คนพูดมาก กับการบริหารความรู้ในองค์กร


คนบ้าพูด,คนบ้าเงียบ,คิดคนเดียวก็ได้ความคิดเห็นเดียว,เรามาประชุมกันเพื่ออะไร ,คุ้มค่ากับทุนทั้งหมดที่เสียไปกับการประชุม,พระปรางค์ในมหาราชวัง ถ้าไม่มีเจดีย์เล็ก ๆ ไม่มีอิฐ ไม่มีซุ้มประตู พระปรางค์องค์นั้นคงจะไม่สง่างาม

ในองค์กรบางครั้งเราก็ต้องมีคนที่ชอบพูด พูดมาก พูดมากเกิน พูดไม่รู้จักกาละเทศะ หรือบางครั้งเราอาจจะว่าเขา “บ้า”  สิ่งเหล่านั้น ไร้สาระไหม?
          คุณรู้จัก “คนบ้า” ไหม
                “คนบ้า” เป็นคนอย่างไร
                “ทำไมเรา จึงเรียกเขาว่า บ้า

                คงจะมีหลายร้อยเหตุผลที่จะทำให้คนเรา “บ้า” แต่สิ่งที่เราส่วนใหญ่คิดว่าคนคนนั้นเป็นคนบ้าก็คือ “เขาทำเขาคิดไม่เหมือนเรา ไม่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในสังคม และเป็นสิ่งที่คนเขาไม่ทำกัน” นั่นแหละ “คนบ้า”
                คนบ้า จะทำอะไรแปลก ๆ “แปลก” ก็คือ ไม่เหมือนเรา “เรา” นั่นคือ คนส่วนใหญ่ คิดไม่เหมือนเรา คนนั้นน่ะ “บ้า”
                คุณเคยฟังคนบ้าพูดไหมล่ะ
                ว่าง ๆ ลองฟังดูสิ แล้วก็จะรู้ว่า.......
               
                คนพูดมาก บางคนอาจจะมองว่า เขาบ้า ในทางกลับกันในฐานะนักบริหาร เรามีหน้าที่บริหารจัดการสิ่งที่อยู่อย่างจำกัด ทำสิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ธรรมชาติของคนไทยอันหนึ่งเมื่อตอนเข้าประชุม ก็คือ “บ้าเงียบ” ไม่พูด ไม่ถาม ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่ตอบโต้ “ยิ้ม” อย่างเดียว เข้าใจไหม “ยิ้ม” ไม่เข้าใจอะไรหรือเปล่า “ยิ้ม” ตกลงครับ เป็นอันเข้าใจกันตามนี้ ผมขอปิดประชุม
                สิ่งที่นักบริหารต้องการมากที่สุดอันหนึ่งนั่นก็คือ “ความคิด” คิดคนเดียวก็ได้ความคิดเห็นเดียว ประชุมกันจะได้หลาย ๆ ความคิดเห็น ต่างคนต่างคิด แต่คิดไปในเป้าเดียวกัน ได้หลายความคิด หลายเส้นทางเดิน ประชุมกันดีกว่า ประชุม ประชุม แล้วก็ประชุม
                ผู้บริหารก็เปรียบเสมือนนักจัดการความรู้ มีเวทีให้ได้แสดงบทบาทเป็นวิทยากรกระบวนการมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ โจทย์ก็อยู่ที่ว่า เรามาประชุมกันเพื่ออะไร ไม่ว่าจะเป็นการระดมสมอง พูด การแสดงความคิดเห็น ถกเถียงปัญหา วางแผนกลยุทธ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำอย่างไงล่ะถึงจะดึงความรู้ บางครั้งก็อาจจะเป็นความ “บ้า” ของผู้ที่อยู่ในห้องประชุมหรือที่เรียกว่าเวทีนั้นออกมาได้ให้มากที่สุด คุ้มค่ากับทุนทั้งหมดที่เสียไปกับการประชุมนั้น ไม่ว่าจะเป็น เวลา ค่าเดินทาง ค่าอาหารว่าง เอกสาร ต่าง ๆ นานาจิปาถะ
                คนบ้าพูด พูดมาก พูดอยู่คนเดียว ถามอะไรตอบได้หมด ตอบได้ทุกเรื่อง ประเภทแรกนี้คุณคิดว่าเป็นอย่างไร
                ครั้งหนึ่งเมื่อตอนใกล้สงกรานต์ ปี 49 ผมได้มีโอกาสไปงานบวชเพื่อนที่จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คราวนั้นไม่ได้ไปเป็นแขกรับเชิญ แต่ไปเพื่อช่วยงานเพื่อน เพื่อนสนิทที่คบกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม ในขณะที่ต่างคนต่างเตรียมงานกันนั้นเอง ก็ได้เจอคุณลงคนหนึ่ง เขามาช่วยงานเหมือนกัน มาถึงก็พูดโน่น พูดโน่น พูดนี่ พูดมากอีกต่างหาก แต่มาสะดุดอยู่สิ่งหนึ่งที่แกพูด
                “เนี่ย ยังขาดหมากขาดพลู อยู่นะเนี่ย”
                เราเตรียมงานกันมาตั้งแต่เช้า ไม่มีใครรู้เลยว่าจะต้องใช้หมากใช้พลู จากนั้นแกก็จัดการไปหาขอหมากขอพลูจากคุณยายแถว ๆ นั้นมาจัดการจนเรียบร้อย.......
                ถ้าลุงไม่มาเราก็จะไม่มีหมากมีพลูในงานบวชนะเนี่ย
                หมากพลู สำคัญใช่ไหม
                อาจจะเล็กน้อย
                แต่ถ้าเปรียบเทียบกับพระปรางค์ในมหาราชวัง ถ้าไม่มีเจดีย์เล็ก ๆ ไม่มีอิฐ ไม่มีซุ้มประตู พระปรางค์องค์นั้นคงจะไม่สง่างามถึงเพียงนี้

(วัดชัยพัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)


                คนพูดมาก “บ้าพูด” พูดออกมาตามสิ่งที่เขาอยากพูด บางครั้งก็อาจจะทำให้สิ่งที่ขาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เสริมจุดใหญ่ให้ดีขึ้นได้
                ลองคิดย้อนกลับไปให้ลึกถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ข้างต้น (เห็นผลแล้ว ลองมาดูเหตุกันเถอะนะ)
                ทำไมลุงคนนั้นถึงรู้ว่ายังขาดหมากขาดพลูล่ะ แล้วทำไมเขารู้ว่าต้องใช้หมากใช้พลูด้วย
                “ลุง” ในความหมายของคนไทยที่เรารู้ ๆ อยู่ก็คือ พี่ชายของพ่อ คนที่แก่กว่าพ่อ แสดงว่าอย่างน้อยก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วกว่าสามสิบปี (สำหรับคนวัย Baby Boomer และ Generation X ที่จะแต่งงานมีครอบครัวกันตอนอายุมากหน่อย) ถ้าอย่างงั้นเขาก็ต้องเคยไปงานบวชมาแล้วสิ ยิ่งกว่านั้น เขาอาจจะเคยบวชแล้ว ยิ่งกว่านั้นอีก เขาอาจจะมีลูกชาย และบวชลูกชายเขาไปแล้ว 
                คุณสมบัติหลักของคนพูดมากข้อหนึ่งก็คือ เป็นคนที่ชอบเข้าสังคม ชอบไปงานต่าง ๆ อยู่ไม่เป็นสุข อยู่เฉย ๆ ไม่เป็น มีสังคมเยอะ เพื่อนเยอะ ชอบช่วยงาน เมื่อทำสิ่งใดก็ตามก็จะเกิดการเรียนรู้ ปากพูด ตาดู มือทำ (มากกว่าเราอบอบรมกันอีก) เราอบรม เราฝึก แต่เขาทำจริง ถึงแม้ว่าเราจะอบรมเชิงปฏิบัติการ แต่ก็เรียนรู้เฉพาะสิ่งที่ผู้จัดกำหนดและวางกรอบให้เรารู้ แต่การเข้าไปเรียนรู้ของเขา เขาจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ อยากเรียน อยากทำ เรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด เรียนได้ตามใจนึก
                ครั้งนี้ได้มางานบวชเพื่อนสนิทที่ภาคอีสาน ก็จะเป็นประเพณีที่จัดตามแบบอย่างของวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง บางครั้งถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศไทยเหมือนกัน บวชนาค บวชพระเหมือนกัน ก็จะมีสิ่งที่ต่างกันเล็ก ๆ น้อย ซึ่งสืบเนื่องมาจากการสืบทอดทางวัฒนธรรมของชนเผ่า การอพยพย้ายถิ่นฐานของคนที่มาจากตั้งพื้นถิ่นกัน คนที่มาก็จะนำเอาประเพณี ความเชื่อและวัฒนธรรมติดตัวมาด้วย เมื่อมารวมกับทุนชุมชนที่เข้ามาตั้งรกรากใหม่ทำให้บริบทของชุมชน ข้าวปลาอาหาร เทคนิคการใช้ทรัพยากร รูปแบบการบริโภคมีการประยุกต์ให้เข้ากับสภาพของทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ “เหมาะสม” กับทุนชุมชนนั้น ๆ 
                สำหรับผู้บริหารนั้น ไม่กลัวคนประเภทนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้เขาหยุดพูด แต่สิ่งที่ยากกว่า คือการทำให้คนไม่พูด พูดออกมาได้ และพูดออกมาในสิ่งที่เป็นประโยชน์ คนพูดมากพูดร้อย อาจจะใช้ได้ 1 ก็ยังดี แต่คนไม่พูด พูดน้อย พูดแค่ 1 มีหวังใช้ได้ไหมหนอ จะคุ้มค่ากับทุนที่ลงไปในการประชุมหรือไม่
                แล้วทำไงล่ะ ที่จะทำให้คนพูดน้อย พูดได้ พูดดี พูดแล้วมีประโยชน์ คุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้ลงทุนและคาดหวังจากการประชุมหรือทำงานในแต่ละครั้ง เราจะทำอย่างไร เราจัดการได้ เพราะเราเป็น “นักจัดการความรู้”

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

หมายเลขบันทึก: 28636เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คนพูดน้อยบางครั้งทุกคำที่เขาพูดอาจมีค่ามากมาย คนที่พูดมากมายอาจไม่มีค่าอะไรเลยเพราะพูดเยอะพูดมาก จนหาสาระไม่ได้ มากกว่า

คนพูดมากส่วนใหญ่ พูดเพราะอยากให้คนอื่นรู้ว่าเขาชาญฉลาดมากกว่าคนอื่น รู้ไปหมดแต่รู้ไม่จริงซักเรื่อง รู้เพราะจำคนอื่นพูดมา เอาความคิดคนอื่นมาพูด เพื่อไม่อยากให้ผู้คนมองว่าตัวเองไม่มีบทบาท ไม่สำคัญ ไม่รู้อย่างเดียวคนอื่นหมั่นใส้เขาอยู่ และอยากให้เขาหยุดการกระทำน่าอายนั่นเสีย

เจอปัญหาเพื่อนร่วมงานทีมงานเดียวกันต้องทำงานร่วมกัน แต่เธอเป็นคนพูดมาก ไร้สาระ ใครพูดอะไรกันอยู่สองคน เธอก็ขอมีส่วนร่วมในการพูดด้วย การใช้คำพูดกับเพื่อนร่วมงาน ก็พูดจาไม่ดี เหมือนจิก เหมือนสับ ทั้งๆ ที่ให้เพื่อนมาช่วยทำงานให้ และทำงานชอบปัดความผิดให้เพื่อนร่วมงาน เถียงไปข้างๆ คู สรุปเธอไม่ยอมผิด อย่างไรก็ไม่ยอมรับผิด แล้วเธอก็จะโยนความผิดให้เพื่อนร่วมงาน เวลาประชุมเธอก็พูดๆ สอดแทรกคนอื่น เขา เธอบอกทำได้ ทำให้ ช่วยเหลือเสมอ แต่พอเอาเข้าจริง เธอปฏิเสธตลอดไม่ยอมทำ จะทำอย่างไรกับเพื่อนร่วมงานคนนี้ดี ทนพฤติกรรมเธอไม่ไหว อยากคัดชื่อเธอออกจากทีมงาน เพราะเขาไม่ช่วยงาน ดีแต่พูดอย่างเดียว งานหนักก็ไม่ทำ เพือนทำงานยกของหนัก เธอยืนมอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท