ยังไม่ทันได้หายใจหายคอ ก็ต้องต้อนรับแขกชุดใหญ่ที่สนใจจะมาเรียนรู้ การนำ KM ไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพขององค์กร งานนี้ดูเหมือนจะเป็นการสอนหนังสือสังฆราชตัวจริงเสียงจริง เพราะเป็นคณะศึกษานิเทศน์และคณาจารย์จากศูนย์การศึกษาพื้นฐานเขต 2 จ.สุพรรณบุรี อาจารย์จำนวน 43 ท่าน ล้วน แต่เป็นคุณครูในโครงการ RTC หรือ "ครูต้นแบบ" ที่ทางศูนย์การศึกษาต้องการเพิ่มศักยภาพให้กับเหล่าคุณครูต้นแบบ โดยเฉพาะการนำเครื่องมือ KM ไปใช้ นำทีมโดย อ.ลำดวน และ อ.ปราณี หรือ อ.กุ้ง สุดสวย ซึ่งเราเองก็เห็นความตั้งใจจริงของอาจารย์ทั้งสอง ที่อยากให้เราช่วยจัดกระบวนการให้ เป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 9-10 พฤษภาคม วาระนี้ฉันกับทีมงานก็ต้องเตรียมกระบวนการตั้งรับทีมอาจารย์ไม่ได้เหนื่อยน้อยกว่าทีมปูนซีเมนต์แต่อย่างใด พอถึงช่วงเวลานัดหมาย อาจารย์แต่ละท่านก็เดินทางมากันเองซะส่วนใหญ่ ด้วยความที่บรรดาอาจารย์ต่างก็เป็นคนสุพรรณบุรี ดังนั้น พื้นที่จอดรถของข้าวขวัญที่เราเคยคิดว่าจัดการได้ ก็แคบลงถนัดตา เมื่ออาจารย์ขึ้นมาในห้องประชุม ก้เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องเปิดฉากในการจัดกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การทำให้อาจารย์ทุกคนซึ่งรู้จักกันน้อยมาก ได้รู้จักกันมากขึ้น ด้วยเกมส์ละลายพฤติกรรมหลายต่อหลายเกมส์ ที่ฉันพยายามสรรหามาใช้ในช่วงเวลาครึ่งวันเช้าที่มีอยู่อย่างจำกัด เรื่องเกมส์และกิจกรรมสันทนาการนี้ ฉันว่าเป็นสิ่งที่ขาดไมได้เลยเชียวล่ะ สำหรับงานฝึกอบรมที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์เบื้องต้นอันดีที่ใครต่อใครจะได้ปล่อยวางหมวกที่เคยสวมอยู่ เกมส์ของฉันแต่ละเกมส์ก็ล้วนแต่เป็นเกมส์ที่เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ทั้งนั้น เช่น เกมส์แนะนำตัว หรือเกมส์การแบ่งทีมที่จะเรียนรู้เชิงปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งฉันก็พยายามคิดรูปแบบของเกมส์ให้มีความหลากหลาย ด้วยหวังว่ามันจะไม่ทำให้บรรยากาศของการเรียนรู้มันน่าเบื่อ แค่ได้ยินเสียงหัวเราะของบรรดาอาจารย์ที่เข้าร่วม ฉันก็รู้สึกได้เลยว่า กระบวนการช่วงต่อไปที่เป็นหน้าที่ของ ลุงเดชา และพี่จิ๋ม รวมทั้งกิจกรรมในพื้นที่ จะทำให้อาจารย์ทั้งหลายเปิดรับสิ่งใหม่ๆที่ไม่คุ้นเคยได้มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากช่วงแรกที่บรรดาอาจารย์หลายคนมาถึง ฉันเข้าใจว่าหลายคนคงยังไม่ชัดเจนนักว่ามาที่นี่แล้วจะเกิดประโยชน์อันใด อาจารย์หลายคนทีเดียวบอกว่า ผ่านไปผ่านมาในถนนเส้นสุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์ บ่อยมาก เคยเห็นป้ายข้าวขวัญด้านนอก ก็ได้แต่เก็บความสงสัยเอาไว้ต่างๆนาๆ จนวันนี้เมือ่มีโอกาสเห็นบรรยากาศโดยรอบรวมทั้งกระบวนการการเรียนรู้ที่เราจัดให้ หลายคนที่ไม่ได้คิดว่าจะต้องค้างอ้างแรมกับเราในเต้นท์ที่เราจัดวางไว้ให้บริเวณสนามหญ้า ถึงกับต้องเปลี่ยนใจขอเวลากลับไปขนเสื้อผ้าและของใช้ที่บ้านเพื่อร่วมกิจกรรมกับเราอย่างสบายใจในภาคกลางคืน สิ่งที่ฉันและทีมงานข้าวขวัญรู้สึกได้จากกัลยาณมิตรรุ่นนี้ คือการที่เค้ามีจิตวิญญาณของการเป้นนักจัดการความรู้ เหมือนกับที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี เคยแนะนำไว้ในหนังสือ "การจัดการความรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์ สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข" นั่นก็คือ การมีศีลธรรม 8 ประการ ไม่ว่าจะเป็น
1. การมีศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ( เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ) ในกรณีนี้ ข้าวขวัญพยายามสร้างความสัมพันธ์ของอาจารย์ทุกคนในลักษณะเป็นแนวระนาบ ทุกคนเท่าเทียมกัน ยกย่องเชิดชูและดึงศักยภาพของอาจารย์ทุกคน ให้ทุกคนแชร์ประสบการณ์ดีๆด้วยความภูมิใจ ดังนั้น จะเห็นว่า ในกระบวนการเรียนรู้ตลอด 2 วัน อาจารย์ท่านใดมีความสามารถด้านไหนเป็นพิเศษ จะถูกเปิดเผยและดึงมาใช้ประโยชน์ในการทำงานเป้นทีม เช่น อ. ที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ จะแนะนำวิธีการใช้โปรแกรมต่างๆสำหรับเสนองานให้แก่อาจารย์ที่ไม่ถนัดด้านนี้ เป็นต้น
2.การไม่ใช้อำนาจ ในการเข้าร่วมกระบวนการครั้งนี้ อาจารย์หลายท่านมีระดับตามตำแหน่งที่แตกต่างกันไป ทั้งครูเล็กและครูใหญ่ เราให้อาจารย์ทุกท่านถอดหมวกใบที่คุ้นเคย ปล่อยวาง ทำจิตให้อิสระ ทุกคนเท่าเทียม อาจารย์ตำแหน่งที่สูงลดอำนาจของตนลง และพร้อมรับฟังอาจารย์ในระดับที่น้อยกว่าอย่างเปิดใจ
3.การฟังอย่างลึกซึ้ง แน่นอนว่ากระบวนการของเราในการให้บรรดาอาจารย์ที่ถูกแบ่งเป็น 3 ทีม เข้าร่วมเรียนรู้เชิงปฏิบัติการกับชาวบ้านนั้น จะต้องถูกฝึกให้เป็นทั้ง "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต" ซึ่งฉันเข้าใจว่า อาจารย์แต่ละท่านต่างก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นอยู่แล้ว แต่การฝึกตนเองให้รู้จักการฟังเพื่อนในช่วงนำเสนองานอย่างลึกซึ้ง ก็เป้นเรื่องที่จำเป็นด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อใดที่ผู้ฟังแสดงออกถึงความใส่ใจในสิ่งที่ผู้พูดนำเสนอ มันจะส่งผลให้ความคิดและความสามารถที่แฝงเร้นในตัวของอาจารย์แต่ละท่านเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน ดูจากการนำเสนอผลจากการร่วมเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆของทั้ง 3 ทีม ทั้งการแสดงบทบาทสมมติ การแสดงละคร ที่ทำให้ฉันและทีมงานเห็นความสามารถของอาจารย์หลายท่าน บางท่านเป็นนักพูดที่ดี เป้นนักพากษ์ เป้นนักแสดง เป็นนักร้อง นักกลอน และอื่นๆที่ใครหลายต่อหลายคนต่างอึ้งในศักยภาพที่ไม่คิดว่าจะถูกเปิดเผยมาก่อน แน่นอนว่า งานนี้ สพฐ.เขต 2 คงทราบชัดแล้วว่า ครู RTC ของตน ต่างก็มีทุนสำคัญที่น่ายกย่องเชิดชูและนำไปเป็นครูต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพสู่นักเรียนได้อย่างเต็มที่
4. การคิดในทางบวก หลายต่อหลายกระบวนการที่เราพยายามให้อาจารย์ลองนำความภาคภูมิใจหรือประสบการณ์ที่เป็นความสำเร็จในการสอนนักเรียนมาเล่าสู่กันฟัง เอาความคิดเชิงบวกเป็นตัวตั้ง มันทำให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ดีๆระหว่างเพื่อนครูที่น่าสนใจไม่น้อย
5.การเจริญธรรมะ 4 ประการ ( เอื้ออาทร เปิดเผย จริงใจ เชือ่ถือและไว้วางใจกัน ) อาจารย์ 43 ท่านที่มา รู้จักกันน้อยมาก เพราะต่างก็มาจากหลากหลายโรงเรียน หลากหลายหมวดวิชาการสอน ทั้งหมด มี 14 หมวด หรือ 14 สาระ หมวดหนึ่งจะมีอาจารย์ตั้งแต่ 1-3 ท่าน ที่มาร่วมในกระบวนการครั้งนี้ ถ้าอาจารย์เหล่านี้ ไม่มีการเจริญธรรมะทั้ง 4 ประการ ฉันว่ากระบวนการทั้งหมดคงไปไหนต่อไมได้ เพราะธรรมมะ 4 ประการ คือหัวใจที่สำคัญของการทำให้คนเปิดเผยตัวตนให้คนอื่นได้เห็น และฉันก็ได้เรียนรู้ตัวตนของอาจารย์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่ามันทำให้ฉันสนุกกับการที่ได้เป็นผู้จัดกระบวนการดีๆนี้
6.การเรียนรู้ร่วมกันเชิงปฏิบัติการ การแบ่งทีม 3 ทีม จากเกมส์ ที่อาจารย์ต่างโรงเรียน ได้ถูกคละเคล้าให้อยู่ร่วมกัน และเรียนรู้เชิงปฏิบัติการในพื้นที่โรงเรียนชาวนาของเรา 3 พื้นที่ ( ฐานแมลง ฐานการบำรุงดิน และฐานการพัฒนาพันธุ์ข้าว ) การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ คือ การรับรู้ แล้วทำมันด้วยมือ และทำร่วมกัน มันก่อให้เกิดภาพการเรียนรู้ร่วม และส่งผลให้อาจารย์ทั้งหมดช่วยสะท้อนมุมมองที่ดีๆที่มีต่อชาวนา ความยากลำบากในการเป็นชาวนา จนกระทั่งทำให้อาจารย์ได้เห็นว่า เมล็ดข้าวแต่ละเมล็ดมีความสำคัญต่อชาวนาได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสะท้อนผ่านความคิดของกลุ่มอาจารย์ต่อเราทีมงานข้าวขวัญ คือ ทัศนคติและมุมมองในเชิงบวก ที่อาจารย์เสนอและให้กำลังใจทีมงานของเราในการขับเคลื่อนงานพัฒนาต่อ เราได้กำลังใจที่ดีมากๆในครั้งนี้ ถือเป้นผลพลอยได้อย่างไม่คาดฝัน
7.การถักทอไปสู่โครงสร้างใหม่ขององค์กร เราเห็นชัดว่า ผลจากการจัดกระบวนการ และการนำเสนอโมเดลปลาทู และโมบายปลาให้บรรดาอาจารย์ได้เห็นว่ามันคือการนำไปสู่การถักทอเครือข่ายการทำงาน ที่เปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างแนวดิ่ง และโครงสร้างที่เป็นปัจเจกหรืออย่างตัวใครตัวมัน ทำให้ ณวันนี้ เราเข้าใจว่าศึกษานิเทศน์และ สพฐ. เขต 2 จะทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะก่อนกลับ บรรดาอาจารย์ทั้งหลายต่างก็มีแผนงานในการพัฒนาศักยภาพโดยการทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งต่อไปคิดว่า ครูต้นแบบ จะมีภาพการขับเคลื่อนที่เข้มแข็งอย่างแน่นอน
8.การเจริญสติในการกระทำ แน่นอนว่าในข้อนี้ เป็นเรื่องสำคัญของการใช้สติในการทำงาน ที่จะนำไปสู่การก่อให้เกิดปัญญา เพื่อที่จะทำงานได้อย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง ซึ่งข้อนี้ก็แล้วแต่ว่าอาจารย์แต่ละท่านจะทำมันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งฉันว่ามันต้องใช้การฝึกฝนอย่างมาก และข้าวขวัญเองก็พยายามใช้มันอยู่เช่นกัน
ที่ต้องเขียนยาวขนาดนี้ เพราะฉันเห็นถึงภาพของการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่บรรดาสังฆราชทั้งหลายมีต่อเราชาวข้าวขวัญ จากวันแรกจนถึงวันสุดท้ายได้ชัด ฉันเห็นแววตา รอยยิ้มของอาจารย์หลายคนที่บ่งบอกเราว่า "ขอเป็นพลังใจให้เราทำงานที่ยากเช่นนี้ต่อไป และภูมิใจที่ข้าวขวัญตั้งอยู่ในสุพรรณบุรี" และฉันรู้ว่าพวกเราต้องทำงานหนักอีกต่อไปแน่ๆ เพราะฐานเครือข่ายของเรา ณ วันนี้ เป็นคุณครู จ.สุพรรณบุรี มีวี่แววว่า ต่อไปนี้จะมีเด็กๆมาร่วมเรียนรู้กับพวกเราอีกหลายทริป
ไม่มีความเห็น