โครงการ "กูเตนเบิร์ก" ห้องสมุดดิจิทัลที่ช่วยกันปรู๊ฟได้ ... (ต้นไม้ใต้โลก)


หนังสือจะมีคุณค่าได้อย่างไร ถ้าไม่ถูกเปิดออกอ่าน

หนังสือ ชื่อ "ต้นไม้ใต้โลก" เขียนโดย "ทรงกลด บางยี่ขัน" แห่งสำนักพิมพ์ a book ยืมมาจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย ยังไม่ได้อ่านสักกะเรื่อง เปิดอ่านก็พบเรื่องราวดี ๆ นำมาเสนอในบันทึกนี้เป็นประเด็นคิดต่อ ...

 

 

ลูกค้าหน้าเก่า

 

 

"สารานุกรม คือ ระบบการจัดเก็บฝุ่น ตามลำดับตัวอักษร"

มาร์ค บาร์ฟิลด์

 

 

ดูเหมือนว่าหนังสือจะมีอายุงานนานกว่าสื่อประเภทอื่น ๆ

แต่ถึงอย่างนั้น "สาร" ที่อยู่ในหนังสือมันก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ถึงวันหนึ่งก็ย่อมสูญหายไปพร้อมกับการย่อยสลายของหน้ากระดาษ ไมเคิล ฮาร์ท เข้าใจความจริงข้อนี้ดี เขาเลยทำโครงการที่ชื่อว่า "กูเตนเบิร์ก" ขึ้นมาในปี 2514 เพื่อนำเอาหนังสือที่ไม่มีลิขสิทธิ์แล้วหรือหนังสือที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตมาจัดพิมพ์เก็บไว้ในรูปแบบของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และจัดทำเป็นห้องสมุดดิจิทัลแห่งแรกของโลก พอเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต กูเตนเบิร์กก็ปรับระบบให้กลายเป็นห้องสมุดออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็คลิกเข้าไปใช้บริการได้

 

 

 

ไฟล์หนังสือ 100 เล่มแรกของกูเตนเบิร์กถูกพิมพ์ขึ้นด้วยปลายนิ้วของไมเคิล แต่ตอนนี้หนังสือส่วนใหญ่ถูกส่งเข้าเครื่องสแกนเพื่อแปลงออกมาเป็นไฟล์ตัวหนังสือ ยกเว้นหนังสือเล่มที่เก่าและบอบบางมาก ๆ นั้นยังคงใช้แรงงานคนพิมพ์เหมือนเดิม ในช่วงต้นปี 2547 กูเตนเบิร์กมีหนังสือในคลังทั้งหมด 11,000 เล่ม โดยมีหนังสือเก่าเข้ามาเพิ่มใหม่เดือนละ 350 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษแต่ก็ยังมีภาษาอื่น ๆ อีก 24 ภาษา เป้าหมายของไมเคิลก็คือ เพิ่มจำนวนหนังสือให้ถึง 100 ภาษา และ 1,000,000 เล่มในปี 2558

ถ้าอยากอ่าน ก็คลิกเข้าไปโหลดไฟล์มาอ่านได้ฟรี ๆ จากเว็บไซต์ หรือจะเอาไฟล์มาแปลงให้เป็นเสียงหรืออักษรเบรลล์ก็ยังได้

แต่ถ้าใครอยากช่วย กูเตนเบิร์กก็ต้องการอาสาสมัครนักพิสูจน์อักษร วิธีการก็แสนจะง่ายแค่คลิกเลือกหนังสือเล่มที่อยากช่วย พอคลิกเข้าไปจะปรากฎภาพขึ้นมา 2 หน้า คือ ไฟล์ภาพที่แสกนจากหนังสือต้นฉบับ กับไฟล์ทื่ถูกแปลงมาเป็นตัวอักษรแล้ว หน้าที่เราก็คือ ดูว่าไฟล์ตัวอักษรนั้นมันคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับตรงไหนบ้าง ข้อความประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์นั้นมันถูกต้องแล้ว จะมีผิดบ้างก็หน้าละประมาณ 10 จุด ทำเสร็จก็เซฟเก็บไว้ อยากทำวันละกี่หน้าก็ไม่ว่ากัน ถ้าใครไม่มั่นใจในสายตาตัวเองก็ไม่ต้องกลัว เพราะหลังจากที่เราปรู๊ฟรอบแรกไปแล้วมันจะถูกปรู๊ฟซ้ำสองด้วยพนักงานพิสูจน์อักษรมืออาชีพอีกที แล้วค่อยอัพโหลดเข้าเว็บไซต์เผยแพร่ให้ได้อ่านกัน ถ้าใครอ่านแล้วเจอที่ผิดก็แจ้งกับทางเว็บไซต์ได้ เขาจะรีบแก้ไขให้

นอกจากความพยายามในการเก็บรักษาประวัติศาสตร์แล้ว อีกสิ่งที่น่าชื่นชมของกูเตนเบิร์กก็คือ การเปลี่ยนมุมมองของคนที่มีต่อหนังสือเก่า จากเดิมที่มีค่าเพียงของสะสม

 

หนังสือจะมีคุณค่าได้อย่างไร ถ้าไม่ถูกเปิดออกอ่าน

 


หมายเหตุ

ซ้อมสายตานักพิสูจน์อักษรกันสักนิด แล้วค่อยไปลุยของจริงที่ www.gutenberg.net

 

................................................................................................................

 

กระดาษย่อมมีวันเสื่อมสลายหายไปจากโลก ดังนั้น การแปลงร่างให้เป็นดิจิทัลจะทำให้มนุษย์สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานเท่านาน จนกว่า server จะล่มสลายไปเอง

บันทึกนี้สร้างมุมมองใหม่ให้กับคนที่เดินตามโลกยุคอินเทอร์เน็ต

จงนำไปใช้ให้มีประโยชน์ต่อตน

ขอบคุณครับ ;) 

 

................................................................................................................


แหล่งอ้างอิง

ทรงกลด บางยี่ขัน.  ต้นไม้ใต้โลก.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพฯ: อะบุ๊ก, 2550.

 

หมายเลขบันทึก: 288422เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะได้รับความรู้อีกแล้วจะค่อยๆ ศึกษาค่ะ

ยินดีและขอบคุณมากครับ คุณครู rinda ;)

ชื่อคุ้นๆ นะคะกูเตนเบิร์ก คล้ายๆชื่อเมืองเยอรมันเลยค่ะ ...

ชอบๆ หลายๆ ประโยคค่ะ ... จนกว่า server จะล่มสลายไปเอง .. :)

และประโยคสุดท้าย หนุ่มๆคงต้องบอกสาวเจ้าว่า ... ฉันจะมีค่าอย่างไร หากไม่มีเธอ .. เฮอๆ (ห้ามขำ ห้ามอมยิ้ม)

 

v-v ... v-v

ไม่ได้ยิ้มจะ ๆ ครับ แต่แอบยิ้มอยู่ครับ

ผมสันนิษฐานว่า มาจากชื่อของ "โจสัน กูเตนเบิร์ก" บิดาแห่งการพิมพ์สมัยใหม่ที่เป็นชาวเยอรมันครับ คุณ poo ;)

เขาคิดกระบวนการพิมพ์สมัยใหม่ในศตวรรษที่ 15 ครับ

ขอบคุณคร้าบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท