งผ่านมาถึงมนุษย์ สรรพชีวิต และสรรพสิ่ง ทางสายรก การที่เรามีความสำนึก น้อมเคารพ และปฏิบัติต่อธรรมชาติและปัจจัยพื้นฐานที่กอปรกันขึ้นเป็นสิ่งต่างๆตามเหตุปัจจัยนั้นๆนั้น ก็เป็นการเชื่อมต่อกับมาตุภูมิ ทำให้การดำเนินชีวิตได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยดี โดยวิธีคิดอย่างนี้ ในหลายสังคมก็เลยเรียกปัจจัยก่อกำเนิดและปัจจัยเพื่อการบำรุงหล่อเลี้ยงต่างๆแก่สรรพชีวิตนั้นว่าเป็นแม่ด้วยเช่นกัน เช่น แม่พระธรณี แม่พระคงคา แม่พระโพสพ

หากมองไปให้ไกลและกว้างมากกว่านั้นไปอีก ก็จะทำให้รู้จักทรรศนะแม่บทที่สำคัญเกี่ยวกับปัจเจกภาพที่พอกล่าวรวมๆได้ใน ๔ วิธีคิด คือ วิธีคิดหนึ่งก็คือ ปัจเจกภาพเป็นองค์ประกอบทางชีววิทยา วิธีคิดที่สอง ปัจเจกภาพเป็นสิ่งที่มีพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น พระผู้เป็นเจ้าในที่นี้เป็นระบบคิดที่พยายามอ้าอิงถึงสิ่งที่เหนืออำนาจความเข้าใจและความสามารถทั้งหลายของมนุษย์ วิธีคิดที่สาม ปัจเจกภาพเป็นภาวะผุดบังเกิดจากปัจจัยแวดล้อมกับการจัดความสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ในการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านตนเองของบุคคล และวิธีคิดที่สี่ ปัจจเจกภาพเป็นภาวะจากความมีอิสรภาพ เสรีภาพ และการกำหนดตนเองของบุคคล ซึ่งสองใน ๔ ของวิธีคิด คือ วิธีที่ ๒ และ ๓ นั้น เป็นกลุ่มวิธีคิดที่เชื่อว่า บุคคลและปัจเจกภาพไม่ได้มีความเป็นเอกเทศและก่อเกิดขึ้นด้วยตนเองแต่เพียงลำพังไม่ได้ วิธีคิดนี้สามารถเชื่อมโยงไปสู่วิธีคิดเรื่องแม่ได้ด้วย โดยจะเป็นวิธีคิดในชุดที่มนุษย์น้อมตนลงให้แก่ธรรมชาติและพัฒนาปัจเจกภาพไปที่ระดับหนึ่ง แต่ไม่มีความอหังการ์ไปเกินธรรมชาติ ดังนั้น จึงมุ่งไปที่กระบวนการเรียนรู้และกล่อมเกลาตนเอง มากกว่าจะมุ่งกระทำต่อปัจจัยภายนอก วิธีคิดดังเช่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งมุ่งคลายอัตตาและต่อสู้กับความเป็นตัวกูของกู ก็จัดว่าอยู่ในวิธีคิดชุดนี้ครับ รวมความได้ว่า ระบบคิดที่เชื่อว่ามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นคุณต่อมนุษย์นั้น มีหลายวิถีทรรศนะ บางทรรศนะเชื่อว่าเป็นผู้บงการและมนุษย์ต้องยอมสิโรราบ อ้อนวอน บูชายัญ และบางทรรศนะก็เชื่อว่าเป็นพลังแห่งความเมตตาเหมือนแม่ มีแต่การให้พลังการก่อเกิด งอกงาม ดูแล คุ้มครอง หล่อเลี้ยง เรื่องแม่จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ทั้งความเป็นแม่ของเรา และวิถีทรรศนะเรื่องแม่เพื่อสู่ความเข้าใจโลกแห่งสรรพสิ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท