สังฆทาน บุญ หรือดิรัจฉานวิชา


วัตถุประสงค์ในการถวายสังฆทาน อาจเป็นได้ทั้งกุศลกรรม และการเพิ่มตัณหา

ขึ้นชื่อว่าชาวพุทธ คงมีสักครั้งในชีวิตที่ได้มีโอกาสถวายสังฆทาน เพื่อจัดหาภัตตาหาร เครื่องใช้สำหรับสงฆ์ หรือปัจจัยเพื่อบำรุงพระสงฆ์ให้ ได้เผยแพร่คุณประโยชน์ของพุทธธรรมสืบไป

Bua

หากมักพบว่าการถวายสังฆทานในปัจจุบัน วัตถุประสงค์หลักของผู้ถวายแปรเปลี่ยนไปเป็นการยังประโยชน์แก่ตนเอง เช่น ถวายตามเทศกาล ถวายเนื่องในวันเกิด เพื่อที่ในปีอายุใหม่ จะได้ประสบแต่โชคดี หรือเชื่อว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดการถวายสังฆทานจะช่วยให้เรื่องที่ติดขัดไหลลื่นขึ้น หรือสิ่งใดที่อยากได้ จะได้มาง่ายยิ่งขึ้น หรือแม้แต่แก้ไขรู้สึกผิดที่ปฏิบัติตนต่อใครบางคนไม่ดี ถวายสังฆทานแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ จะได้เป็นการไถ่บาป การกระทำเหล่านี้ แม้จะเรียกว่าเป็นการทำบุญ แต่ก็เป็นไปสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ เพราะเจือด้วยดิรัจฉานวิชา

เหตุที่เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ" ก็เนื่องจาก การทำบุญ ย่อมได้ผลบุญตอบแทน แต่การทำบุญด้วยกิเลส นอกจากผลตอบแทนจะน้อยแล้ว ยังอาจโน้มจิตให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นการทำเพื่อหวังแลกเปลี่ยนผลประโยชน์สำหรับตัวเองโดยมีผู้อื่นพลอยได้รับอานิสงส์ เมื่อหวังมีตัวเองเป็นผู้รับผล จึงเป็นเหตุให้เกิดมีตัวตน วนรับผลเรื่อยไป จึงไม่สามารถ "หลุดพ้น" ตามคติในศาสนาพุทธได้ (หากไม่เชื่อว่าทำบุญแล้วจะเกิดผลบุญ เรียก "มิจฉาทิฏฐิ" และหากทำบุญเพียงเพื่อหวังละคลายกิเลส เพื่อละความตระหนี่ โดยไม่หวังผลตอบแทนต่อตนเอง เพื่อประดับจิต ให้สามารถฝึกกรรมฐานได้ง่ายขึ้น เรียก "สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตตระ")

ทฤษฎีเรื่องการไถ่บาป ไม่มีในคติของศาสนาพุทธ มีแต่บาปหรืออกุศลกรรมอาจไม่สามารถส่งผลได้หากทำบุญหรือกุศลกรรมมากพอ หากเปรียบน้ำเหมือนบุญ และเกลือคือบาป น้ำและเกลือที่รวมกันอยู่ในภาชนะ ยิ่งเติมน้ำลงมากเท่าไหร่ เกลือก็ยิ่งเค็มน้อยลงมากเท่านั้น เกลือจึงยังมีอยู่ในน้ำโดยไม่สามารถแสดงความเค็มออกมาได้ เช่นเดียวกับอกุศลกรรมที่ไม่สามารถแสดงผลได้ จนเมื่อรอแสดงผลแต่ไม่มีโอกาสนานๆเข้า ก็กลายเป็นอโหสิกรรม (อโหสิกรรม จึงเกิดได้เพราะการกระทำที่เป็นกุศล การดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 ไม่ใช่การเอ่ยปากขอ)

Buntarig

มูลเหตุของดิรัจฉานวิชาเริ่มมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 10 ในสมัยราชวงศ์คุปตะ ช่วงนั้นศาสนาพุทธนิกายมหายานรุ่งเรืองมากในอินเดีย ( นิกายเถรวาทไปรุ่งเรืองในลังกา ) บรรดากษัตริย์ในราชวงศ์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู แต่ขณะเดียวกันก็สนับสนุนศาสนาพุทธไปด้วย บางองค์หันมานับถือศาสนาพุทธก็มี จึงเกิดการผสมผสานกันของวิถีวัฒนธรรมของทั้งพุทธและพราหมณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ทั้งสองศาสนาจะดูผสมกลมกลืนกัน แต่ลึกๆแล้วก็ต่อสู้กันทั้งทฤษฎีและวิธีปฏิบัติ คัมภีร์ของทั้งสองฝ่ายถูกแต่งขึ้นเพื่อหักล้างกันอยู่เนืองๆ ช่วงนั้นพราหมณ์ได้แต่งคัมภีร์ปุราณะขึ้นคือ วิษณุปุราณะ และพรหมปุราณะ และได้แต่งให้พระพุทธเจ้าเป็นเพียงอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ โดยเสนอเป็นปางที่ 9 เรียกปาง พุทธาวตารเพื่อลงมาชักชวนยักษ์ (หรือก็คือชาวพุทธ) ให้หันเหออกจากพระเวทจากนั้น จะอวตารลงมาเป็นปางที่ 10 ชื่อ ปางกัลกี เพื่อปราบยักษ์อีกทีหนึ่ง

จนปลายสมัยราชวงศ์คุปตะ ศาสนาพุทธนิกายมหายานจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปโฉม เพราะเห็นว่าเพียงเนื้อธรรมแท้ๆ ไม่สามารถดึงชาวบ้านให้มาเป็นศาสนิกได้ จึงมีการนำเอาเวทมนต์คาถา อาคมขลัง พิธีศักดิ์สิทธิ์ การเสก เป่า การลงเลขยันต์ รวมไปถึงฤกษ์ผานาทีเข้ามาผสม วัตถุประสงค์คือ เพื่อบอกชาวบ้านว่าไม่ใช่พราหมณ์เท่านั้นที่มีพระเวทศักดิ์สิทธิ์ พุทธเองก็มี

patum

ได้มีการอธิบายเพิ่มเติมถึงการสวดมนต์บางบทว่าทรงอานุภาพ ใครสวดบทนั้นแล้วจะได้เป็นพระอินทร์ ใครสวดบทนี้แล้วถึงทำบาปมาสักกี่ชาติก็ไม่ส่งผล ประมาณว่าพราหมณ์ล้างบาปด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำคงคาได้ พุทธก็ล้างบาปได้ด้วยการสวดมนต์เช่นกัน มนต์บทหนึ่งเรียก ธารณี แต่ละธารณี ใครจะสวด ต้องมีเครื่องบูชาตามกำหนด ต้องจัดแท่น เตรียมปรำพิธีต่างๆ มีอุปกรณ์นาๆชนิดร่วมในพิธี พิธีสวดดังกล่าวได้เหลือร่องรอยมาให้เห็นจนถึงยุคปัจจุบัน

เมื่อทฤษฎีล้างบาปไม่มีในศาสนาพุทธ การเกิดพิธีกรรมดังกล่าวเนื่องจากเพื่อต้องการลาภ สักการะ จึงจัดเป็นการเกิดดิรัจฉานวิชาในศาสนาพุทธ ดังนั้นการถวายสังฆทานเพื่อไถ่บาป หรือการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาก็ถือว่าเป็นดิรัจฉานวิชาเช่นกัน

ดังนั้นหากคิดว่าจะถวายสังฆทานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สงฆ์ เพื่อฝึกการละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ก็จัดเป็นสิ่งที่ควรทำ

sattabongkoch

แต่ถ้าคิดว่าจะถวายเพื่อประโยชน์สำหรับตน ก็ควรฝึกการถวายเพื่อละอย่างแท้จริงบ้าง เพื่อโน้มจิตไปทางโลกุตตระ และควรพิจารณาถึงหลัก บุญกิริยาวัตถุ 10 หรือก็คือมรรคมีองค์ 8 ที่นำมาจัดรูปแบบใหม่ให้เหมาะกับฆราวาส อันเป็นการทำบุญ หรือวิถีชีวิตที่ประกอบด้วยบุญที่ไม่เป็นบ่อเกิดของตัณหาอย่างสม่ำเสมอ

.................................................................

อ้างอิงเรื่องและรูป

เหม เวชกร สมุดภาพพระพุทธประวัติ ธรรมสภา 35/270 จรัลสนิทวงศ์ 62 บางพลัด บางกอกน้อย กรุงเทพ

สุปรียา จันทะเหล่า บัว1 อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 65/101-103 ถ.ชัยพฤกษ์ ตลิ่งชัน กรุงเทพ 10170

นวองคุลี เหตุเกิดหลังพุทธปรินิพพาน วัดสุวรรณประสิทธิ์ คลองกุ่ม บึงกุ่ม กรุงเทพ พิมพ์ที่ธรรมสภา โรงพิมพ์พระพุทธศาสนา -5 ถฯฯบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 289492เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาเป็นเพื่อน ความดีด้วยคนครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท