การแพร่ระบาดของยุง


ยุงลาย แมลงร้ายดึกดำบรรพ์
    การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศเวลานี้ อาจเรียกได้ว่าทำให้ "เจ้ายุงลาย" ตัวการของโรคมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการกล่าวขวัญถึงยกใหญ่ การกล่าวถึงในที่นี้ไม่ใช่การชื่นชมในคุณลักษณะ แต่เป็นการการคิดหาหนทางกำจัดและวิธีระมัดระวังป้องกันโรคที่ยุงชนิดนี้เป็นพาหนะ ซึ่งแน่นอนที่สุดสามารถพบเห็นได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบชนบท  " ยุง " เป็นแมลงขนาดเล็ก มีวิวัฒนาการมายาวนานถึง 200 ล้านปี เชื่อกันว่าหากนำสายพันธุ์ยุงจากทั่วโลกมารวมกันแล้ว จะได้ตัวเลขสูงนับหมื่นชนิด โดยสาเหตุที่ยุงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันได้ ก็เนื่องจากยุงเป็นแมลงที่มีลักษณะพิเศษหลายประการที่เอื้ออำนวยต่อการปรับตัวและการดำรงชีวิตในสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี อาทิ ขนาดของลำตัวที่เล็กทำให้ต้องการอาหารไม่มากนัก และไม่ต้องการที่อยู่อาศัยใหญ่โต มีปีกหลบหลีกศัตรูได้เร็วทั้งยังช่วยในการหาอาหารได้ง่ายขึ้นและไกลขึ้น ยุงในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 19 สกุล รวมทั้งหมด 412 ชนิด แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ ยุงที่เป็นพาหะนำโรค และยุงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค  ยุงที่เป็นพาหะนำโรค ก็ได้แก่ ยุงลาย (Genus Aedes) เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก, ยุงรำคาญ (Genus culex) นำโรคไข้สมองอักเสบเจดี, ยุงก้นปล่อง (Genus Anopheles) นำโรคมาลาเรีย และ ยุงเสือ (Genus Manso-nia) นำโรคเท้าช้าง ยุงลายในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 113 ชนิด แต่ที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ ยุงลายบ้าน และยุงลายสวน ยุงลายบ้านและยุงลายสวนจะออกหากินในเวลากลางวัน แต่ถ้าในช่วงเวลากลางวันนั้นยุงลายไม่ได้กินเลือด หรือกินเลือดไม่อิ่ม ก็อาจออกหากินเลือดในเวลาพลบค่ำด้วย ช่วงเวลาที่สามารถพบยุงลายได้มากที่สุดมี 2 ช่วง คือ ในช่วงเวลาเช้าและช่วงเวลาบ่าย ถึงเย็น โดยบางรายงานระบุว่า ช่วงเวลาที่ยุงลายออกหากินมากที่สุด คือ ระหว่าง 09.00 - 11.00 น. และ 13.00 - 14.30 น. แต่บางรายงานก็ระบุแตกต่างกันออกไป เช่น ระหว่าง06.00 - 07.00 น. และ 17.00 - 18.00 น. (ทั้งนี้แล้วแต่ว่าทำการศึกษาในฤดูกาลใด) และจากการศึกษา พฤติกรรมการกัดของยุงลายที่กรุงเทพ ฯ พบว่า จะกัดในเวลากลางวัน ช่วงเวลาที่มีการกัดมาก ได้แก่ 09.00 - 10.00 น. และ 16.00 - 17.00 น. และพบว่ายุงลายบ้านชอบกัดคนในบ้าน ส่วนยุงลายสวนชอบกัดคนนอกบ้าน ยุงลายเป็นยุงที่ไม่ชอบแสงแดดและลมแรง ดังนั้นจึงหากินไม่ไกลจากแหล่งเพาะพันธุ์ โดยทั่วไปมักบินไปไม่เกิน 50-80 เมตร นอกจากนี้จะพบว่ามียุงลายชุกชุมมากในฤดูฝน ช่วงหลังฝนตกชุกเพราะมีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะแก่การแพร่พันธุ์ ส่วนในฤดูอื่น ๆ จะพบว่า ความชุกชุมของยุงลาย ลดลงเล็กน้อย  สำหรับในเรื่องของการแพร่กระจายของยุงลายนั้น เชื่อกันว่า ยุงลายบ้านซี่งเป็นยุงที่มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ระหว่างเส้นรุ้งที่ 40 องศาเหนือและใต้ โดยติดไปกับพาหะที่ใช้ในการคมนาคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเรือ สำหรับประเทศไทย ไม่มีใครทราบแน่นอนว่า ยุงลายได้เข้ามาแพร่พันธุ์ตั้งแต่เมื่อใด แต่มีรายงานปรากฎในวารสารวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพบยุงลายในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยเข้าใจว่าในระยะต้น ๆ ยุงลายจะแพร่พันธุ์อยู่ในเฉพาะเมืองใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พบว่า ยุงลายมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ แต่พบอยู่ทั่วไปทุกเมือง รวมทั้งในชนบทตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้จากการศึกษาเพิ่มเติมยังพบว่า การแพร่กระจายของยุงลายจะถูกจำกัดโดยความสูงของ พื้นที่ คือ จะไม่พบยุงลายบ้านที่ระดับความสูง 1,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ต่างจากยุงลายสวน ซึ่งสามารถพบได้ทุกระดับความสูง แม้กระทั่งบนยอดเขา อย่างไรก็ตาม สาเหตุอีกประการหนึ่งที่นักวิชาการทั่วโลกเชื่อว่า เป็นสาเหตุของการแพร่พันธุ์ของยุงลาย และแมลงร้ายที่เป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ ก็คือ สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา โลกมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอากาศอย่างชัดเจน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างมากในปี พ.ศ. 2523-2533 เป็นช่วงที่โลกมีสภาพอากาศร้อนที่สุด ปรากฏการณ์ EI Nino ได้รับการบันทึกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2110 จนถึงปัจจุบันปรากฏการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้ง และอุณหภูมิสูงขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ภาวะแห้งแล้งนี้มีผลต่อจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เนื่องจากยุงลายเพาะพันธุ์ในภาชนะขังน้ำ ซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเป็นส่วนใหญ่ และในภาวะนี้จะเป็นภาวะที่ประชาชนทำการกักตุนน้ำไว้ใช้บริโภคมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจากภาวะที่โลกอบอุ่นขึ้น อันเนื่องมาจากผลของปรากฏการณ์เรือนกระจก ยังช่วยทำให้ยุงและแมลงที่จำศีลในช่วงฤดูหนาวสามารถแพร่พันธุ์ได้ในสภาพอากาศของฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นได้อีกด้วย ขึ้นชื่อว่ายุงแล้ว แม้บางพันธุ์จะไม่เป็นพาหะนำโรคแต่ก็สร้างความรำคาญใจให้แก่มนุษย์ได้ในทุกวัน เวลาและสถานที่ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการเพิ่มจำนวนของยุงได้
    แต่ถ้าจะให้ดีและปลอดภัย….ระวังอย่าให้ยุงกัดเราได้เป็นดีที่สุด…
  • "ยุงลาย"เปลี่ยนพฤติกรรมหากิน กัดไม่ยั้งถึง5ทุ่ม-แพร่เชื้อ"เดงกี"  
    ผศ.นพ.เผด็จ สิริยะเสถียร ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสำรวจเพื่อป้องกันโรคหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ภาคใต้ พบว่ายุงลายตัวผู้ในธรรมชาติมีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่ายุงลายตัวผู้จะได้รับไวรัสนี้มาจากคน เนื่องจากยุงลายตัวผู้จะไม่กินเลือดคน แต่จะกินน้ำหวานจากพืช ดังนั้น จึงนำไปสู่การศึกษาว่ายุงลายตัวผู้ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีมาจากแหล่งใด

    ผศ.นพ.เผด็จกล่าวว่า จากการศึกษาพบว่ายุงลายตัวผู้ได้รับเชื้อนี้มาจากแม่ยุงลายที่ติดเชื้อผ่านทางไข่ และยุงลายตัวผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกีไปยังตัวเมียที่มาผสมพันธุ์ได้ ซึ่งในธรรมชาติยุงตัวผู้ผสมพันธุ์ได้หลายครั้งจึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้มาก และตัวเมียที่ได้รับเชื้อมาจากตัวผู้ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกีที่ได้รับจากตัวผู้ไปให้กับลูกได้ แต่ยุงลายตัวเมียจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อนี้ให้กับยุงลายตัวผู้ที่มาผสมพันธุ์ได้ ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่าไวรัสเดงกีถ่ายทอดผ่านน้ำเชื้อของยุงลายตัวผู้ นอกจากนี้ ในการศึกษาครั้งนี้ยังตรวจพบเชื้อไวรัสเดงกีในลูกน้ำยุงลายอีกด้วย

    "หลังจากที่แยกยุงลายตัวผู้ซึ่งจะมีลักษณะเด่นที่ขนบริเวณหนวดจะมีมากและฟูกว่ายุงลายตัวเมียมาแล้ว จะนำมาสกัดเอาเชื้อไวรัสเดงกีที่อยู่ในตัวยุงลายตัวผู้ออกมาศึกษาด้วยวิธี อาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบพิเศษก็พบว่ายุงลายตัวผู้บางตัวมีเชื้อไวรัสเดงกี 2 สายพันธุ์ในตัวเดียวอีกด้วย" ผศ.นพ.เผด็จกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังสำรวจพบว่าพฤติกรรมการหากินของยุงลายในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่จะหากินในช่วงเวลากลางวัน ก็ขยายเวลาไปถึง 5 ทุ่ม ทั้งนี้ จากเดิมในช่วงเวลาตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงดึกนั้นยุงที่ออกหากินส่วนใหญ่จะเป็นยุงรำคาญ ดังนั้น ประชาชนควรจะระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึกเพราะยุงลายออกหากินเช่นกัน

    ผศ.นพ.เผด็จกล่าวว่า การค้นพบนี้เป็นการค้นพบเนื่องจากประมาณ 4-5 เดือน ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาอัตราการติดเชื้อไวรัสเดงกีของยุงลายก่อนที่จะมีการระบาดของไข้เลือดออก เพื่อศึกษาแนวทางการควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก ซึ่งจากการศึกษานั้นแสดงให้รู้ว่าจะต้องกำจัดและควบคุมยุงลายทั้งปี ไม่ใช่รอให้มีการระบาดก่อนแล้วค่อยมากำจัดยุงลายทีหลัง

    "จากการสำรวจเราพบยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5% ส่วนในฤดูฝนจะพบยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีประมาณ 20-30% ของยุงลายที่นำมาตรวจ ในฤดูฝนนั้นยุงลายมีจำนวนมากขึ้นกว่าฤดูอื่น เกิดจากการที่หน้าฝนมีแหล่งเพาะพันธุ์เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีความชื้นสูงซึ่งไปกระตุ้นให้ยุงลายตัวเมียมีอัตราการวางไข่มากขึ้น หากเป็นหน้าแล้งที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการฟักตัวของไข่ พบว่าไข่ยุงลายก็จะทนแล้งได้เป็นปี และเมื่อสภาพอากาศพร้อมไข่ก็จะฟักเป็นตัวได้ทันที จึงทำให้ในหน้าฝนนั้นนอกจากไข่ของยุงลายที่วางไข่ตามปกติแล้วยังมีการฟักเป็นตัวของไข่ยุงลายที่ตกค้างมาจากหน้าแล้งด้วย" ผศ.นพ.เผด็จกล่าว
  • น.ส. ปวีณา ทองเกร็ด 46315800
  • น.ส.วรรณภา ชัยชลอ 46315883
  • น.ส. เสาวลักษณ์ พลอยงาม 46316022
  • คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
    หมายเลขบันทึก: 2914เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2005 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท