sha-รพ.ซานคามิลโล


Username
sha-sankamilo
สมาชิกเลขที่
72484
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
-
(ไม่มีตั้งแต่ พ.ศ. 2564)
ประวัติย่อ

ประวัติความเป็นมาโรงพยาบาลซานคามิลโล

กำเนิดคณะนักบวชคามิลเลียน

                ชายหนุ่มคนหนึ่ง  คามิลโล  เดอ  เลลลิส  ถือกำเนิดที่ภาคกลางประเทศอิตาลีในปี  ค.ศ. 1550  ผู้เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานที่จะเป็นทหารเยี่ยงบิดา  สมัครเข้าทำการรบในกองทัพ  เมื่ออายุยังไม่ถึง  19 ปี  แต่ความกล้าหาญของคามิลโลยังไม่โด่งดังเท่ากับการเป็นนักพนันตัวยงที่ท่านรักยิ่งกว่าชีวิต  เล่นการพนันในค่ายทหาร  ร้านอาหาร  และบนถนน  ทั้งที่เสียพนันจนหมดตัวบ่อยๆ  จนครั้งหนึ่งต้องเสียแม้เสื้อและดาบ

                สิ่งที่จูงใจให้ท่านเปลี่ยนนิสัยจากยอดทหารนักพนันมาเป็นนักบุญของคนป่วย  ก็คือแผลอักเสบเรื้อรังที่ข้อเท้าที่ท่านได้รับเมื่อออกรบในสนาม  ทำให้ท่านลดความทะเยอทะยานลงบ้าง  พระสงฆ์คณะกาปูชินองค์หนึ่งได้ช่วยเหลือให้การดูแลรักษาท่าน  ระหว่างนั้นท่านได้เริ่มเรียนรู้ถึงเรื่องพระเป็นเจ้า  และชีวิตแท้ของคริสตชน  และในวันที่  2 กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1575  ท่านจึงเกิดความทุกข์ถึงบาปอย่างจริงใจ  พร้อมกับปรารถนาอันเร่าร้อนที่จะรับใช้พระเป็นเจ้าตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา  คามิลโลตั้งใจจะบวชเป็นภราดาในคณะกาปูชิน  แต่เครื่องแบบของคณะเป็นผ้าหยาบหนาเสียดสีกับแผลเดิมที่ข้อเท้าของท่านจนเกิดอักเสบอีก  จนท่านต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลซายาโกโม  ที่กรุงโรม  ณ. ที่นั้นเองท่านได้เริ่มเข้าใจ  และเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยที่ถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาล  ท่านจึงเริ่มอุทิศตนเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่  แต่ยังรู้สึกว่าตนยังทำประโยชน์ให้ผู้ป่วยได้น้อยเกินไป  ท่านจึงตัดสินใจบวชเป็นสงฆ์  และตั้งคณะนักบวชขึ้นใหม่  ในปี  ค.ศ. 1584  ว่า  “คณะคามิลเลียน”  หรือคณะกางเขนแดงที่เรารู้จัก  เพื่อทำหน้าที่พยาบาลผู้ป่วยด้วยความรักเสมือนแม่ที่เอาใจใส่ดูแลพยาบาลลูกคนเดียวของตนที่กำลังเจ็บป่วย  คามิลโล  และสมาชิกในคณะได้เริ่มทำงานดูแลคนเจ็บป่วยทั้งในโรงพยาบาล  ตามถนน  และในทุกสถานที่ที่มีความต้องการ  หรือมีโรคระบาด  โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ตน  งานของคณะจึงเริ่มแผ่ขยายไปในที่ต่างๆ  เช่น  อิตาลี  สเปน  ฝรั่งเศส  เบลเยี่ยม  เนเธอร์แลนด์  เดนมาร์ก  เยอรมันนี  ฯลฯ  จนในปี  ค.ศ. 1946  คณะคามิลเลียนได้เปิดงานขึ้นในประเทศจีน  ไม่ช้าก็ถูกรัฐบาลในขณะนั้นซึ่งปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ขัดขวาง  คณะจึงไปเปิดงานใหม่ในไต้หวัน  เกาะเปสกาโคเรส  และในประเทศไทย

 

ก้าวแรกในประเทศไทย  ณ  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี

                ปี  พ.ศ. 2490  ขณะนั้น  หลวงสิทธิเทพการ  (กิมเลี้ยง  วังตาล)  เศรษฐีใจศรัทธา  ชาวบ้านโป่ง  มีเจตนาจะสร้างโรงพยาบาลขนาดเล็กบนที่ดินของท่าน  เพื่อให้บริการรับใช้ชาวบ้านโป่ง  และท้องที่ใกล้เคียง  ท่านได้ขอร้องพระสังฆราช  กาเยตาโน  ปาชอตตี  แห่งสังฆมลฑล  ราชบุรี  เพื่อจัดหาคณะนักบวชมาดำเนินงาน  พระสงฆ์ซาเลเซียนหลายท่านได้เสนอพระสังฆราช  ให้ติดต่อคณะคามิลเลียน  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในการปฏิบัติหน้าที่ที่ประเทศจีน

                ดังนั้น  โดยผ่านทางพระสังฆราช  กาเยตาโน  ปาซอตตี  และพระสังฆราช  เปโตร  คาเรตโต  สมาชิกรุ่นแรกของคณะจึงได้เดินทางจากเยนัว  ประเทศอิตาลี  มาถึงประเทศไทยปลายเดือนมกราคม  พ.ศ. 2495  มีเวลาเรียนภาษาไทย  2 – 3 เดือน  ก็เริ่มเข้ารับทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยที่รอคอยความช่วยเหลือ  ในวันที่  19  มีนาคม  พ.ศ. 2495  โรงพยาบาลซานคามิลโล  จึงถือกำเนิดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

                โดยมีบาทหลวงอันตน  กรอตตี  เป็นอธิการ  และบาทหลวงยอแซฟ  เตลลาริกกา  เป็นผู้จัดการ  ต่อมามีสมาชิกจากประเทศจีนมาเพิ่มอีก  3 ท่าน  และการดำเนินงาน  จึงได้ขยายออกและได้ทำพิธีเปิดอาคารใหม่  ในวันฉลองนักบุญคามิลโล  ตรงกับ  วันที่  18  กรฎาคม  พ.ศ.  2496  โดยความช่วยเหลือของนายแพทย์เลิศ  ศรีจันทร์  โรงพยาบาลซานคามิลโล  จึงได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อย  ตั้งแต่นั้นมาสมาชิกนักบวชร่วมกับเจ้าหน้าที่แพทย์  พยาบาลได้ร่วมกันดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการจำนวนยิ่งวันยิ่งมากขึ้นจนวันที่  9  กันยายน  พ.ศ.  2497  ตลาดบ้านโป่งเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่  คณะแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลซานคามิลโล  จึงได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มความสามารถร่วมกับหน่วยงานของรัฐ  จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนโรงพยาบาลซานคามิลโลได้เติบโตไปพร้อมกับจำนวนพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น  ความต้องการการดูแลรักษาพยาบาลเพิ่มเป็นเงาตามตัว  การบริการและการรักษาในแผนกใหม่ๆ  จึงมีความจำเป็นต้องขยาย  อาศัยการช่วยเหลือจากคณะ  และจากองค์สมเด็จพระสันตปาปา  จึงได้เริ่มลงมือสร้างโรงพยาบาลที่ทันสมัยในวันที่  11  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2501

                ต่อมาในปี  พ.ศ. 2534  บาทหลวง  เรนาโต  อาแตรสซี  อธิการในขณะนั้น  ได้นำเรื่องขอนุมัติสร้างอาคารโรงพยาบาลใหม่  เพื่อทดแทนอาคารเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม  และได้รับอนุมัติจากคณะต่อมา  ภราดา  อันโตนีโอ  ฟราซาริน  ที่มารับหน้าที่ต่อจึงได้ลงมือ  ก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทน  เมื่อวันที่  29  ธันวาคม  พ.ศ. 2536  เสร็จสิ้นเมื่อ  วันที่  6  กันยายน  พ.ศ. 2538  ทำพิธีเปิดและเสกอาคารใหม่เมื่อวันที่  10  สิงหาคม  พ.ศ.  2540  ได้มีการขยายการให้บริการ  และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ทั้งด้านระบบ  และบุคคลากร

                ปัจจุบันโรงพยาบาลซานคามิลโล  เปิดให้บริการผู้ป่วยด้วยจำนวนเตียง  100 เตียง  อุปกรณ์  และเครื่องมือแพทย์ทันสมัย  และเป็นจุดเริ่มต้นของงานที่แผ่ขยายจิตตารมย์ของนักบุญคามิลโล  ไปในสถานที่ต่างๆ ของประเทศไทย  เช่น  โรงพยาบาลคามิลเลียน  ซอยทองหล่อ  นิคมนักบุญคามิลโล  จังหวัดปราจีนบุรี  บ้านพักผู้สูงอายุคามิลโล โซเชียล สามพราน  และจันทบุรี  ศูนย์ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ จังหวัดระยอง  คลินิกโรคผิวหนัง ท่าหว้า  จังหวัดกาญจนบุรี  หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในถิ่นทุรกันดาร  ทั้งนี้เพื่อให้จิตตารมย์นักบุญคามิลโล  ผู้ตั้งคณะในการดูแลผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ  จะยังคงอยู่และขยายต่อไป

                โรงพยาบาลซานคามิลโลตั้งอยู่ ที่ ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชุบรี ให้บริการและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง  2 จังหวัดได้แก่จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี      

                จังหวัดราชบุรี  ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ภาษาที่ใช้เป็นภาษากลาง มี อ.สวนผึ้งเป็นพื้นที่ที่อยู่เขตชายแดนพม่าที่ประชากรเป็นกะเหรี่ยงซึ่งยังขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงบริการสุขภาพ

                จังหวัดกาญจนบุรี  เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมีรอยต่อเขตชายแดนพม่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคมาลาเรีย มีประชาชนชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามขอบเขตชายแดน ขาดความรู้และสิทธิพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาล ใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท