ผมเห็นอะไรที่นครสวรรค์



          วันที่ ๓๑ ก.ค. ๕๒ ผมไปร่วมกระบวนการทางสังคมที่นครสวรรค์ ร่วมกับทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดล    เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์   ที่จริงผมใช้ iPAQ PDA จดรายละเอียดไว้อย่างดี    แต่โชคร้ายเมื่อถ่ายเข้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมันกลายเป็นตัวยึกยือ ให้นักคอมพิวเตอร์ประจำบ้านช่วยกู้ก็ไม่ฟื้น   และใน PDA ผมก็ลบไปแล้วด้วยความประมาท   บันทึกนี้จึงมาจากความจำ และจากรูปที่ถ่ายไว้

          คนที่มีความทรงจำยาวและครบถ้วนบอกว่าวิทยาเขตนครสวรรค์เริ่มตามนโยบายรัฐบาลเมื่อกว่าสิบปีก่อน   ที่สนองข้อเรียกร้องของจังหวัดที่ไม่มีมหาวิทยาลัยด้วยนโยบายวิทยาเขต ไอที   มหิดลรับมา ๓ จังหวัด คือ กาญจนบุรี  นครสวรรค์  และอำนาจเจริญ   รัฐบาลมาแล้วก็ไป นโยบายแบบเร่งรัดก็ไปด้วย   แต่ความต้องการของคนยังอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับคนท้องถิ่นยังอยู่   และนโยบายแบบหาเสียงก็กลายเป็นภาพมหาวิทยาลัยที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ ที่ไม่ใช่วิทยาเขต ไอที   แต่เป็นมหาวิทยาลัยจริงๆ

          สังคมไม่ได้หยุดนิ่ง เวลานี้นครสวรรค์มีมหาวิทยาลัยอยู่แล้วถึง ๓ แห่ง   คือ มรภ. นครสวรรค์ กับ ม. เอกชนอีก ๒ แห่ง คือ ม. เจ้าพระยา กับ ม. ภาคกลาง    ภาพเด็กไม่มีที่เรียนมหาวิทยาลัยหมดไปแล้ว ทั้งในนครสวรรค์และในประเทศไทย

          วิทยาเขตนครสวรรค์ที่ได้รับจัดที่ให้อยู่ในบึง ทางน้ำหลากสู่บึงบอระเพ็ด ชื่อบึงเสนาท จึงเผชิญความยากเข็ญทั้งจากน้ำท่วมในหน้าน้ำ และจากคำตำหนิติเตียนระดับชาติ ว่า ม. มหิดลที่มีคณะสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ตามหลักวิชาแล้ว จะต้องอนุรักษ์ไว้ ได้อย่างไร   และโดนทั้งการยื่นคำขาดทางกฎหมายห้ามใช้พื้นที่เกินที่ใช้อยู่แล้ว ๓๒ ไร่  

          หลังไปดูพื้นที่และศึกษารายละเอียดแล้วเราก็บอกชาวนครสวรรค์ว่า ถ้าจะสร้างมหาวิทยาลัยแบบเต็มรูปก็ต้องหาที่ใหม่    ที่นิดเดียวในบึงที่มีอยู่จะใช้ประโยชน์ตามที่เหมาะสม เพราะข้อดีคืออยู่ใกล้เมือง

          ในที่สุดทางนครสวรรค์ก็หาที่ได้ที่อำเภอเขาทอง   ชัยภูมิดีด้วยประการทั้งปวง เป็นที่สูง อยู่เชิงเขา    พื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ ขนาดกำลังพอเหมาะ   นอกจากได้ที่แล้วยังได้คนด้วย คือ นพ. สมพงษ์ ยูงทอง ศัลยแพทย์ทางสมองที่เป็นคนปากน้ำโพ และเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่รู้จัดเชื่อถือกันกว้างขวาง    รวมทั้งผมเองก็เชื่อถือความเป็นคนซื่อสัตย์และเห็นแก่สังคมส่วนรวมด้วย    เข้ามาบรรจุเป็นผู้ช่วยอธิการบดี เพื่อรับผิดชอบการจัดตังวิทยาเขตเขาทองโดยตรง  

          ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีหาพื้นที่คือท่านนายก อบจ.   ดังนั้นในเวทีวันนี้และก่อนหน้านี้ผมจึงได้เห็นอาการต่อสู้ทางการเมืองในนครสวรรค์ชัดเจน   มี สส. ออกมาโวยวายไม่เห็นด้วยกับการย้ายจากบึงไปภูเขา ว่าที่เดิมดีอยู่แล้ว    มีคนมาพูดอ้อมๆ ต้องการให้ยังใช้ที่เดิม   อาการที่ออกมีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวชัดเจน   รวมทั้งที่ใหม่ก็มีคนเก็งกำไรไปซื้อที่ดินกันแล้ว    มีคนพูดในที่ประชุมว่าราคาที่ดินขึ้นไป ๒๐ เท่า    ในสังคมแห่งความโลภและเห็นแก่ตัว การทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมันยากเช่นนี้เอง    แต่ผมก็ยังหวังว่าคนนครสวรรค์ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจะชนะ   ธรรมต้องชนะอธรรม 

          ตอน อ. นพ. สมพงษ์โยนลูกมาให้ผมกล่าวปิด   ผมได้ชี้ให้เห็นว่า การจะตั้งมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพต้องการองค์ประกอบหลายด้าน   มหาวิทยาลัยมหิดลมีความรู้ทางวิชาการและความรู้ด้านการจัดการมหาวิทยาลัยคุณภาพสูง    มหาวิทยาลัยที่จะตั้งที่นครสวรรค์นี้เป็นของชาวนครสวรรค์ ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยมหิดล   คนนครสวรรค์ต้องเป็นเจ้าของ ต้องตัดสินใจเองว่าต้องการมหาวิทยาลัยแบบไหน   ถ้าเป็นแบบเน้นวิชาการ เน้นคุณภาพสูง มหิดลก็มีสามารถเข้ามารับใช้บางส่วนได้   แต่ความพร้อมใจของชาวนครสวรรค์ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด   หากชาวนครสวรรค์ยังไม่พร้อมใจ    ยังมี สส. นครสวรรค์ไปกล่าวคำไม่สุภาพต่ออธิการบดีในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณถึง ๒ ครั้งในต่างวันกัน   และกลั่นแกล้งไม่ผ่านงบประมาณด้วย   ก็แสดงความไม่พร้อมใจ   และกลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดลต้องเดือดร้อนจากการมาทำประโยชน์แก่จังหวัดนครสวรรค์    เดือดร้อนจาก สส. ที่คิดต่างออกไป   ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นความคิดที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของตนเอง    ทางมหาวิทยาลัยมหิดลไม่สามารถทำอะไร สส. ผู้นี้ได้   แต่คนนครสวรรค์มีอำนาจทำได้โดยไม่เลือก สส. คนนี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป   หากเห็นว่า สส. คนนี้ประพฤติตนไม่เหมาะสม   สส. ผู้นี้มีคนกระซิบว่าชื่อขึ้นต้นด้วย น

          การตั้งหน่วยงานขนาดใหญ่ และชัยภูมิ และองค์ประกอบต่างๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้คนมากมาย   เป็นเรื่องซับซ้อนมาก   ผมไปเห็นและเข้าใจว่าการทำงานชิ้นนี้ ไม่ใช่เพียงงานบริหารและวางรากฐานวิชาการ    แต่มีงานต่อสู้กับกิเลสตัณหามนุษย์อยู่ด้วย   การทำงานนี้ยังต้องการ socialization อีกมาก  

วิจารณ์ พานิช
๑ ส.ค. ๕๒

ไปดูพื้นที่เขาทอง ด้านหลังส่วนติดเชิงเขา 

คนซ้ายคือ นพ. สมพงษ์ คนขวาเป็น อบจ. เขตเขาทอง

นายก อบต. กรรมการ อบจ.

และคหบดี มายกป้ายสนับสนุนการตั้งมหาวิทยาลัยมหิดลที่เขาทอง

ไปเยี่ยมเรียนรู้กิจการศูนย์ผลิตแพทย์ที่ รพ. นครสวรรค์ประชารักษ์

มหกรรมยกป้ายที่หน้าวิทยาลัยพยาบาล

วงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่วิทยาลัยพยาบาล คนเสื้อเขียวคือนายก อบจ.

สมาคมศิษย์เก่า ม. มหิดล จ. นครสวรรค์ก็มาต้อนรับ และสนับสนุน

ห้องประชุมประชาพิจารณ์ที่โรงแรมพิมาน ที่มีการโต้แย้งแสดงผลประโยชน์ขัดกัน

 

คำสำคัญ (Tags): #520731#นครสวรรค์
หมายเลขบันทึก: 289759เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ก่อนที่บันทึกนี้จะลง Gotoknow 2 วัน คือในวันที่ ๑๙ ส.ค. สภามหาวิทยาลัยมหิดลแต่งตั้ง นพ. สมพงษ์ ยูงทอง เป็นรองอธิการบดีวิทยาเขตนครสวรรค์ รับผิดชอบวิทยาเขตนี้เต็มที่ แสดงเจตจำนงแน่วแน่ที่จะสร้างมหาวิทยาลัยคุณภาพสูงแห่งใหม่ตามความต้องการของคนนครสวรรค์ โดยนโยบายสำคัญคือทรัพยากรที่เป็นเงินใช้จ่ายต้องมาจากนครสวรรค์ หรือจากความพยายามของคนนครสวรรค์ ไม่ใช่มาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เวลานี้มีเงินจำกัดมาก คือไม่พอใช้

วิจารณ์

ผมก็ไม่เข้าใจคนไทยเหมือนกันครับ ทำไมไม่สร้างรากฐานของการศึกษาให้ดีกว่านี้อะครับ ทำไมต้องมาหาประโยชน์กับการศึกษากับลูกกับหลานของตัวเองด้วยก็ไม่รู้อะครับ ตอนนี้รวยกันอยู่แล้ว จะทำไปให้รวยไปถึงไหนก็ไม่รู้นะขอรับ ก็ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่จะสร้างสรรค์นะขอรับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท