“ทนง” ล้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แก้เกี้ยวอ้างเศรษฐกิจยังดีอยู่ กัดฟันพูดจัดทำงบฯปี 2550
ล่าช้า ไม่กระทบ ศก. ส่วนจะเป็นงบฯ สมดุลหรือขาดดุล ขอรอดู ศก.
ไตรมาส 2-3 ลุ้นพระสยามเทวาธิราชช่วย เลขาธิการ สศช.
อ้างไม่น่าตื่นเต้นไทยถูกลดขีดความสามารถลง 5 อันดับ
นายทนง พิทยะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม
ว่า จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
กำหนดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้
ซึ่งล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
แต่เดิมที่คาดว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายนนั้น ทำให้การใช้
พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2550 ล่าช้า จากกำหนดไปอีก 4 เดือน
ซึ่งจากเดิมที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ในเดือนมกราคม 2550 ก็จะล่าช้าไปอีก
1 เดือน หรือเบิกจ่ายได้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 แทน
แต่ไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม
ภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ
จะต้องขอความร่วมมือจากคณะกรรมาธิการงบประมาณ
รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรให้เร่งขั้นตอนการพิจารณางบประมาณให้เร็วขึ้นเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี
2550 ทำได้เร็วขึ้น ไม่ล่าช้าไปถึง 6 เดือน ”การที่งบฯ ปี
2550 ต้องล่าช้าออกไปอีก 1 เดือน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
และคาดว่างบประมาณปี 2549 ยังจะคงดำเนินนโยบายงบประมาณสมดุลได้
ส่วนงบประมาณปี 2550
ก็จำเป็นที่จะต้องทำงบสมดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น
ขอดูตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และ 3
เพื่อนำมาใช้ประเมินภาวะเศรษฐกิจว่าถดถอยหรือไม่ก่อน อย่างไรก็ตาม
ไทยยังมีพระสยามเทวาธิราชช่วยอยู่” นายทนงกล่าว
นายทนงกล่าวว่า
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
(ครม.) ในวันที่ 16 พฤษภาคม นั้น พิจารณาแล้วว่าเศรษฐกิจไทย ณ
ขณะนี้ยังดีอยู่ ทั้งการส่งออก
รายได้จากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังเพิ่มขึ้นทุกเดือน
ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ
อีกทั้ง
ที่ผ่านมาก็มีมาตรการลดภาษีนำเข้าและใช้เครื่องยนต์เอ็นจีวีอยู่แล้ว
จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอย่างอื่นอีก
ยกเว้นเพียงจะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง ประกอบด้วย
ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ตรึงอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันไว้
ซึ่งคิดว่าจะไม่บิดเบือนตลาด
และการตรึงดอกเบี้ยดังกล่าวกระทรวงการคลังก็ไม่จำเป็นต้องชดเชยให้แต่อย่างใด
โดยรายละเอียดจะมีการแถลงในวันที่ 16 พฤษภาคม
นายสมชัย สัจจพงษ์
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.
ได้หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจขอตรึงดอกเบี้ยไว้เพื่อบรรเทาปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยที่สุด
แต่จะไม่มีมาตรการอื่นอีก
เพราะที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีมาตรการช่วยเหลือมาพอสมควรแล้ว
สำหรับมาตรการลดค่ารถโดยสารประจำทาง 2 บาทนั้น
ให้ถือเป็นมาตรการของกระทรวงคมนาคมที่จะเป็นดุลพินิจในการพิจารณาต่อไป
ส่วนมาตรการลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยอยู่ระหว่างการพิจารณา
ยังไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะนำมาใช้ในขณะนี้
นายอำพน กิตติอำพน
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
กล่าวถึงกรณีที่สถาบันนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาการบริหารจัดการ
(ไอเอ็มดี) ปรับลดขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยจากอันดับที่
27 ในปี 2547 มาอยู่ที่อันดับ 32 ในปี 2548 ว่า
การถูกปรับลดครั้งนี้ถือว่าน้อย
เมื่อเทียบกับสภาพปัญหาหนักหน่วงที่ไทยประสบ
ไม่ว่าจะเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด สึนามิ ภัยแล้ง
ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โรคไข้หวัดนก
และราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
“ผมไม่ตื่นเต้นกับอันดับที่ลดลงมากนัก เพราะเป็นสภาพความเป็นจริงในปี
2548 ความจริงไทยควรจะตกลงมากว่านี้ด้วยซ้ำไป เพราะในครึ่งปีแรก 2548
เศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 4% ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบกว่า 5
พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยสามารถแก้ปัญหาได้ทัน ทำให้ตกลงมาเพียง 5
อันดับ ไม่เช่นนั้นอาจจะตกลงมากว่า 10 อันดับ
เหมือนประเทศเกาหลีใต้ก็ได้” นายอำพนกล่าว
นายอำพนกล่าวว่า นอกจากนี้
เมื่อพิจารณาย้อนหลังไประหว่างปี 2547- 2548
จะพบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราปีละ 5.1% และใช้งบประมาณสมดุล
อันดับความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจไทย
ก็ปรับเพิ่มจากอันดับ 9 ในปี 2546-2547 มาอยู่ที่ในอันดับ 7
อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับล่าสุดระหว่างปี
2548-2549 ที่ไทยตกลงจากลำดับ 7 ไปอยู่ที่ 28 หรือลดลง 21 อันดับ
เป็นผลจากเศรษฐกิจที่โต 4.5% และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3
พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็เป็นผลจากภัยแล้ง สึนามิ ความไม่สงบใน 3
จังหวัดภาคใต้ ราคาน้ำมัน
”การที่ประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้รัฐต้องเข้าไปแก้ก่อน
ทำให้แผนงานระยะยาวของประเทศที่ต้องการปฏิรูประบบราชการ
แก้ไขข้อกฎหมาย
ซึ่งรัฐบาลได้วางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปีต้องถูกชะลอความสำคัญไปไม่มีความคืบหน้า
อันดับโดยรวมจึงลดลงไปด้วย
ส่วนที่ไอเอ็มดีระบุว่าการเมืองที่ไม่นิ่งมีส่วนนั้น
ผมก็ไม่ปฏิเสธ” เลขาธิการ สศช.กล่าว
นายพรชัย รุจิประภา
รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง
สมาคมยานยนต์
และบริษัทรถยนต์เกี่ยวกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตให้กับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์
(เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิงว่า
ทางบริษัทรถยนต์ต้องการให้รัฐบาลขยายเวลาการลดภาษีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีภายหลังหรือเร็ตโทรฟิต
(retrofit) ตามราคาการติดตั้งจริงไม่เกิน 50,000 บาทเป็น 3 ปี
จากเดิม ที่กำหนดไม่เกิน 2 ปี
เพราะต้องการเวลาในการเตรียมการติดตั้ง ทั้งการหาบริษัทรับติดตั้ง
และนำเข้าอุปกรณ์
ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-6
เดือนกว่าจะดำเนินการและมีรถเอ็นจีวีที่บริษัทรถยนต์รับประกันออกมาได้
โดยกระทรวงการคลังจะกลับไปหารือและสรุปเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
(ครม.) ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้
“เอกชนยังขอความชัดเจนเกี่ยวกับการลดภาษีป้ายรถยนต์เอ็นจีวี
ซึ่งกรมการขนส่งทางบกระบุว่าจะเร่งจัดทำ
ให้เสร็จโดยเร็ว แต่ต้องรอ ครม.ชุดใหม่และสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ
โดยหากเป็นรถที่ใช้เฉพาะก๊าซเอ็นจีวี
จะมีการลดภาษีป้ายวงกลม 50%
แต่หากเป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงร่วมระหว่างน้ำมันและเอ็นจีวีจะเก็บภาษีป้ายเพียง
25%” นายพรชัยกล่าว
นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน
เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ส.อ.ท.) กล่าวว่า
ต้องการให้รัฐบาลมีการลดภาษีให้กับรถยนต์ประเภทอื่นที่จะหันมาใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงด้วย
เช่น รถปิคอัพ และรถบรรทุก
แต่มีข้อจำกัดว่าปัจจุบันภาษีถูกอยู่แล้วคือ 3%
จึงต้องการให้รัฐบาลมีเงินสนับสนุนในการติดตั้ง
นายณัฐชาติ จารุจินดา
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ปตท.
กล่าวว่า ภายใน 5 ปีนี้ (2549-2553) ปตท. เตรียมงบฯ
ลงทุนสำหรับขยายปั๊มเอ็นจีวี จำนวน 43,000 ล้านบาท
โดยภายในปีนี้จะขยายให้ครบ 200 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มเป็น 430 แห่ง
ในปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะมีรถเอ็นจีวีประมาณ 3 แสนคัน และเพิ่มเป็น 740
แห่ง ภายในปี 2553 คาดว่าจะมีรถเอ็นจีวีประมาณ 5 แสนคัน
มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวี 10%
ของความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ
มติชน 16 พ.ค. 49