สอนโดยจัดโอกาสและให้ประสบการณ์ในโลกกว้าง : อาจารย์วิมลศรี ยุกตะนันท์


...อาจารย์สอนและเป็นทุกอย่างสำหรับลูกศิษย์ ทั้งเพื่อน พี่เลี้ยง ผู้ปกครองและที่ปรึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ในรุ่นปี ๓ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะต้องจบการศึกษาและออกไปสอบเรียนต่อที่เพาะช่างหรือศิลปากร อาจารย์ก็จะดูแลอย่างใกล้ชิดมากมายยิ่งกว่าสิ่งที่จะได้จากการเรียนการสอนโดยปรกติ....

อาจารย์วิมลศรี ยุกตะนันท์ เป็นอาจารย์สอนผมและเพื่อนๆเมื่อเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาศิลปหัตถกรรม วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ซึ่งก่อตั้งและเริ่มจัดการเรียนการสอนเมื่อปี ๒๕๑๙ โดยรุ่นผมเป็นรุ่นแรก เรียน ๓ ปีระหว่างปี ๒๕๑๙-๒๕๒๑

แต่เดิมนั้น หลังจบจากโรงเรียนเพาะช่าง อาจารย์ก็ไปเป็นครูอยู่ในกรุงเทพมหานครอยู่ระยะหนึ่ง เมื่ออาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ ได้บุกเบิกและเปิดแผนกศิลปหัตถกรรมขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรีเมื่อปี ๒๕๑๙ อาจารย์ก็ขอย้ายออกจากกรุงเทพฯและไปเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่แผนกศิลปหัตถกรรม วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ซึ่งการทุ่มเทของอาจารย์ที่ให้แก่ลูกศิษย์และการพัฒนาการเรียนการสอนนั้น ผมและเพื่อนๆประทับใจและจดจำไม่รู้ลืม

อาจารย์สอนและเป็นทุกอย่างสำหรับลูกศิษย์ ทั้งเพื่อน พี่เลี้ยง ผู้ปกครองและที่ปรึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ในรุ่นปี ๓ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะต้องจบการศึกษาและออกไปสอบเรียนต่อที่เพาะช่างหรือศิลปากร อาจารย์ก็จะดูแลอย่างใกล้ชิดมากมายยิ่งกว่าสิ่งที่จะได้จากการเรียนการสอนโดยปรกติ

ในยุคนั้น จังหวัดราชบุรียังมีความเป็นชนบทอยู่มาก สิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับเพาะช่างและศิลปากรซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯเมืองหลวงของประเทศนั้น ยังนับว่ามีความห่างไกล ทว่า ก็ยิ่งใหญ่ในความรับรู้ของนักเรียนศิลปะทั่วประเทศ เหมือนกับเป็นกรุงโรมทางศิลปะของไทยเลยทีเดียว

อาจารย์ต้องการให้นักศึกษามีพื้นฐานและการเตรียมตัวที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าไปสอบเรียนต่อในกรุงเทพฯ ดังนั้น จึงไม่ได้เน้นเพียงการเรียนการสอนตามปรกติอย่างเดียว แต่พยายามแสวงหาข้อมูลและนำเอาความเคลื่อนไหวทางศิลปะของประเทศไปถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาอยู่ตลอดเวลา

เมื่อถึงการแสดงงานประจำปีในงานวันเกิดของเพาะช่าง ซึ่งจะมีกิจกรรมต่างๆมากมายเหมือนเทศกาลทางศิลปวิชาการซึ่งจะเป็นที่สนใจของคนในวงการศิลปะทั้งในภาคการศึกษาและภาคธุรกิจเอกชนทั่วประเทศ อาจารย์ก็รวบรวมลูกศิษย์ทุกคนในปีสุดท้าย เดินทางไปดูงานที่กรุงเทพฯ ไปดูงานทุกสาขาที่จัดแสดงในงานวันเกิดของโรงเรียนเพาะช่าง

ขณะเดียวกัน ก็ถือโอกาสที่ท่านเคยเป็นอาจารย์ของโรงเรียนเพาะช่าง พาลูกศิษย์ให้ได้มีโอกาสเข้ากราบคารวะครูอาจารย์ของโรงเรียนเพาะช่าง รวมทั้งคนทำงานศิลปะที่มีชื่อเสียงของประเทศ ได้รับฟังการสนทนาและได้เห็นผลงานจริงของหลายท่าน ที่พวกเราได้เคยเห็นผ่านหนังสือและสื่อต่างๆในระดับประเทศ ทำให้ได้ประสบการณ์ตรง เกิดความเชื่อมั่น และมีความแจ่มชัดต่อการเตรียมความสนใจตนเองเพื่อการสอบศึกษาต่อทั้งเพาะช่างและศิลปากร

                                

อาจารย์วิมลศรี ยุกตะนันท์ พานักศึกษาปีสุดท้าย ของแผนกวิชาศิลปหัตถกรรม วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ไปศึกษาดูงานทางศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเพื่อให้นักศึกษาได้มีข้อมูลสำหรับเตรียมตัวสอบเรียนต่อและเลือกสาขาเฉพาะทางตามความสนใจ ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขต่างๆของตนอย่างดีที่สุด  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน* มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 อาจารย์เป็นสุภาพสตรีร่างเล็กนิดเดียว การเดินทางจากราชบุรีไปกรุงเทพฯในยุคนั้นไม่มีความสะดวกรวดเร็วเหมือนอย่างปัจจุบัน อีกทั้งการพาลูกศิษย์กว่า ๒๐ คน ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นเด็กต่างจังหวัด มีความเป็นบ้านนอก ประสบการณ์ต่อโลกกว้างมีอยู่อย่างจำกัด ทุกอย่างของกรุงเทพฯและเพาะช่างแทบจะเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่แต่ละคนไม่คุ้นเคย อีกทั้งเป็นภาระและต้องให้ความรับผิดชอบเป็นอย่างสูงในทุกเรื่องตลอดระยะเวลาที่ลูกศิษย์ทุกคนยังอยู่ในความดูแลของอาจารย์ หากใครเคยจัดการศึกษาดูงานก็คงจะนึกถึงความยุ่งยากนานัปการออก

แต่อาจารย์ก็สามารถพานักศึกษาของตนให้ไปมีประสบการณ์ที่เข้มข้นแตกต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียน มีข้อมูลที่จะเตรียมตนเองในอนาคตดีขึ้น อีกทั้งไม่เพียงเป็นผลดีต่อการเตรียมตนเองเพื่อศึกษาต่อ แต่ได้เห็นด้วยตนเองว่าโอกาสการทำงานและการเข้าสู่เส้นทางความเป็นมืออาชีพต่างๆของคนเรียนศิลปะแต่ละสาขาในโลกกว้างนั้นเป็นอย่างไร

อาจารย์ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นผู้สอนวิชาความรู้เท่านั้น ทว่า ส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นผู้เรียนรู้และเดินทางไปสู่จุดหมายของตนเองได้อย่างสุดความสามารถ ตามความสนใจที่มีของแต่ละคน

เป็นการสอนอย่างหนึ่งที่ไม่สอน แต่จัดโอกาสและให้ประสบการณ์ต่อโลกกว้าง ทำให้แต่ละคนได้สัมผัสสถานการณ์ต่างๆจากความเป็นจริงในสังคม แล้วก็สร้างการเรียนรู้ออกมาจากความสนใจอย่างลึกซึ้งของตนเอง.

 

------------------------------------------------------------

* บันทึกในขณะเป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล  ปัจจุบันได้ย้ายมาเป็นอาจารย์อยู่ที่สาขาการบริหารการศึกษานานาชาติ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อตุลาคม ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 286324เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2009 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ตั้งแต่เป็นเด็กตอนอยู่โรงเรียนประถมหนองบัวเทพวิทยาคมเวลาคุณครูให้วาดเขียนหรือปั้นวัวควายอะไรต่าง ๆ เป็นที่หนักอกหนักใจทุกทีเลย
  • ทำได้อย่างอยากลำบากยากเย็นจริง ๆ คิดได้บ้างแต่วาดเป็นภาพหรือปั้นให้เป็นตัวอะไรต่าง ๆ ออกมาแล้วมันบอกไม่ถูกเลยว่าเป็นอะไรยังไง มันไม่เป็นอย่างที่คิดนึกไว้
  • คล้าย ๆ มันมีทุกหรืออย่างไรสักอย่างที่จะทำแนวศิลปะ ฝืนไม่ไหวไม่มีหัวทางนี้จริง ๆ
  • เมื่อไม่มีหัวทางศิลปะแต่มันน่าจะมีอย่างอื่นชดเชยบ้างตามธรรมชาติ แต่เราเองก็ขาดมาก ๆ เหมือนที่พูดกันนั่นแหละทั้งพรสวรรค์ พรแสวงและพรอื่น ๆ เยอะแยะ
  • ก็เลยได้แต่ชมงานคนอื่นที่ทำออกมาแล้วงดงามสื่อให้ได้คิดให้ความรู้ได้ปัญญาได้เสพงานศิลป์แค่นี้ก็คิดว่าเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความสุขแล้ว.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • อันที่จริง การรู้สึกอ่อนไหว สะเทือนใจ ซาบซึ้ง เห็นความงามในธรรมชาติของสรรพสิ่ง และเหนือเป้าหมายจำเพาะของสิ่งอื่นใดแล้ว ผู้คนทุกสังคมและทุกวัฒนธรรม ล้วนมุ่งภาวะสูงสุดที่ความงาม ความดี และความจริง ฐานคติ ๓ อย่างนี้ เป็นรากของศาสตร์ ๓ อย่างที่ขับเคลื่อนการสร้างสังคมและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ คือ  ศิลปะและสุนทรียศาสตร์(ความงาม)  ศาสนาและจริยศาสตร์(ความดี) และวิทยาศาสตร์กับการผลิตของสังคม(ความจริง) ก่อนที่จะเป็นภาคขยายและแตกออกไปสู่วิถีและวิธีการของศาสตร์ทั้งหลายในโลก เข้าใจความร่วมกันของ ๓ กรอบนี้ ก็จะเห็นความเป็นภาวะเดียวกัน ที่เข้าถึงได้หลายทางของเรื่องต่างๆครับ
  • ความมีมิติจิตใจ มีปัญญาการเข้าถึงสุนทรียภาพและความรื่นรมใจในชีวิตจึงเป็นธรรมชาติและสิ่งที่มีอยู่เป็นพื้นฐานของทุกคน ความมีศิลปะและความงาม เป็นองค์ประกอบของทุกคน
  • พลังชีวิตอย่างนี้ เข้าถึงได้และแสดงออกมาได้แม้ในวิถีชาวบ้าน เช่น เราจะเห็นการสะท้อนอยู่ในงานจักสาน การทำเครื่องมือทำกินที่งดงาม  ศิลปะและความงามจึงเป็นทั้งพลังชีวิตและพลังการผลิต ให้มนุษย์มีทั้งเหตุผลเพื่อความอยู่รอด การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงงอกงาม และการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆอย่างมีความหมาย
  • แม้แต่ในธรรมชาติ ก็มีสีสัน ความสวยสดงดงาม ความสมดุลย์และความลงตัวในการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ  ศิลปะและความงาม นอกจากเกิดแต่จิตใจและสติปัญญาของมนุษย์แล้ว จึงมีความเป็นตรรกะ มีความเป็นเหตุผลของธรรมชาติ เป็นระบบและระเบียบของสิ่งต่างๆ ใช้เข้าใจและปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆได้อย่างดีเหมือนกัน 
  • เลยกล่าวโดยสรุปได้ว่า ทุกคนมีธาตุความเป็นศิลปะอยู่ในตัวเอง อีกทั้งควรมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาในชีวิตของตนอยู่เสมอ  
  • อันที่จริงนั้น ศิลปะเป็นการปฏิบัติทางจิตวิญญาณอีกด้วย ดังนั้น ในทุกวัฒนธรรมของโลก งานสร้างสรรค์ทางศิลปะส่วนหนึ่งจึงมีบทบาทเหมือนการบันทึกประสบการณ์ของสังคม บันทึกประสบการณ์ทางจิตวิญญาณและพัฒนาการทางปัญญา ผู้นำที่สถาปนาและวางพื้นฐานศิลปะแนวต่างๆทั้งของต่างประเทศและของสังคมไทย มักเริ่มออกมาจากผู้นำทางศาสนาก่อน เช่นเดียวกับทางวิทยาศาสตร์เหมือนกันครับ
  • ในสังคมไทยนั้น วัดในอดีตเลยเป็นหน่วยผลิต สืบทอด และจัดกระบวนการทางสังคมเพื่อศิลปะและงานสร้างสรรค์ในระดับที่ต้องอุทิศตนทำ ในอดีตนั้น วัด พระสงฆ์ และคนทางศาสนา ของศาสนาต่างๆ จึงมักเป็นผู้นำของศาสตร์ที่ลึกซึ้งในทุกแขนง รวมทั้งด้านศิลปะครับ
  • เป็นการเสริมพลังความมั่นใจในทางอ้อมแด่พระคุณเจ้าและคนที่เป็นชาวบ้านทั่วไปน่ะครับ จะได้มีเรื่องดีๆจากชุมชนเยอะๆครับ

กราบนมัสการด้วยความเคาร

สวัสดีค่ะ

มาชมภาพ และอ่านบันทึกค่ะ

งดงาม ทั้งภาพและคำ

ชักจะติดเวบนี้เสียแล้วซีคะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา เวทีของคุณณัฐรดาเป็นที่สนใจมากเลยนะครับ ยินดีด้วยครับ คุณณัฐรดาทำงานต่อเนื่องเลยติดเว็บได้ เขียนและนำสิ่งต่างๆมาถ่ายทอดได้อย่างสม่ำเสมอ หลายคนก็คงอยากติดเว็บให้ได้อย่างที่คุณณัฐรดาทำได้ ผมก็พยายามจะติด แต่ก็ทำได้แค่ทำตามความสะดวกเพียงไม่ให้หลายเรื่องขาดตอนไปก่อน แล้วค่อยๆยกระดับการพัฒนาของตัวเองทีละนิด  มีความสุขนะครับ

ติดเว็บเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง...ที่ไม่อยากรักษาอิๆๆๆเป็นโรคเดียวกับพี่ตุ๊กตาค่ะ..

  • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก คุณครูอ้อยเล็กได้เจอเพื่อนเก่าและได้ความเป็นมิตรภาพมากมายจากชุมชนในนี้ เลยนำเรื่องราวจากหนังสือหิโตปเทศ ว่าด้วยมิตรลาภ มาแบ่งปันกันอ่นครับ

อาจารย์วิมลศรี ยุกตะนันท์ถึงแก่กรรมแล้ว

ท่านอาจารย์วิมลศรี ยุกตะนันท์ได้ป่วยเป็นมะเร็งและได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อคืนวันศุกร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ บุตรหลาน ญาติพี่น้อง ลูกศิษย์ และผู้เคารพนับถือ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลให้แก่อาจารย์ที่วัดเขาวังราชบุรี ตำบลหน้าเมือง จังหวัดราชบุรี ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๑๔ - พฤหัสบดีที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

  • คณะศิลปกรรม นักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่า ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรม วันจันทร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
  • คณะศิษย์เก่า ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ วันอังคารที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

บอกต่อๆกันไปด้วยนะครับ

ลูกหลานของอาจารย์ได้นำเอาบทความนี้ไปจัดทำเป็นเอกสารเชิดชูเกียรติแด่อาจารย์ ผมเลยกลับมาจัดทำเป็นอาร์ตเวิร์คให้ต่างหากอีกชุดหนึ่งเลยลิ๊งค์ให้สำหรับทุกท่านดาวน์โหลดได้ที่นี่เลยนะครับ นำไปอ่านหรือทำเอกสารเผยแพร่เพื่อเป็นปฏิบัติบูชาแด่อาจารย์และร่วมเผยแพร่เกียรติคุณอาจารย์ด้วยกัน ได้ตามอัธยาศัยเลยครับ

งานสวดอภิธรรมและบำเพ็ญกุศลแด่ท่านอาจารย์วิมลศรี ยุกตะนันท์ ณ วัดเขาวังราชบุรี ดำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ในวันแรก เสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

                     

ภาพบน : ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน และลูกศิษย์ ร่วมฟังสวดอภิธรรม สองท่านที่นั่งอยู่ด้านหน้า ด้านขวา คือ ท่านอาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ ซึ่งออกมาวิ่งออกกำลังกาย เมื่อทราบข่าวก็เลยมาร่วมงานของอาจารย์วิมลศรีกับเหล่าลูกศิษย์เลย อาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ เป็นทั้งผู้บังคับบัญชาและรุ่นพี่ที่เพาะช่างของอาจารย์วิมลศรี ซึ่งอาจารย์วิมลศรีเคารพนับถือเสมือนครู และทุ่มเทการทำงานนับแต่ระยะก่อตั้งสาขาวิชาศิลปหัตถกรรมราชบุรีร่วมกับอาจารย์สมบูรณ์สุดความสามารถอย่างเป็นชีวิตจิตใจ นั่งคู่ถัดไปด้านขวาของอาจารย์คือ เลิศชาย สินเสริฐ อดีตหัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และปัจจุบันเป็นฝ่ายการตลาด ของ ทศท เป็นศิษย์เอกคนหนึ่งที่อาจารย์วิมลศรีและอาจารย์สมบูรณ์ภูมิใจในฝืมือ เป็นศิษย์เก่าจากโรงเรียนพรหมานุสรณ์เพชรบุรี แล้วเปลี่ยนจากสายสามัญมาเรียนศิลปะซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะเรียนไล่ทันคนอื่นได้ แต่ในที่สุดกลับกลายเป็นอยู่แถวหน้า โดยเฉพาะการเขียนสีโปสเตอร์ สีน้ำ และสีน้ำมัน

                     

ลูกศิษย์ท่านอาจารย์วิมลศรีรุ่นเดียวกับลูกชายของอาจารย์ ได้อุปสมบทถือสมณเพศ เมื่อทราบข่าวก็มาร่วมงาน ร่วมทุกข์กับโยมเพื่อน พร้อมกับรับอาราธนาแสดงธรรมเทศนาเป็นปฏิบัติบูชาคุณงามความดีของครูอาจารย์

                     

ซ้ายสุด อาจารย์โหน่ง รุ่นที่ ๒ อดีตเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลหญิงทั้งของแผนกศิลปหัตถกรรมและของวิทยาลัยอาชีวศึกษาราชบุรี เป็นครูของโรงเรียนในราชบุรีตั้งแต่จบการศึกษาจากเพาะช่างกระทั่งปัจจุบัน กลาง อาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ และขวาสุด อาจารย์ประดับ เต็มดี ศิษย์เก่ารุ่น ๑ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเจ็ดยอด เชียงใหม่ และปัจจุบันได้มาเป็นอาจารย์ประจำของคณะศิลปกรรม วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี

                    

น้องชายคนสุดท้องของอาจารย์ ญาติๆ และอดีตเพื่อนร่วมงาน ร่วมถวายจตุปัจจัยบำเพ็ญบุญกุศลแด่อาจารย์

ไม่ค่อยได้เปิดMailเท่าไหร่แต่พอทราบข่าวก็ลองเปิดดู มีความรู้มากจริงๆ ขอบคุณค่ะ

คืนนี้ไปงานมาปลื้มใจแทนอาจารย์มากที่มีลูกศิษย์มากันมากมาย อาจารย์คงจะดีใจ และอ้อได้อ่านบทความของพี่วิรัตน์ด้วยค่ะ

งั้นขอกล่าวถึงต่อเลยเนาะ

อีกท่านหนึ่งคือคุณครูอ้อหญิง โรงเรียนเทศบาล ๕ รุ่นเดียวกับอาจารย์โหน่ง ต้องขออภัยที่พี่ยังนึกชื่อจริงไม่ได้หลายคน สงสัยต้องนั่งทบทวนกันนานเลย จำได้แต่ชื่อเล่น

อ้อชื่อจริงจำได้อยู่สองคนคือ สุวัฒน์ ซึ่งตามไปเป็นรุ่นน้องจิตรกรรมสากลของผมที่เพาะช่างและเรียนเก่ง ฝีมือดี เป็นนักเรียนได้ทุนเรียน ตอนนี้เข้าไปอยู่ป่าใกล้ชายแดนทำเป็นบ้านดินและสตูดิโอเขียนรูป

อีกคนคือ อาจารย์วสันต์ ชมสุวรรณ์ จากประจวบฯ นี่ก็รุ่น ๒ และกำลังเป็นตัวตั้งตัวตีประสานงานเพื่อจัดงานพบปะและทำเวิร์คช็อพศิลปะให้อาจารย์สมบูรณ์กันสักครั้งหนึ่ง

อีกคนคือเด้ง ยอดฝีมือซึ่งดังในการทำป้ายโปสเตอร์หนังของราชบุรีและมีร้านทำงานศิลปะเป็นมืออาชีพตั้งแต่ตอนเรียน ตอนนี้ไปทำรีสอร์ตสำหรับซุ่มทำงานและต้อนรับคนที่มีรสนิยมศิลปะอยู่แถวสวนผึ้ง

อีกคนคือสมบัติ นิลเลื่อม รุ่น ๑ และเป็นกลุ่มเพื่อนของผม ทำงานอยู่ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่กรุงเทพมหานคร นอกนั้นก็เป็นรุ่นน้องรุ่น ๑๐ กว่าขึ้นไปหลายคน

ขอบคุณคร้าบบบ ที่จำได้ แต่ถึงบอกไปก็คงจะงงงงง....เหมือนเดิมเพราะแต่ละคนได้เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเพื่อเป็นศิริมงคลกันหมดแล้ว เช่น โหน่ง จากวลัย เจริญรักษา ก็เป็น ญานิศา เจียมจำรัส งงม๊ะ...ส่วนอ้อ ปรีดาภรณ์ สมุทรสาคร ก้เป็นปรียาภรณ์ ฤทธิมาศ เชื่อหรือยังคะ ฮิ ฮิ ฮิ...

นานๆครั้งจึงจะได้เจอกัน เลยก็ถือโอกาสคารวะครูอาจารย์และสร้างความรู้จักมักคุ้นเพื่อนพ้องน้องพี่ ผมกับเลิศชายได้ขอกราบคารวะอาจารย์สมบูรณ์ด้วยพวงมาลัยดอกไม้สด

ในส่วนผมเองนั้นก็ขอไหว้ด้วยพวงมาลัยดอกไม้สดแก่อาจารย์ประดับ เต็มดีด้วย ประดับนั้นเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาอาวุโสกว่าพวกเราทุกคนทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ผมเรียนรู้จากประดับผ่านการเป็นกลุ่มตระเวนเขียนรูปกับอาจารย์สมบูรณ์มากมาย

เมื่อเข้ากรุงเทพฯ ก็ได้อาศัยประดับพาเข้ากรุงเทพฯโดยไปนอนบ้านพี่สาว-พี่เขยของประดับที่ข้างวัดเศวตฉัตร ถนนเจริญนคร และฝึกฝีมือเตรียมสอบเข้าเพาะช่างจนได้ด้วยกัน

อาจารย์ประดับเป็นคนทำงานเชิงความคิดลึกซึ้งและทำงานต่อเนื่อง แล้วก็เป็นคนที่จดจำรำลึกคุณงามความดีของผู้คนทุกระดับ กตัญูญูอาจารย์และพ่อแก่แม่เท่าอย่างยากที่ใครจะปฏิบัติได้เท่า ผมจึงถือเป็นครูและขอคารวะ นอกเหนือจากเป็นเพื่อนรักคนหนึ่ง

                    

                    

พอเสร็จ อาจารย์สมบูรณ์ก็ทำให้ต้องประทับใจอีกอย่างยิ่ง อาจารย์บอกว่าเพื่อให้เป็นกำลังใจพัฒนาการศึกษาทางศิลปะต่อไป อาจารย์ขอส่งมอบพวงมาลัยให้แก่อาจารย์ประดับ ประดับก็รับ แล้วก็รวมทั้งหมดไว้ในมือ พร้อมกับบอกว่าหลังจากรับแล้วก็ขอมอบกลับเพื่อแสดงความเคารพต่ออาจารย์ 

ดีจังเลยเจ้าอ้อ นี่ถ้าหากไม่บอก นอกจากจะนึกไม่ออกแล้วก็ยากที่จะเดาเลยเชียว ไปเจอชื่อใหม่โดยไม่รู้ว่าเป็นใครก็คงไม่รู้แน่เลยว่าจะเป็นพวกเรากันเอง ขอบคุณนะครับ

กลับถึงบ้านหรือยังคร้บบบบบบบ น้อง ๆ เป็นห่วงท่าน ดร. ช่วยเช็ครถตู้ให้แล้วแต่เขาบอกว่าหมดไปตั้งแต่ 20.00นแล้ว โหน่งบอกว่าวิศิษฐ์ไปส่งเลยสบายใจ.... วันนี้ได้พบกับท่านอาจารย์วิรุฬ วิทยาประเสริฐ โค้ชบาสสมัยที่อยู่เทคนิค ใจดีสุด ๆๆ พวกเราดีใจมาก

กลับไม่ทันครับ รถหมด หากมีโอกาสเจอวิศิษฐ์อีกก็ฝากขอบคุณอีกมากๆเลย ถึงแม้จะคิดว่ารถหมดแล้ว แต่เขาบอกว่าปรกติแล้วมันจะหมดดึก ๓-๔ ทุ่ม ตอนที่กำลังหารถกลับนั้นเพิ่งจะสองทุ่มกว่าเอง เพื่อให้แน่ใจ เขาเลยพาตระเวนไปทั่วทุกแห่งทั้งท่ารถตู้ ๓-๔ เจ้าและรถทัวร์ จนแน่ในว่าไม่มีรถแน่ๆแล้วก็เลยพาไปนอนตรงโรงแรมท่ารถทัวร์นั่นแหละ ขอบคุณน้องๆมากเลย ด้วยความซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง

ตอนแรกนั้นเจ้าโหน่งเขาอาสาพาซ้อนมอเตอร์ไซคล์ไปส่ง บึ่งไปได้ยังไม่ทันครึ่งทางเจ้าวิศิษฐ์ก็ขับตามไปรับขึ้นรถของเขาเพื่อจะได้เร็วขึ้น แล้วก็พากันขับรอบเมืองหารถตรงโน้นตรงนี้เป็นชั่วโมงมั๊ง

ตอนเช้าก็ตื่นขึ้นรถทัวร์เที่ยวแรก ออกตี ๔ คิดว่าจะถึงสว่างและใช้เวลาเดินทางสัก ๒ ชั่วโมง ที่ไหนได้ รวมแล้วทั้งนั่งรถทัวร์จากราชบุรีกับต่อรถเมล์ถึงที่พักก็ชั่วโมงเดียวเห็นจะได้ กลับไปนอนอีกได้เป็นตื่น

แล้วค่าโดยสารก็ถูกมาก ไปกลับรวมแล้วแค่ ๒ ร้อยบาท ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทำไมหลายคนที่ราชบุรีนั่งรถไปกลับไปทำงานกรุงเทพฯ ถูกและประหยัดเวลายิ่งกว่าเดินทางและขับรถไปทำงานเองในกรุงเทพฯเสียอีก

ได้ความคิดอย่างหนึ่ง เป็นการย้ำสิ่งที่พวกเราคุยกันในคืนแรกที่ช่วยกันจัดงานให้อาจารย์วิมลศรีนะครับว่า หากจะชวนกันทำอะไรแล้วละก็ ทำกันตอนที่อาจารย์ที่เคารพรักของเราท่านอื่นๆที่ยังเหลืออยู่ ยังมีกำลังวังชาที่จะได้รับรู้และร่วมชื่นชมที่ลูกศิษย์ลูกหาได้ทำสิ่งดีๆให้ ก็คงจะดีนะ 

เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าทำอะไรก็ทำซะ ทำตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ต้องคอยเคาะบอกแล้วอย่างนี้เราจะเห็นได้อย่างไรว่าท่านชอบหรือไม่ชอบ ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ ช่วยส่งข่าวให้ทราบบ้างนะคร้าบบบบบ....แก๊งเจ้าอ้อ กะเจ้าโหน่ง เตรียมตัวไปเป็นกองหน้า อยู่ แว้ววว..........

                     

สมบัติ นิลเลื่อม และภรรยา  และครูสุรจิตร(เสื้อสีน้ำเงิน) ศิษย์เก่าศิลปหัตถกรรมและเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ สมบัติทำงานอยู่ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรุงเทพฯ สุรจิตรเป็นอาจารย์คณะศิลปกรรม วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี

                    

                    

ลูกหลานของอาจารย์ทำบอร์ดเรื่องราวของอาจารย์เมื่อครั้งสอนหนังสือซึ่งผมเขียนเป็นกตเวฑิตาแด่อาจารย์ไว้ในบล๊อก GotoKnow และได้ดึงออกมาทำเป็นแผ่นโปสเตอร์ทำบอร์ดแสดงเกียรติคุณให้อาจารย์ ให้เป็นโอกาสที่ญาติพี่น้อง ลูกหลาน ลูกศิษย์ และแขกผู้เคารพนับถือ จะได้รำลึกและน้อมคารวะอาจารย์ร่วมกัน

                    

คณะสงฆ์ สามเณร คณะแม่ชี วัดเขาวัง ร่วมเป็นเจ้าภาพ บำเพ็ญกุศลแด่อาจารย์เนื่องจากอาจารย์วิมลศรีเป็นผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ที่เขาวังอยู่นับสิบปี และลูกชายของอาจารย์ก็ทำงานเขียนรูปหลวงพ่อวัดเขาวังไว้ที่ศาลาให้ญาติโยมได้เคารพกราบไว้ รวมทั้งอุทิศตนทำงานต่อแด่พระศาสนา

                     

                    

คณะผู้บริหารและคณะครูอาจารย์วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี และโรงเรียนวัดเขาวังราชบุรี(แสง ช่วงสุวนิช) ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมและบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่อาจารย์

                    

                    

ครอบครัวลูกหลานและสามีของอาจารย์ และล่างอาจารย์ประดับ เต็มดีกับสามีของอาจารย์ สามีของอาจารย์เป็นมือเขียนการ์ตูนและเป็นศิษย์เก่าของเพาะช่างรุ่นน้องอาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ และรุ่นเดียวกับสุเทพ วงศ์กำแหง

                     

ริมซ้ายคุณครูอ้อ ปรีดาภรณ์ สมุทรสาคร โรงเรียนเทศบาล ราชบุรี ๕ ริมขวาคุณครูโหน่ง ญานิศา เจียมจำรัส โรงเรียนสุริยวงศ์ ราชบุรี 

คุณครูที่ยืนอยู่ตรงกลาง เป็นรองผู้อำนวยการของวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี และดูเหมือนจะเคยเป็นโค้ชให้กับทีมบาสเกตบอลของสาขาวิชาศิลปหัตถกรรมที่ครูอ้อและครูโหน่งเป็นนักกีฬาของแผนกด้วย

 ในวันพระราชทานเพลิงศพท่านอาจารย์วิมลศรี  ยุกตะนันท์  ต้องขอขอบคุณศิลปรุ่น 3ที่มากันมากที่สุด(รุ่นอ.ต้อ)แต่ไม่ใช่ว่า  รุ่นอื่น ๆไม่มานะ อาจจะเป็นเพราะว่าติดต่อกันไม่ได้ และส่วนใหญ่ ทำงานกันไกล ๆ ในวันงานเขาให้ลงชื่อไว้แล้วว่าใครอยู่ที่ไหนกันบ้าง   หวังว่ามีข่าวคราวอะไรคงจะมีคนส่งข่าวให้ทราบบ้างนะคะ  และถ้าเป็นไปได้ช่วยถ่ายเอกสารที่อยู่แจกไปให้แต่ละคนก็ดีนิ ....ตอนนี้ลูกก็โต หมดแล้วไม่มีภาระอะไรก็คงจะได้พักผ่อนบ้างตามสมควร

ดีใจไปด้วยจังเลยที่มีคนช่วยกันทำให้อาจารย์จนเรียบร้อย ต้องร่วมขอบคุณทางสำนักงานศึกษาของจังหวัดที่ช่วยยื่นมือเข้ามาเดินเรื่องให้ แต่เดิมนั้นทางครอบรัวของอาจารย์และน้องๆเขาก็ไม่มีใครรู้และไม่มีใครดูให้ อาจารย์สร้างคนให้กับสังคมมาตลอดชีวิต เป็นครู จึงมีความดีงามและเกียรติยศสูงส่ง ลูกหลานและญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลังก็จะได้มีความทรงจำเป็นทุนชีวิต เป็นคนดีและมีพลังใจในการทำสิ่งต่างๆต่อไปอย่างดีในอนาคต อ้อกับโหน่งก็สปิริตดีเนาะ ไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อตอนที่เป็นนักกีฬาและนักกิจกรรมของพวกเราเมื่อตอนเรียนเลย อาจารย์ต้อก็เหมือนกัน รวมทั้งวิศิษฐ์ด้วย เขารุ่นเดียวกับอาจารย์ต้อที่ราชบุรี

งานที่โรงเรียนกำลังยุ่งมากเลยไม่ได้มาคุยหลายวัน ไม่ทราบว่าจะเป็นการรบกวนคนอื่นหรือเปล่า

ตอนนี้อ้อต้องถูกคณะกรรมการมาประเมินเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานครู เอาใจช่วยด้วยนะคะ

ถึงเวลาพอดี ......ไปนะคะ....

ได้อยู่แล้วใช่ไหมครูอ้อ หากมีโอกาสก็นำเอากิจกรรมการสอนศิลปะในโรงเรียนเทศบาลมาเล่าแบ่งปันกันหน่อยสิ

วันนี้ ๗ มกราคม เป็นวันเกิดเพาะช่าง
ขอน้อมบูชาพระวิษณุกรรม เทพและครูแห่งช่าง
ขอกราบคารวะดวงวิญญาณท่านอาจารย์วิมลศรี ยุกตะนันท์ และครูศิลปหัตถกรรมราชบุรีทุกท่าน
ขอน้อมรำลึกพี่ๆเพื่อนๆและน้องๆชาวศิลปหัตถกรรมราชบุรี และคนทำงานศิลปะทุกคน

กนกรัตน์ พลอยประเสริฐ

กราบขอบคุณนะค่ะ เพิ่งเปิดเจอหน้านี้ หนูเป็นลูกสาวของคุณแม่ ไม่รู้จะแทนคำขอบคุณท่านยังไง หนูภูมิใจที่มี แม่ ผู้เป็นทุกอย่างของลูก ชาติใด ๆ ขอเป็นลูกของแม่ตลอดไป

เจ้าบีหรือ สบายกันดีนะครับ ติดต่อกันไว้
มีอะไรก็ติดต่อพี่ได้เสมอเลยนะครับ

จิรายุ ยุกตะนันทน์

สวัสดีครับ เอพึ่งได้ตอบพี่ ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ ตอนนี้เอมาทำงานอยู่สงขลาเกือบ3ปีแล้วครับ ได้อ่านแล้วได้ระลึกถึงแม่ที่เฝ้ามองดูอยู่ในใจความดีของแม่เป็นกำลังใจสิ่งเดียวที่ทำให้เอมีแรงก้าวต่อไปครับ ถึงจะล้มมั่งก็ไม่หวั่นไหวแค่ท้อแท้แต่พอนึกถึงแม่แล้วยิ่งได้อ่านบทความของพี่เอมีกำลังใจขึ้นมาเลยครับ ขอบพระคุณพี่มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท